ผู้ว่า ปธท.แจงคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจฯ สปช. ร่วมปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ และคุมเข้มสหกรณ์ออมทรัพย์ ขณะที่ สปช. เสนอให้หนุนสหกรณ์ที่เข้มแข็งตั้งเป็นธนาคาร สำหรับในส่วนของการดูแลเศรษฐกิจไทยนั้น การตัดสินใจลดดอกเบี้ยในครั้งที่ผ่านมาเพราะเศรษฐกิจขยายตัวไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จึงต้องใช้นโยบายดอกเบี้ยเข้าไปช่วยเหลือ ดังนั้น การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจจึงต้องทำให้เกิดความสมดุลในระดับภูมิภาค เครื่องมือด้านต่างๆ ต้องมีความยืดหยุ่นเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละช่วง
นายสมชัย ฤชุพันธ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ได้เชิญนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า รัฐวิสาหกิจในภาพรวมมีงบประมาณรายจ่ายประมาณ 4.8 ล้านล้านบาท หรือมีสัดส่วนร้อยละ 44 ของจีดีพี มีมูลค่าทรัพย์สิน 11.9 ล้านล้านบาท นับว่ามีขนาดใหญ่ที่ใหญ่มาก แต่การบริหารงานของรัฐวิสาหกิจหลายแห่งเมื่อเทียบกับเอกชนในการดำเนินธุรกิจเดียวกันกลับมีผลขาดทุนหรือแข่งขันไม่ได้ เนื่องจากมีการแทรกแซงจากการเมือง มีความขัดแย้งในบทบาทหน้าที่ต่างๆ มีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย จึงทำให้ขาดศักยภาพในการแข่งขัน
เพราะกฎหมายเปิดทางให้ฝ่ายบริหารโดยรัฐบาล ให้รัฐวิสาหกิจกู้เงินได้ถึงร้อยละ 20 ของเงินงบประมาณ หรือประมาณ 5 แสนล้านบาท จึงมีทั้งการหาเงินกู้นอกงบประมาณมาใช้จำนำข้าว หรือการให้แบงก์รัฐดำเนินนโยบายต่างๆ จึงได้ คณะกรรมการกำกับนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด จึงเสนอให้กำหนดการใช้จ่ายเงินแผ่นดินต้องทำผ่านวิธีงบประมาณที่พิจารณาจากสภา และหากให้รัฐวิสาหกิจสนองนโยบายแล้วต้องจัดสรรงบประมาณชดเชยคืนโดยเร็ว
รวมทั้งสหกรณ์ออมทรัพย์ที่มีปัญหาอยู่ในปัจจุบันได้เติบโตอย่างรวดเร็ว มียอดเงินกู้ 1.1 ล้านล้านบาท กระจายทั่วประเทศ 1,400 แห่ง มีสมาชิก 2.7 ล้านคน นับเป็นกลไกด้านการเงินที่สำคัญมาก เพื่อดูแลระบบฐานแรก เพราะสหกรณ์ออมทรัพย์มีเสน่ห์ในการดูแลสมาชิก ทั้งการพิจารณาปล่อยกู้ การติดตามและดูแลเพราะเป็นบุคคลที่อยู่ในองค์กรเดียวกัน และยังตัดบัญชีเงินเดือนเพื่อนำมาชำระหนี้ ดังนั้น เพื่อป้องกันปัญหาเกิดขึ้นกับสหกรณ์ ธปท. จึงต้องเข้าไปวางระบบตรวจสอบ และเสนอให้หน่วยงานภาครัฐทบทวนหน่วยงานกำกับดูแลสหกรณ์ออมทรัพย์ ขณะที่ สปช. เสนอให้สนับสนุนสหกรณ์ที่เข้มแข็ง ก้าวไปสู่การถือหุ้นในแบงก์รัฐเช่น ธ.ก.ส. และการตั้งเป็นธนาคารสหกรณ์ออมทรัพย์ เพื่อมีระบบกำกับดูแลที่ดี
นายประสาร กล่าวเพิ่มเติมว่า การส่งสัญญาณเรื่องอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นในการปรับขึ้นลงอัตราดอกเบี้ย เพื่อคาดคะเนแนวโน้มเศรษฐกิจในอนาคตเป็นเรื่องที่ยากและมีความเสี่ยง แม้สหรัฐฯ จะพยายามส่งสัญญาณ (Forward Guiden) ยังความหนักใจเหมือนกัน เพราะหากระดับการจ้างงานต่ำกว่าระดับปกติ ตลาดการเงินอาจไม่ฟังเสียงเฟด โดยคำนวณภาพรวมเองและปรับดอกเบี้ยขึ้นลงโดยไม่ฟังเสียงเฟด ขณะที่ กนง.ของไทยจะส่งสัญญาณเพียงบางครั้ง เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน ยังต้องการให้อัตราดอกเบี้ยสนับสนุนการเติบโตของระบบเศรษฐกิจของประเทศ แม้ว่าคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังคงมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (fed fund rate) เอาไว้ที่ระดับร้อยละ 0-0.25 และจะตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเอาไว้ที่ระดับดังกล่าวต่อไป
ขณะที่ กนง.ของไทยจะส่งสัญญาณเพียงบางครั้ง เพราะมีทั้งข้อดีและข้อเสีย เนื่องจาก สถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันยังต้องการให้อัตราดอกเบี้ยสนับสนุนการเติบโตของระบบเศรษฐกิจของประเทศ แม้ว่าคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (เอฟโอเอ็มซี) ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังคงมีมติคงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น (fed fund rate) เอาไว้ที่ระดับร้อยละ 0-0.25 และจะตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นเอาไว้ที่ระดับดังกล่าวต่อไป การตัดสินใจดังกล่าวทำให้ตลาดได้คลายความกังวลลงได้ ในส่วนของการดูแลเศษฐกิจไทยนั้น การตัดสินใจลดดอกเบี้ยในครั้งที่ผ่านมาเพราะเศรษฐกิจขยายตัวไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ดังนั้น จึงต้องใช้นโยบายดอกเบี้ยเข้าไปช่วยเหลือ ดังนั้น การดำเนินนโยบายเศรษฐกิจจึงต้องทำให้เกิดความสมดุลในระดับภูมิภาค เครื่องมือด้านต่างๆ ต้องมีความยืดหยุ่นเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละช่วง