xs
xsm
sm
md
lg

ทอ.สิงคโปร์ ส่งฮ.ชีนุก2ลำ ร่วมดับไฟป่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก เปิดเผยว่า สถานการณ์ไฟป่าและหมอกควันในภาคเหนือ ยังคงมีความรุนแรงอยู่หลายพื้นที่ ซึ่งทุกหน่วยงานยังระดมสรรพกำลัง และเครื่องมือเข้ายุติปัญหาอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล โดยมีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นผู้ดูแลในภาพรวม
สำหรับในส่วนของกองทัพบก ยังคงบูรณาการร่วมกับทุกภาคส่วน ปฏิบัติภารกิจดับไฟป่า และลดหมอกควันใน 9 จังหวัดสำคัญ ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน น่าน แพร่ แม่ฮ่องสอน ตาก และ พะเยา เป็นผลให้พื้นที่การเกิดไฟป่า และความหนาแน่นของหมอกควันลดลงจากเดิม แต่คุณภาพอากาศในบางจังหวัด เช่น แม่ฮ่องสอน เชียงราย เชียงใหม่ ยังมีค่าเกินมาตรฐานส่งผลต่อสุขภาพ
พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าวอีกว่า ในที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก พล.อ. อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ. ได้สั่งการเร่งด่วนให้ ศูนย์การบินทหารบก ส่งอากาศยานของกองทัพบกเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนภารกิจการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันในภาคเหนือจากที่หน่วยทหารในพื้นที่มีอยู่เดิม ประกอบด้วย เฮลิคอปเตอร์ลำเลียง แบบ 17 จำนวน 1 ลำ เฮลิคอปเตอร์ใช้งานทั่วไป แบบ 1 จำนวน 2 ลำ และกองทัพภาคที่ 3 ยังขอรับการสนับสนุนเครื่องบินลำเลียง ซี-130 จำนวน 1 ลำ จากกองทัพอากาศ
นอกจากนี้ ทางกองทัพสิงคโปร์ ซึ่งขณะนี้ทำการฝึกร่วมผสม COPE Tiger 2015 อยู่ในประเทศไทย ได้ให้การสนับสนุน เฮลิคอปเตอร์ ชีนุก จำนวน 2 ลำ พร้อมตะกร้าบรรจุน้ำ เข้าร่วมภารกิจดับไฟป่า และหมอกควันในขณะนี้ด้วย โดยอากาศยานทั้งหมด จะเข้าปฏิบัติการในช่วงบ่ายวันที่ 18 มี.ค.นี้ ภายใต้การกำกับดูแลของกองทัพภาคที่ 3
พล.อ.อ. มณฑล สัชฌุกร โฆษกกองทัพอากาศ กล่าวว่า พล.อ.อ. ตรีทศ สนแจ้ง ผู้บัญชาการทหารอากาศ ได้สั่งการให้กองบิน 46 จังหวัดพิษณุโลก จัดเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 2 ก (BT-67)เพิ่มอีก จำนวน 1 เครื่อง เข้าร่วมปฏิบัติการที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้เดินทางออกจากจังหวัดพิษณุโลก เมื่อเวลา 17.00 น. และจะเริ่มปฏิบัติการตั้งแต่วันนี้ (19 มี.ค.) เวลา 08.00 น. เป็นต้นไป เพื่อเข้าร่วมสมทบกับเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 2 ก ที่มีอยู่ แล้วพร้อมกับเฮลิคอปเตอร์ของกองทัพบก และกองทัพอากาศสิงคโปร์
ทั้งนี้ อากาศยานที่นำมาสนับสนุนเพิ่มเติมจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการดับไฟป่าและลดปริมาณหมอกควันได้มากยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับการลาดตระเวน ตรวจสอบภาคพื้นดินและทางอากาศ เพื่อหาจุดที่มีไฟป่า การฉีดพ่นละอองน้ำ การทำฝนเทียม การโปรยละอองน้ำจากอากาศยาน การทำแนวกันไฟ และการรณรงค์ให้ประชาชนงดเผาไฟในที่โล่ง อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สถานการณ์ยุติโดยเร็ว
กำลังโหลดความคิดเห็น