xs
xsm
sm
md
lg

“ประยุทธ์” สั่งคุมเข้มห้ามเผาป่า ลั่นลากตัวคนผิดมาลงโทษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online


“ประยุทธ์” ห่วงปัญหาหมอกควันกระทบท่องเที่ยว - ชาวบ้านเดือดร้อน สั่งคุมเข้มห้ามเผาป่าและวัสดุทางการเกษตร ลั่นล่าตัวคนทำผิดมาลงโทษ จี้ อปท. หาทางแก้ระยะยาว แลกพิจารณาให้คุมงบประมาณเหมือนเดิม โอดเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยง ทุกคนต้องช่วยกัน รัฐบาลลุยเดี่ยวไม่ไหว วอนหยุดสร้างปัญหา ย้ำต้องเร่งพัฒนาระบบรางทั่วประเทศ เพิ่มโอกาสทางเศรษฐกิจ พร้อมชวนนักธุรกิจ SME ไปสวนสน ช่วงสัปดาห์หน้า เพื่อร่วมพูดคุยกับ รมต. จะได้หาทางออกร่วมกัน

วันนี้ (20 มี.ค.) เมื่อเวลา 20.15 น. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ออกอากาศทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ถึงปัญหาไฟป่าและหมอกควันอยู่ในขณะนี้ ว่า ปัญหาไฟป่าและหมอกควันของภาคเหนือนั้น เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาทุกปี และเกิดมาเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้ว ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ตั้งแต่การบดบังวิสัยทัศน์ในการคมนาคม โดยเฉพาะเครื่องบินไม่สามารถจะลงจอดได้อย่างปลอดภัย กระทบต่อการท่องเที่ยว ซึ่งมีผลกระทบต่อรายได้ของประเทศ ระยะยาวยังส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยของประชาชนด้วย สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากสภาพธรรมชาติที่มีความแห้งแล้งตามฤดูกาล ทำให้อาจจะเกิดไฟป่าขึ้น แต่สาเหตุสำคัญจริงๆแล้ว เกิดจากการกระทำของมนุษย์ทั้งสิ้น ทั้งการเผาที่ดินเพื่อเพาะปลูกรอบใหม่ การเผาป่าเพื่อเข้าไปหาของป่า หรือ ล่าสัตว์

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า ในระยะเร่งด่วนได้สั่งการให้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงกลาโหม บูรณาการการจัดกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลืออย่างเต็มที่ นอกจากนี้ยังมีข้อมูลว่า ปัญหาส่วนใหญ่เกิดในพื้นที่ป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ที่มีการบุกรุกเข้าไปทำการเกษตรโดยผิดกฎหมาย มากกว่าที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่การเกษตรของประชาชน ซึ่งจะตรวจสอบหาตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ในเรื่องของการเผาวัสดุทางการเกษตร จะต้องเลิกพฤติกรรม เพราะมีผลเสียต่อภาพรวม ขอความร่วมมือคนในชุมชนช่วยกันสอดส่องดูแลซึ่งกันและกัน รวมไปถึงองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กำนัน และผู้ใหญ่บ้าน ต้องช่วยดูแลด้วย หากมีการพัฒนาการทำงานให้เกิดความไว้วางใจ ต่อไปก็จะพิจารณาให้ความสำคัญในการใช้จ่ายงบประมาณให้มากขึ้นในอนาคต

“วันนี้ถ้าเราร่วมมือร่วมใจกันในการเฝ้าระวัง จะทำเกิดผลดีต่อการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการเผาป่า เผาเศษวัสดุ อยากให้ทุกช่วยกัน มีมาตรการทางสังคมของตนเองด้วย เพราะว่ารัฐทำคนเดียวไม่ได้ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อบต. อบจ. องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเหล่านี้ ไปกำหนดมาตรการป้องกันระยะยาวให้ได้ บรรเทาไฟป่าอย่างยั่งยืน เกิดทุกปีแก้ปัญหาทุกปี ผมว่ารับไม่ได้แล้วต่อไปนี้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

สำหรับสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า สัปดาห์ที่ผ่านมาได้มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เศรษฐกิจ แชะจะให้มีการประชุมทุกสัปดาห์ เพื่อติดตามสภาวะเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นคู่ค้าหลักของเรา เพราะการชะลอตัวของประเทศเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อการส่งออกของบ้านเรา และไม่แน่ใจว่าสถานการณ์จะแย่ลงไปกว่านี้หรือไม่ จึงต้องมีมาตรการลดความเสี่ยง โดยการพัฒนาด้านส่งออกของเรา ต้องหาสินค้าใหม่ๆและตลาดใหม่ๆ ด้วย

โดยรัฐบาลกำลังเร่งดำเนินการขยายเขตการค้าชายแดน มีคณะกรรมการขับเคลื่อนติดตามทั้ง 2 คณะ เพื่อจะเร่งรัดให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษให้ได้โดยเร็ว เพื่อเป็นการขยายฐานการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น และอาจจะเป็นศูนย์กระจายสินค้าที่รับการผลิตจากในประเทศที่ได้รับสิทธิเรื่อง GSP (ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป) มาด้วย

นายกฯกล่าวต่อไปว่า วันนี้สถานการณ์เศรษฐกิจของโลก มีปัจจัยเสี่ยงมากมาย รัฐบาลเข้าใจว่า ผู้ประกอบการโดยเฉพาะรายย่อย และ SMEs ประสบปัญหาที่ต้องเร่งดำเนินการช่วยเหลือ จึงได้หลักการในการช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ไปแล้ว ในเรื่องของการให้สินเชื่อเพิ่มเติมแก่ SMEs จำนวน 15,000 ล้านบาท การขยายวงเงินการค้ำประกันของบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) อีก 50,000 ล้านบาท และการดูแล SME ทั้งระบบ ขอให้ช่วยกันรักษากู้เงินแล้วก็พัฒนาจริงๆ และให้สามารถมีรายได้ขึ้น จะได้คืนเงินเหล่านี้จะได้ช่วยคนอื่นได้ อย่าไปใช้แล้วทำให้เป็นหนี้เสีย ขณะเดียวกันก็ได้มีมาตรการช่วยเหลือประชาชนอื่นๆ เช่น เรื่องปากท้อง การลดรายจ่ายและภาระประชาชนต่างๆ ที่วันนี้เราส่งเสริมเรื่องตลาดชุมชน ธงฟ้า และในการเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย ลดค่าใช้จ่ายของประชาชนในทุกระดับทุกพื้นที่

“แน่นอนมีการชะลอตัวทั้งโลก แล้วเราก็ยังไม่ค่อยพร้อมตรงนี้ ต้องยอมรับตรงนี้ก่อนถ้ารับตรงกันนี้ได้ เราถึงจะเดินหน้าต่อไปได้ ถ้าบอกว่าเป็นเรื่องของรัฐบาลนี้ต้องมาแก้ปัญหาทุกเรื่องเป็นไปไม่ได้ เราเข้ามาเพียง 8 เดือน เป็นรัฐบาลทำอะไรไม่ได้มากขนาดนั้น ต้องหยุดปัญหา ต้องแก้ไขปัญหา ต้องเดินหน้าไปด้วย แล้วก็สร้างอนาคตไปด้วย โครงสร้างปฏิรูป หนักนะงาน แต่เราก็จะทำจะเร่งดำเนินการ” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ

นายกฯ กล่าวด้วยว่า ด้านการลงทุนภาครัฐขณะนี้ลงได้ถึง 90% โดยเฉพะอย่างยิ่งการลงทุนในโครงการพื้นฐานต่างๆได้ดำเนินการและมีเม็ดเงินลงไปแล้ว เช่น การทำถนนของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท รัฐบาลได้อนุมัติเพิ่มเติมไปเป็นวงเงินทั้งสิ้นถึง ประมาณ 40,000 ล้านบาท ในส่วนของการลงทุนระบบป้องกันอุทกภัยอีกประมาณ 180,000 ล้านบาท ซึ่งต้องมีการปรับระบบชลประทาน ขุดลอกคูคลองในช่วงนี้ เตรียมการไว้ อันนี้ก็รวมไปถึงการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานระบบราง รถไฟ รถไฟฟ้า ที่จะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นระยะๆ การพัฒนาที่เราร่วมกับจีนเมื่อปลายปีนั้นก็ลงนามความร่วมมือไป มีการประชุมมาครั้งที่ 3 แล้ว หรือประเทศอื่นๆ ญี่ปุ่นหรือหลายประเทศที่สนใจอยากจะเข้ามามีส่วนร่วมเกี่ยวข้องด้วย แต่เราก็ต้องพิจารณาตามเหตุผลและความจำเป็น การเป็นมิตรประเทศกัน

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวต่อว่า การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน วันนี้ได้เร่งทุกเส้นทาง ไม่ว่าจะสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ - บางซื่อ กำลังวางระบบการเดินรถ แล้วก็จะเริ่มทดลองวิ่งในต้นปี 2559 สายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย คาดว่าจะเปิดบริการได้ 2561 เส้นทางอื่นๆ หลายเส้นทาง เช่น สายสีเขียวใต้ ช่วงสมุทรปราการ - บางปู สายสีเขียวด้านเหนือ ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต สายสีส้ม ช่วง พระราม 9 - มีนบุรี สายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี ทั้งหมดจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จและเปิดบริการภายในปี 2563 ถ้าไม่ทำวันนี้ก็ไปรอกันอีกไม่ไหวแล้ว รอกันมานานเต็มที ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าที่ดูแลโดย รถไฟฟ้าขนส่งมวลชน (รฟม.) หรือ การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) อย่างเช่น สายสีแดง ช่วงรังสิต - บางซื่อก็จะให้เชื่อมโยงสอดคล้องกันทั้งระบบ นอกจากรถไฟฟ้าในกรุงเทพมหานครแล้ว รถไฟฟ้า Monorail หรือรถรางในพื้นที่ปริมณฑล เมืองใหญ่ๆก็วางแผน เพื่ออนาคตไว้แล้วก็กำลังทำแผนกันอยู่ เช่น เส้นทางกรุงเทพฯไป พัทยา ระยอง หรือหัวหิน ได้ประกาศไปแล้วมีเอกชนสนใจร่วมลงทุนมาพอสมควร รัฐก็จะให้การสนับสนุนในเรื่องการจัดหาที่ดิน ซึ่งมีผู้สนใจหลายท่าน ต่างชาติ ญี่ปุ่นก็สนใจในเส้นทางในเรื่องของรถไฟความเร็วสูง

นายกฯเปิดเผยด้วยว่า ในช่วงสัปดาห์หน้า จะมีการประชุม ครม. ที่หัวหิน ก็จะขอเชิญนักธุรกิจ SMEs ต่างๆ ไปที่โรงแรมหัวหินของทหารที่สวนสน ในวันที่ 27 มีนาคม 2558 เพื่อพบปะกับรัฐมนตรีจะได้พูดคุยกันในที่สบายๆบ้าง เพราะว่าเราก็งานหนักมาตลอด จึงขอเชิญชวนนักธุรกิจไปพบกันที่สวนสน เพื่อที่จะได้คิดหาทางออกร่วมกันได้ มีจังหวะคุยกัน นัดเจอก็แล้วกันกับรัฐมนตรีแต่ละกระทรวงพูดคุยกัน เพื่อจะทำงาน เพื่อจะเสนอปัญหา เสนอความต้องการให้ทุกคน แต่ไม่ใช่ไปพูดคุยกันเรื่องงบประมาณ เรื่องอะไรเหล่านี้ที่ไม่โปร่งใสไม่ได้

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ต่อไปจะมี Digital Economy เหมือนที่ต่างประเทศ หรือเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์ จะทำอะไรสามารถกดผ่านคอมพิวเตอร์ติดต่อได้เลย ก็ไม่ต้องเดินทางมาก เดือนสิงหาคมนี้ จะเปิดประมูล 4G แล้วก็จะทำในทุกมิติ ทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและจิตวิทยาการสาธารณสุข และศูนย์ Data Center ในส่วนของ Economy การค้า เรื่องการศึกษา e-Learning การนำเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งหมดวันนี้โลกเขาใช้ Social เหล่านี้แล้ว ใช้ระบบเทคโนโลยีระดับสูง เราก็ต้องทำเพื่อให้เกิดภาพรวมของช่องทางการติดต่อสื่อสาร ในการใช้ประโยชน์ เหมือนที่หลายคนเขาทำ

นายกฯกล่าวอีกว่า ขอความร่วมมือ ช่วยกันฟัง อะไรที่ฟังยังไม่ได้จบ บางทียังไม่เข้าใจ คราวที่แล้วก็มีปัญหาเรื่องภาษีที่ดินอะไรต่างๆ ไว้อธิบายกันต่อว่ามีความจำเป็นอย่างไร และใครจะได้อย่างไร ใครจะเสียอย่างไร ไม่ใช่ว่า พอมองคำว่าเสียอย่างเดียว แล้วไม่ได้ เจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องปรับปรุงวิธีการนำเสนอใหม่ ทุกคนมีความตั้งใจหมด ประชาชนก็รู้ว่าเดือดร้อน ข้าราชการก็มีความตั้งใจ แต่นี่อาจจะปรับ 2 อย่างเข้าหากัน ก็ด้วยความเข้าใจ ตนก็มาพูดกับท่านไม่ได้มุ่งหวังให้ใครเดือดร้อน แต่ทุกคนจะร่วมมือกับรัฐในการที่จะพัฒนาชาติให้เป็นเมืองอย่างไรในอนาคต ถ้าไม่ร่วมมือ รัฐอย่างเดียวไปไม่ได้

“ผมพูดมากอีกแล้ว ตั้งใจจะพูดให้น้อยลง อยากให้เป็นการคืนความสุขของคนในชาติของ คสช. และรัฐบาลนี้ ทุกคนก็ต้องช่วยกัน ต้องเหน็ดเหนื่อย และต้องสร้างพลังอันแน่วแน่ในการที่จะแก้ปัญหาชาติบ้านเมืองให้ได้ อย่างอื่นมีความสำคัญน้อยกว่าเรื่องปากท้อง เรื่องเศรษฐกิจโลก เรื่องอะไรต่างๆ เรื่องประชาธิปไตยสำคัญเหมือนกัน แต่ก็ค่อย ๆ ไป เดินไปตามโรดแม็ป ไม่เห็นจะต้องมาขัดแย้งอะไรกันมากมาย ทุกคนเขาตั้งใจ สปช. สนช. เขาก็ตั้งใจทำงานทุกคน วันนี้ถ้ายังไม่เข้าใจกัน ไปไม่ได้แน่นอน ปฏิรูปไม่ได้” พล.อ.ประยุทธ กล่าวในช่วงท้าย

คำต่อคำ : รายการ “คืนความสุขให้คนในชาติ” วันที่ 20 มีนาคม 2558

สวัสดีครับ พี่น้องประชาชนที่รักทุกท่าน ก่อนอื่นผมขอแสดงความห่วงใยไปยังพี่น้องประชาชนที่อาศัยอยู่ในภาคเหนือ และภาคอื่นๆ ที่อาจจะกำลังประสบปัญหาไฟป่าและหมอกควันอยู่ในขณะนี้ ก็คงจะเป็นภาคเหนือเป็นหลัก สำหรับปัญหาไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือนั้นเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปี และเกิดมาเป็นเวลานานหลายสิบปีแล้ว สาเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากสภาพธรรมชาติที่มีความแห้งแล้งตามฤดูกาล ทำให้อาจจะเกิดไฟป่าขึ้น แต่สาเหตุสำคัญจริงๆ แล้วเกิดจากการกระทำของมนุษย์ทั้งสิ้น ในเรื่องของการเผาเศษวัสดุทางการเกษตร เพื่อเตรียมการเพาะปลูกในรอบใหม่ และการเผาป่าเพื่อเข้าไปหาของป่าหรือล่าสัตว์ ซึ่งจากข้อมูลที่ให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการอยู่ในขณะนี้นั้น ได้ไปติดตามในพื้นที่ พบว่าปัญหาส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ป่าสงวน ป่าอนุรักษ์ ที่มีการบุกรุกเข้าไปทำการเกษตรโดยผิดกฎหมาย มากกว่าที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่การเกษตรของพี่น้องประชาชน ซึ่งก็อาจจะมีอยู่ทั้งสองส่วน เราสามารถจะตรวจสอบหาตัวผู้กระทำความผิดดำเนินการได้ในขณะนี้

สำหรับปัญหาไฟป่าและหมอกควันมันส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ ตั้งแต่การบดบังวิสัยทัศน์ในการคมนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจราจรทางอากาศ เครื่องบินไม่สามารถจะลงจอดได้อย่างปลอดภัย กระทบต่อการท่องเที่ยว ขณะนี้ก็มีการหลีกเลี่ยงในพื้นที่ที่มีหมอกควันหลายพื้นที่ด้วยกัน ซึ่งมีผลกระทบต่อรายได้ของประเทศ ระยะยาวยังส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยของประชาชนที่ต้องสูดรับเอาฝุ่นละอองขนาดเล็กเข้าไปผสมในร่างกาย อาจจะทำให้สุขภาพร่างกายนั้นเจ็บไข้ได้ป่วยต่อไป

ในระยะเร่งด่วนนั้น ผมได้สั่งการให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม ได้บูรณาการการจัดกำลังเจ้าหน้าที่เข้าไปช่วยเหลือเพิ่มเติมอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภูเขาสูงยากต่อการเข้าถึง จำเป็นต้องใช้เครื่องบินบรรทุกน้ำเข้าไปดับไฟแทนรถยนต์ ล่าสุดกองทัพบกได้จัด ฮ.IM17 อีก 1 เครื่อง และ ฮ.ชีนุกอีก 2 เครื่องจากกองทัพสิงคโปร์ ซึ่งมาฝึกร่วมกับเราในเวลานี้ อันนี้ต้องขอบคุณรัฐบาลสิงคโปร์ด้วยนะครับ กองทัพสิงคโปร์ด้วย และยังต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องเกษตรกรที่ยังคงเผาป่า หาของป่าอะไรก็แล้วแต่ หรือเผาเสร็จวัสดุทางการเกษตร ซึ่งมีทุกพื้นที่ในเรื่องของการเผาวัสดุทางการเกษตรนี้ จะต้องเลิกพฤติกรรมดังกล่าว เพราะมันมีผลเสียต่อภาพรวมซึ่งก็ได้ให้แก้ปัญหาทั้งระบบโดยกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงเกษตร กระทรวงมหาดไทย เข้าไปดูแลเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดทุกพื้นที่ นอกจากเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายแล้ว มันมีผลกระทบต่อผู้อื่น และกระทบประเทศด้วย ขอความร่วมมือให้มีการกันคนในชุมชน ช่วยกันสอดส่องดูแลซึ่งกันและกัน ในบางพื้นที่ บางชุมชนที่ไม่เป็นปัญหาเพราะชุมชนนั้นมีความเข้มแข็ง ไม่ว่าจะเป็น อบต. อบจ. กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผมได้มอบหมายภารกิจความรับผิดชอบให้ท่านแล้ว นี่เป็นเรื่องการกระจายอำนาจให้ท่านรับผิดชอบในเรื่องที่มีความสำคัญ ยาเสพติด แรงงานต่างด้าว อาชญากรรม อันนี้ผมอยากให้มอบหมายงานให้ท่านไปก่อน ให้ท่านดูแลแล้ว ถ้าเข้มแข็งดี อะไรดี ค่อยว่ากันไปในเรื่องการพัฒนาต่อไป ในเรื่องการให้ความสำคัญในเรื่องชี้แจงงบประมาณให้มากขึ้น ในอนาคต

วันนี้ ถ้าเราร่วมมือร่วมใจในการเฝ้าระวัง ในการห้ามเข้าไป หรือในการแก้ปัญหาเรื่อง เตรียมการเพาะปลูกในรอบใหม่ อะไรเหล่านี้ จะทำให้เกิดผลดีต่อการแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ว่าจะเป็นการเผาป่า เผาเศษวัสดุ อยากให้ทุกคนได้ช่วยกัน มีมาตรการกับสังคมของตนเองด้วย ที่จะควบคุม ทำความเข้าใจ เพราะว่ารัฐทำคนเดียวไม่ได้นะครับ จะใช้กฎหมายอย่างเดียวก็ไม่ได้ ระยะยาวก็ได้มอบให้กระทรวงทรัพยาการและธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นเจ้าภาพหลักในการที่จะร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ กอ.รมน. กองทัพ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง อบต. อบจ. องค์การบริหารส่วนท้องถิ่นเหล่านี้ไปกำหนดมาตรการป้องกันระยะยาวให้ได้ บรรเทาไฟป่าอย่างยั่งยืน เกิดทุกปี แก้ปัญหาทุกปีแบบนี้ ซึ่งผมว่ามันรับไม่ได้แล้วต่อไปนี้

ฉะนั้น ส่วนราชการต้องร่วมมือกับภาคประชาชนช่วยกันแก้ไขทุกระดับ เพราะมีผลเสียต่อส่วนรวม ไม่งั้นเราจะเสียงบประมาณมากมาย ถ้าเราจัดตั้งใหม่ๆ ในเรื่องแผนงานต่างๆ โครงการต่างๆ เพื่อสร้างความยั่งยืน เรื่องคน เรื่องเครื่องมือ ยานพาหนะ อากาศยาน อาจจะต้องจัดหาเครื่องมือเพิ่มเติม และฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ในการดับไฟป่าให้มีมาตรฐาน ประสิทธิภาพ เหมือนต่างประเทศเขาทำ ผมไม่แน่ใจว่าวันหน้ามันอาจจะเกิดในภาคอื่นๆ ด้วยก็ได้ เช่น ภาคกลาง ขณะนี้ก็มีหลายเรื่อง ที่ไฟไหม้บ่อขยะบ้าง อะไรบ้าง หรือไม่พรุต่างๆ ภาคใต้ก็มี เพราะฉะนั้นเราก็ดับไม่ค่อยได้ เราขาดเครื่องไม้เครื่องมือ ก็กำลังดำเนินการเรื่องนี้ให้เกิดการแก้ปัญหาได้อย่างระยะยาว มันจะได้ไม่เกิดขึ้นอีก

สำหรับในสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ การประชุม ครม. เศรษฐกิจ สัปดาห์หน้า ก็ติดตามมาตลอด ให้ความสำคัญเรื่องนี้ทุกสัปดาห์ ก็ได้ให้รายงานถึงสภาวะเศรษฐกิจโลก ซึ่งคงยังมีปัญหาอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเศรษฐกิจประเทศที่เป็นคู่ค้าหลักของเรา เช่น จีน ที่ไอเอ็มเอฟประมาณการว่าเศรษฐกิจจะต่ำกว่า 7 เปอร์เซ็นต์ ปีแรก ของญี่ปุ่นยังคงชะลอตัวต่ำกว่า 1 เปอร์เซ็นต์ ในส่วนของยุโรป ในส่วนของอเมริกา ขณะนี้เรายังคงค้าขายได้ แต่ก็ยังไม่ได้มากนัก แต่ก็ดีขึ้น ก็เป็นที่แน่นอนว่า การชะลอตัวของประเทศเหล่านี้ย่อมส่งผลกระทบต่อการส่งออกของบ้านเรา เราก็ต้องพัฒนาทั้งในเรื่องการส่งออก การหาตลาดใหม่ การปรับปรุงนวัตกรรม สร้างการแข่งขันให้ได้ เพื่อจะแข่งขันได้ต่อไปในครั้งหน้า ผมไม่แน่ใจว่าสถานการณ์มันจะแย่ลงไปกว่านี้หรือเปล่า ก็ต้องมีมาตรการรับความเสี่ยง ขณะนี้ก็ได้เร่งรัดในเรื่องของการรักษาส่วนแบ่งตลาด หาตลาดใหม่ๆ เช่น ประเทศอินเดีย รัสเซีย หรือตลาดระดับล่างลงมา ในแต่ละประเทศ เพราะว่าระดับบนมันอาจจะเต็มไปแล้ว คุณภาพ หรือความต้องการต่างๆ มันอาจจะพอเพียงในระดับบนแล้ว ต้องหาสินค้าใหม่ๆ และตลาดล่างด้วย การเจรจาขายสินค้า การลงนามในเอ็มโอยู ระหว่างปี 2558 และ 59 ต่อรัฐบาลจีนเขามีความคืบหน้า ในส่วนของการชนะการประมูลการเสนอข้าวให้กับรัฐบาลฟิลิปปินส์จำนวนอีก 2 แสนตัน

นอกจากนั้น รัฐบาลก็เร่งดำเนินการขยายเขตการค้าชายแดน มีคณะกรรมการขับเคลื่อนติดตามทั้ง 2 คณะ เพื่อจะเร่งรัดให้เกิดเขตเศรษฐกิจพิเศษให้ได้โดยเร็ว เพื่อเป็นการขยายการส่งออกไปยังประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น และอาจจะเป็นศูนย์กระจายสินค้าที่รับการผลิตจากในประเทศที่ได้รับสิทธิเรื่องจีเอสซีมาด้วย

อีกประเด็นสำคัญคือการบังคับใช้กฎหมาย ปรับปรุงกฎหมาย ในเรื่องของการกีดกัน ในเรื่องทางการค้าของต่างชาติ เช่น เราได้มี พ.ร.บ.การค้างาช้าง พ.ร.บ.สัตว์สงวน และคุ้มครองสัตว์ป่า ภายใต้อนุสัญญาไซเตส พ.ร.บ.ประมง วันนี้เราก็ได้รับการแจ้งเตือนจากหลายทางด้วยกัน ในเรื่องของทริปรีพอร์ทในเรื่องของไอโอยู เราต้องแก้ไขให้ได้โดยเร็ว ขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วนด้วย ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการ ลูกจ้าง หรือว่าแรงงานต่างๆ จะต้องเข้าระเบียบ ถ้าไม่เข้าระเบียบ ถึงแม้ว่าเราจะจับสัตว์น้ำได้ หรือทำสินค้าอะไรออกมาแล้ว ก็ขายไม่ได้ ท่านต้องร่วมมือนะครับ ขอต้องเร่งรัดให้ได้ภายใน 1 เดือน ต้องทุก 1 เดือน จะต้องมีความก้าวหน้า หลายรัฐบาลที่ผ่านมา ต้องแก้เรื่องนี้ให้สำเร็จ รัฐบาลต้องทำให้สำเร็จ แต่มันจะต้องสำเร็จด้วยความร่วมมือระหว่างเราด้วยกัน เพื่อจะได้ปรับปรุงต่างๆ ให้เป็นมาตรฐานสากล ไม่ใช่ให้เขามาติติงตลอดเวลาไม่ได้ เสียชื่อประเทศชาติด้วย ที่ผ่านมา รัฐบาลได้ไปจัดการแก้ปัญหาหลายอย่าง เท่าที่สะสมมานาน ในเรื่องปรับลดโครงการต่างๆ ซึ่งมีความจำเป็นต้องยกเลิกไป หรือยกเลิกภารกิจอื่น ที่จะไม่ให้ทำให้เกิดความบิดเบือนทางเศรษฐกิจ การจัดระเบียบสังคม การขจัดปัญหาการทุจริต ยาเสพติด การทำทุจริต ผิดกฎหมายต่างๆ ซึ่งอันนี้มัน ทุกคนต้องยอมรับนะครับว่า ถ้าหากมีการกระทำมากๆ มันจะมีเงินหมุนเวียนมากแน่นอน แต่วันนี้ พอเราจัดระเบียบขึ้นมา เงินเหล่านี้อาจหายไปจากระบบเป็นจำนวนมากพอสมควร ส่วนระดับล่างอาจไม่มีเงินหมุนเวียนตรงนี้ รัฐบาลต้องหาทาง นี่ก็คิดหลายเรื่องนะครับ การจัดหาตลาดค้าขายสินค้ามากขึ้น ในพื้นที่ เมื่อวานสั่งการไปแล้ว พื้นที่ใดก็ตามที่รัฐมีอยู่จะให้มีการค้าขายตามห้วงระยะเวลา ไม่ใช่ให้ไปอยู่ถาวร อันนี้ รัฐบาลนี้ เข้ามาบริหารประเทศในระยะเวลาอันสั้น พยายามจะให้ประเทศสามารถขับเคลื่อนไปได้ในวันข้างหน้า ไม่ได้ดูแค่วันต่อวัน เอาปัญหาอดีตมา และปัจจุบันสถานการณ์เป็นอย่างนี้ ทำยังไง และอนาคตต้องการลดความเสี่ยง และประเด็นสำคัญคือดูแลผู้มีรายได้น้อยนะครับ ไม่อยากให้ใครเดือดร้อน

วันนี้ สถานการณ์เศรษฐกิจของโลกนั้น มีปัจจัยเสี่ยงมากมาย รัฐบาลเข้าใจนะครับว่าผู้ประกอบการ โดยเฉพาะรายย่อย และเอสเอ็มอี อันนี้หมายความถึงทุกกลุ่มเลยนะครับ เราเอาเป้าหมายทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นรายกลาง รายย่อย แม้กระทั่งค้าปลีกอะไรเหล่านี้ คือดูทุกอย่าง มันก็เลยต้องใช้เวลาและความน่าสนใจมากขึ้น หลายๆ ส่วนไม่รีบ อยู่ในกรอบกติกา ถ้าเราปล่อยต่อไป มันจะเป็นปัญหาพัวพันกันไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดความเดือดร้อน มีผลกระทบต่อการค้าขายในทุกระดับ ทุกพื้นที่ในประเทศ และต่างประเทศด้วย เราจะเร่งดำเนินการช่วยเหลือ

ในสัปดาห์นี้ก็ได้อนุมัติหลักการช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีไปแล้ว ในเรื่องของการให้สินเชื่อเพิ่มเติมแก่เอสเอ็มอี จำนวน 15,000 ล้านบาท จะขยายวงเงินการค้ำประกันของ บสย. อีก 50,000 ล้านบาท และการดูแลเอสเอ็มอีทั้งระบบ

ในส่วนของมาตรการช่วยเหลือประชาชนอื่นๆ เช่น เรื่องปากท้อง การลดรายจ่าย และภาระประชาชนต่างๆ ไปถึงกระตุ้นการบริโภคนั้น รัฐบาลเต็มที่ โดยเฉพาะพี่น้องเกษตรกร หลายมาตรการที่ออกไปแล้ว ช่วยในเรื่องของการเพิ่มรายได้ส่วนหนึ่งให้กับเกษตรกร

อย่างไรก็ตาม การช่วยเหลือนั้นยังไม่ครบวงจรมากนัก เพราะเรามีรายได้น้อย จำเป็นจะต้องหารายได้เพิ่ม เพื่อจะดูแลคนทุกกลุ่ม ไม่ใช่แต่เกษตรกรอย่างเดียว วันนี้เราส่งเสริมเรื่องตลาดชุมชน ธงฟ้า ในการที่จะเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่าย ลดค่าใช้จ่ายของประชาชน ในทุกระดับทุกพื้นที่ ก็ขอให้ทำให้มากขึ้น การให้สินเชื่อทางการเกษตร ให้เกษตรกรมีแหล่งเงินทุน ปัญหาของเราคือตอนนี้ไม่รู้จะไปจอดที่ไหน มันก็รู้อยู่แล้ว อย่างน้อยก็ไปที่กระทรวง หรือไม่ทราบจะไปที่ไหนเลยก็ไปศูนย์ดำรงธรรม เขาจะแนะนำเอง หรือไม่ก็ตอนนี้ทุกกระทรวงก็จะลงไปควานหามาเอง เพราะฉะนั้นต้องช่วยกันหลายๆ ทาง ทุกคนรู้ตัวอยู่แล้ว แต่ไม่ต้องไปกลัวเรื่องจะต้องเสียภาษี เรื่องอะไรต่างๆ ก็ถ้ามันมีภาษี มันก็ต้องเสียนะ ถ้าทำแล้วมันดีขึ้น

เพราะฉะนั้นวันนี้อยากจะให้เกษตรกรได้มีแหล่งเงินทุน วันนี้เรามองถึงภาพการลดต้นทุน ต้องลงทั้งระบบ ทั้งในเรื่องของการเช่าที่ดินบ้าง ปุ๋ยบ้าง ปุ๋ยอินทรีย์ เมล็ดพันธุ์ แม้กระทั่งเครื่องมือ เครื่องจักร ตอนนี้กำลังพิจารณาเรื่องการส่งเสริมศูนย์เครื่องมือเครื่องจักร รถเกี่ยวข้าว รถตัดข้าว รถตัดมัน ปักดำต้นข้าว ก็จะให้ใช้ร่วมกันในชุมชน ก็กำลังหาวิธีการว่าจะทำยังไง หลายบริษัทในประเทศไทยก็ผลิตเครื่องมือเหล่านี้มาแล้ว ราคาก็ค่อนข้างจะถูกกว่าต่างประเทศ คุณภาพก็กำลังตรวจสอบว่าดีอย่างไร หรือไม่ ถ้าดีก็จะให้กระทรวงอุตสาหกรรมรับรองมาตรฐานอุตสาหกรรม เรียบร้อยแล้วก็จะให้ทางมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ ไปร่วมมือกันซิว่าจะทำลักษณะไหน จะเป็นไปได้มั้ยครับถ้าบริษัทเหล่านี้ต้องการจะสร้างตลาด หรือในระยะแรก เพราะฉะนั้นถ้ารัฐบาลจะช่วยได้ ก็คือว่าถ้ามีบริษัทต่างๆ ที่เอาเครื่องไม้เครื่องมือเหล่านั้นมารวมกัน หรือบริษัทของท่านที่ตั้งเองก็ได้ ถ้ารัฐสามารถที่จะให้สหกรณ์ ให้คนเหล่านี้ไปเช่าได้บ้าง จะได้ไม่ต้องซื้อ ถ้าซื้อมาแล้วก็จะเป็นปัญหาในการซ่อมแซมต่างๆ เพียงแต่ก็เหมือนกับเช่ารถในปัจจุบันของส่วนราชการ ถ้าเช่ามาแล้วใช้ได้ มันก็จะดี ถ้าผลิตได้มากขึ้น ขอให้บริหารดีๆ แล้วกัน เร่งดำเนินการนะครับในเรื่องนี้

ในส่วนของการจัดตั้งโรงสีชุมชน ธนาคารปุ๋ย ธนาคารเมล็ดพันธุ์ ก็เร่งดำเนินการ กระทรวงเกษตรฯ มหาดไทย จับมือกันทุกอย่าง โรงสี เครื่องสีข้าวขนาดเล็ก วันนั้นผมเห็นที่งานข้าว ก็มีเครื่อง ราคาประมาณสัก 40,000 แล้วก็มี packaging เรื่องเคลือบพลาสติก ทำสุญญากาศ ก็ประมาณ 4 - 5 หมื่น ราคาก็ไม่น่าจะแพงมากนัก น่าจะมีได้ อันนี้ขอให้บริษัทที่ทำอยู่ในเรื่องนี้ ออกมาประชาสัมพันธ์ ออกมาช่วยรัฐด้วย ถ้าสามารถให้เช่าได้ เยอะๆ จำนวนมาก ท่านก็ขายของได้เยอะอยู่แล้ว หรือท่านจะให้ใครมาเช่า รับผิดชอบ ก็ว่ากันอีกที ให้ติดต่อได้เลยนะครับ ที่กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรฯ เราจะได้ส่งเสริมให้สหกรณ์ชุมชนเข้มแข็งขึ้น แล้วเขาอยู่อย่างยั่งยืน อย่างน้อยก็สีทานเองได้ สีขายในชุมชนได้ โรงสีขนาดใหญ่อาจจะ ต่อไปอาจจะต้องไปพึ่งพาน้อยลง และก็มันจะทำให้ราคาผลิตผลการเกษตรเพิ่มมากขึ้น ทุกมิตินะครับ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ด้วยนะครับ มหาดไทย เกษตร ช่วยกันดูแล กำลังสำคัญของชาติเหล่านี้ เกษตรกรทั้งประเทศ ขณะนี้เศรษฐกิจยังอยู่ช่วงชะลอตัว ภาคการส่งออกได้รับผลกระทบอยู่บ้างสมควร เพราะเรามีเศรษฐกิจการส่งออก 70% ของจีดีพีนะ จีดีพีคือรายได้ทั้งประเทศ อันนี้ส่งออกประมาณ 70% เพราะฉะนั้น ถ้า 70% มันลดลง ส่งออกลดลง ก็จีดีพีก็ลดลงตามสัดส่วน

เพราะฉะนั้น ทำอย่างไรเราจะสามารถขับเคลื่อนไปได้ ทุกคนต้องช่วยกันคนละเล็กละน้อยในส่วนของภาษีบ้าง ส่วนของความร่วมมืออื่นๆ ด้วย เสียสละกันบ้างหลายอย่างที่ทุกคนช่วยกันได้ วันนี้ บ้านเมืองมีปัญหา บ้านเมืองยังไม่พัฒนาไปเพื่ออนาคตเท่าที่ควร ทุกคนต้องช่วยกัน ถ้าเราต้องการอนาคตที่ดี เราต้องช่วยกันนะครับ อย่าให้ต้องใช้แต่กฎหมาย ใช้อำนาจ ใช้ระเบียบ ใช้คำสั่งมากมาย มันไปไม่ได้ทั้งหมด อย่าให้ต้องบังคับกันขนาดนั้น ในเรื่องการจัดระเบียบ การดูแลความปลอดภัย การไม่ทิ้งขยะ สิ่งเหล่านี้ สังคมช่วยกัน มันจะทำให้เราเป็นสังคมที่น่าอยู่ ไม่มีความขัดแย้ง ถ้าทุกคนช่วยกันทำแบบนี้ จะไม่มีเวลาไปทำอย่างอื่นที่สร้างความขัดแย้งอะไรกันเหล่านี้ หรือถูกชักนำไปในทางไม่ถูกต้อง อีกทั้งจะช่วยกันส่งเสริมภาคการท่องเที่ยว ซึ่งวันนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวมากขึ้น แต่จะลดลงด้วยไฟป่า หมอกควัน ผมเป็นห่วงนะ เพราะงั้นวันนี้ผมสั่งการไปแล้วว่า ทำยังไงจะมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวประเทศไทยช่วยโลว์ซีซั่น อากาศอาจร้อนหน่อย แต่มันมีอะไรที่น่าประทับใจ ชุมชน ตลาดน้ำ หรือการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมต่างๆ หรือคุณภาพ เช่น อนามัย เรื่อง การนวดแผนโบราณ สปา น่าจะโฆษณาให้มากขึ้นในเรื่องเหล่านี้ และอีกอย่างที่เราจะเป็นฮับได้อยู่แล้ว คือเรื่องการแพทย์ โรงพยาบาลมีคุณภาพ สำหรับผู้ที่มีรายได้มาก รายได้สูง นิยมมารักษาโรงพยาบาลไทย โดยเฉพาะ ตะวันออกกลาง ต้องเร่งรัดเรื่องพวกนี้ อินเดียเขาก็ชอบมาเมืองไทย มาแต่งงาน เพราะเราจัดได้งดงาม ตอนนี้ก็เป็นรายได้เข้าประเทศ

ต้องช่วยกันคิดทุกคนพัฒนาการของตนเอง หาวิธีการแปลกใหม่ สร้างแรงจูงใจ ถ้ารัฐทำคนเดียวไปไม่ไหว เพราะรัฐได้กำหนดนโยบายไปแล้ว แต่การปฏิบัติเป็นของท่าน ท่านก็ตอบแทนรัฐในเรื่องของผลกำไร เรื่องภาษี เหล่านี้ก็เอประโยชน์ต่อกัน ให้เขามั่นใจในการใช้จ่าย ซึ่งเป็นผลดีกับประเทศทั้งหมด ในเรื่องของการหมุนเวียน ถ้าต่างประเทศมาใช้เงินมันก็มีรายได้เรื่องสถานประกอบการ บริการเหล่านี้ มันก็เกิดขึ้นทั้งชุมชน และท้องถิ่นไปด้วย สินค้าเกษตรต่างๆ มันก็ไปเป็นอาหารการกิน ก็เกิดการหมุนเวียนขับเคลื่อนอย่าไปหยุด ทุกอย่างหยุดไม่ได้ ประเทศไทยหยุดไม่ได้ ไม่ต้องระมัดระวัง ถ้ามีเงินก็ใช้ มีมากใช้มาก มีน้อยใช้น้อย ถ้าทุกคนตื่นตระหนกทั้งหมด เหมือนที่สื่อบางสื่อพูดไป ก็น่าเป็นห่วง เราต้องพูดในลักษณะที่เป็นข้อเท็จจริงบ้าง แน่นอนมันมีการชะลอตัวทั่วโลก และเรายังไม่ค่อยพร้อมตรงนี้ ต้องยอมรับตรงนี้ก่อน ถ้ารับตรงนี้ได้เราถึงจะเดินหน้ากันต่อไปได้

ถ้าบอกว่ามันเป็นเรื่องของรัฐบาลนี้ต้องมาแก้ปัญหาทุกเรื่อง มันเป็นไปไม่ได้ เราเข้ามาเพียง 8 เดือน เป็นรัฐบาล มันทำอะไรไม่ได้มากขนาดนั้น ต้องหยุดปัญหา แก้ไขปัญหา ต้องเดินหน้าไปด้วย และสร้างอนาคตไปด้วย โครงสร้างปฏิรูปมันหนักนะงาน แต่จะเร่งดำเนินการ เบิกจ่ายภาครัฐ วันนี้ก็เบิกจ่ายไปแล้วกว่า 46% มากกว่าทุกปีที่ผ่านมา โดยได้ลงนามสัญญาไปแล้ว เป็นมูลค่ากว่า 2.8 แสนล้านบาท อย่าบอกว่ามันยังไม่ออก ออกแล้ว ออกไปแล้วทำสัญญาแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็เป็นการจัดซื้อจัดจ้าง ก็ไปติดตามกันมา บ่นว่าออกช้ากว่านี้นะ แต่วันนี้เร่งเต็มที่แล้ว ลดขั้นตอน ลดเวลา มี พ.ร.บ.ร่วมทุนอะไรเข้ามา เพราะฉะนั้นต้องช่วยกันบอกไป สมาคมต่างๆ การประกอบการ ก่อสร้าง ค้าขายสินค้าอะไรต่างๆ เหล่านี้ อิฐ หิน ปูน ทราย เหล็กต่างๆ เตรียมการไว้นะครับ เดี๋ยวเขาก่อสร้างมาแล้วก็มีปัญหาอีก เพราะฉะนั้นขอให้สมาคมอุตสาหกรรม การค้า อุตสาหกรรม และหอการค้าจังหวัด ช่วยไปดูด้วย วันนี้ก็แพร่ไปในเว็บอยู่แล้วว่าโครงการมีอะไรบ้าง จังหวัดไหน อะไร ยังไง เรื่องน้ำ เรื่องสาธารณูปโภค ทุกเรื่องนะ ไปดูซิ ไปตามอีกหน่อยสิ เราก็ให้ข้อมูลไปมากพอสมควรตาม พ.ร.บ.การให้ข่าวสารที่มีอยู่แล้ว ก็ให้เท่าที่สามารถให้ได้มากที่สุด ที่เหลือเป็นของระบบราชการ ก็ว่ากันมา อย่าไปทุจริตกันนะ

การลงทุนภาครัฐคราวนี้ลงได้ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ได้ดำเนินการไปแล้ว มีเม็ดเงินลงไปแล้ว เช่น การทำถนนของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท รัฐบาลอนุมัติเพิ่มเติมไปเป็นวงเงินทั้งสิ้นถึงประมาณ 4 หมื่นล้านบาท แล้วก็ในส่วนของการบริหารจัดการน้ำ ปรับระบบชลประทาน ขุดลอกคูคลอง ในช่วงนี้ก็ต้องเตรียมการตั้งแต่วันนี้ ไม่ใช่ไปเตรียมวันหน้า วันนี้มันแล้งก็ขุดซะเลย ไปทำซะเลย ถ้าฝนตกมามันก็รับได้ อันนี้รับได้ ไม่ได้ ก็ไปดูซิ ไม่ใช่ขุดไปแล้วรับน้ำไม่ได้ ไม่มีน้ำเข้าไปก็เสียเวลาอีก อันนี้ก็ต้องตรวจตราอีกทีนะ ต้องตรวจสอบอีกทีว่ามีคุณภาพหรือเปล่า ไม่ใช่ไปขุดในเรื่องไม่เป็นเรื่อง ประชาชนไม่ต้องการ อะไรเหล่านี้ ระมัดระวังนะครับ ก็ให้เป็นนโยบายไปแล้ว

ก็รวมความทั้งสิ้น เรื่องน้ำ เรื่องถนน ระยะแรกก็ 8 หมื่นล้าน เพราะฉะนั้นมันก็มีการใช้จ่ายอยู่แล้ว ก็ใช้ระยะเวลาขณะนี้ดำเนินการต่อไปให้เรียบร้อยโดยเร็ว หลายเรื่องทำไปแล้วนะ เช่น การขุดเจาะบ่อน้ำบาดาล การสร้างประปาหมู่บ้าน อะไรเหล่านี้ พวกนี้มีปัญหามาตลอด เป็น 6 - 7 พันแห่ง ก็กำลังดำเนินการอยู่ ไฟฟ้า อะไรต่างๆ ก็มีการลงทุนเพิ่มเติม เพื่อจะทำให้ประชาชนได้ใช้ไฟทั่วทั้งประเทศ

ในส่วนของการลงทุนระบบป้องกันอุทกภัย อีกประมาณ 1.8 แสนล้านบาท อันนี้รวมความไปถึงลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ระบบกลาง รถไฟ รถไฟฟ้า มันจะเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นระยะๆ มันมีขั้นตอนอยู่ วันนี้มีการพูดคุย มีการเจรจา มีการทำข้อตกลงเรื่องการลงทุน การบริหาร การแบ่งปันผลประโยชน์ การถ่ายทอดเทคโนโลยี เพื่อให้สอดคล้องกะว่าอนาคตเราต้องเป็นคนรับผิดชอบ สารภูมิพื้นฐานเหล่านี้ให้ได้ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ รถไฟฟ้าเราก็มีวิศวกร มีผู้ประกอบการต่างๆ ของคนไทยเอง วันนี้ได้ฝากให้กระทรวงศึกษาฯ ไปปรับระบบการเรียนให้มันสอดคล้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของมหาวิทยาลัย อุดมศึกษา ทั้งในส่วนของวัด ในส่วนของนอกระบบด้วย มหาวิทยาลัยราชภัฏดูว่า ทำอย่างไรเราจะผลิตเฉพาะในส่วนที่มาส่งเสริมเรื่องแรงงงานที่มีคุณภาพ เรื่องวิศวกร รถไฟ ราง น้ำอะไรเหล่านี้ มันต้องให้เป็นเรื่องเป็นราว ถ้าผลิตเฉพาะจบมหาวิทยาลัยอย่างเดียวมันก็เป็นปัญหา อันนี้อยากจะให้มีการพัฒนาในเรื่องนี้ให้มากขึ้น เรื่องลอจิสติกส์ก็อยากให้สร้างความมั่นใจ ส่งเสริมภาคเอกชน ถ้าถนนหนทางไม่ดี ไฟฟ้าไม่พอ มันลงทุนไม่ได้ ใครมาก็ไม่อยากมา เพราะค่าแรงมันสูงอยู่แล้ว แต่ถ้าค่าแรงเราสูงอยู่ แต่เราพัฒนาของเราให้มากกว่าประเทศอื่นๆ ทุกประเทศก็อยากจะมาลงทุนเมืองไทย น่าอยู่นะครับ เมืองไทยน่าอยู่ ค่าใช้จ่ายก็ถูก และคนไทยก็น่ารักอะไรแบบนี้ เราก็ทำตัวให้น่ารักในเรื่องของการวางรากฐานการขนส่งมวลชนระบบรางนั้น การพัฒนาที่เราร่วมกับจีนเมื่อปลายปีนั้น ก็ลงนามความร่วมมือแล้ว มีการประชุมกันครั้งที่ 3 แล้ว ในกรอบยุทธศาสตร์ที่จะต้องทำกันว่า ในกรอบยุทธศาสตร์ของเรา ของไทยเราวางไว้ 58-65 และทำทยอยทำไป ก็แล้วแต่รัฐบาลหน้าจะทำต่อ เราอยู่แค่ไหนก็ทำแค่นั้นส่งต่อ จีนเขาก็จะมาดูว่า ในส่วนนี้ หรือประเทศอื่นๆ ญี่ปุ่น หรือว่าประเทศหลายประเทศนะครับ ที่มาพบผม ไกลๆ ก็มี ทั้งเมื่อวันก่อนก็ตุรกี แล้วใครอีกนะ รัสเซีย พอสมควรที่ทุกคนสนใจอยากจะเข้ามามีส่วนร่วมเกี่ยวข้องด้วย แต่เราก็ต้องพิจารณาตามเหตุผลและความจำเป็นการเป็นมิตรประเทศกันอะไรกันเหล่านี้ การค้าขายเรากับสหรัฐอเมริกายังดีอยู่นะครับ อยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น การส่งออกก็ดีขึ้น ยุโรป ก็ดีขึ้น ระมัดระวังเรื่องอะไรประมง สินค้าประมง และเรื่องค้ามนุษย์ให้ได้ ตอนนี้ก็เร่งคณะกรรมการทั้งหมดขับเคลื่อนเรื่องนี้ ทั้งกระทรวงต่างประเทศ ความมั่นคง กระทรวงแรงงาน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กรมประมง กระทรวงเกษตรทุกคนต้องร่วมมือ ผมถือว่ารับผิดชอบร่วมกัน ที่ผ่านมาก็ปล่อยมันเป็นอย่างนี้มาไม่ได้ ต้องแก้ไขให้ได้ภายใน 1 เดือน ทุก 1 เดือน ต้องทำให้มีความคืบหน้า อย่าไปแก้ตัว บอกว่าปัญหาเราต้องยอมรับว่าปัญหาอยู่ที่ไหน ถ้าเราหมกไว้เรื่อยๆ มันก็ไปอย่างนี้ พอถึงเวลามันก็แก้ไม่ได้ วันนี้ ต้องยอมรับในปัญหาที่เกิดขึ้น แก้ปัญหามีขั้นมีตอน มีแผนงาน มีหน่วยงานความรับผิดชอบ มีกฎหมาย มีการลงโทษเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ดูแลเหยื่อในทุกมิติ เพราะงั้นดูทั้งผู้ประกอบการ เรือประมง แรงงานในเรือ และบนบนต้องไปพูดถึงเรื่องขบวนการค้ามนุษย์เหล่านี้ มันพันกันไปหมด ต้องแก้ไขนะครับ

เรื่องรถไฟ อันนี้ก็ตกลงกันได้ชั้นต้น มันมีทั้งเรื่องของการก่อสร้างทางราง และจะต้องเริ่มจากที่ดิน ที่ไทยต้องรับผิดชอบ จีนศึกษาสำรวจและออกแบบ และไทยจะรับเรื่องของเวนคืนที่ดิน ขอความร่วมมือนะครับ ไม่ได้ขัดขวาง ก็สร้างไม่ได้อีก จะเกิดขึ้นได้ยังไง เยียวยาใครจะต้องขยับออก หลายส่วนก็ไปอยู่ในพื้นที่ของรถไฟเขาอยู่แล้วนะ มันผิดกฎหมายอยู่แล้ว ต้องขยับออก ถ้าไม่ยอมกัน อะไรกัน ต้องใช้มาตรการทางกฎหมาย เราจะแยกเป็น 4 เส้นทาง กรุงเทพฯ-แก่งคอย 133 กิโลเมตร แก่งคอย - มาบตาพุด 146.5 กิโลเมตร แก่งคอย - นครราชสีมา 138 กิโลเมตร นครราชสีมา-หนองคาย 355 กิโลเมตร จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างช่วงที่ 1 และ 2 ภายในเดือนตุลาคมนี้ ยืนยัน และก่อสร้างช่วงที่ 3 และ 4 ภายในเดือนธันวาคมนี้ แต่จะไปจบในปีหน้า หรือปีโน้นอีกที ก็เป็นการตามระยะเวลา ก็จะทำให้เร็วที่สุดนะ อันนี้ก็จะต้องเจรจาพูดคุยเรื่องเงินกู้ต่างๆ จะเน้นทั้งกู้ในประเทศ กู้จากจีน แล้วก็จากกองทุนอื่นๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ผลประโยชน์ต้องอยู่ที่ไทย ไม่เกิดผลเสียหาย เราจะไม่ยกให้เขาไปทำทั้งหมด ไม่ได้ เราก็ต้องมีคณะกรรมการทุกจุด ทุกระดับ วันนี้ถ้าหากลงไปได้ทั้งหมด จะเริ่มเดินรถทั้ง 4 เส้นทางภายในปี 2561 ซึ่งต่อไปก็อาจจะมีการเอาเอกชนมาร่วมลงทุน จัดรถมาวิ่งเพิ่ม อะไรเพิ่ม ในรถไฟทางคู่อะไรเหล่านี้ มันต้องพัฒนาไป รัฐอย่างเดียวไม่ไหว วันหน้าเราก็ขาดทุนอีกอะไรอีก ไม่ได้ เพราะเอกชนมาพัฒนา มาช่วยกัน อะไรกัน แต่ก็ยังเป็นการบริหารร่วมกัน ก็ควบคุมคุณภาพได้แล้วกัน เพราะว่าเป็นรัฐวิสาหกิจด้วยนะ ในส่วนของรถไฟไทย

ในส่วนของการพัฒนาโครงข่ายรถไฟที่เราจะร่วมมือกับญี่ปุ่นนั้น เป็นความร่วมมือร่วมกัน จะร่วมมือกับจีน กำลังเดินหน้าอยู่ คราวที่แล้วผมก็ไปพูดกับนายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น ท่านก็รับปากว่าท่านจะเร่งดำเนินการในเรื่องการศึกษา การร่วมมือกันระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาลให้ได้ เส้นทาง East-West Corridor ซึ่งจะต้องมีผลไปถึงทวายด้วย ที่เราเตรียมการกับญี่ปุ่น ญี่ปุ่นเขาจะลงทุนกับทวายอยู่แล้ว อะไรที่มันตรงกัน เราตรงกับจีนตรงไหน ตรงกับญี่ปุ่นตรงไหน ตรงกับยุโรปตรงไหน อเมริกาตรงไหน มันก็คุยกันได้ทั้งหมด เพราะเราเป็นมิตรประเทศด้วยกัน

เส้นทางที่สำคัญ วันนั้นพูดคุยกับญี่ปุ่น เป็นเส้นทางไปแหลมฉบัง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เราได้คุยกันแล้ว แล้วก็รับปากกันว่าเดี๋ยวจะมีคณะ ส่งคณะมาพูดคุยกับกระทรวงคมนาคม กรรมการฝ่ายไทย โดยเร็วที่สุด เราจะได้เพิ่มสัมพันธ์ด้วย แน่นแฟ้นมากขึ้น ความร่วมมือระหว่างประเทศในอาเซียน อาเซียน +3, +6 อะไรก็แล้วแต่ ก็ทำเหล่านี้ เราก็ต่อยอดฐานการผลิตสนับสนุนนักลงทุนญี่ปุ่นด้วย ให้เขาลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ที่ผู้ประกอบการญี่ปุ่นที่อยู่ในไทย ก็อยากจะอยู่ในไทยต่อไป ไม่อยากจะไปที่อื่น นี่เป็นข้อมูลแห่งชาติ เป็นการภายในนะ รู้จักกับพ่อค้า กับนักลงทุนญี่ปุ่น เขารักประเทศไทยนะเพราะฉะนั้นอย่าเอาเขาออกไปเลย อย่าทำให้เขาต้องออกไปเพราะความขัดแย้ง เพราะการเมือง หรืออะไรก็แล้วแต่ วันนี้เขากำลังเข้ามาอยู่ ต้องดึงเข้ามาให้มากๆ ทุกประเทศด้วยนะ

แล้วเส้นทางนี้มันจะเชื่อมโยงไทยกับเมียนมาร์ กับ กัมพูชา ระหว่างนี้กำลังพูดคุยเร่งทำ action plan ให้เร็วที่สุด อะไรที่เริ่มได้รัฐบาลนี้ ผมจะเริ่มให้หมดนะ แต่วันหน้าท่านก็ไปบอกรัฐบาลให้ทำให้ต่อไป หรืออะไรก็แล้วแต่ เพราะเป็นรัฐบาลเลือกตั้งของท่าน

การพัฒนาระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน วันนี้ได้เร่งทุกเส้นทาง ไม่ว่าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ กำลังวางระบบการเดินรถ แล้วก็จะเริ่มทดลองวิ่งได้ต้นปี 59 สายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย กำลังคัดเลือกผู้เดินรถ คาดว่าจะเปิดบริการได้ 2561 เส้นทางอีกหลายทาง เช่น สายสีเขียวด้านใต้ สมุทรปราการ - บางปู สายสีเขียวด้านเหนือ ช่วงหมอชิต - สะพานใหม่ - คูคต สายสีส้ม ช่วงพระราม 9 - มีนบุรี สายสีชมพู ช่วงแคราย - มีนบุรี ทั้งหมดจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จ และเปิดบริการภายในปี 2563 ก็ติดตามก็แล้วกัน ผมก็คิดว่าเป็นสิ่งที่ดีนะ ถ้าไม่ทำวันนี้ก็ไปรอกันอีก ไม่ไหวแล้วนะ รอกันมานานเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นรถไฟฟ้าที่ดูแลเดินรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน รฟม. หรือรถไฟฟ้าในส่วนของการรถไฟแห่งประเทศไทย อย่างเช่น สายสีแดง ช่วงรังสิต-บางซื่อ ก็จะให้เชื่อมโยงสอดคล้องกันทั้งระบบ

นอกจากรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ แล้ว รถไฟฟ้าโมโนเรลอะไรต่างๆ หรือรถรางในพื้นที่ปริมณฑล หรือเมืองใหญ่ๆ ก็วางแผนเพื่ออนาคตไว้แล้วด้วย ก็กำลังทำ action plan กันอยู่ แต่จะเกิดขึ้นเมื่อไร ก็เป็นเรื่องของบางส่วน เป็นเรื่องของพื้นที่ด้วย ที่ต้องช่วยกันดำเนินการ อันนี้ก็ต้องทำหลายอย่าง วันนี้เราต้องเปลี่ยนรูปแบบการลงทุน รัฐลงทุนอย่างเดียวไม่ไหว ต้องร่วมมือกับภาคเอกชน โดยเริ่มต้นอาจจะเน้นเส้นทางระยะสั้น ที่มีการคมนาคมขนส่งจำนวนมาก เช่น เส้นทางกรุงเทพฯ ไปพัทยา ระยอง หรือหัวหิน ก็ได้ประกาศไปแล้ว มีเอกชนสนใจร่วมลงทุนพอสมควร รัฐก็ได้ให้การสนับสนุนในเรื่องของการจัดหาที่ดิน เช่น มีผู้สนใจหลายท่านต่างชาติเอง ญี่ปุ่นก็สนใจ ในเส้นทางในเรื่องของรถไฟความเร็วสูง คือถ้าให้เขาลงทุนมา เขาต้องรับผิดชอบในการเดินรถอะไรต่างๆ เหล่านี้ มันอาจจะแพง หรือมันอาจจะถูก ถ้าอยากให้เกิดมันก็ต้องเกิดก่อน และชดเชยรายได้ที่มันอาจจะขาดทุน ทำอย่างไรราคามันจะไม่สูง อาจจะต้องคุยกันเรื่องผลประโยชน์ระหว่าง 2 ข้างทาง หรือสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งอันนี้เป็นส่วนที่ไทยจะต้องพูดคุยต่อไป ไม่อยากให้เสียเปรียบ และทำอย่างไรจะมีที่ค้าขาย มีที่อยู่อาศัยตลอดเส้นทางใหม่ๆ เหล่านี้ เป็นตึก เป็นคอนโดมิเนียม อพาร์ทเมนท์อะไรให้กับคนที่มีรายได้น้อยอยู่ ทำอย่างไรก็ต้องร่วมมือกัน อย่าไปอยู่แบบสลัม แบบชุมชน ผมเข้าใจนะท่านก็ไม่มีสตางค์ รัฐก็ต้องดูแล ท่านต้องมาเช่า มีทั้งเช่า มีทั้งผ่อนชำระ ผ่อนส่ง เช่าซื้ออะไรก็ว่าไป ถ้าไม่เริ่มคิดอย่างนี้ มันเป็นไปไม่ได้ วันหน้าก็รกรุงรังไปหมด ริมคลองก็ทำอะไรไม่ได้ แน่นคลอง ชุมชนก็แออัด ไฟไหม้อีกวุ่นวาย เราจะได้มาใช้พื้นที่ในการทำสวนสาธารณะในการทำประโยชน์อย่างอื่นได้มากมาย สนามกีฬา และคนเหล่านี้ก็มาขึ้นอยู่บนแฟลต หรือบนอพาร์ทเมนท์ที่มันพอสมควร ก็ดีกว่าอย่างน้อยก็ดีกว่าเพิงสังกะสี หรือบ้านที่ผุๆ พังๆ หน้าฝนหน้าร้อนก็ไม่สบาย ลูกหลานไม่มีคุณภาพชีวิตที่ดี วันนี้กำลังเร่งดำเนินการ

เรื่องการใช้ยางพาราทำถนน และอื่นๆ ได้สั่งการไปแล้ว ขอให้หน่วยงานของรัฐเร่งด้วย ผมต้องการให้เอายางมาใช้ให้มากที่สุดในขณะนี้ ถนนที่สามารถลงได้ ทำได้ทุกเส้น ใช้ยางมาผสมมันอาจจะต้องมีการปรับราคาเพิ่ม ก็ว่ามา เสนอมาเร็วๆ เราต้องเร่งรัด ถ้าทำได้ มันจะเอายางมาใช้ในประเทศให้มากขึ้น และหาทางทำอย่างไรให้การลงทุนของต่างประเทศ ใช้ผลผลิตภายในประเทศนี้บ้าง บางทีมันก็ติดในข้อตกลงในเอฟทีเอ ในกติกานะครับว่า การค้าลงทุนมันต้องอะไรอย่างไร วันนี้ก็เข้มงวดอยู่แล้ว ต้องใช้ 60% ขึ้นไป 70 80 90 ไปสั่ง 100% มันคงลำบากตอนนี้ เราต้องพัฒนาของเราให้มันดีกว่า มีคุณภาพ มีการรับรองมาตรฐานทั้งในประเทศ สากล และระวังการกีดกันทางการค้า การละเมิดลิขสิทธิ์เยอะแยะไปหมด เราไม่ได้เริ่มมาอย่างนี้ วันนี้ต้องมาเริ่มทุกอย่างเวลาเดียวกัน มันจะทันเวลาไหม ถ้าไม่ร่วมมือไม่มีทางทัน

เพราะฉะนั้นได้ให้ทุกกระทรวงได้ไปรวบรวมความต้องการในการใช้ยางพารา เช่น ไปทำพื้น อ่างเก็บน้ำในพื้นที่ที่มันเก็บน้ำไม่ได้ อันนี้มันใช้ยางได้ ยางดิบได้ ในเรื่องของอิฐบล็อก คอนกรีตบล็อก และในเรื่องของแผ่นยาง สนามกีฬาฟุตซอล หรือสนามวิ่ง ลู่วิ่งอะไรต่างๆ กำลังเร่งทั้งหมดให้กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เร่งดำเนินการในเรื่องนี้ด้วย เดี๋ยวสัปดาห์หน้าในช่วงการประชุมที่หัวหินจะเอาของเหล่านี้ไปแสดงให้เห็นด้วยว่า เราทำอะไร เชิญด้วยนะครับ ทั้งนักธุรกิจเอสเอ็มอีอะไรต่างๆ ก็ไปที่หัวหิน โรงแรมหัวหินของทหารที่สวนสน

ในเรื่องของการบริหารจัดการน้ำ ให้ความสำคัญนะครับ ภัยแล้งมันซ้ำซากมากี่ปีแล้ว เสียเงินเสียทองมาตลอด วันนี้ต้องแก้ปัญหาให้ได้ แหล่งน้ำจะทำอย่างไร จะไปปลูกพืชอะไรบ้าง อุทกภัยบางทีก็ท่วมอีกๆ พอหลังท่วมก็แล้ง มันเป็นอยู่อย่างนี้ และผมถามว่า ใครจะต้องมาแก้ รัฐบาลจะต้องแก้ ร่วมมือกับประชาชนที่เขารู้อยู่ว่ามันเป็นอย่างไร คราวนี้ถ้าเราทำไม่จบซักอัน ทำกระจายๆ ไปเรื่อยๆ มันก็ไม่มีข้อยุติว่า มันจะหมดเมื่อไร เพราะว่าเงินมันน้อยไง ถ้าเงินเยอะไม่มีปัญหา เราไม่อยากจะกู้เงินมาทีเดียว มันเป็นปัญหาหมด เรื่องการทำอีไอเอ ประชาพิจารณ์ ความต้องการ ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม กฎหมายป่าไม้ เยอะแยะไปหมด วันนี้ทำให้มันทั่วถึงเร่งเป็นระยะแรก เร่งด่วน ซ้ำซากพวกนี้ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมพืช ดูที่น้ำน้อย ใช้ที่ไหน วันนี้หลายคนขอบคุณนะครับ เกษตรกรเปลี่ยนจากข้าวมาเป็นอ้อย มีโรงงานจะขยายไปก็ไปทำนะครับ จะได้รองรับกันได้ อย่ามาบอกว่า เพราะอย่างนี้อย่างนั้น ก็เลยต้องเปลี่ยนอาชีพ และให้ท่านเปลี่ยนอยู่แล้ว ท่านไม่เชื่อ วันนี้ ก็ยังมีปลูกนาปรังอยู่อีก เท่าไหร่ 2 - 3 พันไร่ เดือดร้อนมาก็ไม่รู้ทำไงนะ ผมบอกแล้วว่า เราไม่ให้ปลูกนะ เพราะงั้นเราก็ลำบากในการเยียวยา เพราะห้ามไปแล้ว ก็ปรึกษาเอากับเกษตรในพื้นที่ เจ้าหน้าที่เกษตรพาณิชย์ หรือใครต่างๆ ในพื้นที่ระดับจังหวัด ระดับอำเภอ ทำงานให้มีคุณภาพด้วยนะครับ ให้มีประสิทธิภาพ ผมทราบว่า หลายท่านเหน็ดเหนื่อย หลายท่านทำตามนโยบายของแต่ละกรม แต่ละกระทรวง หลายท่านอาจไม่ค่อยเข้าใจ หลายท่านอาจไม่มีคุณภาพเพียงพอ เดี๋ยวให้หน่วยพิจารณา ผลงานไม่ปรากฏ มีปัญหาประชาชนไม่ตอบรับ ก็ไปแก้มา ต้องแก้ทั้งคน ทั้งระบบ ทั้งวิธีการด้วยนะครับ

เรื่องการซ่อมปรับปรุง เพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทาน ผมบอกแล้วว่า เราเพิ่มได้ไม่มากนัก เพราะต้นทุนน้ำมีเท่านี้ การส่งน้ำมีเท่านี้ ระดับพื้นที่ต่างกัน เพราะฉะนั้น ไม่ใช่ว่าเขียนทำไปทั้งหมดแล้ว ทำได้ มันทำไม่ได้ ไม่ได้ก็ไม่ได้ ต้องรู้ว่าอันไหนทำไม่ได้ อันไหนมีน้ำ อันไหนไม่มีน้ำ ต้องรู้นะครับ ข้อมูล ผมให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ ให้ข้อมูลประชาชนด้วยนะ ที่ผ่านมา เขาไม่รู้เรื่อง เขาก็ทำตามบรรพบุรุษเขามาโดยตลอด เรื่องการปลูกป่ารักษาต้นน้ำ ต้องสอดคล้องกับแผนการจัดระเบียบที่ดินของรัฐบาล ต้องมีทั้งพื้นที่ปฏิรูป ให้เป็นสิทธิของชุมชนในการทำกิน ไม่ได้เปลี่ยนโฉนด ไม่มีคำว่าโฉนด ใช้ทำร่วมกัน หรืออีกอย่างคือการเช่า ที่ดินของรัฐ ที่ผิดกฎหมายทั้งหมด ต้องหาวิธีการแก้ปัญหาทางรัฐศาสตร์ คุยกัน ถ้าเราแก้ปัญหาด้วยกฎหมายอย่างเดียว มันใช้ไรไม่ได้ ทำประโยชน์ไม่ได้ เพราะงั้นก็เดือดร้อน

เมื่อวานผมประชุมไปแล้วเรื่องที่ดินใหญ่ของรัฐบาล ที่ดินทำกิน อย่าเรียกร้องกันมากนัก ทั้งป่าต้นน้ำ ป่าอุทยาน ป่าอนุรักษ์ มีเต็มไปหมด คนเข้าไปอยู่ และทำยังไง อันไหนขยับได้ขยับเถอะครับ ขอมารัฐว่าอยากออกไปอยู่ข้างนอก จะหาที่ให้ ก็ไปปรับปรุง พัฒนาให้มันอยู่ได้ ระหว่างนี้ ระหว่างที่ย้ายไม่ได้ ก็ไปปลูกป่าปลูกต้นน้ำแทนให้กับรัฐ หรือให้กระทรวง ให้ดูแลตรงนี้ จะได้มีรายได้ และเตรียมการย้ายด้วย ไม่ใช่ย้ายมาก่อน และอยู่ไม่ได้ มันก็ลำบาก คุย คิดให้ดี ต่อไปผู้ปฏิบัติต้องเข้าใจนโยบายว่า ทำอะไรก็ตาม ต้องเป็นไปตามกฎหมาย เป็นไปตามแผนงาน แต่ต้องไม่ทำให้ประชาชนเดือดร้อน จะทำยังไงไปคิดมา นั่นนะหน้าที่ของท่าน ต้องคิดมา ต้องทำให้ได้ ปลูกป่าลักษณะต้นน้ำ ลดการทำลายของดิน การสร้างแก้มลิงตามแนวทาง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่เก็บน้ำขนาดเล็กขนาดใหญ่ แหล่งน้ำชุมชน แหล่งน้ำไร่นา การเจาะบ่อบาดาลโดยประชาชนเอง มีเงินให้เขาไปขุดเจาะ ให้ผ่อนชำระไรก็แล้วแต่ ไปคิดมา ทุกกระทรวงถ้าคิดแบบนี้ มันช่วยกันหมด ถ้าคิดรอสั่งอย่างเดียวมันไปไม่ได้หรอกครับ เพิ่มประสิทธิภาพระบบชลประทานให้ทำได้เลย ทำได้ทันทีนะ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ ตามแผนงานน้ำเร่งด่วน ซึ่งรัฐบาล คสช. ดูแล อนุมัติโครงการแล้วกว่า 6,000 โครงการ เป็นเม็ดเงิน 77,000 ล้านบาท ซึ่งดำเนินการไปแล้ว จำนวน 5,7052 โครงการ คิดเป็นร้อยละ 35 จากโครงการทั้งหมดที่เราอนุมัติ เดี๋ยวต้องไปตรวจสอบกันอีก เพราะงั้นถ้าเราทำได้ดี ก็ข้างหน้ามีน้ำมากขึ้นจะลดพื้นที่การขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค การขุดบ่อน้ำบาดาล เจาะพื้นที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคก่อน จำนวน 2,708 แห่ง ช่วยเหลือประชาชนได้ 3,991 หมู่บ้าน ให้มีน้ำน้ำอุปโภคบริโภค

เรื่องการปรับปรุงระบบส่งน้ำ โครงการเขื่อนลำปาว ก็เพิ่มความจุเขื่อนลำพระเพลิง ปรับปรุงสาธารณสุขน้ำ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คาดว่า จะทำให้น้ำนั้นมีไว้ใช้ประโยชน์เพิ่มอีก 279 ล้านลูกบาศก์เมตร ขยายของเดิมนะ ไม่ใช่ขุดใหม่ ส่งน้ำเพิ่มอีก 580,000 ไร่ จะได้มีการพัฒนาพื้นที่ชลประทานใหม่ๆ ก่อสร้างฝายแก้มลิง อ่างเก็บน้ำ สถานีสูบน้ำ ระบบส่งน้ำเพิ่มเติมอีก 598 แห่ง จากเดิมมีเพียง 183 แห่ง ที่ผ่านมามีเท่านี้ นี่เพิ่มอีกตั้ง 500 600 แห่ง จะทำให้ช่วยกักเก็บน้ำมากขึ้น 1,125 ล้านลูกบาศก์เมตร และช่วยพื้นที่ชลประทานที่จะเปิดใหม่ถึง 1.8 ล้านไร่ มีการฟื้นฟูแหล่งน้ำธรรมชาติกว่า 2,000 แห่ง และขุดบ่อน้ำอีก 50,000 แห่ง การขุดลอกแม่น้ำยม น่าน ป่าสัก ในพื้นที่ที่เหมาะสมกำลังเร่งดำเนินการส่วนที่เหลือ ในช่วง 8 เดือน เราทำงานหนัก ช้าบ้าง เร็วบ้าง ก็มีหลายขั้นตอน แต่นั่นคืออนาคตของท่าน ต้องมองอนาคตว่าวันหน้าเราจะอยู่กันอย่างไร ทำอย่างไร ทุกอย่างที่ผมทำ ผมมองอนาคตเข้ามาก่อน แล้วกลับมาดูว่าปัจจุบันมันมีแค่ไหนอย่างไร เสร็จแล้วไปดูอดีตว่ามันหายไปอยู่ที่ไหน เอาทั้งอนาคต อดีต ปัจจุบัน มารวมกัน จากนั้นย่อยมาสู่แผนงาน งบประมาณวางไว้อย่างนี้ แล้วทำไปทีละเสต็บ ตามโรดแมป ตามระยะยะเวลา มีผลสัมฤทธิ์อย่างไร ความพอใจแค่ไหนอย่างไร ถ้าไม่ดี ก็ตรงนี้ต้องเลิก ไปทำต่อใหม่ ไม่ได้เหมาจ่ายยาวขนาดนั้น คิดงานไว้ คิดโครงการไว้ คิดแผนงานไว้ แต่จะทำเป็นห้วงๆ อย่างวันนี้เราก็ต้องกู้ระยะที่ 1 มาสมทบ 40,000 เรื่องถนนหนทาง เพื่อสอดคล้องเออีซี ซึ่งผ่านมาไม่ได้ทำ ก็เรื่องน้ำด้วย อีกประมาณ 3 รูปแบบ อันนี้ยังปกติ ใช้ไปแล้ว ยังไม่พอนะ ต้องกู้สมทบมาใช้อีก 80,000 มีเงินงบประมาณละ 40,000 ให้เข้าใจด้วย
อันนี้ก็ขอให้ฟัง และเข้าใจด้วย

วันนี้ปัญหาหนักที่สุดคือเรื่องอียู เรื่องของสินค้าประมง ประกาศไปแล้วว่า เป็นวาระแห่งชาติ รวมไปถึงการค้ามนุษย์ ต้องดูแลทั้งผู้ค้า และผู้ประกอบการ สมาคมประมง ลูกเรือ เจ้าหน้าที่ คราวนี้ก็ให้ทางกระทรวงกลาโหม รองนายกรัฐมนตรี ท่านไปหารือร่วมกับมิตรประเทศรอบบ้าน ทั้งเวียดนาม ลาว กัมพูชา ที่ติดทะเลทั้งหมด อินโดนีเซี ยฟิลิปปินส์ ว่าจะร่วมมือการประมงอย่างไร ไม่งั้นละเมิดกันไปมา ถูกจับ ถูกเผาเรือกันแบบนี้ไม่ได้ กำลังเร่งดำเนินการอยู่ หลายประเทศยังวุ่นวายอยู่เหมือนกัน ก็ยังไม่ได้คุยกันมากนัก แต่ก็ได้มีการติดต่อประสานงานกันอยู่แล้ว ให้ความสำคัญเรื่องไอยูยู ค้ามนุษย์ ถ้ามันมีการประกาศออกมา เราเป็นปัญหามาก เรื่องที่รีพอร์ต ถ้าเขาไม่แก้ เราจะค้าขายอะไรไม่ได้ ซึ่งทำเต็มที่แล้ว ไม่ปฏิเสธ ไม่แก้ตัว

ปัญหามันมากมายสะสม แต่ก็อยากชี้แจงองค์กรระหว่างประเทศให้เข้าใจว่าเราทำทุกมิติ แต่ก็เห็นถึงความเจตนา ความตั้งใจของเรา เราก็ไม่สามารถจะแก้ตัวได้ แต่ผมถามว่า ถ้าเราถูกลดการค้าขายในสิ่งเหล่านี้ มันทำให้คนเดือดร้อนมากมาย ซึ่งมันก็มีผลกระทบในหน้าที่ของแต่ละประเทศที่ต้องดูแลเรื่องมนุษยชาติ ประชาคมโลกให้เขาอยู่ได้ คนจนทำอย่างไร เป็นหลักการอันหนึ่งขององค์กรระหว่างประเทศ ฝากดูทั้งสองอย่างด้วย เราพร้อมจะแก้ปัญหา พร้อมจะทำทุกอย่างให้ได้รับการยอมรับ เพราะสินค้าของเราเป็นที่ต้องการอยู่เหมือนกัน แต่มันติดด้วยระเบียบด้วยอะไรต่างๆ ต้องแก้ไข เรื่อง พ.ร.บ.ต่างๆหลาย พ.ร.บ.ให้ประชาชนเข้าใจและตระหนัก ในเรื่องที่ท่านจะใช้ประโยชน์อย่างไรตรงนี้ ออกไปมันไม่เคยออกได้ ออกมาแล้ว พ.ร.บ. เช่น พ.ร.บ.ความยุติธรรม คนจนมีคดีความ ก็ไปติดต่อที่กระทรวงยุติธรรม ที่เราตั้งไว้ตั้งเยอะแยะ 50 - 60 ล้าน ถ้าจะต้องสู้คดีอะไรต่างๆ ก็ไปหาเขา บางทีไม่ค่อยได้ฟัง พ.ร.บ.ร่วมทุน เพื่อส่งเสริมการลงทุน แก้ไขในการร่วมมือกับรัฐ กับเอกชน ทำทุกวัน พ.ร.บ.ค้ามนุษย์ มีผลประโยชน์กับการค้ากับประเทศ และประชาชนด้วย

ในเรื่องของ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวก อันนี้ก็ออกไปแล้ว เดี๋ยวเราต้องทำอย่างไรให้มันติดต่อได้ในช่องทางเดียว มาตรงนี้เลย รู้ทั้งหมด มีหลักฐานอะไร เสร็จแล้วก็แต่ละกระทรวงก็อาจจะรับไป หรือไปติดต่อที่กระทรวงก่อนระยะแรก ต่อไปก็มีดิจิตอลอีโคโนมีเข้ามาอีก มันจะได้เข้าเหมือนต่างประเทศเขาเป็น เหมือนประเทศเพื่อนบ้านเรา สิงคโปร์ จะไปไหนมาไหนเขากดคอมพิวเตอร์ติดต่อที่นี่ได้เลย มันก็ไม่ต้องเดินทางมาก นี่เรากำลังจะทำ สิงหาคมนี่ก็จะเปิดประมูล 4G แล้วจะเอามาทำในเรื่องของในทุกมิติ ทั้งความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม จิตวิทยา การสาธารณสุข และศูนย์ data center ในส่วนของ economy และการค้า และในเรื่องของการศึกษา e-learning ทั้งหมด วันนี้โลกเขาใช้โซเชียลเหล่านี้แล้ว ใช้ระบบเทคโนโลยีระดับสูงนี้แล้ว เราก็ต้องทำเพื่อให้เกิดภาพรวมของช่องทางการติดต่อสื่อสารในการใช้ประโยชน์ เหมือนกับที่หลายคนเขาทำ

ศูนย์เทคโนโลยี ช่วยกันฟังด้วยเวลาผมพูด อดทนนิดหนึ่ง ผมก็พยายามเต็มที่ ถ้าผมไม่พูดมันก็ไม่รู้ ข้าราชการเขาได้ฟังผมโดยตรงได้ เพราะบางทีมันก็ผ่านไปทางเจ้ากระทรวง กว่าจะลงไปข้างล่าง บางทีผมเข้าใจว่ารัฐมนตรีโอเค ปลัดโอเค แต่หลังจากปลัดลงไปแล้ว ผมคิดว่ามันอาจจะถ่ายทอดไม่ครบ ผมถึงต้องมาพูดยาวนี่ไง เพราะว่าหลายอย่างมันสั่งไม่ได้ มันต้องทำความเข้าใจด้วย ว่าคิดยังไง กับทั้งหมดนี้ท่านก็ต้องไปเดินของท่าน มันอาจจะมีวิธีการที่มันไม่ใช่อย่างที่ผมพูด แต่วัตถุประสงค์ที่ต้องการพูดก็แค่นี้ มีความสุข มีความพึงพอใจ มีรายได้ที่เพียงพอ และมีความเป็นอยู่อย่างยั่งยืน ที่เรากำหนดไว้ ปี 2015 2030 ในเรื่องของความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

ขอร้องนะครับ อะไรที่ฟังยังไม่ได้จบ บางทีไม่เข้าใจ คราวที่แล้วก็ปัญหาเรื่องภาษีที่ดินอะไรต่างๆ ต้องไปอธิบายกันต่อ ว่ามีความจำเป็นอย่างไร แล้วใครจะได้ยังไง ใครจะเสียยังไง ไม่ใช่พอมองคำว่าเสียอย่างเดียว ก็เอาแล้ว ไม่ได้ เจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องปรับปรุงวิธีการนำเสนอใหม่ ทุกคนมีความตั้งใจหมด ประชาชนก็รู้ ว่าเดือดร้อน ข้าราชการก็มีความตั้งใจ แต่ทีนี้จะปรับสองอย่างเข้าหากัน ก็ด้วยความเข้าใจไงครับ ผมก็มาพูดกับท่าน ไม่ได้มุ่งหวังให้ใครเดือดร้อน แต่ทุกคนจะร่วมมือกับรัฐในการที่จะพัฒนาชาติอย่างไรในอนาคต ถ้าไม่ร่วมมือ รัฐอย่างเดียว ไปไม่ได้ ผมเรียนท่านอย่างนี้นะ เพราะฉะนั้นผมก็เปิดใจกับท่าน ไม่ได้อยากบังคับท่านอะไรด้วยกฎหมายมากนักหรอกนะ แต่มันต้องมีกฎหมาย มันต้องมี พ.ร.บ. แล้วก็ปรับปรุงระบบทั้งระบบ เพราะเราจะปฏิรูปประเทศ

การปฏิรูปประเทศ มันต้องทั้งคน ทั้งความรู้ การศึกษา สาธารณสุขพื้นฐาน ทั้งในเรื่องของการค้าการลงทุนต่างๆรัฐวิสาหกิจ คือถ้าเราไม่แก้ทุกอัน มันก็ทั้งระบบ วันนี้เราปรับรัฐวิสาหกิจแล้ว ราชการแล้วกำลังทำอยู่ เรื่องความโปร่งใส เรื่องความเป็นธรรม เรื่องประสิทธิภาพแก้หมด กำกับดูแลที่ดี ต่อไปต้องไปดูในเรื่องของเอกชน ธุรกิจต่างๆ มันก็ต้องโปร่งใส วันนี้เข้ามาเถอะครับ อย่าไปพูดข้างนอก พูดกับสื่อไม่เกิดประโยชน์ พูดกับผม กับรัฐบาล ติดต่อไปที่กระทรวงผมสั่งการไว้แล้ว ไปได้ทุกกระทรวง ขอพบ เดี๋ยวจะตั้งคณะทำงานต่างๆ เพื่อรองรับท่าน อย่ามาบ่นข้างนอก วันนี้ไปเตรียมการแล้วเลย การก่อสร้าง การจัดซื้อจัดจ้าง สมาคมอะไรก่อสร้าง มีนายกสมาคมไปรวบรวมมา ในแต่ละจังหวัดมีการลงทุนที่ไหน ถ้าไปพูดๆ บอกว่า ไม่มีการลงทุน ไม่ใช่ พูดอย่างนี้มันเสียหมด ท่านไปพูด ท่านไปบอกว่า ไปเปิดดูเว็บไซต์ ถามสำนักงบประมาณก็ได้ หรือถามจังหวัดก็ได้ มีงบประมาณตรงไหนอย่างไร นี่เขาให้กันได้ ถ้าถึงเวลาเมื่อไร ท่านก็ตามสิครับ ไม่ใช่ต้องไปป้อนท่านทั้งหมดไม่ได้ ท่านต้องกลับเข้ามาบ้าง และไปเอาข้อมูลมาเสนอประมูลแข่งกับเขา อยากได้ท่านก็เอาไปทำ ไม่อย่างนั้นพอท่านไม่บอกกันตรงนี้ มันไม่เกิด ไม่ทำ รอป้อนอย่างเดียวเหมือนเดิมไม่ได้ ไม่มีพวกใครทั้งสิ้น ท่านต้องแข่งขันกันเรื่องการค้าเสรี การประกอบการเสรี ในส่วนของการขายวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ ไม่ใช่รอขึ้นราคา ท่านต้องรอสิ่งของเหล่านี้ เตรียมซื้อไว้ เดี๋ยวพอจะทำไม่มีของอีก นั่นไงท่านไม่ช่วยผม และท่านบอกว่า เศรษฐกิจมันแย่ และผมไม่ทำอะไร แก้ทุกอัน ท่านต้องช่วยผมด้วย แก้ตัวเองด้วย ทุกคนต้องมองตัวเองเป็นหลักและแก้ไข อย่าฟังข้างเดียว ฟังหูหนึ่งและเตรียมขัดขวางไม่ได้ ท่านต้องฟังหูข้างหนึ่ง และก่อนจะออกอีกข้างหนึ่งคิดๆ มันอย่างไร มันจำเป็นไหม ฟังให้จบ ถ้าฟังไม่จบ ท่านก็อ้าวพอเก็บเงินเก็บภาษี เสียตรงนี้และถ้าไม่ฟังก็พูดต่อไป ข้าราชการก็เหมือนกัน อะไรที่เขาจะได้พูดก่อน เสียก่อน เสร็จทุกที ไปไม่ถึงที่ควรจะได้ คือ การสื่อสารสำคัญนะครับ ผมพูดมากอีกแหละ ตั้งใจจะพูดน้อยลง ก็อยากให้เป็นการคืนความสุขของคนในชาติ ของ คสช. ของรัฐบาลนี้ ทุกคนต้องช่วยกัน ต้องเหน็ดเหนื่อย และต้องสร้างพลังอันแน่วแน่ที่จะแก้ปัญหาชาติบ้านเมืองให้ได้ อย่างอื่นมันมีความสำคัญน้อยกว่าเรื่องปากท้อง เรื่องเศรษฐกิจโลก เรื่องอะไรต่างๆ แล้วแต่ สำคัญเหมือนกัน แต่ก็ค่อยๆ ไป เดินไปตามโรดแมป ไม่เห็นจะต้องมาขัดแย้งอะไรกันมากมาย ทุกคนตั้งใจนะ สปช. สนช. เขาก็ตั้งใจทำงานทุกคน วันนี้ ถ้ายังไม่เข้าใจ มันไปไม่ได้แน่นอน ปฏิรูปไม่ได้

สวัสดีครับ ขอบคุณครับ ขอให้มีความสุขในวันหยุดราชการนะ อีกอาทิตย์หนึ่ง พวกเราก็คาดหวังว่า ทุกอย่างจะดีขึ้นในเร็ววัน ทุกวันเราไม่ได้หยุดนิ่งเลย ขอบพระคุณครับ สวัสดีครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น