ศูนย์ข่าวเชียงใหม่ - กองทัพสิงคโปร์ส่งเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์แบบชีนุก 2 ลำ ประจำที่กองบิน 41 เชียงใหม่ ร่วมปฏิบัติการกับอากาศยานของกองทัพไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อคลี่คลายวิกฤตหมอกควัน ไฟป่าภาคเหนือ เผยระดมความร่วมมือทุกฝ่ายเต็มกำลังทั้งดับไฟป่า โปรยน้ำเพิ่มชุ่มชื้น และทำฝนหลวง คาดหลัง 20 มี.ค. 58 จะเริ่มเห็นผล
วันนี้ (18 มี.ค. 58) ที่ท่าอากาศยานกองบิน 41 เชียงใหม่ พล.ต.ศรายุธ รังษี ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 เป็นประธานประชุมการแก้ไขปัญหาหมอกควัน ไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือโดยใช้อากาศยาน ซึ่งเป็นไปตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่ให้มีการระดมความร่วมมือจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกองทัพบก กองทัพอากาศ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำอากาศยานเข้าร่วมปฏิบัติการเร่งดำเนินการคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้นเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน โดยล่าสุดทางกองทัพสิงคโปร์ได้ให้การสนับสนุนนำเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ แบบชีนุก จำนวน 2 ลำ เข้าร่วมปฏิบัติการด้วยและประจำอยู่ที่กองบิน 41 เชียงใหม่
ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 กล่าวว่า ขณะนี้ปัญหามลพิษอากาศหมอกควันไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือมีความรุนแรงมาก โดยค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กพุ่งสูงเกินค่ามาตรฐานไปมาก และกระทบต่อสุขภาพของประชาชน ซึ่งนายกรัฐมนตรีห่วงใยและสั่งการเน้นย้ำให้มีการระดมความร่วมมือบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเร่งคลี่คลายสถานการณ์ให้ได้โดยเร็วที่สุด
โดยส่วนของกองทัพภาคที่ 3 ให้มณฑลทหารบกที่ 33 จัดตั้งศูนย์ประสานงานลดมลพิษหมอกควันไฟป่าขึ้น มีการบูรณาการความร่วมมือจากกองทัพบก กองทัพอากาศ และหน่วยงานพลเรือนในการปฏิบัติงาน
ทั้งนี้ ล่าสุดกองทัพสิงคโปร์ได้สนับสนุนเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ แบบชีนุก จำนวน 2 ลำ เพื่อเข้าร่วมปฏิบัติการกับเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์แบบ MI-17 ของกองทัพบก ในการทิ้งน้ำดับไฟป่าในพื้นที่ที่หน่วยภาคพื้นที่เข้าถึงได้ยากลำบาก ซึ่งแต่ละเที่ยวจะสามารถบรรทุกน้ำได้ 5,000 ลิตร
โดยเริ่มปฏิบัติภารกิจครั้งแรกตั้งแต่วันนี้ ในพื้นที่บริเวณอุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ที่พบไฟไหม้ป่า ซึ่งจะมีพื้นที่การปฏิบัติการทั่วทั้งพื้นที่ของภาคเหนือและจะปฏิบัติการเรื่อยไปจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย
ขณะที่กองทัพอากาศยังคงมีการใช้เครื่องบินลำเลียงแบบ BT-67 ขึ้นบินโปรยน้ำ และเครื่องบินแบบกาซา ของศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือตอนบนที่บินปฏิบัติการต่อเนื่องทุกวัน ซึ่งแม้เบื้องต้นจะยังไม่ได้ทำให้เกิดฝนตก แต่ก็เป็นการช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นในอากาศเพิ่มโอกาสในการเกิดฝนและบรรเทาความรุนแรงของสถานการณ์ลงบางส่วน
ทั้งเชื่อว่าจากการอากาศยานที่ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ และการทำงานที่เข้มข้น จะทำให้สถานการณ์ปัญหาคลี่คลายไปในที่สุด ซึ่งคาดว่าหลังวันที่ 20 มี.ค. 58 น่าจะเริ่มเห็นผลชัดเจนขึ้น