xs
xsm
sm
md
lg

ถ้าเขียนว่าเห็นใจหัวหน้ารัฐบาลจะมีคนอ่านไหมหนอ?

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

ก่อนอื่นขอเรียนว่าผมใช้เวลาอยู่ในต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ และมิได้รู้จักใครในรัฐบาลเป็นการส่วนตัว ทั้งรัฐบาลก่อนๆ และรัฐบาลนี้ ผมไม่มีสมบัติพัสถานในเมืองไทย แม้แต่ที่ดินสักตารางนิ้วก็ไม่มี สิ่งที่ผมเขียนทั้งในคอลัมน์นี้และในที่อื่นอีกหลายแห่งรวมทั้งหนังสืออีกนับสิบเล่มวางอยู่บนฐานของหลักวิชาการที่ผมร่ำเรียนมามากกว่าเพื่อที่จะสนับสนุนใคร หรือต่อต้านใครเป็นส่วนตัว หรือมีแรงจูงใจจากการมีส่วนได้ส่วนเสียบางอย่าง การอยู่นอกเมืองไทยและไม่ได้รู้จักใครเป็นส่วนตัว ข้อมูลส่วนหนึ่งจึงมาจากการติดตามความเป็นไปในเมืองไทยจากสื่อต่างๆ ซึ่งบางครั้งอาจได้ข้อมูลไม่สมบูรณ์เต็มร้อย อย่างไรก็ตาม ผมพยายามนำทุกอย่างมาพิจารณาตามหลักวิชาการจนแน่ใจว่าโอกาสผิดพลาดมีน้อยจึงนำมาเสนอ

ในขณะนี้ ผมเห็นใจหัวหน้ารัฐบาลเพราะอ่านว่าเขาเข้ามารับงานด้วยความจำใจมากกว่าความมักใหญ่ใฝ่สูงและฉวยโอกาสยึดอำนาจรัฐเพื่อหวังจะสร้างฐานในการต่อยอดอำนาจและความร่ำรวยให้ครอบครัวและตัวเองกับพวกพ้อง ผมอยู่ในเมืองไทยในช่วงก่อนการยึดอำนาจครั้งล่าสุดนี้เช่นเดียวกับเมื่อปี 2549 จึงเข้าใจสถานการณ์บ้านเมืองดีว่า อยู่ในภาวะคับขันและจะจบลงด้วยการฆ่าฟันกันอย่างกว้างขวางจนอาจถึงขั้นเป็นสงครามกลางเมือง เนื่องจากการยึดอำนาจเมื่อปี 2549 มิได้นำไปสู่การขุดรากถอนโคนต้นตอของปัญหา การยึดอำนาจครั้งล่าสุดจึงเกิดขึ้น

เนื่องจากประชาชนจำนวนมากมองว่าการยึดอำนาจครั้งก่อนเป็นการสูญเปล่า พวกเขาจึงคาดหวังสูงมากกว่าที่น่าจะคาดต่อการยึดอำนาจครั้งนี้ หากไม่สมหวังดังคาดไม่ว่าความหวังนั้นจะสมเหตุสมผลหรือไม่ พวกเขาย่อมโทษหัวหน้ารัฐบาล นอกจากนั้น ผู้เสียประโยชน์จากการยึดอำนาจยังจ้องหาทางที่จะขัดขวางการทำงานทุกอย่างของรัฐบาลอีกด้วย ยิ่งกว่านั้น ในยุคโลกาภิวัตน์นี้ สิ่งที่เกิดขึ้นภายนอกทั้งหลายย่อมมีผลต่อเมืองไทยด้วย สิ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงนี้ที่คนไทยส่วนใหญ่มองไม่เห็นเป็นเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจซึ่งนโยบายในกรอบแนวคิดกระแสหลักใช้ไม่ค่อยได้ผลอีกต่อไปแล้ว ความไม่เข้าใจนำไปสู่ทั้งการใช้นโยบายที่ไม่เหมาะสมและความคาดหวังลมๆ แล้งๆ โดยเฉพาะเกี่ยวกับการขยายตัวทางเศรษฐิจซึ่งหากยังคิดแบบเดิมก็จะนำไปสู่ความผิดหวังและโทษรัฐบาล ในขณะเดียวกัน แม้หัวหน้ารัฐบาลจะมีความตั้งใจดี แต่ผู้ที่เข้ามาร่วมงานอาจเป็นผู้ไม่เข้าใจในความหมดสมัยของแนวคิดกระแสหลัก หรืออาจเป็นพวกหน้าไหว้หลังหลอกเข้ามาเป็นหอกข้างแคร่ หรือแม้แต่คนกันเองก็อาจเป็นพวกที่จะทำให้เหล็กเกิดสนิม เมื่อรวมปัจจัยดังกล่าวเข้าด้วยกัน หัวหน้ารัฐบาลมีโอกาสถูกข้อกล่าวหาสารพัดอย่างแม้ตัวเองจะพยายามจนสุดความสามารถและมีความซื่อสัตย์เป็นฐานก็ตาม

ก่อนเขียนต่อไป ขอขอบคุณรัฐบาลที่ยุติโครงการรับจำนำข้าวจากชาวนา โครงการนี้แสนเลวร้ายซึ่งนักเศรษฐศาสตร์หลายต่อหลายคน และผมชี้ให้เห็นตั้งแต่รัฐบาลที่ผ่านมาเสนอแนวคิด ผมมิได้จะมองเห็นว่ามันผิดทฤษฎีเศรษฐศาสตร์อย่างมหันต์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น หากยังได้ไปเห็นผลของโครงการในแนวนี้มาแล้วในต่างประเทศ ผมนำส่วนหนึ่งของประสบการณ์มาเล่าไว้ในบทที่ 6 ของหนังสือชื่อ จดหมายจากวอชิงตัน ซึ่งพิมพ์เมื่อปี 2543 และตอนนี้สามารถดาวน์โหลดได้ฟรีที่เว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา (www.bannareader.com)

เนื่องจากโครงการนี้ได้สร้างความเสียหายมหาศาลเป็นที่ประจักษ์แล้ว คนไทยจำนวนหนึ่งจึงจ้องมองรัฐบาลว่าจะทำอย่างไรกับต้นคิดและผู้ขับเคลื่อน หลายคนต้องการความสะใจและสนับสนุนให้รัฐบาลยึดทรัพย์ของคนเหล่านั้นโดยมิได้คิดว่ามันทำไม่ได้ง่ายๆ นัก เนื่องจากรัฐบาลต้องเคารพกฎหมายทั้งในและระหว่างประเทศ นอกจากนั้น แม้จะทำได้บ้างเป็นบางส่วน ทรัพย์ที่ได้มาน่าจะเป็นเพียงเสี้ยวเดียวของความเสียหายซึ่งในขณะนี้ยังไม่รู่ว่าเท่าไรแน่ รู้แต่เพียงว่าคงเป็นหลักแสนล้านบาท ผลสุดท้าย คนไทยจะต้องใช้กรรมเพราะคนส่วนใหญ่มักได้ รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือเลวทรามจึงเลือกผู้นำเลวทรามเข้ามาบริหารประเทศ

ความคาดหวังทางด้านเศรษฐกิจมีหลากหลายและเป็นเรื่องใหญ่มากเนื่องจากเกี่ยวกับปากท้องของทุกคนซึ่งต่างสัมผัสได้เป็นรายวัน ส่วนใหญ่ต้องการเห็นเศรษฐกิจขยายตัวสูงดังครั้งหนึ่งเคยทำได้ ต้องการสินค้าราคาถูกรวมทั้งน้ำมัน ไม่ต้องการเสียภาษี หรือเสียในราคาต่ำ และต้องการเห็นความเหลื่อมล้ำลดลง ฯลฯ

เรื่องคนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจและไม่รู้ว่าตอนนี้โอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้สูงดังเช่นก่อนเป็นไปได้ยากมาก เนื่องจากภาวะโลกได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญแล้วนั้นพอเข้าใจได้เพราะชาวโลกส่วนใหญ่ก็ไม่เข้าใจ รวมทั้งนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากด้วย การเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นต้นเหตุที่ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกประสบปัญหามานาน โดยผู้ที่คิดว่าตนเชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐกิจยังคิดว่า เป็นเรื่องของวัฏจักรปกติที่แก้ไขได้โดยใช้นโยบายที่เคยใช้ได้ผลมาก่อน อาการปัจจุบันของปัญหาได้แก่อัตราการขยายตัวทั่วโลกที่ต่ำมากหลังจากเกิดความถดถอยครั้งใหญ่เมื่อฟองสบู่แตกในปี 2551 แม้แต่จีนเองซึ่งเคยขยายตัวได้ในอัตราสูงก็ทำไม่ได้ต่อไปอีกแล้ว หลายประเทศประสบปัญหาหนักหนาสาหัสถึงขั้นล้มละลายส่วนหนึ่งเพราะความไม่เข้าใจส่งผลให้ดำเนินนโยบายผิดพลาดและส่วนหนึ่งเป็นความมักง่ายโดยใช้นโยบายประชานิยมบ้างและใช้เงินล่วงหน้ามากเกินไปบ้าง

อนึ่ง ก่อนประสบความถดถอยครั้งใหญ่หลังฟองสบู่แตกเมื่อปี 2551 เศรษฐกิจโลกเคยถดถอยครั้งใหญ่ที่เลวร้ายกว่ามาหนึ่งครั้งหลังฟองสบู่แตกเมื่อปี 2472 การถดถอยครั้งนั้นนำไปสู่การปรับเปลี่ยนแนวคิดซึ่งเป็นฐานของเศรษฐกิจกระแสหลักมาจนถึงปัจจุบัน นั่นคือ เป็นระบบตลาดเสรีที่มองว่าปัญหาความซบเซา หรือถดถอยทางเศรษฐกิจมักเกิดจากความขาดแคลนกำลังซื้อ หรืออุปสงค์ ฉะนั้น รัฐบาลต้องแก้ไขด้วยนโยบายที่กระตุ้นให้เกิดกำลังซื้อเพิ่มขึ้นซึ่งอาจเป็นการใช้จ่ายเพิ่มขึ้นของภาครัฐเอง การทุ่มเงินเข้าไปในระบบและการลดอัตราดอกเบี้ยลงมากๆ นอกจากนั้น การมองว่าเศรษฐกิจอาจขาดกำลังซื้อนำไปสู่แนวคิดหนึ่งซึ่งต่อมาเป็นต้นตอของปัญหาหนักหนาสาหัส นั่นคือ การบริโภคที่เพิ่มขึ้นไปแบบไม่มีที่สิ้นสุดเป็นของดีเพราะจะทำให้ภาวะเศรษฐกิจสดใสและผู้ที่บริโภคเพิ่มขึ้นไปมีความสุขเพิ่มขึ้นแบบไม่มีที่สิ้นสุดด้วย

คนส่วนใหญ่อาจลืมไปแล้วว่า ย้อนไปเมื่อปี 2472 โลกมีประชากรราว 2 พันล้านคนและทรัพยากรโลกมีมากมายไม่ว่าจะเป็นป่าไม้ แหล่งน้ำจืดที่สะอาด แร่ธาตุต่างๆ รวมทั้งน้ำมันปิโตรเลียม ก๊าซธรรมชาติ และอากาศที่ปราศจากมลพิษ การบริโภคเพิ่มขึ้นแบบไม่หยุดยั้งจึงยังไม่สร้างปัญหาสาหัสจนเป็นที่ประจักษ์ แต่หลังเวลาผ่านไปหลายทศวรรษ ประชากรได้เพิ่มขึ้นไปแบบไม่หยุดยั้งจนกระทั่งในปัจจุบันนี้โลกมีถึงเกิน 7 พันล้านคนแล้ว แต่ละคนพยายามบริโภคเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ทรัพยากรโลกร่อยหรอลงอย่างรวดเร็วและสภาพของโลกเปลี่ยนไปไม่ว่าจะเป็นในรูปของภาวะโลกร้อน อากาศและสายน้ำเป็นพิษ หรือแผ่นดินพังทลายเพราะป่าไม้ถูกตัดไปจนเกือบหมด

จริงอยู่ เทคโนโลยีใหม่ช่วยแก้ปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่เทคโนโลยีมักมีคำสาปติดมาด้วยเสมอ ทั้งในรูปของอาวุธร้ายที่ใช้ฆ่าแกงกันและในรูปของการใช้ทรัพยากรโดยไม่จำเป็น เช่น การแข่งขันกันมีโทรศัพท์รุ่นล่าสุด ประเด็นนี้ผมได้เขียนไว้หลายต่อหลายครั้งรวมทั้งในบทที่ 5 ของหนังสือ จดหมายจากวอชิงตัน ด้วย ผลของความร่อยหรอลงของทรัพยากรท่ามกลางความต้องการที่เพิ่มขึ้นไปแบบไม่หยุดยั้งได้แก่ การแย่งชิงกันอย่างกว้างขวางทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ สงครามและความขัดแย้งในตะวันออกกลางเป็นอาการอย่างหนึ่งของการแย่งชิงดังกล่าว

ผลพวงของนโยบายกระตุ้นให้เกิดกำลังซื้อและการบริโภคเพิ่มขึ้นมาเป็นเวลาหลายทศวรรษได้แก่ การมีหนี้สินล้นพ้นตัวทั้งในระดับรัฐบาลและในระดับบุคคล ส่วนหนึ่งต้องล้มละลาย หรือไม่ก็ตกอยู่ในภาวะที่แทบกระดิกตัวไม่ได้ ส่งผลให้เกิดความทุกข์ร้อนอย่างกว้างขวางและเรียกร้องให้เจ้าหนี้ผ่อนผัน หรือยกหนี้ให้ทั้งในระดับรัฐบาลและในระดับบุคคล กรีซเป็นตัวอย่างที่กำลังเกิดขึ้นให้เห็นแบบสดๆ กรีซล้มละลายเพราะใช้จ่ายเกินตัวเพื่อสนับสนุนมาตรการประชานิยมต่างๆ รวมทั้งการจ้างพนักงานของรัฐเพิ่มขึ้นอย่างไม่หยุดยั้งพร้อมทั้งขึ้นเงินเดือนและเพิ่มสวัสดิการให้อย่างต่อเนื่อง มาตรการเหล่านั้นกระตุ้นกำลังซื้อเพิ่มขึ้นจริง แต่นำไปสู่ความล้มละลายเมื่อรัฐไม่สามารถหาเงินมาสนับสนุนได้จนต้องใช้วิธีกู้ยืมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ก่อนกรีซจะล้มละลาย ผมได้อธิบายเรื่องความเลวร้ายของมาตรการประชานิยมไว้ในหนังสือชื่อ ประชานิยม : หายนะจากอาร์เจนตินาถึงไทย? ซึ่งพิมพ์เมื่อปี 2546 ผมลงมือเขียนหนังสือเล่มนั้นขึ้นทันทีเมื่อเห็นรัฐบาลไทยเริ่มใช้มาตรการประชานิยมอย่างกว้างขวางเป็นครั้งแรกเมื่อปี 2544 จุดมุ่งหมายในการเขียนก็เพื่อจะเตือนคนไทยและรัฐบาลไทยให้ตระหนัก แต่ไม่มีรัฐบาลไหนฟังจนกระทั่งรัฐบาลปัจจุบันซึ่งยกเลิกโครงการรับจำนำข้าวดังที่กล่าวถึงแล้ว การยกเลิกโครงการนี้เป็นสิ่งที่คนไทยควรขอบใจรัฐบาล อย่างไรก็ดี เนื่องจากนายกรัฐมนตรียังมีคนที่เคยร่วมหัวจมท้ายกับรัฐบาลที่นำแนวคิดเลวร้ายนั้นเข้ามาในเมืองไทยเป็นประธานคณะที่ปรึกษา จึงเป็นไปได้ว่าเขาจะแนะนำให้ใช้ในรูปอื่นอีก โดยเฉพาะในภาวะที่เศรษฐกิจขยายตัวช้ากว่าความคาดหวังของประชาชนเพราะภาวะของโลกได้เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญดังที่อ้างถึงแล้ว

ณ วันนี้ ประเด็นใหญ่ที่สุดที่อาจสร้างความเสียหายให้แก่ประเทศชาติและหัวหน้ารัฐบาลคือ การตัดสินใจจะทำอย่างไรในภาคพลังงานโดยเฉพาะเกี่ยวกับน้ำมันปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ ผมไม่มีความสามารถอะไรในด้านนี้และไม่มีข้อมูลเพียงพอจึงมิได้เสนออะไรให้รัฐบาลนอกจากข้อคิดบางประการที่เขียนไว้ในคอลัมน์นี้ประจำวันที่ 27 มกราคม ที่ผ่านมาชื่อ “เรื่องของเมืองมีน้ำมัน” ซึ่งอาจดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนาดังที่อ้างถึง สิ่งหนึ่งซึ่งผมใคร่เน้นได้แก่เรื่อง “คำสาปของทรัพยากร” (Resource Curse) ที่เป็นตัวสร้างปัญหามานมนานจนเป็นที่ประจักษ์อย่างแจ้งชัดแล้ว สำหรับการมีน้ำมัน ผู้เชี่ยวชาญทางด้านนี้ได้เตือนเรื่องความเลวร้ายของมันไว้โดยเรียกมันว่า “อุจจาระของปีศาจ” (Devil’s Excrement) รัฐบาลไทยควรฟังเขาไว้บ้างก็ดี

เมื่อโลกตกอยู่ในสภาพที่เปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญเช่นนี้ รัฐบาลจะทำอย่างไรจึงมีความท้าทายสูงยิ่ง ในฐานะคนไทยที่หวังดีต่อชาติและต่อรัฐบาลนี้มาตลอด ผมได้เสนอแนวคิดไว้ให้พิจารณามาตั้งแต่ต้น รวมทั้งบทความในคอลัมน์นี้ประจำวันที่ 15 กันยายน 2557 ชื่อ “สารถึงรัฐบาล คสช. สนช. และ สปช. เรื่องความพอเพียง” ซึ่งอาจดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนาเช่นกัน นอกจากนั้น ขอเสนอว่ารัฐบาลควรบอกประชาชนอย่างตรงไปตรงมาว่าจะไม่สามารถทำตามความคาดหวังได้เพราะอะไร ไม่ควรใช้นโยบายการตลาดเพื่อกลบเกลื่อน หรือบิดเบือนสภาพความเป็นจริง ไม่ควรใช้มาตรการจำพวกมักง่ายซื้อใจประชาชน หรือเพิ่มกำลังซื้อชั่วคราวตามแนวคิดเก่าซึ่งหมดสมัยไปแล้ว และควรชี้แจงให้กระจ่างว่ามาตรการและนโยบายแต่ละอย่างที่กำลังทำ หรือจะทำนั้นเป็นส่วนไหนของยุทธการที่จะพาเมืองไทยไปสู่ความเป็นอยู่แบบยั่งยืน
กำลังโหลดความคิดเห็น