xs
xsm
sm
md
lg

โลกและไทยจะไปทางไหนในปี 2558

เผยแพร่:   โดย: ไสว บุญมา

ในโอกาสวันขึ้นปีใหม่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ ผู้มีเงินเหลือใช้คงมีโอกาสไปดูการต้อนรับปีใหม่กันถึงในต่างประเทศ สื่อบางแห่งลงความเห็นว่า การแสดงแสงสีและดอกไม้ไฟของดูไบวิจิตรตระการตากว่าของใครในโลก ผู้ไม่มีโชค หรือเงินก้อนใหญ่ที่จะไปดูได้ด้วยตาตนเองคงได้ดูภาพต่างๆ ที่สื่อนำมาเสนอ ภาพเหล่านั้นน่าจะยืนยันว่า การแสดงของดูไบวิจิตรตระการตากว่าของเมืองอื่นจริง อย่างไรก็ดี สิ่งหนึ่งซึ่งสื่อไม่ได้นำมาเสนอได้แก่ค่าใช้จ่ายที่หมดไปในการจัดแสดง ดูไบคงใช้เงินไปไม่น้อยกว่าใครในโลกเช่นกัน

การแสดงแสงสีแบบนั้น การจัดงานใหญ่ การเปลี่ยนทะเลทรายให้เป็นพื้นที่สีเขียว การก่อสร้างขนาดยักษ์ต่างๆ รวมทั้งตึกระฟ้าที่สูงที่สุดในโลกเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การพัฒนาที่ดูไบใช้มาราวสามทศวรรษ เนื่องจากดูไบไม่มีน้ำมันและก๊าซธรรมชาติมากเช่นเพื่อนบ้าน ดูไบจึงใช้ความเป็นศูนย์กลางทางภูมิศาสตร์พัฒนาตนเองให้เป็นศูนย์การค้าขาย การขนส่ง การเงิน และการท่องเที่ยวท่ามกลางประเทศต่างๆ ที่มีรายได้มหาศาลจากการขายน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เศรษฐกิจของดูไบโดยทั่วไปจึงได้รับผลจากความเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจโลกและราคาน้ำมัน ด้วยเหตุนี้ ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกถดถอยมากหลังจากฟองสบู่ในอเมริกาแตกเมื่อปี 2551 ดูไบต้องไปพึ่งผู้อื่นโดยเฉพาะอาบูดาบีซึ่งมีทั้งน้ำมันและก๊าซธรรมชาติปริมาณมหาศาล ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ราคาน้ำมันได้ลดลงมาเกือบครึ่ง หากราคายังเป็นแบบนี้ต่อไป ดูไบจะได้รับผลกระทบทางลบสูงมาก ดูไบจึงสนใจว่าอะไรจะเกิดขึ้นกับราคาน้ำมันและภาวะเศรษฐกิจโลกไม่น้อยกว่าผู้อื่น

ราคาน้ำมันและภาวะเศรษฐกิจโลกจะเป็นอย่างไรเป็นประเด็นใหญ่ที่พูดถึงกันมากในช่วงนี้เนื่องจากเป็นช่วงขึ้นปีใหม่ ราคาน้ำมันเป็นตัวแปรสำคัญยิ่ง แต่นักอ่านเหตุการณ์ทั้งหลายดูจะไม่ฟันธงลงไปว่าราคาจะขึ้น หรือลง หรือคงอยู่ในระดับปัจจุบัน แต่ผู้วางแผนทั้งในระดับบริการกิจการและในระดับบริหารประเทศควรตั้งสมมติฐานว่า มันน่าจะขึ้นมากกว่าลงและคงที่ในช่วงปี 2558 ทั้งนี้เพราะหากไม่เผื่อไว้ในแนวนั้นจะประสบปัญหาสูงมากหากราคาน้ำมันขึ้นไปจริงๆ ในกรณีที่มันไม่ขึ้นไป ความเสียหายจะต่ำกว่า

อนึ่ง นักวิจารณ์โดยทั่วไปมองกันว่าปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันลงในช่วงปลายปีที่แล้วมาจากการมีน้ำมันล้นตลาดเนื่องจากผู้ผลิตในอเมริกาผลิตได้มากจากการใช้เทคโนโลยีใหม่ นอกจากนั้น ผู้ผลิตขนาดใหญ่เช่นซาอุดีอาระเบียไม่ยอมลดการผลิตลงเพื่อพยุงราคาดังเช่นที่เคยทำมาก่อน นักวิจารณ์มักอ้างกันว่า ซาอุดีอาระเบียทำเช่นนั้นเพราะต้องการขับไล่ผู้ผลิตที่มีต้นทุนสูงออกจากตลาดเมื่อทนขาดทุนไม่ไหว แต่สิ่งที่ไม่มีใครพูดถึงได้แก่อาจมีการสมคบคิดกันในบรรดาพันธมิตรของอเมริกาที่จะใช้ราคาน้ำมันทำโทษรัสเซีย อิหร่านและเวเนซุเอลาซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่ออเมริกามานาน ประเทศเหล่านั้นต้องการรายได้จากการขายมันสูงมาก แต่เนื่องจากประเทศผลิตขนาดใหญ่ก็มีความจำเป็นต้องใช้เงินเช่นกัน ฉะนั้น อีกไม่นาน พวกนั้นอาจจะใช้มาตรการผลักดันให้ราคาน้ำมันขึ้นไป ยิ่งกว่านั้น หากการผลักดันให้ผู้ผลิตใหม่ขาดทุนจนต้องเลิกผลิต ปริมาณน้ำมันในตลาดจะลดลงส่งผลให้ราคาถูกกดดันให้ขึ้นไปด้วย

สำหรับทางด้านภาวะเศรษฐกิจโลก ภาพรวมที่ออกมาไม่น่าจะสดใสกว่าปี 2557 มากนัก ทั้งนี้เพราะเศรษฐกิจขนาดใหญ่ไม่น่าจะขยายตัวสูง

ในเบื้องแรก อเมริกาซึ่งบริโภคมากกว่าใครในโลกคงบริโภคเพิ่มขึ้นไม่ค่อยได้แล้วเพราะภาวะหนี้สินที่หนักอึ้งทั้งของเอกชนและของรัฐบาล ยิ่งกว่านั้น การทุ่มเงินจำนวนมหาศาลเข้าไปในเศรษฐกิจของธนาคารกลางได้ยุติลงแล้ว ไม่เพียงเท่านั้น ธนาคารกลางยังอาจขึ้นดอกเบี้ยซึ่งอยู่ใกล้ศูนย์มาเป็นเวลานานแล้วอีกด้วย ทั้งนี้เพราะธนาคารกลางกลัวภาวะเงินเฟ้อซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในภาวะที่ราคาน้ำมันเริ่มขยับขึ้น

การบริโภคในอเมริกาที่ขยายตัวต่ำจะทำให้การส่งออกของจีนขยายตัวได้ไม่เท่ากับที่เคย ในขณะเดียวกัน ความต้องการภายในของจีนคงขยายตัวได้ไม่มากนักเนื่องจากภาวะหนี้สินและการลงทุนมหาศาลในด้านอสังหาริมทรัพย์ที่ผ่านมายังขายไม่ได้หมด ปัจจัยเหล่านี้จะเสริมกัน ส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนซึ่งตอนนี้มีขนาดใหญ่เป็นอันดับสองรองจากอเมริกาไม่ฟู่ฟ่าดังเช่นแต่ก่อน

ทางด้านญี่ปุ่นซึ่งซบเซามานานนับทศวรรษก็ไม่มีทีท่าว่าจะขยายตัวมากนัก รัฐบาลญี่ปุ่นมีภาระหนี้สินสูงกว่าใครในโลก ฉะนั้น รัฐบาลจะไม่สามารถใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากนัก ส่วนทางด้านเอกชน กำลังซื้อก็อ่อนแอมากเนื่องจากการมีผู้สูงวัยในอัตราส่วนสูงขึ้นทุกวัน เรื่องนี้เป็นผลของการที่ประชากรอายุยืนที่สุดในโลก

สหภาพยุโรปซึ่งครั้งหนึ่งทำท่าว่าจะฟื้นก็ไม่น่าจะฟื้นเนื่องจากปัญหาเก่าๆ ยังอยู่ กรีซยังเป็นลูกผีลูกคนและจะต้องเลือกตั้งทั่วไปในตอนปลายเดือนนี้เพราะรัฐสภาไม่สามารถตกลงกันได้ว่าจะเลือกใครเป็นประธานาธิบดี ภาวะเศรษฐกิจที่ไม่สดใสเป็นปัจจัยทำให้รัฐสภาหาข้อตกลงร่วมกันไม่ได้ แต่กรีซมิใช่ประเทศเดียวในสหภาพยุโรปที่มีปัญหา สเปนก็เช่นกัน ยิ่งกว่านั้น เยอรมนีเองซึ่งเป็นหัวจักรใหญ่ก็ขยายตัวต่ำลงเพราะการส่งออกไม่สดใสเหมือนเดิมและการบริโภคภายในไม่ขยายตัว

ทางด้านประเทศกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ รัสเซียมีปัญหากับอเมริกาและพันธมิตรจนถึงกับใช้มาตรการคว่ำบาตรกัน ยิ่งกว่านั้น ราคาน้ำมันยังซ้ำเติมจนทำให้เศรษฐกิจของรัสเซียถดถอยและประสบปัญหาเงินเฟ้อ ส่วนเศรษฐกิจของบราซิลก็กำลังประสบปัญหาและไม่มีทีท่าว่าจะแก้ได้อย่างรวดเร็ว

เมื่อภาพภายนอกเป็นเช่นนี้ ไทยคงใช้การส่งออกและการท่องเที่ยวเป็นหัวจักรผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวได้ไม่มากนัก ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจะหาวิธีกระตุ้นเศรษฐกิจจากภายในเพื่อทำให้เกิดการขยายตัวสูงกว่าเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากการกระตุ้นผ่านการลงทุนในปัจจัยพื้นฐานจะทำได้ไม่เร็วนักเพราะโครงการในด้านนี้ต้องใช้เวลา ฉะนั้น เป็นไปได้สูงว่ารัฐบาลจะใช้มาตรการมักง่ายกระตุ้นการใช้จ่ายในระยะสั้นผ่านมาตรการ “คืนความสุข” ที่รัฐบาลทำมาบ้างแล้วรวมทั้งการขึ้นเงินเดือนและค่าครองชีพให้บางกลุ่ม ในระยะสั้น รัฐบาลจะได้รับความนิยมมากจากฝ่ายที่ได้รับประโยชน์และการมีเงินใช้จ่ายจะทำให้พวกเขามีความความสุข แต่นั่นจะเป็นเสมือนการวางยาเพื่อฆ่าตัวเองดังที่รัฐบาลกรีซและหลายประเทศในละตินอเมริกาทำกันมาแล้ว

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา หลายฝ่ายในวงการอำนาจประกาศว่าจะไม่ใช้นโยบายประชานิยม แต่ผมมองว่ารัฐบาลจะใช้ จะมีใครกล้ากระโดดเข้ามารับท้าพนัน หรือลงขันกันบ้างไหมหนอ?
กำลังโหลดความคิดเห็น