xs
xsm
sm
md
lg

จากหนังสือถึงผืนผ้า แรงศรัทธาของ ชเล วุทธานันท์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ชเล วุทธานันท์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท สิ่งทอซาติน จำกัด เจ้าของแบรนด์พาซาย่า (Pasaya)
 
จากนักข่าวหนุ่มหล่อที่ได้เห็นโลกใบใหญ่จนหนำใจแล้ว “ชเล วุทธานันท์” จึงตัดสินใจวางปากกา หันไปสานต่อธุรกิจสิ่งทอของครอบครัว ปลุกปั้นสร้างแบรนด์ pasaya จนโด่งดังในฐานะผลิตภัณฑ์สิ่งทอระดับไฮเอนด์ ที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก ทั้งยุโรป ญี่ปุ่น และอเมริกา แต่ใครจะเชื่อว่าชื่อเสียงเงินทองที่ได้มา แม้จะทำให้เขาสุขสบายมากขึ้น ก็ไม่ได้ทำให้เขาหลงลืมหรือละเลยหนังสือของรักของหวงของเขาเลย เพราะทุกวันนี้นอกจากอ่านแล้วเขายังถวิลหาอยากทำงานเขียนอยู่ตลอดเวลา

 
“ชเล วุทธานันท์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท สิ่งทอซาติน จำกัด เจ้าของแบรนด์ พาซาย่า (Pasaya) หนุ่มใหญ่มาดเข้มสูงสมาร์ทในชุดสูทเรียบเก๋ ที่ดูออกว่าเจ้าตัวเป็นคนเนี้ยบเอาการ ย้อนอดีตให้ฟังด้วยสีหน้าสดใส ว่าเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก ทุกวันจะขลุกอยู่กับหนังสือทุกชนิด โดยเฉพาะ หนังสือประวัติศาสตร์และวิทยาศาสตร์ จนอายุ 13-14 พ่อของเขามาพบว่า ลูกชายติดอ่านหนังสือดึกๆ ดื่นๆ ไม่ยอมช่วยงานบ้าน จึงดุและออกคำสั่งห้ามอ่านหนังสืออย่างเด็ดขาด โดยไม่รู้ว่าหนังสือที่ลูกอ่านนั้นดีหรือไม่ดี เพราะคุณพ่อเป็นคนจีนที่ไม่รู้หนังสือไทย

“ตอนนั้นผมรู้สึกทรมานมาก ถ้าไม่ได้อ่านหนังสือเหมือนชีวิตขาดอะไรไป เพราะอยู่ในช่วงหาประสบการณ์ เรียนรู้อะไรใหม่ๆ สุดท้ายจึงหาทางออกด้วยการอ่านหนังสือจีนแทน ซึ่งก็ได้ผล คือ พ่อไม่ดุ และผมเองจากคนที่ไม่รู้ภาษาจีน ก็กลายเป็นอ่าน-เขียนภาษาจีนได้ นอนฝันเป็นภาษาจีนได้หมด เรียนจบมัธยมปลาย ก็รู้สึกอยากเป็นนักข่าว ตอนนั้นสอบได้คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ แต่ไม่เอาเนื่องจากต้องเข้าเรียนทุกวัน เลยตัดสินใจมาเรียนรามคำแหงแทน เพราะสามารถทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยได้”

 
“ชเล” เข้าสู่วงการน้ำหมึกด้วยการชิมลางงานข่าว ให้กับหนังสือพิมพ์จีน “ตั่งหน้ำ” เมื่อช่วงที่เรียนปริญญาตรีอยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ในตำแหน่งนักแปลข่าว ซึ่งเป็นงานถนัด แต่เขาไม่ค่อยชอบมากนัก เพราะต้องนั่งแปลข่าวจากเทเล็กซ์เพียงอย่างเดียว ไม่ได้ลงสนามหาข่าว จึงตัดสินใจลาออกแล้วมาสมัครทำงานที่หนังสือพิมพ์อธิปัตย์ คราวนี้ได้ออกทำข่าวการเมืองสมใจ “ดีใจมากได้ออกไปทำข่าว 14 ตุลาคม 2516 เรื่อยมาจนถึง 6 ตุลาคม 2519 ได้เห็นการต่อสู้เรียกร้องประชาธิปไตยที่ยิ่งใหญ่ แล้วผมก็มีความรู้สึกร่วมกับประชาชน-นักศึกษายุคนั้น พอมีการกวาดล้าง หนังสือพิมพ์ที่ทำก็ถูกปิด ผมก็เข้าป่าไปกับเขาด้วย”

“ชเล” อยู่ในป่ากับนักศึกษานาน 2 ปีครึ่ง ด้วยการทำหน้าที่เหมือนสื่อมวลชน คือ แปลหนังสือ ถ่ายรูป ล้างรูป ก่อนตัดสินใจเดินทางกลับบ้าน เพราะเห็นว่าการต่อสู้แนวทางนี้เป็นการแก้ไขปัญหาที่ไร้ทิศทาง เมื่อถึงบ้านพ่อก็สอนเรื่องการเมือง ชี้ให้เห็นข้อดีข้อเสียของการปกครองในระบอบสังคมนิยม พร้อมขอร้องไม่ให้เขายุ่งเกี่ยวกับการเมือง

“พ่อสอนพร้อมกับให้เงินผมไปจีน เพื่อดูความเป็นอยู่ของชาวจีนภายใต้การปกครองของคอมมิวนิสต์ ซึ่งพอได้ไปเห็นบ้านเกิดของพ่อ-แม่ที่เมืองจีน ก็เป็นจริงอย่างที่พ่อพูดคือ ความเป็นอยู่ตรงนั้นล้าหลัง ขอทานเต็มบ้านเต็มเมือง เห็นว่าพ่อต้องส่งเงินให้ญาติพี่น้อง ผมก็รู้สึกผิดหวังกลับมาก็รับปากพ่อจะไม่ยุ่งการเมืองอีก พ่อก็เลยส่งไปเรียนต่อด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโนยี ที่มหาวิทยาลัยในฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา พอจบกลับมาก็มาช่วยธุรกิจสิ่งทอของพ่อครับ”

 
ชเล เริ่มต้นการเป็นนักธุรกิจจากโรงงานทอผ้าเล็กๆ ย่านพระประแดง ที่ประสบความสำเร็จจากการผลิตผ้าผืนเพื่อส่งออก และย้ายมาตั้งโรงงานใหม่ บนเนื้อที่กว่า 400 ไร่ ที่ จ.ราชบุรี เมื่อปี 2543 ซึ่งถือเป็นโรงงานที่สมบูรณ์แบบที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศ ทั้งในแง่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัยกับสุขภาพ และความสวยงามของสถาปัตยกรรม อีก 2 ปีต่อเขาจึงตัดสินใจสร้างแบรนด์ PASAYA หรือที่เขาบอกว่าเอามาจากคำว่า “แพศยา” หมายถึงผู้หญิงเก่ง ก๋ากั่นนั่นเอง

ทุกวันในการทำงาน ชเลยอมรับว่ามีความสุขกับการได้ค้นหานวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับผ้าทุกผืนของ PASAYA แต่ลึกลงไปแล้วไม่ชอบที่จะเป็นนักธุรกิจ “ผมคงไม่ใช่นักธุรกิจที่ดีนัก ผมยังมีความสุขกับการอ่านหนังสือมากกว่าไปนั่งประชุม เพราะฉะนั้น ผมมีเพื่อนในแวดวงธุรกิจน้อยมาก (หัวเราะ) ผมเชื่อว่าหนังสือช่วยเพิ่มความรู้และเอามาช่วยเรื่องการทำงานได้ ผมอ่านหนังสือทุกชนิดตั้งแต่วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ ไปจนถึงสัจธรรมชีวิต สัจธรรมของสิ่งต่างๆ บนโลก ทั้งฝรั่งและจีน”

ชเลยังบอกอีกว่า เขาชื่นชอบหนังสือของ โจเซฟ คอลราด, ไมเคิล คริสตัล และ “อวี้เห่อ” และ “เห่อหม่า” มาก แต่ถ้าถามถึงความคลาสสิก เขายกให้หนังสือจีนเป็นหนึ่งในใจ

“นักเขียนชาวฝรั่ง จะเก่งมีเทคนิคในเรื่องวิทยาศาสตร์และจินตนาการ แต่นักเขียนชาวจีนมีคำพูดที่ให้อรรถรสที่แตกต่างกว่าชาติไหนๆ คือสามารถใช้คำง่ายๆ เมื่อได้อ่านแล้วเรารู้สึกเคลิ้มหลงใหลจนวางไม่ลงครับ”

 
นอกจากเป็นนักข่าว นักอ่านหนังสือ และทอผ้าแล้ว ชเลก็จัดเป็นนักเขียนที่มีฝีไม้ลายมือเด็ดขาดไม่แพ้นักเขียนดังๆ

“เร้นรอยทราย” ผลงานเขียนเรื่องแรกที่ “ชเล” พิสูจน์ให้เห็นว่า เขาสามารถถักทอตัวอักษรได้ดีไม่แพ้เรื่องการทอผ้า

“เร้นรอยทราย” เป็นนวนิยายรักอิงประวัติศาสตร์ที่ “ชเล” ควบรวมเอาประวัติศาสตร์จริงกับปริศนาชีวิต “มาร์โค โปโล” นักเดินทางชาวยุโรปกับช่วงชีวิตที่ขาดหายไปมาถักทอเป็นเรื่องราวรักสุดโรแมนติกและการผจญภัยสุดตื่นเต้น จินตนาการถึงการเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลนับปี เพื่ออารักขานำเจ้าหญิงมองโกลส่งไปแต่งงานที่ดินแดนเปอร์เซีย

 
ชเลบอกว่า เร้นรอยทราย ไม่ใช่ชีวประวัติของมาร์โค โปโล ที่ถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่โครงเรื่องเป็นข้อมูลจริงที่ผสมจินตนาการของเขา “ถ้าเป็นเรื่องประวัติแท้ๆ คงจะไม่ได้ เพราะเหตุการณ์ตรงนั้นไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร และไม่มีใครรู้เลย แต่ถ้าใครได้อ่านจะสามารถแยกออกว่าตรงไหนจริงไม่จริง ที่รู้ว่ามันไม่จริงก็คือคำตอบโต้การเจรจาของตัวละคร ส่วนลำดับเหตุการณ์เป็นอะไรที่แยกแยะได้”

ในวัย 60 ปีของ “ชเล” วันนี้ เขาบอกพอใจกับชีวิตที่มีอยู่ และหลังจากนี้สิ่งที่เขาอยากทำคือ การแปลหลังสือจีนสักเรื่องหนึ่ง “งานเขียนเป็นสิ่งที่ผมรักและศรัทธามาตลอด แม้จะทิ้งไปนานมาก แต่เมื่อมีโอกาสก็อยากสร้างสมดุลให้ชีวิตอีกครั้ง ผมคิดว่าการเขียนหนังสือสนุก เป็นการพักผ่อนอย่างหนึ่ง การใช้เวลาในการเขียนหนังสือทำให้ชีวิตสมถะมากขึ้น เป็นชีวิตที่ดี ที่สำคัญบนพื้นฐานการหาความรู้จะทำให้เราเติบโตทางความคิด” ชเลกล่าวทิ้งท้าย

 
เรื่อง : วรกัญญา
ภาพ : พลภัทร วรรณดี
 
กำลังโหลดความคิดเห็น