ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ตอนนี้รัฐกำลังเดินหน้าที่จะการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียม เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ขณะที่กระบวนการยังไม่แล้วเสร็จและยังหาข้อตกลงไม่ได้นั้น “สมศักดิ์ เธียรจรูญกุล” อาจารย์ประจำสาขาวิชานิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จึงได้มาเสนอแนวทางแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียม เพื่อที่จะได้เห็นปัญหาและเกิดแนวคิดการปฏิรูปที่ยั่งยืนต่อไป
อาจารย์มองว่าปัญหาเรื่องพลังงานในประเทศไทย มีกฎหมายตรงไหนที่ควรแก้ไขบ้าง และเพราะอะไร
ถ้าพูดถึงเรื่องพลังงานว่ามีกฎหมายฉบับไหนที่ยังบกพร่องอยู่ และควรที่จะได้รับการแก้ไขเพิ่มเติม คงต้องคุยกันยาว ต้องบอกว่าคำว่า “พลังงาน” ความหมายค่อนข้างกว้าง เพราะว่าพลังงานนอกจากน้ำมันและแก๊สแล้ว ยังมีพลังงานอื่นๆ เช่น พลังงานลม พลังงานน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานความร้อนเต็มไปหมดเลย แต่หากเราต้องการที่จะโฟกัส หรือให้ความหมายที่เฉพาะเจาะจงเกี่ยวกับเรื่องของปิโตรเลียม หรือน้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ เรา ต้องใช้คำว่า “ปิโตรเลียม”
ทีนี้ ปิโตรเลียมเป็นทรัพยากรประเภทหนึ่ง ในจำนวนทรัพยากรทั้งหลายที่มีอยู่ในประเทศไทย ซึ่งมีอยู่เยอะมาก ฉะนั้นการที่จะบอกว่ากฎหมายฉบับไหนเป็นอย่างไร มันก็ต้องดูทั้งหมด ทรัพยากรซึ่งมีปิโตรเลียมอยู่ในนั้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของคำว่า “สิ่งแวดล้อม” เพราะว่าคำว่าสิ่งแวดล้อมเป็นคำที่กว้าง และมีกฎหมายสิ่งแวดล้อมเป็นแม่บท ดังนั้นคำว่าสิ่งแวดล้อม จึงแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือเรื่องเกี่ยวกับมลพิษ เรื่องเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งมีปิโตรเลียมอยู่ในนั้น และเดี๋ยวนี้มันเกิดสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 3 ขึ้นมาคือ ทรัพยากรดัดแปลงทางพันธุกรรม
คำว่าปิโตรเลียม มีกฎหมายหลักๆ ที่เกี่ยวข้องคือ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 ที่พูดถึงกันมาก นอกจากนี้ยังมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ตรงนี้จะเป็น 2 ฉบับที่มีการพูดถึงกันเยอะ แต่การที่จะโฟกัสเฉพาะกฎหมาย 2 ฉบับนี้ มันไม่เพียงพอ เพราะการที่จะปรับปรุงแก้ไขกฎหมาย ควรต้องดูฉบับอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย อย่างที่ผมบอกไปว่า ปิโตรเลียมเป็นทรัพยากรประเภทหนึ่ง เพราะฉะนั้นมันต้องไปเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งมีปิโตรเลียมเป็นส่วนหนึ่งด้วย ดังนั้นผมมองว่าหากเราจะต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเลียม เราควรจะดูว่าจะแบ่งบริหารจัดการอย่างไร ฉะนั้นการแก้ไขปรับปรุงในเรื่องกฎหมายปิโตรเลียม คงพูดถึงเฉพาะการตั้งองค์กรอย่างเดียวไม่พอ หรือจะพูดถึงการจัดเก็บค่าภาคหลวงอย่างเดียวก็ไม่พอ แต่เราจะดูต้องดูทั้ง 3 ส่วนด้วย
3 ระดับที่ควรแก้ไขคือ ระดับทฤษฎี หรือแนวคิดพื้นฐาน ซึ่งเป็นระดับบนสุด ระดับที่ 2 ก็เป็นหลักการ ระดับที่ 3 เป็นเรื่องการบริหารจัดการ ทั้งหลายทั้งปวงที่มีการพูดคุยกันว่าจะจัดเก็บค่าภาคหลวงเท่าไร หรือว่าจะทำอย่างไรกับปิโตรเลียม จะตั้งองค์กรขึ้นมาใหม่ดีไหม หรือว่าต้องไปปรับปรุงแก้ไข ปตท. ตรงนั้นเป็นเรื่องการบริหารจัดการทั้งหมดเลย ซึ่งเป็นระดับล่างสุด
มีอยู่เรื่องหนึ่งที่มีการเสนอกันมาก็คือ จะใช้ระบบสัมปทาน หรือว่าแบ่งปันผลผลิตดี ผมมองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าหากว่ามีการจัดตั้งองค์กร หรือจะเปลี่ยนแปลงในเรื่องรายละเอียด ซึ่งเป็นเรื่องการบริหารจัดการ ระดับหลักการจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงด้วย คือจะเอาสัมปทาน หรือแบ่งปันผลผลิต ตรงนี้เป็นเรื่องหลักการ แต่หลักการมันก็มีแนวคิด และทฤษฎีพื้นฐานอีก ซึ่งเราจะเห็นใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514 มีการเขียนเอาไว้ว่า “ปิโตรเลียมเป็นของรัฐ” ตรงนี้บัญญัติไว้ในมาตรา 23 เขาบอกว่าปิโตรเลียมเป็นของรัฐ ผู้ใดสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในที่ใด ไม่ว่าที่นั้นเป็นของตนเอง หรือของบุคคลอื่นต้องได้รับสัมปทาน
พอเราดูมาตรา 23 ของ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 แล้วมาดูกฎหมาย ซึ่งถือว่าเป็นกฎหมายแม่ของเรื่องทรัพยากร คือ พ.ร.บ.ส่งเสริม และรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ปี 2535 ในมาตรา 97 เขียนเอาไว้เช่นกันว่า “ทรัพยากรธรรมชาติเป็นของรัฐ” ดังนั้นสังเกตได้ว่ามันจะไปในทิศทางเดียวกันหมด มันจึงเกิดปัญหาว่าเมื่อทรัพยากรเป็นของรัฐแล้ว ผู้มีอำนาจรัฐสามารถที่จะดำเนินการ หรือให้สัมปทานปิโตรเลียมได้ โดยที่ความคิดเห็นของประชาชน หรือความคิดของสังคมเป็นเรื่องรอง ลักษณะนี้มันมาจากแนวคิดพื้นฐานว่า ทรัพยากรเป็นของรัฐ
แต่ถ้าเราสังเกตจากรัฐธรรมนูญทุกฉบับ ซึ่งมักจะเขียนไว้ในมาตรา 3 ว่า อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แต่น่าแปลกที่พอมาเรื่องของทรัพยากรธรรมชาติกับปิโตรเลียม กฎหมายไม่บอกว่าเป็นของปวงชนชาวไทย เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 3 แต่กลับบอกว่าเป็นของรัฐ ซึ่งผมมองว่าตรงนี้ก็สมควรแก้ไข และเป็นส่วนสำคัญมาก
ควรทำอย่างไร จึงจะสามารถแก้ปัญหาให้ทรัพยากรปิโตรเลียมกลายเป็นของประชาชนได้บ้าง
ที่ผ่านมา มีคนเสนอให้มีการจัดตั้งองค์กรใหม่ขึ้น ซึ่งอาจจะเป็นบรรษัทแห่งชาติ ตรงนี้ผมมองว่าถ้าจะจัดตั้งบรรษัทแห่งชาติขึ้นมา เราสามารถจะแก้ไขเพิ่มเติมใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 ได้ คือ อาจจะให้มีบทบาทหน้าที่แยกออกจาก ปตท. แยกทำหน้าที่กันคนละส่วนกัน เสร็จแล้วให้เปลี่ยนจากระบบสัมปทานมาเป็นแบ่งปันผลผลิต แต่ด้วยระยะเวลา แค่ 3 เดือน อาจจะไม่ทัน เพราะเป็นเรื่องใหญ่ คิดว่ารัฐน่าจะให้เวลาดำเนินการมากกว่านี้ แล้วพอเปลี่ยนมาเป็นระบบแบ่งปันผลผลิตก็จะทำให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนมากขึ้น
เท่านั้นไม่พอ จำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนให้เป็นคำว่า “ปิโตรเลียมและทรัพยากรธรรมชาติต้องเป็นของปวงชนชาวไทย” ด้วย คือควรจะมีการแก้ไขทั้ง 3 ระดับ ทั้งระดับแนวคิดและทฤษฎีพื้นฐาน ระดับหลักการ และระดับการบริหารจัดการ ควรต้องทำทั้งหมด
นอกจากนั้น ผมทราบจากข่าวสารมาว่า นายกรัฐมนตรี คือ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกให้ สนช.ไปพิจารณากฎหมาย 2 ฉบับ คือ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม กับ พ.ร.บ.ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ซึ่งผมเห็นว่ายังไม่เพียงพอ เพราะเรื่องปิโตรเลียมคือ ทรัพยากรธรรมชาติประเภทหนึ่ง มันไปเกี่ยวข้องกับกฎหมายอื่นๆ อีกหลายฉบับ ลำพังเพียงกฎหมาย 2 ฉบับนั้น ช่วยอะไรไม่ได้ จะแทบไม่ต่างจากของเดิมเท่าไร ดังนั้นเราควรที่จะดูกฎหมายอื่นๆ ประกอบด้วย เช่น พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ
การที่ทุกวันนี้กฎหมายยังใช้คำว่า “ปิโตรเลียมเป็นของรัฐ” อยู่ จะทำให้เกิดข้อเสียอย่างไรบ้าง
พอใช้คำว่าปิโตรเลียมเป็นของรัฐ หรือว่าทรัพยากรธรรมชาติเป็นของรัฐ พอเกิดปัญหาอะไรขึ้นมา ประชาชนโต้แย้งคัดค้านลำบาก เพราะว่าไม่มีส่วนได้เสีย สังเกตหลายๆ เรื่อง พอไปฟ้องศาลปกครอง หรือไปฟ้องศาลที่ไหน ศาลไม่อาจรับฟ้องได้ เพราะว่าประชาชนไม่ใช่ผู้มีส่วนได้เสีย หรือว่าไม่ใช่ผู้ที่ต้องได้รับความเสียหาย
ทีนี้การที่กำหนดให้ปิโตรเลียมเป็นของรัฐ หรือรัฐมีอำนาจดำเนินการแต่ฝ่ายเดียว การรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ จึงไม่มีสภาพบังคับทางกฎหมาย แต่ถ้าหากกำหนดให้ทรัพยากร หรือปิโตรเลียมเป็นของปวงชนชาวไทย หรือประชาชน จะถือว่าประชาชนเป็นผู้มีส่วนได้เสีย ดังนั้นถ้าหากว่าภาครัฐ หรือว่าหน่วยงานของรัฐทำไม่ถูกต้อง การโต้แย้งคัดค้านมันสามารถที่จะกระทำได้สะดวกขึ้น และชัดเจนขึ้น
แล้วใน พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ นี้ อาจารย์มองว่าควรแก้ไขเพิ่มเติมอย่างไร
หากเราต้องการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายเกี่ยวกับปิโตรเลียม ก็จำเป็นจะต้องดู พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ปี 2535 ด้วย เพราะใน พ.ร.บ.ปิโตรเลียม 2514 มีการจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่ง ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้มีองค์ประกอบจากหน่วยงานราชการหลายๆ แห่ง ไม่ว่าจะเป็นปลัดกระทรวงพลังงานก็ตาม หรือจะเป็นผู้แทนจากอุตสาหกรรมก็ตาม แต่ว่าจะมีอยู่คนหนึ่งคือ เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า สผ. เพราะฉะนั้นการมีผู้แทน หรือว่ามีเลขาธิการของ สผ.มาอยู่ เป็นหนึ่งในองค์ประกอบ แปลว่ามันต้องเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งมันหนีไม่พ้น
การที่เราจะให้สัมปทานปิโตรเลียม ไม่ว่าจะเป็นการให้สำรวจ กับการให้ผลิต จะกินพื้นที่ค่อนข้างกว้าง ระดับหลายพันตารางกิโลเมตร เพราะฉะนั้นโครงการใหญ่ขนาดนี้ ผมมองว่าตามหลักแล้ว ควรจะต้องทำรายงานอีไอเอ หรือที่เดี๋ยวนี้เรียกว่า อีเอชไอเอ ด้วย จึงจะถือเป็นการแก้ไขที่ถูกต้อง
ต้องอธิบายก่อนว่ารายงานอีเอชไอเอ คือ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเพิ่มเรื่องของผลกระทบด้านสุขภาพเข้ามาว่า โครงการแต่ละแห่ง เมื่อภาครัฐจะอนุมัติการที่จะดำเนินการตามโครงการจะมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนหรือไม่ กระทบต่อสุขภาพของประชาชนหรือไม่ แต่น่าสังเกตว่าช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เวลาที่เราพูดถึงการจะให้สัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 กลับไม่มีการพูดถึงเรื่องของรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพเลย ซึ่งตามหลักการแล้ว ควรจะต้องทำก่อน เพราะโครงการต่างๆ เหล่านี้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน ดังนั้นควรจะต้องผ่านกระบวนการอีเอชไอเอก่อน แต่เราไม่ได้ยินข่าวเลยว่าเวลามีสัมปทานปิโตรเลียม เรามีรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพหรือเปล่า
ทีนี้การทำอีเอชไอเอ ต้องเอาโครงการสัมปทานนี้ไปให้กับหน่วยงานเจ้าของเรื่อง เป็นคนดำเนินการเริ่มต้นก่อน พอทำเสร็จจะต้องมีการทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ โดยจะต้องมี สผ.หรือสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งเขาจะตั้งคณะกรรมการขึ้นมาอีกชุดหนึ่งขึ้นมา เพื่อตรวจสอบรายงานว่า ใช้ได้หรือใช้ไม่ได้ คณะกรรมการชุดนี้ จะมีหน่วยงานต่างๆ ทั้งหน่วยงานเจ้าของเรื่อง หน่วยงานที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และรวมถึงการมีผู้เชี่ยวชาญจากบุคคลภายนอกเข้ามา และที่สำคัญคือ จะต้องทำประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นสาธารณะ หลังจากได้ข้อมูลต่างๆ ครบถ้วนแล้ว ดำเนินกระบวนการครบถ้วนแล้ว ถึงจะส่งต่อไปเรื่อยๆ ไปถึงคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจะมีความเห็นอย่างไร ซึ่งถ้าเห็นด้วย คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจะทำความเห็น และส่งไปถึง ครม. ที่มีอำนาจอนุมัติโครงการใดโครงการหนึ่งก็ตาม รวมถึงสัมปทานปิโตรเลียมด้วย แต่ถ้าเกิดคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติไม่เห็นด้วย รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ หรือ อีเอชไอเอก็ต้องตีกลับมา เพื่อดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง นี่ก็คือกระบวนการในการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ซึ่งต้องผ่านก่อนรายงานตัวนี้ ครม.ถึงมีสิทธิอนุมัติโครงการ หรือสัมปทาน แต่เราดูจากสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ไม่มีการพูดถึงเลย นี่เองที่ผมมองว่าจะเป็นปัญหา และสมควรแก้ไขตรงนี้ก่อน
สาเหตุที่ผมมองว่าต้องทำ เพราะเราเคยได้ข้อมูลมา และถ้าเราดูข่าวจากสื่อมวลชนหลายๆ ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ในภาคเหนือก็ตาม หรือว่าอีสานก็ตาม เราจะเห็นข่าวว่าอยู่ดีๆ ท้องไร่ท้องนาของชาวบ้านก็มีไฟลุกติดขึ้นมาโดยไม่ทราบสาเหตุ เมื่อก่อนเราอาจไม่ทราบ แต่เดี๋ยวนี้ทราบแล้วว่าส่วนหนึ่งเกิดจากการขุดเจาะ สำรวจ และผลิตปิโตรเลียมด้วยวิธีการอัดสารเคมีบางอย่างลงใต้ดิน อาจจะเป็นสารมีเทนก็ได้ และพออัดลงใต้ดิน สารเคมีหรือมีเทนเหล่านี้ ก็กระจายไปตามใต้พื้นดิน แล้วจะไปโผล่ที่ดินของใครก็ไม่ทราบ ฉะนั้นมันก็เกิดผลกระทบไปทั่ว ท้องไร่ท้องนาของชาวนาที่เพาะปลูกได้ ก็กลับกลายเป็นเสียหายไป โดยหาสาเหตุไม่ได้ แต่ตรงนี้ชาวบ้านไม่รู้ นี่คือสาเหตุว่า หากมีการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพขึ้นมา ข้อมูลมันจะต้องเปิดออกมา แต่พอไม่ได้ทำ หรือทำในลักษณะที่ไม่ได้เปิดเผยอย่างจริงจัง ชาวบ้านก็เลยไม่รู้ นี่แหละที่ผมมองว่าการให้สัมปทานปิโตรเลียม จึงไปเกี่ยวข้องกับกฎหมายสิ่งแวดล้อมเข้า ซึ่งมันหลีกหนีกันไม่พ้น
ทีนี้สังเกตว่ารอบอื่นๆ ที่เคยทำมา ไม่ว่าจะเป็นการสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 1-20 มีการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรือไม่ เราลองสังเกตดูว่าสังคมแทบไม่รู้เรื่องเลย ไม่ว่าจะทำหรือไม่ทำ แทบไม่มีประโยชน์หรือไม่มีผลเลย ประการหนึ่งเป็นเพราะว่า รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของเมืองไทย เขียนขึ้นมาและมีกระบวนการขึ้นมา แต่ไม่มีสภาพบังคับ จะทำหรือไม่ทำ หรือทำลัดขั้นตอน หรือทำในลักษณะผิดกฎหมายก็ไม่มีสภาพบังคับ ไม่มีบทลงโทษ นี่เองที่ผมมองว่าคือปัญหา สังเกตในหลายๆ โครงการ พอเกิดกรณีฟ้องศาลปกครอง ศาลปกครองบอกว่าการดำเนินกระบวนการอีเอชไอเอนั้นฝ่าฝืน ให้ไปทำใหม่ให้ถูกต้อง ซึ่งศาลปกครองท่านก็สั่งอะไรมากไม่ได้ เพราะกฎหมายเขียนไว้แค่นั้นจริงๆ เพราะฉะนั้นในเรื่องสัมปทานปิโตรเลียม เราจำเป็นต้องดูและแก้ไขเรื่องกฎหมายสิ่งแวดล้อม รวมถึงต้องดูเรื่องกระบวนการในการทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ อีเอชไอเอด้วยว่าให้มีสภาพบังคับตามกฎหมายด้วย ไม่ใช่ว่าจะทำหรือไม่ทำก็ได้
ลองสังเกตดูนะครับว่ารัฐบาลที่แล้วทำโครงการจัดการน้ำ ซึ่งต้องทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ทำเสร็จแล้วเขาไปจัดนิทรรศการตามห้างสรรพสินค้า และไปอ้างเอาการจัดนิทรรศการว่าคือ ส่วนหนึ่งของการทำประชาพิจารณ์ หรือการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ซึ่งไม่ใช่เลย มันคนละเรื่องเลย แต่เป็นเพราะว่ากระบวนการเหล่านี้ กำหนดให้มีขึ้นแต่ไม่มีสภาพบังคับตามกฎหมาย เพราะฉะนั้นเราต้องเปลี่ยนตรงนี้ใหม่ และทำให้มันมีสภาพบังคับตามกฎหมายครับ
ที่ผ่านมา รัฐมองว่าการให้สัมปทานปิโตรเลียมนั้น ประเทศจะได้ประโยชน์จากค่าภาคหลวง อาจารย์เห็นด้วยกับตรงนี้หรือไม่
ค่าภาคหลวงเป็นเรื่องของระบบสัมปทาน เนื่องจากปิโตรเลียมจะเป็นของผู้รับสัมปทานทั้งหมด เอกชนที่ได้รับสัมปทานก็จะจ่ายค่าภาคหลวงให้แก่รัฐคืนมา ซึ่งมันกลายเป็นเปอร์เซ็นต์นิดเดียว ฉะนั้นตรงนี้สมควรแก้ไข
ที่ผ่านมา ระบบสัมปทาน ทำให้ปิโตรเลียมทั้งหมดเป็นของผู้รับสัมปทาน ประเทศไทยไม่เกี่ยว ฉะนั้นที่กฎหมายเขียนว่าปิโตรเลียมเป็นของรัฐ มันก็ไม่ใช่ของรัฐแล้ว เพราะมันโอนจากของรัฐไปเป็นของผู้รับสัมปทาน ตรงนี้ผมเลยบอกว่า ถ้าบอกว่าปิโตรเลียมหรือทรัพยากรธรรมชาติเป็นของปวงชนชาวไทย มันจะช่วยในเรื่องของกรรมสิทธิ์ในปิโตรเลียมได้ว่าไม่ให้โอนไปเป็นของผู้ที่รับสัมปทาน หรือผู้ที่รับจ้างผลิตในลักษณะแบ่งปันผลผลิต ทำให้ปิโตรเลียมทั้งหมดก็ยังเป็นของปวงชนชาวไทยอยู่ นี่คือหลักการที่สำคัญอย่างหนึ่ง
แต่ตอนนี้พอปิโตรเลียมเป็นของผู้รับสัมปทานไป เหมือนกับเราโอนกรรมสิทธิ์ไป ความเป็นเจ้าของก็เปลี่ยนไป เพราะฉะนั้นผู้รับสัมปทานจะนำปิโตรเลียมไปขายอย่างไร ราคาเท่าไร เขาก็สามารถทำได้ เรียกว่าคนไทยมีโอกาสในการที่จะควบคุม หรือคอนโทรลได้น้อยมาก แทบไม่มีเลย ดังนั้น หากจะพูดถึงเรื่องของสัมปทานปิโตรเลียมว่าเกี่ยวข้องกับความมั่นคง ก็ไม่ถูกต้อง ไม่มีประเทศไหนเขายอมให้บริษัทเอกชนเป็นผู้ที่รู้ข้อมูลปริมาณสำรองปิโตรเลียมในประเทศของตัวเอง มีแต่ว่าเจ้าของประเทศรู้ แต่บริษัทเอกชนไม่รู้ เพราะว่ารับจ้างผลิต หรือบริษัทเอกชนอาจรู้ แต่เขาต้องรายงานแก่รัฐ ประเทศอื่นเขาทำกันแบบนี้ทั้งนั้น แต่ประเทศไทยทำไม่ได้ เพราะปิโตรเลียมกลายเป็นของบริษัทผู้ได้รับสัมปทานไป ดังนั้น เขาจะไปทำอย่างไรก็ได้
แต่ถ้าหากรัฐไม่ใช้ระบบสัมปทาน ปิโตรเลียมจะไม่โอนไปเป็นของเอกชน ภาครัฐสามารถที่จะควบคุมปิโตรเลียมได้ พอควบคุมปิโตรเลียมได้ ก็ทำให้ควบคุมความมั่นคงได้อย่างหนึ่ง เพราะปิโตรเลียมเกี่ยวเนื่องกับเรื่องเศรษฐกิจ ปิโตรเลียมเกี่ยวเนื่องกับการทหาร รถถัง เครื่องบิน เรือ เรือรบ ซึ่งก็ต้องใช้น้ำมันใช่ไหมครับ ดังนั้นเรื่องนี้จึงเกี่ยวเนื่องกับความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจ และทั้งทางทหารด้วย ผมมองว่าการที่ปิโตรเลียมเป็นของบริษัทเอกชน จะเป็นอันตรายต่อความมั่นคงทั้งทางเศรษฐกิจ และทางทหารของประเทศไทยด้วยซ้ำไป เพราะที่ผ่านมานี้ ปริมาณสำรองปิโตรเลียมในประเทศไทยมีเท่าไหร่ หน่วยงานภาครัฐของเรายังไม่รู้เลย แต่ผู้รับสัมปทานเขารู้ทุกอย่าง แต่ถ้าเกิดเปลี่ยนจากระบบสัมปทานเป็นแบ่งปันผลผลิต เขารู้เท่าไรเราก็ต้องรู้เท่านั้น เพราะฉะนั้นตรงนี้คือข้อแตกต่างที่สำคัญ
ผมจึงมองว่าเราควรแก้ไขเรื่องที่ค่าภาคหลวงมันไปผูกติดกับระบบสัมปทาน ถ้าหากว่ามีการเปลี่ยนจากระบบสัมปทานไปเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต ค่าภาคหลวงจะต้องเปลี่ยนไป แล้วพอเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต บรรดาปิโตรเลียม ซึ่งสำรวจและผลิตได้แทนที่จะเป็นของเอกชนผู้รับสัมปทาน ก็จะกลับกลายมาเป็นของปวงชนชาวไทย มันจะต่างกันตรงนี้
ภาพโดย ธัชกร กิจไชยภณ