xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

รีดภาษีค่าที่ซุกหัวนอน “บิ๊กตู่” สั่งถอยดีกว่า

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ผู้นำประเทศอารมณ์บ่จอย ประชาชนก็อารมณ์บ่จอยเหมือนกัน แต่ต่างตรงที่ผู้นำอารมณ์บ่จอยเพราะไม่สามารถผลักดันการเก็บภาษีบ้านและสิ่งปลูกสร้างหรือ “ภาษีค่าที่ซุกหัวนอน” ให้สำเร็จดังหวัง ทำเอารัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ออกอาการ “เซ็งโว้ย” ทำอะไรก็ไม่ได้ประมาณนั้น

ส่วนประชาชนที่อารมณ์บ่จอย เพราะกำลังเผชิญหน้ากับปัญหาเศรษฐกิจซบเซา ทำมาหากินฝืดเคือง พอสดับรับฟังข่าวจะถูกรีดภาษีซ้ำเติมเลยปรี๊ดกันทั้งแผ่นดิน

แถมชาวประชาฟังนายสมหมาย ภาษี รมว.กระทรวงการคลัง จีบปากจีบคอกล่าววาจาอยากเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วประชาชนต้องเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ก็ยิ่งทำให้มีอารมณ์หมดรัก “รัฐบาลลุงตู่” ลงไปอีก และยิ่งนายพิเชษฐ์ พันธุ์วิชาติกุล อดีต ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาดรามาบัญญัติศัพท์ “ภาษีค่าที่ซุกหัวนอน” จะทำความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า โหมกระพือความไม่พอใจของสังคมซ้ำเติมจนผู้นำต้องตวาดเบาๆ ให้หุบปาก หยุดวิพากษ์วิจารณ์ กัน เสียที

การยึดอำนาจที่ว่ายากแล้ว แต่การจะมาเป็นผู้นำในเวลาที่ประเทศกำลังจนตรอกจากภาวะถังแตกหาเงินมาใช้จ่ายไม่ได้นั้นยากยิ่งกว่า ไหนจะหนี้สินสาธารณะจากโครงการต่างๆ ไหนจะรายจ่ายประจำ ไหนจะรายจ่ายเพื่อการลงทุน ขณะที่การจัดเก็บภาษีรายได้เข้าคลังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เพราะมีการการหลบเลี่ยง โกงภาษี ฯลฯ จนต้องหันกลับมาคิดรีดภาษีที่ซุกหัวนอน เพราะถ้าจะไปขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มหรือ VAT จาก 7 % เป็น 10% ตามแผนการที่วางไว้แต่เดิมว่าจะปรับขึ้นตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาก็รังแต่จะทำให้เดือดร้อนกันถ้วนหน้า หนักกว่าการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเสียอีก

จากสภาพการณ์ดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จึงมองว่าการหันมาเก็บภาษีที่ดินฯ น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด โดยแจกแจงถึงเหตุแห่งความจำเป็นที่จะต้องรีดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างว่า เพราะรัฐบาลต้องการมีรายได้มาชดเชยในส่วนที่จัดเก็บภาษีได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยเพราะมีการหลีกเลี่ยงภาษี

พร้อมกับยอมรับว่า ประเด็นวันนี้คือรายได้ไม่เพียงพอจนรัฐบาลต้องตั้งงบประมาณแบบขาดดุล 2 แสนกว่าล้านบาท เพื่อนำไปโปะให้กับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จ่ายเงินกู้ จ่ายค่าคลังเก็บข้าวในโครงการรับจำนำข้าวเดือนละ 2 พันกว่าล้านบาท และยังต้องจ่ายหนี้ค่ารถไฟและรถเมล์ฟรี รวมทั้งรายจ่ายประจำ แล้วจะเอาเงินไปจากไหนถ้าไม่เก็บภาษี

นายกรัฐมนตรีที่มาจากคณะรัฐประหาร ถือว่า เป็นโอกาสอันดีที่จะลงมือจัดเก็บภาษีดังกล่าว เพราะที่ผ่านมารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่สามารถทำได้เพราะกลัวจะเสียคะแนนเสีย

นั่นเป็นความคิด และเป็นเหตุผลที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ใคร่ครวญดูแล้วก่อนที่จะสั่งการให้นายสมหมาย ภาษี รมว.กระทรวงการคลัง ไปชงเรื่องเข้ามาให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา

แต่ใช่ว่าเรื่องนี้จะผ่านไปได้ง่ายๆ เหมือนอย่างหลายๆ เรื่องที่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ อาศัยอำนาจพิเศษทำสำเร็จมาแล้ว เพราะทันทีที่รู้กันแน่ชัดเมื่อรัฐบาลประกาศว่าจะมีการรีดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแน่ๆ กระแสต้านก็กระหึ่มขึ้นทันควันจากทุกสารทิศ โดยไม่สนใจว่ากระทรวงการคลัง จะปรับฐานการจัดเก็บใหม่เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้กระทบต่อผู้มีรายได้น้อยก็ตาม

ทั้งนี้ ตามสูตรที่กระทรวงการคลัง นำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมครม. เมื่อวันที่ 10 มี.ค. 2558 และก่อนหน้านี้นายสมหมาย ภาษี ได้ไปให้ข้อมูลต่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) สรุปได้ว่า ในส่วนของภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เบื้องต้นกระทรวงการคลัง กำหนดเพดานภาษีที่ดินเกษตรไว้ร้อยละ 0.05 ที่อยู่อาศัยร้อยละ 0.1 ที่ดินเพื่อการพาณิชย์และรกร้างว่างเปล่าอยู่ที่ร้อยละ 0.5

ส่วนอัตราภาษีที่อยู่อาศัยที่ไม่เกิน 1 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี ขยับขึ้นไปที่อยู่อาศัยราคาตั้งแต่ 1-3 ล้านบาท ภาษีอยู่ที่ร้อยละ 0.1 ตามราคาประเมิน แต่จะได้รับการลดหย่อนภาษีครึ่งหนึ่งของอัตรา เช่น บ้านราคา 3 ล้านบาท จะจ่ายภาษีอยู่ที่ 1,500 บาท ถ้าเป็นที่อยู่อาศัยที่มีราคาเกิน 3 ล้านบาท จะเสียภาษีตามอัตราร้อยละ 0.1 ที่ดินที่รกร้างว่างเปล่ากำหนดอัตราการจัดเก็บภาษีขั้นแรกร้อยละ 0.5 หลังจากนั้นจะเพิ่มขึ้นอีก 1 เท่าทุก 3 ปี แต่ว่าสูงสุดจะไม่เกินร้อยละ 2 ตามเพดาน

นอกจากนั้น ยังมีแนวคิดเปิดทางให้หักค่าเสื่อมสำหรับสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งกระทรวงการคลัง จะเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้พิจารณาในอีก 2-3 สัปดาห์ ส่วนกฎหมายจะมีผลบังคับใช้จริงในอีก 1-2 ปีข้างหน้า เพราะว่ายังต้องรอประเมินที่ดินรายแปลงจากกรมธนารักษ์ก่อน

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมครม.ไม่กล้าเคาะตามที่กระทรวงการคลัง เสนอ เพราะกระแสคัดค้านของสังคมดังขึ้นเรื่อยๆ โดยพล.อ.ประยุทธ์ ให้สัมภาษณ์หลังการประชุมครม. ว่าทุกอย่างยังอยู่ในขั้นตอนการหารือและยังไม่ชัดเจน และให้การบ้านกระทรวงการคลัง กลับไปคิดว่าจะดูแลประชาชนอย่างไรให้เกิดความเป็นธรรมมากที่สุด หากบ้านราคาแพงก็ต้องเสียมาก แต่ถ้าบ้านราคาถูกก็ต้องเสียน้อย ถ้าลดลงได้อีกก็ต้องลดลง แต่ก็จะกำหนดว่าไม่เกินเท่าไร ซึ่งทั้งหมดยังอยู่ในระหว่างการหารือกัน ขอให้ทุกฝ่ายอย่าเพิ่งวิตก เพราะยังต้องเตรียมเรื่องการสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศชาติในวันหน้า ฉะนั้นจึงอยากขอร้องให้พอได้แล้วเรื่องภาษีเพราะยังไม่เกิดในวันนี้หรือพรุ่งนี้

“ภาษีอย่างนี้เกิดได้ แต่ถ้าเป็นการเมืองเข้ามาก็จะเดือดร้อน วันนี้จะเห็นว่าพวกนักการเมืองต่างออกมาเชียร์ให้ออก รวมถึงมีตีกลับ นี่ละมันมีทั้งสองด้าน ซึ่งผมไม่ต้องการคะแนนนิยมแต่ต้องการความร่วมมือ ....” พล.อ.ประยุทธ์ เรียกร้องความเข้าใจจากสังคม

กระแสที่มีทั้งเชียร์และต้านนั้นมาจากทุกทิศทาง แต่ถ้าหากจะเจาะจงลงไปยังกลุ่มนักการเมืองที่พล.อ.ประยุทธ์ เอ่ยถึงก็คงไม่พ้นสองพรรคการเมืองใหญ่ คือ พรรคเพื่อไทย กับ พรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยครองอำนาจบริหารบ้านเมืองมาก่อนหน้าและต่างเคยมีแนวความคิดในการจัดเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมาด้วยกันทั้งนั้น

ฟังจากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ถนัดในงานถอนขนห่านมานักต่อนักเพราะเป็นรัฐบาลมาหลายสมัย ก็ดาหน้าออกมาทั้งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตลูกพรรคอย่างนายพิเชษฐ์ พันธุ์วิชาติกุล อดีตรมช.คลัง

นายอภิสิทธิ์ นั้นบอกว่า แนวความคิดของรัฐบาลคสช.ที่จะรีดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างนั้นเป็นความคิดของพวกทุนนิยม พร้อมอธิบายว่า สมัยที่ตนเป็นนายกรัฐมนตรี มีหลักการชัดเจนว่า การใช้กฎหมายดังกล่าวมีเป้าหมายคือเป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำด้านทรัพย์สิน โดยกำหนดชัดเจนถึงรายได้ว่านอกจากมอบให้ท้องถิ่นแล้วจะต้องจัดสรรบางส่วนไปไว้ในธนาคารที่ดิน เพื่อจัดทำโฉนดชุมชนและแก้ปัญหาเรื่องที่ทำกินให้กับประชาชนควบคู่ไปด้วย

แต่ทว่า ข่าวที่ออกมาในขณะนี้ทำให้มีความเป็นห่วงว่ารัฐบาลขาดความชัดเจนหลายเรื่อง เช่น ธนาคารที่ดินและโฉนดชุมชน จะยังดำเนินการหรือไม่ จะใช้เงินที่ได้มาแก้ปัญหาที่ดินทำกินให้ประชาชนหรือไม่ รวมถึงกรณีที่ในร่างเดิมของรัฐบาล ตนได้กำหนดให้มีการปรับกรณีสะสมที่ดินรกร้างว่างเปล่าโดยยกเว้นที่อยู่อาศัยกับการประกอบกิจการทางการเกษตรตามความเหมาะสม เพราะจะเป็นภาระต่อประชาชนและไม่ตรงเป้าหมายที่ต้องการแก้ปัญหาเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากการอยู่อาศัยนั้นประชาชนอาจอยู่มาก่อนในขณะที่ราคาที่ดินไม่สูง แต่ต่อมาบ้านเมืองพัฒนามากขึ้นทำให้ราคาที่ดินสูงมูลค่าบ้านจึงสูงตามไปด้วย ทั้งๆ ที่ประชาชนเหล่านั้นอาจไม่ใช่คนรวยแต่กลับต้องรับภาระโดยไม่เป็นธรรม

“แนวคิดที่กระทรวงการคลัง กำหนดว่าจะคิดภาษีจากมูลค่าทรัพย์สินและที่ดินจึงเป็นการคิดแบบทุนนิยม ไม่ตรงเป้าหมายเรื่องการลดความเหลื่อมล้ำ อีกทั้งยังอาจเกิดปัญหาทางอ้อมกลายเป็นการบีบให้ประชาชนที่ไม่ใช่คนรวยแต่อยู่อาศัยในพื้นที่ที่มีราคาต้องย้ายจากที่อยู่อาศัยของตัวเอง เนื่องจากไม่สามารถรับภาระที่จะเกิดขึ้นได้ จึงอยากให้รัฐบาลทบทวนหลักคิดและกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนและอย่าเปลี่ยนแปลงหลักคิดที่จะใช้กฎหมายดังกล่าวเป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำ ถ้ายังเดินหน้าเช่นนี้ก็เท่ากับทำผิดเป้าหมาย” นั่นเป็นข้อเรียกร้องจากนายอภิสิทธิ์ ที่ต้องการให้รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ทบทวนเรื่องนี้ใหม่

ขณะที่นายพิเชษฐ พันธ์วิชาติกุล อดีต รมช.คลัง โพสต์เฟซบุ๊กถึงกรณี ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและปัญหาการจับเก็บภาษีของท้องถิ่นว่า ในฐานะที่เคยเป็นกรรมาธิการพิจารณาพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี นานถึง 17-18 สมัย ทั้งยังเคยเป็นผู้กระจายอำนาจการคลังจากกระทรวงการคลัง ไปยังท้องถิ่น มีหน้าที่ดูแลเกี่ยวกับการจัดเก็บรายได้ของประเทศร่วม 10 ปี ขอให้ข้อมูลประกอบความเข้าใจของสังคม ดังนี้

เรื่องกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างและเรื่องภาษีโรงเรือนที่กำลังพิจารณากันอยู่ เป็นเรื่องกฎหมายเก่าที่ใช้กันมาและเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมออกมาเป็นกฎหมายใหม่ตามที่กำลังพยายามกระทำอยู่ สาระสำคัญเกี่ยวกับบ้านอยู่อาศัย คือตามกฎหมายเดิมพิจารณาจากเนื้อที่เป็นหลักคือที่ดินเพื่ออยู่อาศัยแต่เดิมเนื้อที่ไม่เกิน 100 ตารางวาไม่ต้องเสียภาษี กำลังมีการแก้ไขให้คิดตามมูลค่าของราคาบ้านและที่ดินฯ โดยให้กรมธนารักษ์ทำหน้าที่ประเมินราคาและต้องเสียภาษีตามที่กำหนด (จะเป็น 1 ล้านบาท หรือ 1.5 ล้านบาทก็ตาม)

ผลคือหากบ้านไหนถูกประเมินราคาถึงอัตราที่กำหนดจะต้องเสียภาษีทั้งหมด ไม่ว่าเนื้อที่เท่าไร หรือปลูกอยู่ที่ไหน ลักษณะจะลามไปถึงบ้านในลักษณะตึกแถว ทาวน์เฮ้าส์ จนถึงคอนโดมิเนียมและอพาร์ตเม้นท์ แฟลต แม้แต่บ้านเอื้ออาทร เมื่อเป็นเช่นนี้คงต้องพิจารณาว่ายังมีตึกแถวริมถนน ทาวน์เฮ้าส์ หรือบ้านที่ไหนมีราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาทบ้าง

ต้องยอมรับว่าบ้านเหล่านี้ส่วนหนึ่งเจ้าของบ้านอยู่เอง แต่อีกส่วนหนึ่งมีผู้เช่าอยู่ ไม่ว่าเช่าอาศัย หรือเช่าเพื่อประกอบการอาชีพ หากเจ้าของบ้านมีภาระต้องเสียภาษีบ้าน แน่นอนที่จะต้องผลักภาระไปยังผู้เช่าบ้านในรูปของค่าเช่า ค่าเช่าที่จะขึ้นคงไม่ได้เป็นไปตามสัดส่วนภาษี เช่น ภาษีปีละ 1,500 บาท ค่าเช่าอาจขึ้นเดือนละ 200 บาท กลายเป็นภาระที่จะถูกผลักต่อไปปีละ 2,400 บาท นั่นคืออีกส่วนหนึ่งของค่าครองชีพที่จะเพิ่มขึ้น หรือกระทรวงการคลังคิดว่าบ้านที่ให้เช่าลักษณะเช่นว่านี้ไม่มีจริง หรือคิดว่าเจ้าของบ้านจะรับภาระภาษีไว้เองโดยไม่ผลักภาระต่อให้ผู้เช่า

“หากมีการประเมินที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ อยากทราบว่า ณ บัดนี้ยังมีคอนโดมิเนียมในเมืองที่ไหนมีราคาหน่วยละไม่เกิน 1 ล้านบาท แม้แต่ทาวน์เฮ้าส์ หรือตึกแถวริมถนนที่ไหนในเขตเทศบาลที่มีราคาไม่เกินหน่วยละ 1 ล้านบาท นี่คือข้อเท็จจริงที่รัฐบาล หรือรัฐมนตรีผู้เกี่ยวข้องต้องรับฟัง เพราะประชาชนทั่วไปไม่มีบ้านพักราชการ หรือสามารถเบิกค่าที่พักจากทางราชการเหมือนข้าราชการที่ท่านกำลังคิดขึ้นภาษีเอาเงินมาขึ้นเงินเดือนให้”

ขณะเดียวกัน ในทางเศรษฐกิจ ภาระทางภาษีคือปัจจัยต้นทุนที่ผู้ประกอบการจะต้องคำนึงถึง เมื่อภาคผลิตเกิดต้นทุนเพิ่มขึ้นจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง รวมทั้งตัวเครื่องจักรและส่วนควบซึ่งจะส่งผลถึงราคาสินค้าที่ผลิตขึ้น ขณะที่ภาคการค้าและภาคบริการเกิดต้นทุนสูงขึ้นในสถานที่ประกอบการต่างๆ ทั้งโรงแรม ศูนย์การค้า รวมทั้งตลาดในรูปแบบต่างๆ เมื่อเจ้าของสถานที่เกิดภาระภาษีเพิ่มขึ้น ย่อมผลักภาระไปสู่ผู้เช่าช่วง ผู้เช่าช่วงผู้ประกอบการก็ต้องผลักภาระไปสู่ค่าสินค้าและบริการ ภาระก็จะตกแก่ประชาชนผู้บริโภคทุกระดับ เป็นผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ต้องเรียกว่าเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า

นายพิเชษฐ ระบุว่า ในเชิงสังคมรัฐบาลต้องไม่ลืมว่า “บ้านที่อยู่อาศัยคือหนึ่งในปัจจัยสี่ของชีวิตมนุษย์” ทุกวันนี้ภาระค่าครองชีพของประชาชนแทบจะอยู่ในวิกฤตแล้ว วันนี้ประชาชนกำลังรู้สึกว่าถูกอำนาจรัฐ บังคับให้ต้องเสีย “ภาษีค่าที่ซุกหัวนอน” อย่างน่าเจ็บช้ำน้ำใจ เมื่อถามว่าแล้วราคาประเมินบ้านบนที่ดินราคาถูกแต่ราคาบ้านแพง จะมีการหักค่าเสื่อมราคาตามอายุบ้านเหมือนที่ธนาคารคิดเวลาไปกู้หรือไม่ ตอบว่า มีหักแต่ระวังค่าที่ดินซึ่งไม่มีค่าเสื่อม แต่จะสวนทางกับค่าเสื่อมราคาบ้าน ต่อไปคือ ภาษีค่า “อาหารยาไส้”

เป็นการอธิบายความที่มาที่ไปของกฎหมาย และยังตั้งคำถามเพื่อให้เกิดความชัดเจนในภาษีที่จะจัดเก็บนี้ด้วย ซึ่งก่อนหน้านี้นายพิเชษฐ์ ได้โพสต์เฟซบุ๊คส่วนตัว ฝากให้รัฐบาลพิจารณาเรื่องนี้ให้รอบคอบ

“.... จะผู้ได้รับความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า ผมในฐานะรัฐมนตรีผู้รับผิดชอบในเรื่องการจัดเก็บภาษี จึงบัญชาให้ระงับความคิดเรื่องภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในรูปแบบนี้ไว้ แม้เป็นยามที่ประเทศชาติกำลังมีวิกฤตสาหัสจากวิกฤตต้มยำกุ้ง พรรคประชาธิปัตย์ พ้นวิกฤตจากความคิดเรื่องภาษีที่ดินนี้ได้อย่างหวุดหวิด กลายเป็นภาระแก่รัฐบาลปัจจุบันที่หยิบยกขึ้นมาอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แต่เขาคงไม่สำเหนียกนัก เพราะเขาเป็นรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหาร ไม่ต้องอาศัยการเลือกตั้ง” นายพิเชษฐ ระบุ

การจัดเก็บภาษีดังกล่าว นายพิเชษฐ์ มองว่า เศรษฐีหรือราชาที่ดินจะไม่หวั่นไหวกับภาระภาษี เพราะเขามีกำลังที่จะรับได้ และมีช่องทางที่จะถ่ายทอดผลักภาระต่อไปได้ แต่คนชั้นกลางจะเป็นผู้รับภาระภาษีล้วนๆ เพราะเป็นปลายทางที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้

“ถอยเถอะท่านนายกฯ พลาดไปแล้ว ผู้ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งก็อาจก้าวพลาดในเรื่องเช่นนี้บ่อยๆ แต่ผู้ฉลาดย่อมรู้ที่จะหาทางออกเสีย มิฉะนั้น วันหนึ่งเมื่อรัฐบาลที่มาจากระบอบประชาธิปไตยมาถึง เขายกเลิกกฎหมายของท่านแน่ และท่านในฐานะส่วนตัวจะเสียหายจากเรื่องนี้ไปอีกนาน”

ส่วนทางฟากฝั่งของพรรคเพื่อไทย นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตรมว.คลัง ได้โอกาสออกมาสอนมวย “รัฐบาลลุงตู่” ว่าไม่เข้าใจการบริหารเศรษฐกิจ โดยเฉพาะเรื่องภาษีอย่างถ่องแท้ จึงขอหยิบยกประเด็นสำคัญกระตุก "ผู้มีสติ" หยุดความคิดนี้ ซึ่ง “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” เป็นภาษีขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ผู้มีหน้าที่จัดเก็บคือ อปท. เพื่อนำรายได้ภาษีฯ นี้ ไปบริหารให้เกิดประโยชน์แก่ท้องถิ่นนั้นๆ

“รายได้จากภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” เป็นของ อปท. ไม่สามารถนำมาจ่ายดอกเบี้ย หรือเงินต้นของหนี้สาธารณะของประเทศ (หรือทำทีเป็นคิดริเริ่มภาษีฯ นี้ แล้วอ้างว่าได้รับการต่อต้านจนเดินต่อไม่ได้ เพื่อไปเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มแบบลับ ลวง พราง ตามถนัดก็ไม่รู้ได้)”

นอกจากนั้น คำกล่าวอ้างถึงข้อดีของภาษีนี้ที่จะทำให้เกิดการทบทวนและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากอสังหาริมทรัพย์ของประเทศขนานใหญ่ ซึ่งความรู้สึกของประชาชนทั่วไปคือทำให้นายทุนใหญ่มีที่ดินมากไว้เก็งกำไรต้องคายที่ดินออกมาทำประโยชน์ แต่ดูดีๆ จะมีข้อยกเว้นที่อ้างการเกษตรกรรมมาเอื้อประโยชน์กัน ขณะที่ทางตรงข้ามจะสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนเป็นวงกว้าง บ้านเล็กบ้านน้อยเก่าแก่ในทำเลทองที่มีราคาประเมินสูงต้องขยับขยายให้นายทุนมารับช่วงไปทำธุรกิจเสียมากกว่า

โยนหินถามทาง แล้วเจอก้อนอิฐมากกว่าดอกไม้เฉกเช่นนี้แล้ว นายสมหมาย ภาษี ยังเตรียมปรับสูตรใหม่เพื่อเสนอให้ครม.พิจารณาอีกครั้ง แต่ทว่าในที่สุดแล้ว รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ก็จำตัองสั่งถอยดีกว่า ไม่เอาดีกว่า เพราะจะทำให้ประชาชนเดือดร้อน


พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
สมหมาย ภาษี รมว.คลัง
กำลังโหลดความคิดเห็น