xs
xsm
sm
md
lg

ผลิตบุหรี่น้ำหนักน้อย เลี่ยงจ่ายภาษีแพง ทำไทยขาดรายได้ 1.17 หมื่น ล.หนุนคลังรีดภาษีอีก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

“หมอประกิต” หนุน ก.คลัง ขึ้นภาษียาสูบคิดตามราคาขายปลีก หลังบ.บุหรี่แก้เกมผลิตบุหรี่น้ำหนักน้อย หวังจ่ายภาษีราคาถูก เผยปี 2557 เก็บภาษีบุหรี่ต่ำกว่าเป้าหมายถึง 1.17 หมื่นล้านบาท ระบุไทยขึ้นภาษีบุหรี่เฉลี่ยทุก 2 ปี ชี้ไม่เพียงพอ ต้องขึ้นทุกปีตามภาวะเงินเฟ้อตามคำแนะนำ WHO

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบุหรี่ กล่าวถึงกรณีกระทรวงการคลังจะเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ปรับการเก็บภาษีบุหรี่เป็นการคำนวณตามราคาขายปลีก ว่า ขอสนับสนุน เพราะการขึ้นภาษียาสูบครั้งสุดท้ายคือ ส.ค.2555 โดยขึ้นภาษีตามราคาต้นทุนหน้าโรงงาน สำหรับบุหรี่นำเข้าจาก 85% เป็น 87% และคำนวณภาษีตามน้ำหนักมวนบุหรี่ 1 กรัมต่อ 1 บาท ใช้ระบบสองเลือกหนึ่ง คือวิธีไหนมีภาระภาษีสูงกว่ากันก็ให้เก็บตามนั้น โดยหวังว่าบุหรี่ซึ่งปกติมีน้ำหนัก 1 กรัมต่อมวน จะทำให้มีภาระภาษีอย่างต่ำซองละ 20 บาท แต่บริษัทบุหรี่ต่างประเทศแก้เกมโดยนำเข้าบุหรี่ตราใหม่ที่มีน้ำหนักบุหรี่ต่อมวนน้อยกว่า 1 กรัม ทำให้เสียภาษีเพียงซองละ 15 - 19 บาท แทนที่จะเป็น 20 บาท ทำให้การจัดเก็บภาษีบุหรี่ในปี 2557 เก็บได้เพียง 61,000 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ไว้ถึง 11,799 ล้านบาท แต่การปรับวิธีเก็บภาษีตามราคาขายปลีก จะช่วยแก้ปัญหาเพราะคิดภาษีตามระบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ศ.นพ.ประกิต กล่าวว่า การขึ้นภาษียาสูบเป็นมาตรการที่สำคัญที่สุดในการทำให้คนสูบบุหรี่น้อยลง และทำให้รัฐมีรายได้จากภาษียาสูบเพิ่มขึ้น โดยช่วง 20 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยมีการขึ้นภาษี 10 ครั้ง เฉลี่ย 2 ปีขึ้น 1 ครั้ง แต่ผลของการขึ้นภาษีแต่ละครั้งจะหมดไปหลังจากการขึ้นภาษีไม่เกิน 2 ปี จากการเปลี่ยนแปลงของค่าครองชีพ และการแก้เกมของบริษัทบุหรี่ใช้กลยุทธ์ทางการตลาดผลิตบุหรี่ตราใหม่ที่เสียภาษีน้อยกว่า ดังนั้น อนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลกจึงแนะนำให้รัฐบาลประเทศภาคีสมาชิกขึ้นภาษียาสูบทุกๆ ปี ตามการเปลี่ยนแปลงของค่าครองชีพ และมีหลายประเทศทั่วโลกที่กำหนดเป็นกฎหมายให้มีการขึ้นภาษีตามอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งยังเป็นจุดอ่อนของกฎหมายภาษีสรรพสามิตของประเทศไทย ทำให้ไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่ จากการใช้นโยบายภาษียาสูบเพื่อเพิ่มรายได้เข้ารัฐ พร้อมๆ กับการทำให้คนสูบบุหรี่น้อยลง

ติดตาม Facebook Fanpage ของ “Quality of Life” ได้ที่


กำลังโหลดความคิดเห็น