xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ขุมทรัพย์แสนล้าน กับศึกหมอๆ ที่คสช.ต้องปวดหัว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -คำสั่งฟ้าผ่าย้าย “ปลัดกระทรวงหมอ” นพ.ณรงค์ สหเมธาพัฒน์ เข้ากรุไปประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยให้เป็นที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อปฏิบัติราชการเกี่ยวกับงานวิจัยและพัฒนางานด้านการสุขภาพแห่งชาติ ระหว่างรอผลการสอบสวนข้อเท็จจริง กรณีปรากฏข่าวทำให้สังคมเข้าใจว่ากระทรวงเกิดความขัดแย้ง กำลังกลายเป็นปัญหาบานปลายที่สั่นคลอนเสถียรภาพของรัฐบาลเป็นอย่างยิ่ง

ที่สำคัญคือทำให้รอยราวในกระทรวงหมอปะทะหนักขึ้น เพราะมีทั้งฝ่ายเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2558 โดยประชาคมสาธารณสุขกว่า 500 คน ประกอบด้วยเครือข่ายวิชาชีพด้านสาธารณสุข ทั้งแพทย์ พยาบาล ทันตแพทย์ เภสัชกร ฯลฯ ต่างสวมเสื้อประจำวิชาชีพของตัวเองและสวมชุดดำเดินทางมายังบริเวณหน้าสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) เพื่อให้กำลังใจ นพ.ณรงค์

กล่าวสำหรับสาเหตุการย้าย นพ.ณรงค์

พล.อ.ประยุทธ์ให้เหตุผลว่า เป็นเพราะการทำงานในกระทรวงขณะนี้เกิดความซ้ำซ้อนเรื่องของอำนาจการบริหารงานระหว่าง รัฐมนตรีและปลัด จนทำให้ข้าราชการประจำสับสนและส่งผลกระทบต่อการทำงานในกระทรวง

ขณะที่ ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า เพราะไม่สามารถทำงานสนองนโยบายด้านสาธารณสุขให้กับรัฐบาลได้

จากคำสัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีจะเห็นภาพชัดเจนว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นถูกโยงว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างปลัดและรัฐมนตรี แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมาจากความหมักหมมของปัญหาเชิงโครงสร้างระบบ ทั้งระบบบริการสุขภาพและระบบการเงินการคลัง ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าปลัด สธ.คนแล้วคนเล่าที่ขึ้นมา ไม่เคยออกมาพูดหรือออกมาแตะในเรื่องโครงสร้างเชิงระบบตรงนี้เลย มีแต่ “หมอณรงค์” ที่กล้าลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนระบบ เพื่อให้ระบบบริการสุขภาพนั้นดีขึ้น ซึ่งการลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนนั้นไม่ได้มาจากความคิดของปลัด สธ.เพียงคนเดียว แต่เป็นการรวบรวมข้อมูลที่สะท้อนมาจากบุคลากรในพื้นที่ที่ทำงานจริงขึ้นมาตีแผ่ให้เห็นว่า โครงสร้างการบริหารและระบบงบประมาณสาธารณสุขยังมีปัญหาคือไม่เพียงพอ นับตั้งแต่มีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)จึงเป็นที่มาของความขัดแย้งที่มาปะทุในยุค “หมอณรงค์”ที่ออกมาขับเคลื่อนปฏิรูปในเรื่องนี้

จุดเริ่มต้นจึงเริ่มจากการนำทัพลุยปฏิรูประบบโดยใช้หลักการเขตสุขภาพ ซึ่งเป็นการกระจายอำนาจจากส่วนกลาง โดยหวังให้แต่ละพื้นที่มีการหารือเพื่อใช้ทรัพยากรร่วมกัน จัดระบบบริการร่วมกัน ส่วนกลไกด้านการเงินได้ขอเปลี่ยนวิธีการจัดสรรงบประมาณบัตรทอง เนื่องจากวิธีการจัดสรรแบบเดิมตามรายหัวประชากรในพื้นที่ ทำให้โรงพยาบาลที่มีประชากรน้อยได้เงินน้อย และเป็นระบบทำงานจึงได้เงิน ทำให้ยิ่งไม่มีการบริการก็ยิ่งขาดรายได้ ส่งผลให้มีโรงพยาบาลขาดทุนเป็นจำนวนมาก จึง จึงเสนอให้ปรับเป็นการจัดสรรงบที่ระดับเขตสุขภาพ เพื่อปรับเกลี่ยตัวเลขงบประมาณให้เหมาะสม ช่วยเหลือกันภายในเขต แล้วให้ สปสช.โอนงบตามลงไป

นอกจากนี้ ยังเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการบริหารจัดการงบบัตรทอง เนื่องจากพบว่ามีการโอนเงินให้แก่โรงพยาบาลในช่วงปลายปีงบประมาณ จากนั้นกลับมีการเรียกงบประมาณคืน รวมถึงมีการโอนเงินให้หน่วยงานอื่นที่ไม่ใช่หน่วยบริการตามกฎหมาย จึงอยากให้มีการตรวจสอบในประเด็นเหล่านี้ ทำให้เกิดประเด็นงัดข้อขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง

เรียกได้ว่า “หมอณรงค์” เข้าไปสัมผัส“โครงกระดูกในตู้” เข้าให้เต็มๆ เพราะสิ่งที่“หมอณรงค์” เสนอ ทำให้ สปสช.แทบจะต้องเปลี่ยนวิธีในการบริหารจัดการงบประมาณไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง ที่ผ่านมา สปสช.จึงยืนยันว่าจะต้องจัดสรรงบวิธีเดิม และที่ดำเนินการมาทั้งหมดถูกต้องตามกฎหมาย

อีกตัวละครหนึ่งที่ขาดไม่ได้ ที่ทำให้ประเด็นความขัดแย้งในหลักการทำงานทวีความรุนแรงไปยิ่งขึ้น ก็คือ กลุ่มแพทย์ชนบท ที่ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กกระหน่ำโจมตีปลัด สธ.อย่างต่อเนื่องว่า ปลัด สธ.ยุคนี้เป็นคนสร้างความแตกแยกให้แก่วงการสาธารณสุข และท้าทายอำนาจของ รมว.สาธารณสุขไม่เลิก ทำให้การออกมาแลกหมัดกันอย่างต่อเนื่องในหลากหลายประเด็นที่เห็นต่างกัน มี “หมอณรงค์” เป็นจุดศูนย์กลางของความขัดแย้งที่ไม่จบสิ้น

ในยุคแห่งความปรองดองที่ต้องการสร้างความสมานฉันท์ “หมอรัชตะ” คือตัวเลือกที่นายกฯให้เข้ามาเป็นตัวกลางในการแก้ปัญหา แต่กลับไม่สามารถประสานรอยร้าวและหาทางออกที่ทุกฝ่ายพอใจได้ และมีท่าทีเข้าข้างฝั่ง สปสช.อย่างเห็นได้ชัด ซึ่งเป็นที่รู้กันดีกว่า แพทย์ชนบทและ สปสช.ก็คือกลุ่มคนฝั่งเดียวกัน

ที่สำคัญพี่ใหญ่หลายคนของแพทย์ชนบทต่างก็เข้ามาเป็นที่ปรึกษาและทีมทำงานของ“หมอรัชตะ” จึงไม่แปลกที่รูปกรณ์จะออกมาว่ารัฐมนตรีเข้าข้าง สปสช.อย่างชัดเจน ทั้งการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมา 2 ชุด โดยชุดแรกเป็นคณะกรรมการตรวจสอบโรงพยาบาลขาดทุน ซึ่งมี นพ.ยุทธ โพธารามิก เป็นประธาน ซึ่ง “หมอณรงค์”มองว่าไม่ใช่การแก้ปัญหา เพราะแทนที่ รัฐมนตรีจะหาสาเหตุเพื่อแก้ปัญหา รพ.ขาดทุน กลับสั่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบ ซึ่งเสมอนว่าโรงพยาบาลมีการทุจริต

และอีกชุดเป็นคณะกรรมการตรวจสอบข้อมูลการจัดสรรงบประมาณบัตรทอง มี ศ.อัมมาร สยามวาลา เป็นประธาน “หมอณรงค์” ก็ค้านอีกเพราะ ศ.อัมมาร เคยเป็นอนุกรรมการพัฒนาระบบการเงินการคลัง สปสช.มาก่อน จึงมองว่ามีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ควรเป็นประธานในการตรวจสอบ

ความขัดแย้งที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นั้น ทำให้มีกระแสข่าวปลดปลัด สธ.ออกมาทุกสัปดาห์ แต่ที่ไม่ถูกปลดเพราะนายกฯ เห็นว่าไม่ควรเสนอ เนื่องจากจะทำให้เกิดปัญหาเหมือนกรณี “ถวิล เปลี่ยนสี” ได้ แต่การสั่งย้ายในครั้งนี้ จุดปะทุน่าจะมาจากการที่มีคนร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ(ป.ป.ท.) ให้ตรวจสอบ สปสช. จึงน่าจะเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ต้องเดินเกมสั่งย้ายปลัด สธ.ให้เข้ามาช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี

ศึก “คนดี” ปะทะ “คนดี” ในครั้งนี้ “หมอณรงค์” ผู้ได้รับการยอมรับว่าเป็นข้าราชการที่กล้าหาญ เป็นปลัดกระทรวงเพียงคนเดียวที่กล้าออกมาแสดงจุดยืนในช่วงการเปลี่ยนผ่านการเมืองก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไป ให้แก่กลุ่ม สปสช. หรือตระกูล ส ซึ่งมีสายสัมพันธ์เหนียวแน่นกับแพทย์ชนบท ซึ่งก็มีภาพลักษณ์ของความเป็นคนดีที่ออกมาแฉเรื่องราวทุจริตต่างๆ ในอดีต

ด้วยเหตุนี้ จึงทำให้คนในวงการเสื้อกาวน์คาใจคือ เหตุใดจึงโยกย้ายแค่เพียงปลัด สธ.ฝ่ายเดียว ซึ่งมองว่าไม่ยุติธรรม เพราะ “หมอณรงค์”ออกมาเรียกร้องให้ปรับปรุงแก้ไข แต่สุดท้ายกลับถูกสั่งย้ายอย่างไม่เป็นธรรม ทั้งที่จริงหากมองว่าเรื่องเกิดจากความขัดแย้งหากจะสั่งย้ายก็ต้องย้ายคู่กรณีด้วย แต่จากรูปการณ์ก็เป็นไปได้ยาก เพราะอย่างที่ทราบกันว่าทีมที่ปรึกษา ทีมทำงานของ “หมอรัชตะ”ล้วนแต่เป็นพี่ใหญ่แพทย์ชนบทที่มีความสัมพันธ์อันดีกับ สปสช.

ถึงอย่างไรก็ตาม แม้จะสั่งย้ายปลัด สธ. แต่เป็นเพียงการพักปัญหาเท่านั้น เพราะปัญหาเชิงระบบที่แท้จริงๆ ซึ่งถูกฝังลึกมานานไม่ได้ถูกแก้

“แม้จะปลดผมจากตำแหน่ง แต่ปัญหาของกระทรวงสาธารณสุขจะยังไม่จบ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ข้าราชการกระทรวงสาธารณสุขได้ตื่นและรับทราบถึงปัญหาต่างๆ แล้ว เพราะนโยบายที่เดินหน้าก็ต่างเป็นสิ่งที่เราชาวสาธารณสุขล้วนเห็นตรงกันคือเรื่องเขตสุขภาพ การปฏิรูปการเงินการคลัง และธรรมาภิบาล” ปลัด สธ. กล่าว

แต่ที่น่าห่วงคือ การใช้ยาแรงในการสั่งย้ายปลัด สธ.ในครั้งนี้ เปรียบเสมือนเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู เป็นการขู่ไม่ให้มีใครกล้าขึ้นมาปฏิรูปเรื่องนี้อีกต่อไป ก็ทำให้หลายฝ่ายไม่แน่ใจว่าจะมีผู้ใดกล้าขึ้นมาเดินหน้าเรื่องนี้อีกหรือไม่

ส่วนคนที่เสียเครดิตเรื่องนี้ไปเต็มๆ ไม่ใช่ใคร แต่เป็น “บิ๊กตู่” นายกรัฐมนตรีที่เลือกแก้ปัญหาด้วยการย้าย หมอณรงค์“ แค่ฝ่ายเดียว ทำให้ภาพลักษณ์ในสายตาของคนสาธารณสุขมองว่า ไม่มีความยุติธรรมและฟังความเพียงข้างเดียว การย้ายปลัด สธ.ที่ตั้งความหวังกันว่าเรื่องจะจบ อาจไม่จบได้ง่ายอย่างที่คิดเสมอไป แต่จะกลายเป็นการจุดชนวนความขัดแย้งระลอกใหม่ที่ไม่มีวันสงบ...





กำลังโหลดความคิดเห็น