xs
xsm
sm
md
lg

เล็งคลอดกม.เศรษฐกิจดิจิทัล "มีชัย"แย้มรื้อใหญ่กม.กสทช.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (10 มี.ค.) ที่โรงแรมรอยัล ปริ๊นเซส ถ.หลานหลวง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการ เรื่อง การมีส่วนร่วมในการจัดทำร่างกฎหมายเร่งด่วน ตามนโยบายของรัฐบาล ( กฎหมายเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัล ) ซึ่งประกอบไปด้วยร่าง พ.ร.บ. จำนวน 9 ฉบับ และร่าง พ.ร.ฎ. 1 ฉบับ ที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยมีผู้บริหารภาครัฐ เอกชน สื่อมวลชน และภาคประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมสัมมนา
นายดิศทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวในช่วงเปิดการสัมมนาว่า กฎหมายเหล่านี้จะส่งเสริมทั้งรัฐ และเอกชนให้มีความสะดวก ปลอดภัย เป็นที่เชื่อถือ มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดศักยภาพในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจกิจกับต่างประเทศ แต่เมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์ ในเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลและความปลอดภัยไซเบอร์ จึงจำเป็นต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อให้กฎหมายเป็นไปอย่างถูกต้อง และมีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิทัล ที่เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล
ขณะที่นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง กรรมการร่างกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้แจงว่า มีความกังวลว่า จะมีปัญหาเรื่องสิทธิ เสรีภาพตามกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หลังได้รับร่างกฎหมายทั้งหมดจากครม. ก็มีการตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษ เพื่อพิจารณากฎหมายต่างๆ และมีความคืบหน้าไประดับหนึ่ง สิ่งที่จะรับฟัง คือ ประเด็นที่อาจเป็นปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจและเสรีภาพของประชาชน
ทั้งนี้ได้มีการยก ร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ.... ซึ่งเป็นการรวมร่างกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล และ ร่างกฎหมายกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม มาเป็นร่างเดียวกัน โดยสาระสำคัญคือ ต้องมีคณะกรรมการนโยบายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และให้มีกรรมการแต่ละด้าน ที่มีลักษณะคล้ายกับที่ ครม. เสนอมา ทั้งนี้ จะมีกองทุนที่ได้ร้บการอุดหนุนจากรัฐบาล และจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ต้องหักมาสู่กองทุน เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล
สำหรับร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเลกทรอนิกส์ ก็ดำเนินไปเพื่อให้สอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศ และกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ให้สอดรับกับกฎหมายฉบับอื่นๆ ส่งเสริมให้มีความปลอดภัยมากขึ้นในการทำธุรกรรม ที่จะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ ส่วนร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของ คณะกรรมการฯคณะพิเศษ ที่มีการพิจารณาถึงอำนาจของเจ้าพนักงานในการเข้าถึงข้อมูล และอุปกรณ์ที่อยู่ในความของครองของเอกชน หรือบุคคล เบื้องต้นได้เชิญกระทรวงไอซีที และสำนักงานคณะกรรมการธุรกรรมอิเลกทรอนิกส์มาชี้แจง และให้เหตุผลว่า เป็นเรื่องที่อาจจะไปกระทบต่อเอกชนมากพอสมควร แต่เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่า มีการแฮกเกอร์ เข้าไปทำลายข้อมูล จนสร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก จึงสมควรให้มีการกำหนดแผนเรื่องความปลอดภัยให้ชัดเจน
" หากมีภัยคุกคามเกิดขึ้น ก็ควรมีขั้นตอนของการเฝ้าระวังและแจ้งเตือน เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเข้าไปช่วยเหลือ หรือหากมีภัยคุกคามอย่างรุนแรงต่อสาธารณะ ก็ต้องมีดำเนินการได้ทันที เพราะการคุกคามทางไซเบอร์ จะเกิดความเสียหายอย่างรวดเร็ว และวงกว้าง แต่การใช้อำนาจควรใช้ตามความจำเป็น ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็ไปใช้อำนาจ" นายธนาวัฒน์ กล่าว
ขณะที่นายถนัดกิจ นิวาทวงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายยุติธรรมทางอาญา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวเสริมว่า การบังคับใช้กฎหมายได้มีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอยู่หลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.สถิติ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารทางราชการ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต หรือล่าสุดมี พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ฯ พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้น แต่ยังไม่มีกฎหมายที่ครอบคลุมธุรกิจอื่นๆ เช่น โรงแรม หรือสายการบิน จึงจำเป็นกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลขึ้นมา และเมื่อมีกฎหมายนี้ขึ้นมา อาจผลมีกระทบไปยังกฎหมายที่มีอยู่แล้ว หากมีหลักเกณฑ์ที่ไม่ต่ำกว่า พ.ร.บ.ก็ให้ใช้กฎหมายนั้นๆไป แต่ในทางปฏิบัติ ก็ทำให้ลำบาก เพราะเจ้าหน้าที่ต้องนำกฎหมายมาเปรียบเทียบในเรื่องความเป็นธรรมตามกฎหมายต่างๆ ยากที่จะวินิจฉัย
ดังนั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา ชุดที่ 11 จึงได้ปรับใช้หลักตัดกฎหมายทั่วไปในการ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ ว่า หากจะใช้กฎหมายนี้บังคับ ก็ต้องไปดูว่ามีกฎหมายนั้นๆ บังคับอยู่หรือไม่ หากมีอยู่แล้ว ก็ให้ใช้กฎหมายนั้นๆไป แต่ก็ต้องยอมรับว่ากฎหมายเฉพาะนั้น ได้เขียนไว้กว้างๆ เท่านั้น จึงได้เขียนไว้ในร่างกฎหมายนี้ว่า ให้ออกประกาศให้นำบทบัญญัติใช้บังคับเพิ่มเติมตามกฎหมายฉบับนั้นๆได้ ขึ้นอยู่กับความเห็นของคณะกรรมการ และรัฐมนตรี
ส่วนเรื่องที่เกี่ยวกับสื่อมวลชนนั้น ได้มีการยกเว้นให้ เพราะมีความจำเป็นต้องทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ รวมไปถึงผู้ที่ทำงานด้านศิลปะด้านต่างๆ องค์กรทางศาสนา สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และอื่นๆ ที่กำหนดไว้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนยังคงต้องรับผิดชอบกรณีที่ใช้ข้อมูลนั้นแล้วเกิดความเสียหายกับเจ้าของข้อมูล ก็ต้องรับผิดชอบตามกฎหมายที่มีอยู่เดิม
อย่างไรก็ตาม ร่างของกฤษฎีกา ได้ตัดปลัดกระทรวงมหาดไทย และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ออกไปจากองค์ประกอบของคณะกรรมการ ขณะเดียวกันเพื่อให้มีมิติการส่งเสริม และคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ได้ให้อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ผู้แทนหอการค้าไทย ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย เข้ามาเป็นคณะกรรมการแทน
สำหรับการแก้ไข พ.ร.บ.การกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ ได้เพิ่มสาระสำคัญในการคุ้มครองเรื่องการส่งข้อมูลไปยังบุคคลอื่นๆ เช่น สแปมเมล์ ที่สร้างความรำคาญ เพราะไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับปฏิเสธ หรือเลิกบอกรับได้ จึงกำหนดให้มีโทษ โดยให้รัฐมนตรี ออกประกาศถีงข้อกำหนดต่างๆ เพื่อกำหนดโทษต่อไป และมีการรับโทษหนักขึ้น กรณีการเข้าถึงข้อมูลคนอื่นโดยไม่ชอบ การเปิดเผย การดัก การส่งข้อมูล ถ้ากระทบสาธารณะ ความมั่นคง และเศรษฐกิจ และยังมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการกระทำทางคอมพิวเตอร์ ที่อาจส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไว้ด้วย
จากนั้นได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาแสดงความคิดเห็น โดยนายไพบูลย์ ภิญโญอมรเกียรติ นักวิชาการด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า ตามร่างกฎหมายที่คณะกรรมการกฤษฎีกากำลังพิจารณาอยู่ ได้มีการแก้ไขอำนาจของ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) และสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA (ซีป้า) โดยจะมีการเติมคำว่าแห่งชาติเข้าไปท้ายชื่อเดิม ของ ETDA และเปลี่ยนชื่อย่อภาษาอังกฤษเป็น NETDA ส่วน SIPA จะกลายเป็นสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ ขอตั้งขอสังเกตในส่วนของการให้อำนาจของ 2 หน่วยงาน เป็นหน่วยงานที่เป็นเอกเทศไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน ทำให้เกิดการตรวจสอบได้ยาก เพราะมีข้อยกเว้นในการบังคับคดีด้วย อีกทั้งยังให้อำนาจในการถือหุ้นร่วมทุนกับเอกชน ทำให้เกิดความสับสนว่า ทั้ง 2 หน่วยงานจะอยู่ในฐานะผู้กำกับ (Regulator)และผู้ให้บริการ (Operator)กันแน่
นอกจากนี้ ยังมีข้อยกเว้นของ 2 หน่วยงาน ที่ไม่ให้ สำนักงานตรวจเงนแผ่นดิน (สตง.) เข้ามาตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ ทั้งๆที่เป็นเงินแผ่นดิน จึงไม่เข้าใจว่า เหตุใดคณะกรรมการกฤษฎีกา จึงได้ตัดสาระสำคัญนี้ออกไป
" ผู้ประกอบการถามกันมาก ว่า 2 หน่วยงานนี้ จะเป็นเพียงผู้กำกับ หรือจะลงมาแข่งขันในทางธุรกิจด้วย และหากลงมาแข่งขันในฐานะผู้ให้บริการด้วย แต่กลับไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การบริหารราชการแผ่นดิน หรือ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ และมีข้อยกเว้นการบังคับคดีทางแพ่ง และมาตรฐานทางปกครอง เมื่อเป็นเช่นนี้ใครจะเข้ามาตรวจสอบสัญญาต่างๆ ที่ 2 หน่วยงานไปทำกับเอกชน นอกจากนั้น หากไปร่วมทุนกับเอกชนจริง แล้วเกิดมีความบกพร่อง หรือผิดสัญญา แต่เอกชนไม่สามารถฟ้องร้องได้ แล้วเอกชนที่ไหนจะร่วมทุน หรืออยากแข่งขันด้วย" นายไพบูลย์ กล่าว
ในส่วนการแก้ไข พ.ร.บ.การกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ ที่เพิ่มการคุ้มครองเรื่องการส่งข้อมูลไปยังบุคคลอื่นๆ นั้น นายไพบูลย์ กล่าวว่า มาตรการการตอบรับ หรือปฏิเสธข้อมูลที่ถูกส่งต่อ จะมีปัญหาในทางปฏิบัติ เช่น การส่งไลน์ ส่งข้อความต่างๆ ของผู้ให้บริการโทรศัทพ์ ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะเทคโนโลยีไปเร็วมาก อีกทั้งหลายโปรแกรม หรือหลายแอปพลิเคชั่น ไม่มีช่องที่ให้กรอกว่าจะรับหรือไม่รับข้อมูลด้วย เช่น อีเมลล์ต่างๆ ทั้งนี้ขอเสนอให้เพิ่มเติมมหาวิทยาลัย และ สถาบันการศึกษา อยู่ในกลุ่มของหน่วยงานที่ได้รับการยกเว้น เรื่องการเข้าถึงและเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลเช่นเดียวกันกับสื่อมวลชนด้วย
ด้านนายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานกรรมการสถาบันการวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) กล่าวช่วงหนึ่งว่า ก่อนอื่นต้องขอชื่นชมคณะกรรมการกฤษฎีกา ที่ปรับปรุงร่างกฎหมายหลายฉบับให้รัดกุมกว่าร่างที่ทาง ครม. เสนอหลักการเข้ามา ที่มีปัญหามากมาย เนื่องจากทำอย่างเร่งรีบ แต่ก็ยังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วงอยู่พอสมควร โดยชุดกฎหมายเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิทัลทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาลมีเป้าประสงค์ในเรื่องเงิน หรืออำนาจมาก่อน โดยไม่ได้วาดภาพก่อนว่า จะให้เศรษฐกิจดิจิทัลเดินหน้าไปอย่างไร ให้เป็นรูปธรรม แต่ให้เหตุผลว่า ยังไม่มีอำนาจ และไม่มีงบประมาณในการดำเนินการใดๆ จึงจำเป็นต้องออกกฎหมายให้แล้วเสร็จ ค่อยคิดว่าจะทำอย่างไร คล้ายกับกรณีของเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่ก็ออกกฎหมายมาก่อน แต่ยังไม่รู้ว่าใช้ประโยชน์อย่างไร
"เป็นการทึกทักว่า เมื่อรัฐได้อำนาจ ได้เงินไปแล้ว นโยบายดีๆ จะออกมาเอง ซึ่งผมเห็นว่าเป็นการสมมติที่จะสร้างปัญหาต่อไปในอนาคต" นายสมเกียรติ กล่าว
นายสมเกียรติ กล่าวอีกว่า ในร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมนั้น เน้นวิธีคิดการรับฟังความเห็นเฉพาะในหน่วยราชการมากเกินไป ทั้งที่มีผู้มีส่วนได้เสีย ที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ทั้งภาคธุรกิจ และประชาชน ดังนั้นควรปรับให้มีการรับฟังความเห็นทั่วไป อีกทั้งยังมีการกำหนดกรรมการชุดเฉพาะต่างๆ ที่เต็มไปด้วยผู้แทนหน่วยงานรัฐ ซึ่งส่วนตัวมองว่า หากองค์ประกอบของคณะกรรมการต่างๆเป็นเช่นนี้ เศรษฐกิจดิจิทัลคงไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย
"ดูแล้วมีแต่ตัวแทนภาครัฐ แต่ละที่ๆ เป็นราชการกันหมด ในขณะที่เศรษฐกิจดิจิทัล เป็นเรื่องที่ต้องการคิดวิธีพิเศษ คิดวิธีใหม่ แล้วเศรษฐกิจดิจิทัลจะเกิดขึ้นได้อย่างไร"
นายสมเกียรติ กล่าวด้วยว่า กฎหมายกำหนดที่มา คณะกรรมการดิจิทัลแห่งชาติ มาจากฝ่ายการเมือง มีความชอบธรรมในการกำหนดนโยบาย แต่การที่กฎหมายกำหนดให้สามารถไปวางแผนวิธีการปฏิบัติได้ด้วย จึงมีความเสี่ยงที่การกำหนดนโยนบาย หรือการทำแผนเข้าไปล้วงลูกในชั้นของการปฏิบัติได้เยอะมาก ทำให้ในชั้นปฏิบัติ หลายกรณีที่ต้องมีความเป็นอิสระไม่สามารถทำได้ ดังนั้นคณะกรรมการ หรือบอร์ดดิจิทัลแห่งชาติ ควรทำหน้าที่เพียงกำหนดเป้าหมาย และนโยบาย ส่วนของการปฏิบัติให้ได้ตามเป้าหมาย ก็เป็นหน้าที่ของผู้รับผิดชอบในระดับรองลงไป
นายสมเกียรติ ยังได้แสดงความเห็นถึงการ แก้ไข พ.ร.บ.กสทช. ด้วยว่า เชื่อว่าจะมีปัญหาตามมามาก หากให้คณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัลชุดใหญ่ ไปกำหนกแนวทางในการจัดสรรคลื่นความถี่ ถือเป็นการล้วงลูก และเป็นการนำการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้อง ในที่ที่มีผลประโยชน์มหาศาล การทุจริตคอร์รัปชัน และการวิ่งเต้นต่างๆ จะตามมา ในส่วนการจัดสรรคลื่นวิทยุ และโทรทัศน์ ช่วงต้นเขียนไว้ว่า ให้ใช้วิธีการคัดเลือกโดยไม่ได้ระบุว่า หมายถึง วิทยุและโทรทัศน์สาธารณะ หรือชุมชน ซึ่งควรเขียนให้ชัดเจนมากกว่านี้ ขณะที่การจัดสรรในเชิงพาณิชย์นั้น กำหนดว่า ต้องใช้การประมูลเพียงอย่างเดียว แต่จะใช้เม็ดเงินเป็นหลักอย่างเดียวไม่ได้ โดยต้องมีการกำหนดเกณฑ์อย่างอื่นเพิ่มเติม ซึ่งจะกลายเป็นช่องที่ทำให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์ ขณะที่กรณีของโทรคมนาคม ร้ายไปกว่านั้น เพราะใช้คำว่า คัดเลือกที่จะเอื้อการวิ่งเต้น และเกิดการคอร์รัปชันอย่างมโหฬาร เรากำลังสวนทางในการดำเนินการโดยไม่มีเหตุผลที่ดีต่อสาธารณะ
"มีความพยายามสร้างกระแสว่า การประมูลทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าบริหารแพง ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะวิธีการประมูล ถือว่ามีความโปร่งใสมากที่สุด แต่มีความพยายามในประเทศไทย ที่จะไม่ประมูลคลื่นความถี่กัน โดยกลุ่มธุรกิจที่ได้ผลประโยชน์จากการวิ่งเต้น พยายามจะให้ใช้วิธีการอื่น เพื่อทำให้เกิดการวิ่งเต้นที่มีผลประโยชน์มหาศาล ดังนั้นรัฐต้องกำหนดเงื่อนไขให้ชัดเจน ในการขอใบอนุญาต เช่น เครือข่าย และความครอบคลุมในการส่งสัญญาณ เพื่อให้ทุกรายมีคุณสมบัติเสมอกัน ที่เหลือไปตัดสินกันที่วงเงินประมูล" นายสมเกียรติ กล่าว
นอกจากนี้ ในร่างแก้ไข พ.ร.บ.กสทช. ยังเปิดทางให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปล้วงลูกใน กสทช.ได้มากขึ้น โดยระบุว่า หากผู้เกี่ยวข้องใดไปร้องเรียนว่า กสทช. ดำเนินการไม่สอดคล้องกับแผน ให้คณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัล ไปเป็นผู้วินิจฉัย ทำให้กลุ่มทุนที่ไม่ชอบแนวทาง กสทช.ไปร้องกับกรรมการได้โดยง่าย ขัดกับหลักการที่เคยนำผลประโยชน์ทางการเมืองออกจากหน่วยงานกำกับดูแล แต่ตอนนี้กลับทำให้ล้าหลังกลับไปอีก ส่วนตัวยังมีความเป็นห่วงถึงประเด็นเรื่องธรรมาภิบาลของ กสทช. จากการที่ สตง. เข้าตรวจบัญชีของ กสทช. ในรอบปีที่ผ่านมา ปรากฏว่า มีผลสรุปบ่งชี้ว่า กสทช.ขาดธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรง เนื่องจากมีเม็ดเงินมากเกินไป การที่ร่างกฎหมายกำหนดให้โยกเงินส่วนหนึ่งของ กสทช. ไปเข้ากองทุนเศรษฐกิจดิจิทัล ซึ่งหน่วยงานที่ไม่มีกลไกในเรื่องของธรรมาภิบาล ก็จะเป็นปัญหาเช่นกัน
"สิ่งที่ควรจะทำคือ ลดวงเงินของ กสทช.ให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น ที่ผ่านมามีประสบการณ์กันแล้ว มีเวลาพอสมควรแล้วที่จะรู้ว่า ตัวเลขเท่าไร ที่เหมาะสมสำหรับ กสทช. ไม่ใช่แบ่งเงินของ กสทช. ที่บริหารจัดการอย่างไม่ค่อยมีธรรมาภิบาล ไปให้หน่วยงานที่ไม่มีหลักประกันด้านธรรมาภิบาลเช่นกัน สิบปีกว่าที่เดินมา เรามาไกลแล้ว ไม่ควรให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องอีก" นายสมเกียรติ ระบุ
นายสมเกียรติ เสนอด้วยว่า เมื่อมีการแก้ไข พ.ร.บ.กสทช. แล้ว ก็ควรที่จะให้อำนาจ และทรัพยากรที่เพียงพอแก่คณะกรรมการติดตาม และประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) เพิ่มขึ้น เนื่องจาก กตป. มีหน้าที่ตรวจสอบประเมินผลการทำงานของ กสทช. แต่ปัจจุบันกลับไม่ได้รับความร่วมมือจาก กสทช.เลย รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลของ กสทช. ที่รายงานของ สตง. ได้พบข้อเท็จจริงที่น่าตกใจหลายเรื่อง เช่น การดูงานต่างประเทศ โดยกรรมการ กสทช. บางรายไปอยู่ต่างประเทศมากกว่า 120 วัน ต่อปี เรื่องลักษณะนี้ควรระบุให้มีการรายงานข้อมูลการทำงาน และสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆ ไว้ด้วย
ขณะที่ น.ส.กรรณิการ์ กิตติเวชกุล กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มีความเป็นห่วงว่า คณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิทัล และกองทุนเศรษฐกิจดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ไม่ได้มีระบบป้องกันเรื่องธรรมาภิบาล รวมไปถึงประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคม ซึ่งที่ผ่านมาอยู่ในภาวะที่ย่ำแย่มาก ผู้ที่เกี่ยวข้องควรที่จะให้ความสำคัญมากขึ้น
ส่วนการแก้ไข พ.ร.บ. กสทช. นั้น ขอฝากให้ดูแลเรื่องจุดประสงค์ เรื่องประโยชน์สาธารณะไว้ด้วย โดยเฉพาะในส่วนของกิจการกระจายเสียง ที่อาจมีการดึงคลื่นกลับไปให้หน่วยราชการ หรือทหารที่เดิมเป็นเจ้าของคลื่นเหล่านี้ หากหน่วยงานนำคลื่นเหล่านี้ไปใช้เพื่อธุรกิจ หรือประชาสัมพันธ์ข้อมูลของตัวเองด้านเดียว จะนับว่าเป็นประโยชน์สาธารณะ หรือไม่ รวมทั้งขอให้เพิ่มสัดส่วนของตัวแทนผู้บริโภค หรือภาคประชาชน เข้าไปในคณะกรรมการชุดต่างๆ มากกว่าผู้แทนจากภาคเอกชน
ทั้งนี้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 ซึ่งร่วมรับฟังการสัมมนาอยู่ด้วย ได้แสดงความเห็นว่า จะรับข้อเสนอของทุกท่านไปพิจารณาปรับปรุงร่างกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องกรอบการจัดสรรคลื่นความถี่ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคม ที่ยืนยันว่าในเชิงพาณิชย์นั้นให้ใช้การประมูลเป็นหลักเช่นเดิม แต่เติมประเด็นที่ว่า มิให้คำนึงถึงเฉพาะตัวเงินเป็นหลัก แต่ต้องคำนึงถึงผู้บริโภคด้วย สำหรับร่างแก้ไข พ.ร.บ.กสทช.นั้น ขอชี้แจงว่า ร่างที่ปรากฏในตอนนี้ยังไม่สมบูรณ์ เป็นเพียงส่วนที่แก้ไข เพื่อให้สอดคล้องต่อเศรษฐกิจดิจิทัล ส่วนเรื่องความจำเป็น ความเดือดร้อน หรือความต้องการของ กสทช.จะมีการดำเนินการในภายหลัง ซึ่งขณะนี้ให้ทาง กสทช.รวบรวมประเด็นมาอีกครั้งหนึ่ง
กำลังโหลดความคิดเห็น