กฤษฎีกาเปิดฟังความเห็น กม.เศรษฐกิจดิจิตอล รับรื้อร่าง ครม.หลายจุด หั่น ปลัด มท.-เลขาฯ สมช.พ้น กก.คุ้มครองข้อมูลฯ คงเว้นเข้าถึง สื่อ-ศิลปิน กูรู กม.คอมพ์ มึนอัปอำนาจ ETDA-SIPA คับฟ้า ให้สิทธิ์ร่วมทุนเอกชน ไม่อยู่ใต้ กม. สอบไม่ได้บล็อกฟ้อง ด้านประธานทีดีอาร์ไอฟันธง ศก.ดิจิตอลแท้ง เหตุ ขรก.เป็นแกนคิดไม่พ้นกรอบ ฉะ รบ.หวังเงินอำนาจก่อน แต่ไม่รู้ขับเคลื่อนอย่างไร ชี้รื้อ กม.กสทช.เปิดช่องโกง “มีชัย” ยินดีรับทุกข้อเสนอ
วันนี้ (11 มี.ค.) ที่โรงแรมรอยัลปริ๊นเซส ถ.หลานหลวง สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้จัดการสัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง การมีส่วนร่วมในการจัดทำร่างกฎหมายเร่งด่วนตามนโยบายของรัฐบาล (กฎหมายเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิตอล) ขึ้น ประกอบไปด้วยร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) จำนวน 9 ฉบับ และร่างพระราชกฤษฎีกา จำนวน 1 ฉบับที่อยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยมีผู้บริหารภาครัฐ ภาคเอกชน สื่อมวลชน และภาคประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมสัมมนา
นายดิศทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวในช่วงเปิดการสัมมนาว่า กฎหมายเหล่านี้จะส่งเสริมทั้งรัฐและเอกชนให้มีความสะดวก ปลอดภัย เป็นที่เชื่อถือ มีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้เกิดศักยภาพในการแข่งขันด้านเศรษฐกิจกิจกับต่างประเทศ แต่เมื่อมีการวิพากษ์วิจารณ์ในเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลและความปลอดภัยไซเบอร์ จึงจำเป็นต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย เพื่อให้กฎหมายเป็นไปอย่างถูกต้องและมีส่วนสนับสนุนเศรษฐกิจดิจิตอลที่เป็นนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาล
ขณะที่ นายธนาวัฒน์ สังข์ทอง กรรมการร่างกฎหมาย สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ชี้แจงว่า มีความกังวลว่ามีปัญหาเรื่องสิทธิเสรีภาพตามกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติและการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หลังได้รับร่างกฎหมายทั้งหมดจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ก็มีการตั้งคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะพิเศษเพื่อพิจารณากฎหมายฉบับต่างๆ และมีความคืบหน้าไประดับหนึ่ง สิ่งที่จะรับฟังก็คือ ประเด็นที่อาจเป็นปัญหาต่อระบบเศรษฐกิจและเสรีภาพของประชาชน ทั้งนี้ได้มีการยกร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พ.ศ.... เป็นการรวมร่างกฎหมาย 3 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.คณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ร่าง พ.ร.บ.ส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอล และร่างกฎหมายกองทุนพัฒนาดิจิตอลเพื่อเศรษฐฐกิจและสังคม มาเป็นร่างเดียวกัน เพราะเห็นว่ามีเนื้อหาที่เกี่ยวพันกัน โดยสาระสำคัญคือต้องมีคณะกรรมการนโยบายดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และให้มีกรรมการแต่ละด้านที่มีลักษณะคล้ายกับที่ ครม.เสนอมา ทั้งนี้จะมีกองทุนที่ได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาล และจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่ต้องหักมาสู่กองทุนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล
นายธนาวัฒน์กล่าวต่อว่า สำหรับร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ดำเนินไปเพื่อให้สอดคล้องกับข้อตกลงระหว่างประเทศ และกำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการให้สอดรับกับกฎหมายฉบับอื่นๆ ส่งเสริมให้มีความปลอดภัยมากขึ้นในการทำธุรกรรม ที่จะทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ ส่วนร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการคณะพิเศษที่มีการพิจารณาถึงอำนาจของเจ้าพนักงานในการเข้าถึงข้อมูล และอุปกรณ์ที่อยู่ในความของครองของเอกชนหรือบุคคล เบื้องต้นได้เชิญกระทรวงไอซีที และสำนักงานคณะกรรมการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์มาชี้แจง และให้เหตุผลว่าเป็นเรื่องที่อาจจะไปกระทบต่อเอกชนมากพอสมควร แต่เนื่องจากที่ผ่านมาพบว่ามีการแฮกเกอร์เข้าไปทำลายข้อมูล จนสร้างความเสียหายเป็นอย่างมาก จึงสมควรให้มีการกำหนดแผนเรื่องความปลอดภัยให้ชัดเจน ให้บริการเพื่อการรักษาข้อมูล และส่งเสริมเอกชนป้องกันการถูกคุกคาม
“หากมีภัยคุกคามเกิดขึ้นก็ควรมีขั้นตอนของการเฝ้าระวังและแจ้งเตือน เพื่อให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเข้าไปช่วยเหลือ หรือหากมีภัยคุกคามอย่างรุนแรงต่อสาธารณะก็ต้องมีดำเนินการได้ทันที เพราะการคุกคามทางไซเบอร์จะเกิดความเสียหายอย่างรวดเร็วและวงกว้าง แต่การใช้อำนาจควรใช้ตามความจำเป็น ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็ไปใช้อำนาจ” นายธนาวัฒน์กล่าว
ขณะที่นายถนัดกิจ นิวาทวงษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายยุติธรรมทางอาญา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กล่าวเสริมว่า การบังคับใช้กฎหมายได้มีการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลอยู่หลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.สถิติ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารทางราชการ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต หรือล่าสุดมี พ.ร.บ.การทวงถามหนี้ฯ พ.ร.บ.คุ้มครองสุขภาพแห่งชาติ เป็นต้น แต่ยังไม่มีกฎหมายที่ครอบคลุมธุรกิจอื่นๆ เช่น โรงแรม หรือสายการบิน จึงจำเป็นกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลขึ้นมา และเมื่อมีกฎหมายนี้ขึ้นมาอาจผลมีกระทบไปยังกฎหมายที่มีอยู่แล้ว หากมีหลักเกณฑ์ที่ไม่ต่ำกว่า พ.ร.บ.ก็ให้ใช้กฎหมายนั้นๆไป แต่ในทางปฏิบัติก็ทำให้ลำบาก เพราะเจ้าหน้าที่ต้องนำกฎหมายมาเปรียบเทียบในเรื่องความเป็นธรรมตามกฎหมายต่างๆ ยากที่จะวินิจฉัย
นายถนัดกิจกล่าวอีกว่า คณะกรรมการกฤษฎีกาชุดที่ 11 จึงได้ปรับใช้หลักตัดกฎหมายทั่วไปในการร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฯ ว่า หากจะใช้กฎหมายนี้บังคับก็ต้องไปดูว่ามีกฎหมายนั้นๆ บังคับอยู่หรือไม่ หากมีอยู่แล้วก็ให้ใช้กฎหมายนั้นๆ ไป เพื่อไม่ให้เกิดความยุ่งยาก แต่ก็ต้องยอมรับว่ากฎหมายเฉพาะนั้นได้เขียนไว้กว้างๆ เท่านั้น จึงได้เขียนไว้ในร่างกฎหมายนี้ว่าให้ออกประกาศให้นำบทบัญญัติใช้บังคับเพิ่มเติมตามกฎหมายฉบับนั้นๆ ได้ ขึ้นอยู่กับความเห็นของคณะกรรมการและรัฐมนตรี ส่วนเรื่องที่เกี่ยวกับสื่อมวลชนนั้นได้มีการยกเว้นให้ เพราะมีความจำเป็นต้องทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ รวมไปถึงผู้ที่ทำงานด้านศิลปะด้านต่างๆ องค์กรทางศาสนา สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา และอื่นๆ ที่กำหนดไว้ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม สื่อมวลชนยังคงต้องรับผิดชอบกรณีที่ใช้ข้อมูลนั้นแล้วเกิดความเสียหายกับเจ้าของข้อมูล ก็ต้องรับผิดชอบตามกฎหมายที่มีอยู่เดิม
“ร่างของกฤษฎีกาได้ตัดปลัดกระทรวงมหาดไทย และเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ออกไปจากองค์ประกอบของคณะกรรมการ ขณะเดียวกัน เพื่อให้มีมิติการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ได้ให้อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ผู้แทนหอการค้าไทย ผู้แทนสมาคมธนาคารไทย เข้ามาเป็นคณะกรรมการแทน” นายถนัดกิจระบุ
นายถนัดกิจยังได้กล่าวถึงการแก้ไข พ.ร.บ.การกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ว่า ได้เพิ่มสาระสำคัญในการคุ้มครองเรื่องการส่งข้อมูลไปยังบุคคลอื่นๆ เช่น สแปมเมล ที่สร้างความรำคาญ เพราะไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับปฏิเสธหรือเลิกบอกรับได้ จึงกำหนดให้มีโทษ โดยให้รัฐมนตรีออกประกาศถีงข้อกำหนดต่างๆ เพื่อกำหนดโทษต่อไป และมีการรับโทษหนักขึ้นกรณีการเข้าถึงข้อมูลคนอื่นโดยไม่ชอบ การเปิดเผย การดัก การส่งข้อมูล ถ้ากระทบสาธารณะ มั่นคง และเศรษฐกิจ และยังมีบทบัญญัติเกี่ยวกับการกระทำทางคอมพิวเตอร์ที่อาจส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตไว้ด้วย
จากนั้นได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมสัมมนาแสดงความคิดเห็น โดยนายไพบูลย์ ภิญโญอมรเกียรติ นักวิชาการด้านกฎหมายคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า ตามร่างกฎหมายที่คณะกรรมการกฤษฎีกากำลังพิจารณาอยู่ ได้มีการแก้ไขอำนาจของสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอตดา) และสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA (ซิปา) โดยจะมีการเติมคำว่าแห่งชาติเข้าไปท้ายชื่อเดิมของ ETDA และเปลี่ยนชื่อย่อภาษาอังกฤษเป็น NETDA ส่วน SIPA จะกลายเป็นสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลแห่งชาติ ขอตั้งขอสังเกตในส่วนของการให้อำนาจของ 2 หน่วยงานเป็นหน่วยงานที่เป็นเอกเทศไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.บริหารราชการแผ่นดิน ทำให้เกิดการตรวจสอบได้ยาก เพราะมีข้อยกเว้นในการบังคับคดีด้วย อีกทั้งยังให้อำนาจในการถือหุ้นร่วมทุนกับเอกชน ทำให้เกิดความสับสนว่าทั้ง 2 หน่วยงานจะอยู่ในฐานะผู้กำกับ (Regulator) และผู้ให้บริการ (Operator) กันแน่ นอกจากนี้ยังมีข้อยกเว้นของ 2 หน่วยงานที่ไม่ให้สำนักงานตรวจเงนแผ่นดิน (สตง.) เข้ามาตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณ ทั้งๆ ที่เป็นเงินแผ่นดิน จึงไม่เข้าใจว่าเหตุใดคณะกรรมการกฤษฎีการจึงได้ตัดสาระสำคัญนี้ออกไป
“ผู้ประกอบการถามกันมากว่า 2 หน่วยงานนี้จะเป็นเพียงผู้กำกับ หรือจะลงมาแข่งขันในทางธุรกิจด้วย และหากลงมาแข่งขันในฐานะผู้ให้บริการด้วย แต่กลับไม่อยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การบริหารราชการแผ่นดิน หรือ พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ และมีข้อยกเว้นการบังคับคดีทางแพ่งและมาตรฐานทางปกครอง เมื่อเป็นเช่นนี้ใครจะเข้ามาตรวจสอบสัญญาต่างๆที่ 2 หน่วยงานไปทำกับเอกชน นอกจากนั้นหากไปร่วมทุนกับเอกชนจริง แล้วเกิดมีความบกพร่องหรือผิดสัญญา แต่เอกชนไม่สามารถฟ้องร้องได้ แล้วเอกชนที่ไหนจะร่วมทุนหรืออยากแข่งขันด้วย” นายไพบูลย์กล่าว
ในส่วนการแก้ไข พ.ร.บ.การกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ที่เพิ่มการคุ้มครองเรื่องการส่งข้อมูลไปยังบุคคลอื่นๆ นั้น นายไพบูลย์กล่าวว่า มาตรการการตอบรับหรือปฏิเสธข้อมูลที่ถูกส่งต่อ จะมีปัญหาในทางปฏิบัติ เช่น การส่งไลน์ ส่งข้อความต่างๆ ของผู้ให้บริการโทรศัพท์ ที่ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะเทคโนโลยีไปเร็วมาก อีกทั้งหลายโปรแกรมหรือหลายแอปพลิเคชันไม่มีช่องที่ให้กรอกว่าจะรับหรือไม่รับข้อมูลด้วย เช่น อีเมลต่างๆ ทั้งนี้ขอเสนอให้เพิ่มเติมมหาวิทยาลัย และสถาบันการศึกษา อยู่ในกลุ่มของหน่วยงานที่ได้รับการยกเว้นเรื่องการเข้าถึงและเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคลเช่นเดียวกันกับสื่อมวลชนด้วย
ด้านนายสมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์ ประธานกรรมการสถาบันการวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (TDRI) กล่าวช่วงหนึ่งว่า ก่อนอื่นต้องขอชื่นชมคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ปรับปรุงร่างกฎหมายหลายฉบับให้รัดกุมกว่าร่างที่ทาง ครม.เสนอหลักการเข้ามาที่มีปัญหามากมาย เนื่องจากทำอย่างเร่งรีบและไม่มีความพิถีพิถัน แต่ก็ยังมีประเด็นที่น่าเป็นห่วงอยู่พอสมควร โดยชุดกฎหมายเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิตอลทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า
รัฐบาลมีเป้าประสงค์ในเรื่องเงินหรืออำนาจมาก่อน โดยไม่ได้วาดภาพก่อนว่าจะให้เศรษฐกิจดิจิตอลเดินหน้าไปอย่างไรให้เป็นรูปธรรม แต่ให้เหตุผลว่ายังไม่มีอำนาจและไม่มีงบประมาณในการดำเนินการใดๆ จึงจำเป็นต้องออกกฎหมายให้แล้วเสร็จ ค่อยคิดว่าจะทำอย่างไร คล้ายกับกรณีของเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ก็ออกกฎหมายมาก่อน แต่ยังไม่รู้ว่าใช้ประโยชน์อย่างไร
“เป็นการทึกทักว่าเมื่อรัฐได้อำนาจ ได้เงินไปแล้ว นโยบายดีๆ จะออกมาเอง ซึ่งผมเห็นว่าเป็นการสมมติที่จะสร้างปัญหาต่อไปในอนาคต” นายสมเกียรติกล่าว
นายสมเกียรติกล่าวอีกว่า ในร่าง พ.ร.บ.การพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมนั้น เน้นวิธีคิดการรับฟังความเห็นเฉพาะในหน่วยราชการมากเกินไป ทั้งที่มีผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องเป็นจำนวนมาก ทั้งภาคธุรกิจและประชาชน ดังนั้นควรปรับให้มีการรับฟังความเห็นทั่วไป อีกทั้งยังมีการกำหนดกรรมการชุดเฉพาะต่างๆ ที่เต็มไปด้วยผู้แทนหน่วยงานรัฐ ซึ่งส่วนตัวมองว่าหากองค์ประกอบของคณะกรรมการต่างๆ เป็นเช่นนี้ เศรษฐกิจดิจิตอลคงไม่เกิดขึ้นในประเทศไทย
“ดูแล้วมีแต่ตัวแทนภาครัฐ แต่ละที่ที่เป็นราชการกันหมด ในขณะที่เศรษฐกิจดิจิตอลเป็นเรื่องที่ต้องการคิดวิธีพิเศษ คิดวิธีใหม่ แล้วเศรษฐกิจดิจิตอลจะเกิดขึ้นได้อย่างไร” นายสมเกียรติระบุ
นายสมเกียรติกล่าวว่า กฎหมายกำหนดที่มา คณะกรรมการดิจิตอลแห่งชาติ มาจากฝ่ายการเมือง มีความชอบธรรมในการกำหนดนโยบาย แต่การที่กฎหมายกำหนดให้สามารถไปวางแผนวิธีการปฏิบัติได้ด้วย จึงมีความเสี่ยงที่การกำหนดนโยนบายหรือการทำแผนเข้าไปล้วงลูกในชั้นของการปฏิบัติได้เยอะมาก ทำให้ในชั้นปฏิบัติหลายกรณีที่ต้องมีความเป็นอิสระไม่สามารถทำได้ ดังนั้น คณะกรรมการ หรือบอร์ดดิจิตอลแห่งชาติ ควรทำหน้าที่เพียงกำหนดเป้าหมายและนโยบาย ในส่วนของการปฏิบัติให้ได้ตามเป้าหมาย ก็เป็นหน้าที่ของผู้รับผิดชอบในระดับรองลงไป
นายสมเกียรติยังได้แสดงความเห็นถึงการแก้ไข พ.ร.บ.กสทช.ด้วยว่า เชื่อว่าจะมีปัญหาตามมามาก หากให้คณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิตอลชุดใหญ่ ไปกำหนกแนวทางในการจัดสรรคลื่นความถี่ ถือเป็นการล้วงลูก และเป็นการนำการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องในที่ที่มีผลประโยชน์มหาศาล การทุจริตคอร์รัปชันและการวิ่งเต้นต่างๆ จะตามมา ในส่วนการจัดสรรคลื่นวิทยุและโทรทัศน์ ช่วงต้นเขียนไว้ว่าให้ใช้วิธีการคัดเลือกโดยไม่ได้ระบุว่า หมายถึงวิทยุและโทรทัศน์สาธารณะหรือชุมชน ซึ่งควรเขียนให้ชัดเจนมากกว่านี้ ขณะที่การจัดสรรในเชิงพาณิชย์นั้นกำหนดว่า ต้องใช้การประมูลเพียงอย่างเดียว แต่จะใช้เม็ดเงินเป็นหลักอย่างเดียวไม่ได้ โดยต้องมีการกำหนดเกณฑ์อย่างอื่นเพิ่มเติม ซึ่งจะกลายเป็นช่องที่ทำให้เกิดการแสวงหาผลประโยชน์ ขณะที่กรณีของโทรคมนาคมร้ายไปกว่านั้น เพราะใช้คำว่าคัดเลือกที่จะเอื้อการวิ่งเต้น และเกิดการคอร์รัปชันอย่างมโหฬาร เรากำลังสวนทางในการดำเนินการโดยไม่เหตุผลที่ดีต่อสาธารณะ
“มีความพยายามสร้างกระแสว่าการประมูลทำให้ผู้บริโภคต้องจ่ายค่าบริหารแพง ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะวิธีการประมูลถือว่ามีความโปร่งใสมากที่สุด แต่มีความพยายามในประเทศไทยที่จะไม่ประมูลคลื่นความถี่กัน โดยกลุ่มธุรกิจที่ได้ผลประโยชน์จากการวิ่งเต้น พยายามจะให้ใช้วิธีการอื่น เพื่อทำให้เกิดการวิ่งเต้นที่มีผลประโยชน์มหาศาล ดังนั้นรัฐต้องกำหนดเงื่อนไขให้ชัดเจนในการขอใบอนุญาต เช่น เครือข่ายและความครอบคลุมในการส่งสัญญาณ เพื่อให้ทุกรายมีคุณสมบัติเสมอกัน ที่เหลือไปตัดสินกันที่วงเงินประมูล” นายสมเกียรติกล่าว
นายสมเกียรติกล่าวด้วยว่า ในร่างแก้ไข พ.ร.บ.กสทช.ยังเปิดทางให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปล้วงลูกใน กสทช.ได้มากขึ้น โดยระบุว่า หากผู้เกี่ยวใดไปร้องเรียนว่า กสทช.ดำเนินการไม่สอดคล้องกับแผน ให้คณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิตอลไปเป็นผู้วินิจฉัย ทำให้กลุ่มทุนที่ไม่ชอบแนวทาง กสทช.ไปร้องกับกรรมการได้โดยง่าย ขัดกับหลักการที่เคยนำผลประโยชน์ทางการเมืองออกจากหน่วยงานกำกับดูแล แต่ตอนนี้กลับทำให้ล้าหลังกลับไปอีก ส่วนตัวยังมีความเป็นห่วงถึงประเด็นเรื่องธรรมาภิบาลของ กสทช. จากการที่ สตง.เข้าตรวจบัญชีของ กสทช.ในรอบปีที่ผ่านมา ปรากฏว่ามีผลสรุปบ่งชี้ว่า กสทช.ขาดธรรมาภิบาลอย่างร้ายแรง เนื่องจากมีเม็ดเงินมากเกินไป การที่ร่างกฎหมายกำหนดให้โยกเงินส่วนหนึ่งของ กสทช.ไปเข้ากองทุนเศรษฐกิจดิจิตอล ซึ่งหน่วยงานที่ไม่มีกลไกในเรื่องของธรรมาภิบาล ก็จะเป็นปัญหาเช่นกัน
“สิ่งที่ควรจะทำ คือ ลดวงเงินของ กสทช.ให้น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น ที่ผ่านมามีประสบการณ์กันแล้ว มีเวลาพอสมควรแล้วที่จะรู้ว่าตัวเลขเท่าไรที่เหมาะสมสำหรับ กสทช. ไม่ใช่แบ่งเงินของ กสทช.ที่บริหารจัดการอย่างไม่ค่อยมีธรรมาภิบาล ไปให้หน่วยงานที่ไม่มีหลักประกันด้านธรรมาภิบาลเช่นกัน สิบปีกว่าที่เดินมา เรามาไกลแล้ว ไม่ควรให้ฝ่ายการเมืองเข้าไปเกี่ยวข้องอีก” นายสมเกียรติระบุ
นายสมเกียรติเสนอด้วยว่า เมื่อมีการแก้ไข พ.ร.บ.กสทช.แล้วก็ควรที่จะให้อำนาจและทรัพยากรที่เพียงพอแก่คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) เพิ่มขึ้น เนื่องจาก กตป.มีหน้าที่ตรวจสอบประเมินผลการทำงานของ กสทช. แต่ปัจจุบันกลับไม่ได้รับความร่วมมือจาก กสทช.เลย รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลของ กสทช. ที่รายงานของ สตง.ได้พบข้อเท็จจริงที่น่าตกใจหลายเรื่อง เช่น การดูงานต่างประเทศ โดยกรรมการ กสทช.บางรายไปอยู่ต่างประเทศมากกว่า 120 วันต่อปี เรื่องลักษณะนี้ควรระบุให้มีการรายงานข้อมูลการทำงานและสัญญาการจัดซื้อจัดจ้างต่างๆไว้ด้วย
ขณะที่ น.ส.กรรณิการ์ กิตติเวชกุล กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า มีความเป็นห่วงว่าคณะกรรมการเศรษฐกิจดิจิตอล และกองทุนเศรษฐกิจดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ไม่ได้มีระบบป้องกันเรื่องธรรมาภิบาล รวมไปถึงประเด็นการคุ้มครองผู้บริโภคทั้งกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรคมนาคม ที่ผ่านมาอยู่ในภาวะที่ย่ำแย่มาก ผู้ที่เกี่ยวข้องควรที่จะให้ความสำคัญมากขึ้น ส่วนการแก้ไข พ.ร.บ.กสทช.นั้น ขอฝากให้ดูแลเรื่องจุดประสงค์เรื่องประโยชน์สาธารณะไว้ด้วย โดยเฉพาะในส่วนของกิจการกระจายเสียง ที่อาจมีการดึงคลื่นกลับไปให้หน่วยราชการ หรือทหารที่เดิมเป็นเจ้าของคลื่นเหล่านี้ หากหน่วยงานนำคลื่นเหล่านี้ไปใช้เพื่อธุรกิจ หรือประชาสัมพันธ์ข้อมูลของตัวเองด้านเดียว จะนับว่าเป็นประโยชน์สาธารณะหรือไม่ รวมทั้งขอให้เพิ่มสัดส่วนของตัวแทนผู้บริโภคหรือภาคประชาชนเข้าไปในคณะกรรมการชุดต่างๆมากกว่าผู้แทนจากภาคเอกชน
ทั้งนี้ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 ซึ่งร่วมรับฟังการสัมมนาอยู่ด้วยได้แสดงความเห็นว่า จะรับข้อเสนอของทุกท่านไปพิจารณาปรับปรุงร่างกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องกรอบการจัดสรรคลื่นความถี่ทั้งวิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคม ที่ยืนยันว่าในเชิงพาณิชย์นั้นให้ใช้การประมูลเป็นหลักเช่นเดิม แต่เติมประเด็นที่ว่า มิให้คำนึงถึงเฉพาะตัวเงินเป็นหลัก แต่ต้องคำนึงถึงผู้บริโภคด้วย สำหรับร่างแก้ไข พ.ร.บ.กสทช.นั้น ขอชี้แจงว่าร่างที่ปรากฏในตอนนี้ยังไม่สมบูรณ์ เป็นเพียงส่วนที่แก้ไขเพื่อให้สอดคล้องต่อเศรษฐกิจดิจิตอล ส่วนเรื่องความจำเป็น ความเดือดร้อน หรือความต้องการของ กสทช.จะมีการดำเนินการในภายหลัง ขณะนี้ให้ทาง กสทช.รวบรวมประเด็นมาอีกครั้งหนึ่ง