xs
xsm
sm
md
lg

DSIเร่งเคลียร์เงินสหกรณ์ สอบธัมมชโยพรุ่งนี้-สนพ.หยุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

"ดีเอสไอ" เร่งเครื่องคดียักยอกเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น มูลค่ากว่า16,000 ล้านบาท เล็งสอบ 6 กลุ่ม โยงวัดพระธรรมกาย เรียกสอบปากคำ พระครูปลัดวิจารณ์ วันนี้ พระธัมมชโย วันที่ 10 มี.ค. พระมนตรี สุตาภาโส วันที่ 11 และ นายสถาพร วัฒนาศิริกุล วันที่ 13 มี.ค นี้ ด้าน สนพ.และองค์กรชาวพุทธ ยกเลิกสวดมนต์หมู่ 12 มี.ค.นี้ ภายหลังรัฐบาล-สปช. ยอมถอยยุบบอร์ดปฏิรูปพุทธศาสนา ขณะที่ นายกฯ สนพ.ยุประชาชนทั่วประเทศแจ้งความดำเนินคดี "หลวงปู่พุทธะอิสระ" กรณีนำมวลชนบุกวัดปากน้ำ พร้อมเรียกร้องให้ พศ.-สตช. จัดการตามกฎหมายทางสงฆ์และกฎหมายบ้านเมือง

เมื่อเวลา 10.00 น. วานนี้ (8 มี.ค.) ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง รองอธิบดีกรมสอบสวนคคีพิเศษ พร้อมด้วยพ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ 3 พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.ศูนย์บริหารคดีพิเศษ และ พ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล ผอ.ส่วนตรวจ 2 ในฐานะหัวหน้าชุดตรวจสอบความเชื่อมโยงระหว่างสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และวัดพระธรรมกาย ร่วมประชุมติดตามความคืบหน้าคดียักยอกเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น มูลค่ากว่า 16,000 ล้านบาท โดยใช้เวลาการประชุมกว่า 2 ชั่วโมง ก่อนแถลงข่าว

** 6 กลุ่มโยงยักยอกเงินสหกรณ์ฯ

พ.ต.ท.ปกรณ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบเช็คสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น 878 ฉบับ จำนวนเงินรวม 11,367 ล้านบาท สามารถแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่

กลุ่มที่ 1 วัดพระธรรมกาย พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ สุทธิผล ) พระครูปลัดวิจารณ์ มูลนิธิอุบาสิกาจันทร์ ฯลฯ จำนวน 43 ฉบับมูลค่ารวม 932 ล้านบาท

กลุ่มที่ 2 ญาติธรรมและบุคคลใกล้ชิดนายศุภชัย ศรีศุภอักษร จำนวน 27 ฉบับ มูลค่ารวม348 ล้านบาท

กลุ่มที่ 3 บริษัท เอส ดับบลิว โฮลดิ้ง และนายสถาพร วัฒนาศิริกุล จำนวน 12 ฉบับ มูลค่ารวม272 ล้านบาท

กลุ่มที่ 4 สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี จำนวน 3 ฉบับ มูลค่ารวม46 ล้านบาท

กลุ่มที่ 5 นายวัฒน์ชานนท์ นวอิสรารักษ์ นายจิรเดช วรเพียรกุล และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนรัฐประชา จำนวน 135 ฉบับ มูลค่ารวม2,566 ล้านบาท

กลุ่มที่ 6 นิติบุคคล ,เงินโอนภายในประเทศและต่างประเทศ,ถอนเงินสด,แคชเชียร์เช็ค,โอนผ่านเน็ต,ถอนECS,โอนทาง internet ฯลฯ จำนวน 658 ฉบับ มูลค่า7,203 ล้านบาท

สำหรับเงินที่มีการโอนย้ายออกจากบัญชีของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ไปอยู่ในบัญชีของวัดพระธรรมกายนั้น ทางดีเอสไอ พยายามที่จะแยกเส้นทางการเงิน ระหว่างได้รับโอนมาจากสหกรณ์ฯ หรือมาจากเงินบริจาค แต่ติดปัญหาว่า วัดพระธรรมกาย มีเงินจำนวนมาก จึงทำให้ยากแก่การตรวจสอบ ทั้งนี้ยืนยันว่าจะเร่งตรวจสอบต่อไป

พ.ต.ท.ปกรณ์ กล่าวอีกว่า ชุดทำงานของตนได้เข้าตรวจสอบ มูลนิธิพระครูปลัดวิจารณ์ ที่ อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี เบื้องต้นยังไม่พบความสอดคล้องกับเงินที่นายศุภชัย ยักยอกไป ช่วงระหว่างปี 2552-2555 จำนวน 119 ล้านบาท เนื่องจากมีการก่อตั้งก่อนที่จะมีการโอนเข้าไป

อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูล นายสถาพร และ บริษัท เอส ดับบลิวโฮลดิ้ง ประเทศไทย จำกัด พบว่า มีการรับเงินจากสหกรณ์ โดยนายสถาพร ได้เปิดบัญชีธนาคารชื่อของนายสถาพรไว้ก่อน จากนั้นได้โยกเงินที่รับจาก นายศุภชัย เข้าบัญชีตัวเอง และเข้าไปลงทุนซื้อหุ้นตัวหนึ่ง นอกจากนี้ยังพบว่า นายศุภชัย มีการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย เพื่อมอบให้กับมูลนิธิอุบาสิกาจันทร์ อีกด้วย

ด้าน พ.ต.ท.สมบูรณ์ กล่าวว่า หลังจากนี้ทางดีเอสไอ จะประสานการทำงานกับ ปปง. อย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นการสนับสนุนข้อมูลการฟอกเงินให้มีการดำเนินคดีอาญาได้ ซึ่ง เร็วๆ นี้ จะมีการยึดอายัดทรัพย์สินเพิ่มเติม

ส่วนกรณีที่ นายศุภชัย ออกมาแถลงข่าวว่า ได้คืนเงินที่ยืมจากสหกรณ์ฯ ในช่วงปี 2552-2553 จำนวน 634 ล้านบาท หมดแล้วนั้น พ.ต.ท.ปกรณ์ กล่าวว่า จากการตรวจสอบยังไม่พบว่า นายศุภชัย คืนเงินมาแล้ว เพราะอยู่ระหว่างการตรวจสอบ โดยทางดีเอสไอ จะนำมาประกอบพิจารณาเป็นหลักฐานชิ้นหนึ่งเท่านั้น ซึ่งดีเอสไอ จะเดินหน้าตามแผนการทำงานเดิมไป อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะมีการเรียก นายศุภชัย มาให้ปากคำเพิ่มเติม

ผบ.สำนัดคดีอาญาพิเศษ 3 กล่าวต่อว่า ดีเอสไอ พบความผิดปกติสัญญากู้ 27 ฉบับ ซึ่งผู้กู้ไม่ได้ลงลายมือชื่อเป็นหลักฐาน ส่วนสัปดาห์หน้า ที่ดีเอสไอได้กำหนดให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าให้ปากคำนั้น หากรายใดพบข้อพิรุธจะสามารถแจ้งข้อกล่าวหาได้เลยหรือไม่

**เรียกสอบ"ธัมมชโย" พรุ่งนี้

พ.ต.ท.ปกรณ์ ระบุว่า ก็ต้องสอบปากคำผู้เกี่ยวข้องก่อน ซึ่งจะมีการเรียกผู้รับเช็ค จำนวน 878 ฉบับ มาสอบปากคำด้วยทั้งหมด โดยจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มผู้รับเช็ค

"กลุ่มแรกที่เรียกเข้าให้ปากคำคือ กลุ่มพระ และวัด จำนวน 4 ราย ได้แก่ 1. พระครูปลัดวิจารณ์ วันที่ 9 มี.ค. เวลา 10.00 น. 2. พระธัมมชโย วันที่ 10 มี.ค. เวลา 10.00 น. 3 . พระมนตรี สุตาภาโส วันที่ 11 มี.ค. เวลา 10.00 น. และ 4 . นายสถาพร วัฒนาศิริกุล วันที่ 13 มี.ค. เวลา 14.00 น. ส่วนกลุ่มนิติบุคคลซึ่งมีจำนวนหลายรายที่นายศุภชัย สั่งจ่ายเช็คจำนวน 200 ฉบับ จะเรียกสอบปากคำเช่นกัน โดยทางกลุ่มพระ และวัดพระธรรมกาย ยังไม่มีการตอบรับเข้าให้ปากคำ" พ.ต.ท.ปกรณ์ กล่าว

พ.ต.ท.ปกรณ์ กล่าวอีกว่า กรณีที่ นายศุภชัย ได้ถอนเงินสดจำนวน 1,900 ล้านบาท ออกไปจากเคาน์เตอร์ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น นั้น เชื่อว่าไม่มีการถอนเงินจำนวนดังกล่าวออกไปจริง เนื่องจากทางสหกรณ์ไม่น่าจะนำเงินสดไว้ที่สหกรณ์ เป็นจำนวนมาก
ขณะที่ พ.ต.ต. วรณัน กล่าวว่า เอกสารที่พบว่า นายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีต อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้เซ็นเอกสารชี้แจงว่า นายศุภชัย ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระทำความผิดคดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น นั้น เชื่อว่าไม่เข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือ ม. 157 เนื่องจากระยะเวลาการเซ็นเอกสาร คนละช่วงเวลากัน โดยนายธาริต ได้เซ็นเอกสารช่วงเดือนเมษายน 2556 แต่กลุ่มผู้ร้องทุกข์ได้มาร้องเรียนนายศุภชัย ช่วงเดือนพฤษภาคม 2556

ต่อมา นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เดินทางมายื่นหนังสือต่อ อธิบดีดีเอสไอ เพื่อให้ดีเอสไอตรวจสอบคณะผู้บริหารสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ชุดปัจจุบัน เนื่องจากไม่มั่นใจในการบริหารที่อาจไม่โปร่งใส เพราะในแผนฟื้นฟูกิจการสหกรณ์นั้น กลับมีรายชื่อสหกรณ์ 2 แห่ง ประกอบด้วย สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจแห่งชาติ จำกัด จะได้รับเงินเป็นอันดับแรก จากนั้นประชาชน ที่ฝากเงินกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จึงจะได้เงินในระยะเวลา 5 ปี โดยมีผลตอบแทนให้ร้อยละ 15

นายอัจฉริยะ กล่าวว่า เนื่องจากมีชื่อพล.ต.อ.นิพจน์ วีระสุนทร ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจ เป็นตัวแทนเจ้าหนี้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ทั้งที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสหกรณ์แต่อย่างใด

นอกจากนี้ยังพบว่า นายเผด็จ มุ่งธัญญา ประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ชุดปัจจุบัน ได้เชิญ พล.ต.อ.นิพจน์ มาเป็นรองประธานบริหารของบริษัท สหประกันภัย โดยบริษัทดังกล่าว เป็นบริษัทที่นายศุภชัย ได้ไปซื้อกิจการ ในนามชื่อสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ พล.ต.อ.นิพจน์ เป็นหนึ่งในผู้ที่นำเงินจำนวนกว่า 1,000 ล้านบาท จากสหกรณ์ตำรวจฯ มาฝากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ผ่านนายศุภชัย

" การที่มีชื่อ พล.ต.อ.นิพจน์ เป็นตัวแทนสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี ในฐานะเจ้าหนี้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น มีความไม่ชอบมาพากล ทำให้สมาชิกที่ฝากเงินไม่เชื่อถือชุดผู้บริหารสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นคนปัจจุบัน และขอเรียกร้องให้คณะกรรมการฟื้นฟูกิจการสหกรณ์ ฯ คลองจั่น ลาออกทั้งชุดภายในสัปดาห์หน้าไม่เช่นนั้นพวกตนจะล่ารายชื่อยื่นคัดค้าน" นายอัจฉริยะ กล่าว

** ยกเลิก "ม็อบพระ" 12 มี.ค.

วานนี้ (8 มี.ค.) เมื่อเวลา ประมาณ 12.30 น. ที่โรงแรมรัตนโกสินทร์ สมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา (สนพ.) และเครือข่ายองค์กรชาวพุทธ นำโดย พระเมธีธรรมาจารย์ ที่ปรึกษา สนพ. พร้อมด้วย ผศ.ดร.เสถียร วิพรหมหา นายก สนผ. และผศ.ดร.เมธาพันธ์ โพธิธีรโรจน์ เลขาธิการ สนพ. ร่วมแถลงจุดยืน การพิทักษ์รักษาพุทธศาสนา ถึงท่าทีของ สนพ.และองค์กรชาวพุทธ ภายหลังคณะกรรมการปฏิรูปแนวทาง และมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ประกาศยุติบทบาท และท่าทีของ สนพ. ต่อการดำเนินการกับ พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม (พุทธะอิสระ ) วัดอ้อน้อย จังหวัดนครปฐม

โดย พระเมธีธรรมาจารย์ กล่าวว่า สืบเนื่องจาก สนพ. และองค์กรชาวพุทธทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เข้ามาก้าวล่วงในการดำเนินการขององค์กรปกครองสูงสุด คือ มหาเถรสมาคม และกิจกรรมของพระพุทธศาสนา ซึ่งได้มีการท้วงติงมาโดยตลอด

ดังนั้น เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา อาตมาและคณะได้เดินทางไปยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. เพื่อชี้แจงถึงความไม่เหมาะสมของการตั้งคณะกรรมการฯ รวมทั้งเรียกร้องให้ยุบคณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าว ภายในเวลา 15 วัน โดยจะครบกำหนดในวันที่ 11 มีนาคม 2558 ซึ่งหากไม่มีการดำเนินการใดๆ ทางคณะสงฆ์ทั่วประเทศ จะรวมตัวกันเพื่อสวดมนต์หมู่ครั้งใหญ่ ที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง ในวันที่ 12 มีนาคมนี้

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ ได้รับการตอบรับที่ดีจากฝ่ายรัฐบาลโดย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯได้ยืนยันแล้วว่า จะไม่เข้ามาก้าวล่วงกิจกรรมใดๆ ของคณะสงฆ์โดยเด็ดขาด และหากมีการแก้ไขกฎหมายใดของคณะสงฆ์ไทย จะต้องผ่านความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคม (มส.) ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ที่ผ่านมา นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการฯ ได้ประกาศยุติบทบาท คณะกรรมการฯ อย่างสิ้นเชิง และจะไม่มีการดำเนินการใดๆ ในนามคณะกรรมการฯ อีก

"เพราะฉะนั้น เมื่อได้ข้อยุติเช่นนี้ อาตมาขอยืนยันในนามองค์กรและเครือข่ายต่างๆ ว่าในวันที่ 12 มีนาคม 2558 ที่ได้เตรียมการเจริญพระพุทธมนต์ เวลา 16.00 น. ที่บริเวณมณฑลพิธีท้องสนามหลวงนั้น ในวันดังกล่าว จะไม่มีการเจริญพระพุทธมนต์ครั้งใหญ่เกิดขึ้น รวมทั้งไม่มีการเคลื่อนไหวใดๆ ทั้งสิ้น เพราะได้ให้สัญญาไว้ หากทางรัฐบาลยุติ ทาง สนพ. และองค์กรชาวพุทธ ก็ไม่มีปัญหา เพราะเราทำด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง และทำเพื่อคณะสงฆ์ไทย แต่ยังคงเฝ้าระวังและคอยติดตามสถานการณ์ต่ออย่างใกล้ชิด และจะร่วมกับ สนพ. และภาคีเครือข่ายประเมินผลร่วมกันทุกสัปดาห์ จะสงวนสิทธิ์ในการเฝ้าระวัง ปกป้อง พิทักษ์พระพุทธศาสนาอย่างเข้มแข็ง และมั่นคง และขอนิมนต์สมาชิกเครือข่ายพระสงฆ์ทั่วประเทศให้อยู่ในที่ตั้งก่อน ตามคำอาราธนาของนายกฯ” พระเมธีธรรมจารย์ กล่าว และว่า ท้ายสุด อาตมาขออโหสิกรรมต่อทุกคนทุกฝ่ายที่ได้ล่วงเกินต่อกัน และบางท่าน ที่ล่วงเกินอาตมาด้วยกาย วาจา และใจ ทั้งเจตนาและไม่เจตนา ขอยืนยันว่า ไม่โกรธ ไม่เกลียด ไม่อาฆาตพยาบาทจองเวร ขออโหสิกรรมให้กับทุกคน

**จี้สนช.ออกพ.ร.บ.ธนาคารพุทธ

ผศ.ดร.เมธาพันธ์ กล่าวว่า อยากเรียกร้องให้ สปช. ที่มีอำนาจปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนาเร่งผลักดัน ร่าง พระราชบัญญัติว่าด้วยการอุปถัมภ์ และคุ้มครองพระพุทธศาสนา พ.ศ... ให้เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาการละเมิดพระธรรมวินัยและพ.ร.บ.ปกครองสงฆ์ รวมทั้งเร่ง เสนอ พ.ร.บ.ว่าด้วยธนาคารพุทธ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องทรัพย์สินของพระพุทธศาสนาา คณะสงฆ์ และพระสงฆ์ตามที่ทุกฝ่ายเรียกร้อง โดยยืนยันว่า สนพ. และเครือข่ายฯ ไม่เห็นด้วยที่จะตั้งองค์กรใดองค์กรหนึ่งมากำหนดกรอบคุณธรรม และจริยธรรมแก่สังคมไทยที่ต่างไปจากกรอบของพระพุทธศาสนาและของศานาอื่น ๆ ที่รัฐรับรองในประเทศไทย และขอเรียกร้องต่อรัฐบาลและ สปช.ด้วยว่าหากจะมีการปฏิรูปพระพุทธศาสนา ต้องมาจากความเห็นและการมีส่วนร่วมของ มส. สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) มหาวิทยาลัยสงฆ์ 2 แห่ง และองค์กรชาวพุทธต่าง ๆ

" ส่วนที่ตั้งข้อสังเกตว่า การเคลื่อนไหวของ สนพ. เกี่ยวข้องกับวัดธรรมกาย นั้นผมขอยืนยันว่า การเคลื่อนไหว สนพ.ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องหรือทำเพื่อปกป้องวัดธรรมกาย และ ธัมมชโย แน่นอน ซึ่งเราประกาศชัดเจนมาแต่ต้น เพราะสิ่งที่ สนพ. ทำคือ การดำเนินการพระที่มีพฤติกรรมผิดพระธรรมวินัย ผิดกฎหมายของสงฆ์ แต่ประเด็นวัดธรรมกายนั้น เป็นปัญหาที่ผู้มีอำนาจหน้าที่ในบ้านเมืองจะต้องไปสะสาง แต่จะให้นำเรื่องของวัดเดียว พระรูปเดียว แต่มาเหมารวมวางกรอบปฏิรูปคณะสงฆ์ ปฏิรูปพุทธศาสนา ตรงนี้ผมไม่เห็นด้วยต้องแบ่งแยกประเด็น" ผศ.ดร.เมธาพันธ์ กล่าว

**ยุชาวพุทธแจ้งเอาผิดหลวงปู่ฯ

ขณะที่ ผศ.ดร.เสถียร กล่าวถึงการดำเนินการกับ“พระพุทธะอิสระ”ว่า ที่ผ่านมา พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม (พุทธะอิสระ) พยายามนำตนเองไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และยังมีพฤติกรรมไม่เหมาะสมโดยเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ นำมวลชนมากกว่า 100 คน พร้อมด้วยรองเท้าแตะ ปลากระป๋องบูด ดอกไม้จันทน์ ฯลฯ ไปวางบริเวณวัดปากน้ำ ซึ่งเป็นที่พำนักของ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช และประธาน มส. ด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ที่ผ่านมา สนพ.ได้ไปแจ้งความร้องทุกข์ที่กองปราบปราม กรณีที่ พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม เดินทางไปวัดปากน้ำ ซึ่งจากนี้ ตนจะเดินทางไปมอบเอกสาร และหลักฐานเพิ่มเติมแก่เจ้าหน้าที่ และขอเรียกร้องให้ชาวพุทธทุกคนทั่วประเทศ แจ้งความยังสถานีตำรวจที่อยู่ในภูมิลำเนา เพื่อดำเนินการคดีกับ พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม ในความผิดตาม พ.ร.บ.การปกครองคณะสงฆ์ มาตรา 44 ทวิ และตรี เพื่อไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างของการข่มขู่ ใส่ร้าย ป้ายสี หมิ่นประมาทผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช หรือ คณะสงฆ์อื่น ซึ่งนำความแตกแยกให้เกิดในวงการพุทธศาสนา หรือ สังฆเภท โดยตนจะประสานไปยังผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ที่ทำหน้าที่รักษาการในวันที่ พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม และ มวลชนเดินทางไปให้ทำหนังสือมอบอำนาจในฐานะผู้เสียหายนำไปใช้ในการแจ้งความ

"ขอเรียกร้องให้ผู้มีอำนาจที่ให้การสนับสนุน พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม อยู่นั้น ขอให้ยุติการสนับสนุนการกระทำอันละเมิดพระธรรมวินัย และขอให้ พศ. รวบรวมหลักฐานพยานการกระทำผิดพระธรรมวินัยร้ายแรงของ พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม ที่ส่อเป็นปาราชิก โดยดำเนินการให้พ้นจากความเป็นพระภิกษุตามพระวินัย รวมทั้งขอเรียกร้องสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ทำการจับกุม พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม ตามหมายจับของศาลอาญา ที่ 43/2557 ซึ่งมีอายุ 10 ปีนับตั้งแต่ 26 มกราคม 2557-26 มกราคม 2567 เพื่อเป็นบรรทัดฐานการบังคับใช้กฎหมายที่เท่าเทียมกันตามที่ พระสุวิทย์ ธีรธมฺโม มักอ้างถึงเสมอ" ผศ.ดร.เสถียร กล่าว

***สหกรณ์ยูเนี่ยนฯ จ่อถอนฟ้องธรรมกาย

เมื่อเร็วๆ นี้ นายชวลิต ชูขจร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีคำสั่งมายัง “กรมส่งเสริมสหกรณ์” ในฐานะกำกับ องค์กร เช่น สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด ให้ทำการติดตามเงินบริจาคของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัด คืนจากวัดพระธรรมกาย ให้เร็วที่สุดเพื่อคืนเงินให้กับสมาชิกสหกรณ์ ล่าสุด กรมส่งเสริมสหกรณ์ ได้แจ้งไปยังนายชวลิต แล้วว่า คณะผู้เจรจากับพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัด ซึ่งประกอบด้วยดีเอสไอและกรรมการสหกรณ์ฯ แจ้งว่า ต้องได้เงินคืนของจริง จากวัดธรรมกาย จำนวน 684 ล้านบาท แต่จะได้คืนเมื่อไหร่ยังไม่ระบุ

“กระแสข่าวว่า สหกรณ์เครดิตยูเนียนฯ จะถอนฟ้องวัดพระธรรมกายหรือไม่นั้น กำลังมีการดูข้อเท็จก่อนว่าวัดมีเจตนาจะคืนเงินจริงหรือไม่ เมื่อได้คืนจริงแล้วค่อยมาดูเรื่องคดีทีหลัง”

นายปริญญา เพ็งสมบัติ รองอธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ กล่าวถึงกรณีถอนฟ้องวัดพระธรรมกาย หากคืนเงินบริจาคให้กับสหกรณ์เครดิตยูเนียนคลองจั่น จำกัด ว่า ขึ้นอยู่กับอำนาจของกรรมการสหกรณ์ยูเนียนฯ จะพิจารณา เพราะสหกรณ์ฟ้องคดีแพ่งกับทางวัดพระธรรมกาย

"กรมส่งเสริมสหกรณ์ฯ มีเพียงกฏหมายให้อำนาจด้านการส่งเสริมเท่านั้น และกรมฯถูกฟ้องในฐานะละเลยปล่อยให้เกิดการทุจริตขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาสหกรณ์ยูเนี่ยนฯ แจ้งว่ามีรายได้มาจากเงินฝากจากสหกรณ์อื่น 8-9 พันล้านบาท ค่าหุ้นต่าง ๆ และรายได้จากโครงการบ้านมั่นคง”.
กำลังโหลดความคิดเห็น