ดีเอสไอเร่งสอบ 6 กลุ่มโยงวัดพระธรรมกาย มูลนิธิอุบาสิกาจันทร์ สอบปากคำ “ธัมมชโย” วันที่ 10 มี.ค.นี้ ประสาน ปปง.เดินหน้าอายัดทรัพย์เพิ่มเติมต่อไป พบความผิดปกติสัญญากู้ 27 ฉบับ
วันนี้ (6 มี.ค.) เมื่อเวลา 10.00 น.ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง รองอธิบดีกรมสอบสวนคคีพิเศษ พร้อมด้วย พ.ต.ท.สมบูรณ์ สาระสิทธิ์ ผบ.สำนักคดีอาญาพิเศษ 3 พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.ศูนย์บริหารคดีพิเศษ และพ.ต.ท.ปกรณ์ สุชีวกุล ผอ.ส่วนตรวจ 2 ในฐานะหัวหน้าชุดตรวจสอบความเชื่อมโยงระหว่างสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และวัดพระธรรมกาย ร่วมประชุมติดตามความคืบหน้าคดียักยอกเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น มูลค่ากว่า 16,000 ล้านบาท โดยใช้เวลาการประชุมกว่า 2 ชั่วโมงก่อนแถลงข่าว
พ.ต.ท.ปกรณ์กล่าวว่า จากการตรวจสอบเช็คสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น 878 ฉบับ จำนวนเงินรวม 11,367 ล้านบาท สามารถแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 วัดพระธรรมกาย พระเทพญาณมหามุนี (ไชยบูลย์ สุทธิผล) พระครูปลัดวิจารณ์ มูลนิธิอุบาสิกาจันทร์ ฯลฯ จำนวน 43 ฉบับมูลค่ารวม 932 ล้านบาท
กลุ่มที่ 2 ญาติธรรมและบุคคลใกล้ชิดนายศุภชัย ศรีศุภอักษร จำนวน 27 ฉบับ มูลค่ารวม 348 ล้านบาท
กลุ่มที่ 3 บริษัท เอส ดับบลิว โฮลดิ้ง และนายสถาพร วัฒนาศิริกุล จำนวน 12 ฉบับ มูลค่ารวม 272 ล้านบาท
กลุ่มที่ 4 สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี จำนวน 3 ฉบับ มูลค่ารวม 46 ล้านบาท
กลุ่มที่ 5 นายวัฒน์ชานนท์ นวอิสรารักษ์ นายจิรเดช วรเพียรกุล และสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนรัฐประชา จำนวน 135 ฉบับ มูลค่ารวม 2,566 ล้านบาท
และกลุ่มที่ 6 นิติบุคคล, เงินโอนภายในประเทศและต่างประเทศ, ถอนเงินสด, แคชเชียร์เช็ค, โอนผ่านเน็ต, ถอน ECS, โอนทาง internet ฯลฯ จำนวน 658 ฉบับ มูลค่า 7,203 ล้านบาท
สำหรับเงินที่มีการโอนย้ายออกจากบัญชีของสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นไปอยู่ในบัญชีของวัดพระธรรมกายนั้น ทางดีเอสไอพยายามที่จะแยกเส้นทางการเงินระหว่างได้รับโอนมาจากสหกรณ์ฯ หรือมาจากเงินบริจาค แต่ติดปัญหาว่าวัดพระธรรมกายมีเงินจำนวนมาก จึงทำให้ยากแก่การตรวจสอบ ทั้งนี้ยืนยันว่าจะเร่งตรวจสอบต่อไป
พ.ต.ท.ปกรณ์กล่าวอีกว่า ชุดทำงานของตนได้เข้าตรวจสอบมูลนิธิพระครูปลัดวิจารณ์ ที่ อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี เบื้องต้นยังไม่พบความสอดคล้องกับเงินที่นายศุภชัย ยักยอกไปช่วงระหว่างปี 2552-2555 จำนวน 119 ล้านบาท เนื่องจากมีการก่อตั้งก่อนที่จะมีการโอนเข้าไป
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบข้อมูลนายสถาพร และบริษัท เอส ดับบลิวโฮลดิ้ง ประเทศไทย จำกัด พบว่า มีการรับเงินจากสหกรณ์ โดยนายสถาพรได้เปิดบัญชีธนาคารชื่อของนายสถาพรไว้ก่อน จากนั้นได้โยกเงินที่รับจากนายศุภชัยเข้าบัญชีตัวเองและเข้าไปลงทุนซื้อหุ้นตัวหนึ่ง นอกจากนี้ยังพบว่านายศุภชัยมีการโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย เพื่อมอบให้กับมูลนิธิอุบาสิกาจันทร์อีกด้วย
ด้าน พ.ต.ท.สมบูรณ์กล่าวว่า หลังจากนี้ทางดีเอสไอจะประสานการทำงานกับ ปปง. อย่างใกล้ชิดเพื่อเป็นการสนับสนุนข้อมูลการฟอกเงินให้มีการดำเนินคดีอาญาได้ ซึ่ง เร็วๆ นี้จะมีการยึดอายัดทรัพย์สินเพิ่มเติม
ส่วนกรณีที่นายศุภชัยออกมาแถลงข่าวว่าได้คืนเงินที่ยืมจากสหกรณ์ฯ ในช่วงปี 2552-2553 จำนวน 634 ล้านบาทหมดแล้วนั้น พ.ต.ท.ปกรณ์กล่าวว่า จากการตรวจสอบยังไม่พบว่านายศุภชัยคืนเงินมาแล้วเพราะอยู่ระหว่างการตรวจสอบ โดยทางดีเอสไอจะนำมาประกอบพิจารณาเป็นหลักฐานชิ้นหนึ่งเท่านั้น ดีเอสไอจะเดินหน้าตามแผนการทำงานเดิมไป อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะมีการเรียกนายศุภชัยมาให้ปากคำเพิ่มเติม
ผบ.สำนัดคดีอาญาพิเศษ 3 กล่าวต่อว่า ดีเอสไอพบความผิดปกติสัญญากู้ 27 ฉบับ ซึ่งผู้กู้ไม่ได้ลงลายมือชื่อเป็นหลักฐาน ส่วนสัปดาห์หน้าที่ดีเอสไอได้กำหนดให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าให้ปากคำนั้น หากรายใดพบข้อพิรุธจะสามารถแจ้งข้อกล่าวหาได้เลยหรือไม่ พ.ต.ท.ปกรณ์ระบุว่า ต้องสอบปากคำผู้เกี่ยวข้องก่อนซึ่งจะมีการเรียกผู้รับเช็คจำนวน 878 ฉบับมาสอบปากคำด้วยทั้งหมด โดยจัดลำดับความสำคัญของกลุ่มผู้รับเช็ค
“กลุ่มแรกที่เรียกเข้าให้ปากคำคือกลุ่มพระและวัดจำนวน 4 ราย ได้แก่ 1. พระครูปลัดวิจารณ์ วันที่ 9 มี.ค. เวลา 10.00 น. 2. พระธัมมชโย วันที่ 10 มี.ค. เวลา 10.00 น. 3พระมนตรี สุตาภาโส วันที่ 11 มี.ค. เวลา 10.00 น. และ 4. นายสถาพร วัฒนาศิริกุล วันที่ 13 มี.ค. เวลา 14.00 น.ส่วนกลุ่มนิติบุคคลซึ่งมีจำนวนหลายรายที่นายศุภชัย สั่งจ่ายเช็คจำนวน 200 ฉบับ จะเรียกสอบปากคำเช่นกัน โดยทางกลุ่มพระและวัดพระธรรมกายยังไม่มีการตอบรับเข้าให้ปากคำ” พ.ต.ท.ปกรณ์กล่าว
พ.ต.ท.ปกรณ์กล่าวอีกว่า กรณีที่นายศุภชัยได้ถอนเงินสดจำนวน 1,900 ล้านบาทออกไปจากเคาน์เตอร์สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นนั้น เชื่อว่าไม่มีการถอนเงินจำนวนดังกล่าวออกไปจริง เนื่องจากทางสหกรณ์ไม่น่าจะนำเงินสดไว้ที่สหกรณ์เป็นจำนวนมาก
ขณะที่ พ.ต.ต.วรณันกล่าวว่า เอกสารที่พบว่านายธาริต เพ็งดิษฐ์ อดีตอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ได้เซ็นเอกสารชี้แจงว่านายศุภชัย ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับกระทำความผิดคดีสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นนั้น เชื่อว่าไม่เข้าข่ายการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ หรือมาตรา 157 เนื่องจากระยะเวลาการเซ็นเอกสารคนละช่วงเวลากัน โดยนายธาริตได้เซ็นเอกสารช่วงเดือนเมษายน2556 แต่กลุ่มผู้ร้องทุกข์ได้มาร้องเรียนนายศุภชัย ช่วงเดือนพฤษภาคม 2556
ต่อมานายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม เดินทางมายื่นหนังสือต่ออธิบดีดีเอสไอเพื่อให้ดีเอสไอตรวจสอบคณะผู้บริหารสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นชุดปัจจุบัน เนื่องจากไม่มั่นใจในการบริหารที่อาจไม่โปร่งใส เพราะในแผนฟื้นฟูกิจการสหกรณ์นั้น กลับมีรายชื่อสหกรณ์ 2 แห่ง ประกอบด้วย สหกรณ์ออมทรัพย์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจแห่งชาติ จำกัด จะได้รับเงินเป็นอันดับแรก จากนั้นประชาชนที่ฝากเงินกับสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นจึงจะได้เงินในระยะเวลา 5 ปี โดยมีผลตอบแทนให้ร้อยละ 15
นายอัจฉริยะกล่าวว่า เนื่องจากมีชื่อ พล.ต.อ.นิพจน์ วีระสุนทร ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ตำรวจ เป็นตัวแทนเจ้าหนี้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ทั้งที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับสหกรณ์แต่อย่างใด นอกจากนี้ยังพบว่า นายเผด็จ มุ่งธัญญา ประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นชุดปัจจุบัน ได้เชิญ พล.ต.อ.นิพจน์ มาเป็นรองประธานบริหารของบริษัท สหประกันภัย โดยบริษัทดังกล่าวเป็นบริษัทที่นายศุภชัยได้ไปซื้อกิจการ ในนามชื่อสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น และเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ พล.ต.อ.นิพจน์เป็นหนึ่งในผู้ที่นำเงินจำนวนกว่า 1,000 ล้านบาท จากสหกรณ์ตำรวจฯ มาฝากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นผ่านนายศุภชัย
“การที่มีชื่อ พล.ต.อ.นิพจน์ เป็นตัวแทนสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี ในฐานะเจ้าหนี้สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น มีความไม่ชอบมาพากล ทำให้สมาชิกที่ฝากเงินไม่เชื่อถือชุดผู้บริหารสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นคนปัจจุบัน และขอเรียกร้องให้คณะกรรมการฟื้นฟูกิจการสหกรณ์ฯ คลองจั่น ลาออกทั้งชุดภายในสัปดาห์หน้าไม่เช่นนั้นพวกตนจะล่ารายชื่อยื่นคัดค้าน” นายอัจฉริยะกล่าว