xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ”เรียกถกล่าเงินเครดิตยูเนียนฯ โยนสปช.ยุบกก.ชุด“ไพบูลย์” DSIร่อนหมายเรียก“ธัมมชโย”

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: MGR Online

ประธาน สปช.ปัดจุ้นเรื่องสงฆ์ ระบุมีหน้าที่ปฏิรูปแค่ฆราวาส-คนหากินกับศาสนา ส่วนสงฆ์ต้องปฏิรูปกันเอง "วิษณุ" โยน "เทียนฉาย" ตัดสินยุบ กก.กิจการพุทธศาสนา ชี้นายกฯ-คสช.ไม่ได้ตั้ง จะไปยกเลิกไม่ได้ นัดถก “ดีเอสไอ-ปปง.” ล่าเงินสหกรณ์เครดิตยูเนียนฯวันนี้

วานนี้ (5 มี.ค.) นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยถึงแนวทางในการปฏิรูปกิจการพระพุทธศาสนา หลังเปิดปัญหาเรื่องพระธรรมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องนอกกรอบการดำเนินการของ สปช. เพราะหน้าที่ของสปช. คือการให้ความเห็น ข้อเสนอแนะการปฏิรูป แต่เราไม่มีหน้าที่ปฏิบัติการ ส่วนความเห็นเรื่องกิจการศาสนา เรายืนยันว่า เราไม่ได้ให้ความเห็น หรือข้อเสนอแนะแก่สงฆ์ เพราะไม่ใช่หน้าที่เรา แต่เป็นเรื่องที่พระสงฆ์ต้องจัดการชำระปัญหาและปฏิรูปกันเอง นอกจากนี้ต้องให้ประชาชนเสนอแนะ และช่วยกันบำรุงพระพุทธศาสนา ซึ่งถ้าการปฏิรูปทั้งในส่วนของพระสงฆ์ และฆราวาสสำเร็จพร้อมกัน ก็จะเป็นประเทศที่มีธรรมะ และเป็นเครื่องจรรโลงศีลธรรมอันดีของประชาชน

“สปช.มีอำนาจในการเสนอแนะเพื่อปฏิรูปเรื่องที่เกี่ยวข้องกับฆราวาส และที่ข้องเกี่ยวกับพระศาสนา เช่น พุทธพาณิชย์ ผู้ที่ปลอมเป็นพระสงฆ์ได้ถือบาตรเรี่ยไรกลางถนน เป็นต้น อีกทั้งเรื่องคดีความที่เกี่ยวข้องกับพระสงฆ์ ก็มีผู้รับผิดชอบอยู่แล้ว โดยทั้งหมดถือเป็นเรื่องที่สำคัญที่จะต้องจัดการ” นายเทียนฉาย กล่าว

นายกฯไร้สิทธิ์ยุบ กก.ชุด “ไพบูลย์”

ทางด้าน นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีมีการเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรี ยุบคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์ กิจการพระพุทธศาสนา ของ สปช.ที่มี นายไพบูลย์ นิติตะวัน สปช.เป็นประธานว่า นายกรัฐมนตรีหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ไม่มีสิทธิ์จะไปจะยุบคณะกรรมการชุดนี้ เพราะไม่ได้เป็นคนตั้งขึ้น ต้องไปถามประธาน สปช.ที่เป็นผู้ตั้งคณะกรรมการชุดนี้ขึ้นมา ซึ่งก็ต้องปล่อยให้ดำเนินการอย่างอิสระ รัฐบาลไม่สามารถแทรกแซงได้

สำหรับปัญหาเรื่องที่เกี่ยวกับพระ วัด หรือมหาเถรสมาคมนั้น นายวิษณุกล่าวว่า รัฐบาลได้แยกเรื่องทางศาสนากับทางบ้านเมือง ประเด็นใดเป็นเรื่องทางศาสนา เช่น พระลิขิต ปัญหาเรื่องการดำเนินการต่อพระธัมมชโยในทางสงฆ์ หรือการให้อาบัติปาราชิกหรือไม่นั้น ทั้งหมดเป็นเรื่องคณะสงฆ์วินิจฉัย ใครมีหน้าที่ก็ทำไป สุดท้ายมีข้อสรุปว่าจะปฏิรูปเรื่องใดก็ต้องส่งให้รัฐบาลและเรื่องใดที่จะไปแตะคณะสงฆ์ รัฐบาลก็ต้องส่งเรื่องนั้นไปให้คณะสงฆ์ โดยเฉพาะมหาเถรสมาคมเพื่อฟังความเห็น ขอให้ไว้วางใจได้ว่ารัฐบาลจะไม่ดำเนินการโดยไม่ฟังความเห็นองค์กรผู้ปกครองสงฆ์

“อยากส่งสัญญาณให้ทราบเพราะมีข่าวออกมาทำนองว่ารัฐบาลจะรวบรัดตัดความ ไม่มีวันจะเกิดขึ้นได้แน่นอน” นายวิษณุ กล่าว

ถกตามล่าเงินสหกรณ์ฯวันนี้

นายวิษณุ กล่าวอีกว่า รัฐบาลจะทำในส่วนที่เกี่ยวกับทางบ้านเมือง เช่น กรณีเงินสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน โดยเรื่องนี้ในวันที่ 6 มี.ค. เวลา 13.30 น. จะมีการประชุมกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) เพื่อสอบถามความคืบหน้าของคดี

“รัฐบาลจะใช้หลัก 3 หลักในการดำเนินการคือ 1. หลักกฎหมาย 2. หลักการให้ความเป็นธรรม 3. หลักการดูแลความสงบเรียบร้อย เพราะบางเรื่องแม้ทางกฎหมายต้องดำเนินการ แต่ถ้าดำเนินการผิดจังหวะเวลาอาจเกิดความไม่สงบเรียบร้อยก็ต้องคิดหารือจังหวะที่ทำให้เกิดความเรียบร้อย วันนี้เอาเงินคืนสหกรณ์เครดิตยูเนียนให้ได้ก่อน” นายวิษณุ ระบุ

“ศิษย์ตาบัว” ออกแถลงการณ์

อีกด้าน คณะศิษยานุศิษย์องค์หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน ได้ออกแถลงการณ์ เรื่อง ถวายคืนพระราชอำนาจสมเด็จพระสังฆราช โดยระบุว่า 1.ขอให้เร่งถวายคืนพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการสถาปนาและปฏิบัติต่อสมเด็จพระสังฆราชในทุกกรณี และห้ามมิให้บุคคลหรือองค์กรใดเข้าแทรกแซงก้าวก่ายความสัมพันธ์ระหว่าง 2 สถาบันหลักนี้โดยเด็ดขาด 2.ขอเรียกร้องให้ยกเลิกความ "โดยสมณศักดิ์" ตามมาตรา 10 แห่ง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ฉบับปัจจุบันทิ้งไป และให้ใช้ความว่า "โดยพรรษาและคุณธรรม” แทนข้อความเดิม และ 3.ขอให้มีการแสดงความเคารพต่อพระธรรมวินัย โดยห้ามมิให้ทุกภาคส่วนเข้าแทรกแซงหรือก้าวล่วงในสมบัติของสงฆ์ อย่างไรก็ตาม หากสงฆ์หมู่นั้นหรือภิกษุรูปนั้นได้กระทำผิดต่อพระธรรมวินัยที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้ ก็ต้องถูกดำเนินการ ตามพระธรรมวินัยและกฎหมายบ้านเมืองในทันที

สวด “ไพบูลย์” ทำลายศาสนา

ขณะที่ พระเมธีธรรมาจารย์ รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย (มจร.) กล่าวว่า จากการที่ นายไพบูลย์ ออกมากล่าวหาว่าแกนนำที่เคลื่อนไหวเป็นเครือข่ายของกลุ่มที่รับผลประโยชน์จากการอาศัยกลไกกิจการพระพุทธศาสนา ทั้งลาภ ยศ ทรัพย์สิน และสมณศักดิ์ รวมถึงปกป้องเพื่อไม่ให้มีการตรวจสอบ และดิสเครดิตฝ่ายการเมืองนั้น ถือว่าเป็นความก้าวร้าวไม่สิ้นสุด ไม่เคารพต่อพระสงฆ์ เป็นการละเมิดสถาบันสงฆ์และสถาบันชั้นสูงของไทย เนื่องจากเรื่องสมณศักดิ์เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ เหมือนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ก็เป็นพระราชอำนาจ แม้พระสงฆ์จะเป็นผู้คัดเลือกเบื้องต้นก็ตาม

“ตลอดเวลาที่ผ่านมาการแสดงออกของนายไพบูลย์ ทำให้เห็นชัดเจนว่า ต้องการทำลายสถาบันสงฆ์ ไม่ได้มีความรู้ทางพระธรรมวินัยและเรื่องเกี่ยวกับศาสนาเลย ดังนั้น รัฐบาล และ สปช. ควรที่จะหยุดนายไพบูลย์ ที่สร้างความเสียหายความแตกแยก และมีการกล่าวล่วงละเมิดในสิ่งที่ไม่ควรจะพูด” พระเมธีธรรมาจารย์ ระบุ

พระเมธีธรรมาจารย์ กล่าวด้วยว่า การออกมาเคลื่อนไหวครั้งนี้ ขอยืนยันไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเมืองและวัดพระธรรมกายแต่อย่างใด เพียงแต่ออกมาแสดงให้เห็นว่า การที่ฆราวาสกล่าวจาบจ้วงไม่ให้ความเคารพต่อ พระผู้ใหญ่ในบ้านเมือง เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม รวมทั้งแสดงจุดยืนว่า เราไม่ได้ปฏิเสธการปฏิรูปหรือการตรวจสอบใดๆก็ตาม แต่ขอให้มีการดำเนินการด้วยความยุติธรรมไม่เลือกปฏิบัติ โดยมุ่งเป้าหมายไปที่จุดใดจุดหนึ่ง หากจะมีการตรวจสอบก็ต้องทำให้เหมือนกันทั่วประเทศเป็นมาตรฐานเดียวกัน รวมทั้งให้พระสงฆ์เข้าไปมีส่วนร่วมในการปฏิรูป ในขณะเดียวกัน คณะสงฆ์ขอเรียกร้องต่อ รัฐบาลว่า ให้พิจารณายุบคณะกรรมการปฏิรูปฯพระพุทธศาสนาที่มีนายไพบูลย์ เป็นประธาน มิเช่นนั้น จะเกิดความแตกแยกมากกว่านี้

ร่อนหมายเรียก “ธัมมชโย”

วันเดียวกัน พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง รองอธิบดีดีเอสไอ กล่าวถึงการออกหมายเรียกไปยังวัดพระธรรมกาย พระธัมมชโย และพระลูกวัด กรณีรับเช็คบริจาคเงินจาก นายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานดำเนินการสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น จำกัดว่า ดีเอสไอเริ่มทยอยส่งหมายเรียกไปถึงผู้เกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกาย และผู้ที่มีชื่อรับเช็ค รวม 878 ฉบับ เพื่อมาให้ปากคำ ซึ่งผู้ถูกออกหมายเรียกมีสิทธิตามกฎหมายในการเลื่อนการเข้าพบ หรือกำหนดวันเข้าให้ปากคำได้ แต่ต้องอยู่ภายในระยะเวลาที่เหมาะสม โดยวันที่ 6 มี.ค.นี้ ดีเอสไอจะประชุมคณะพนักงานสอบสวน เพื่อกำหนดเวลาการให้ปากคำที่ชัดเจน
รับติดตามเส้นทางการเงินยาก

ด้าน พ.ต.ท.ปกรณ์ สุวชีวกุล หัวหน้าพนักงานสอบสวนชุดตรวจสอบความเชื่อมโยงทางการเงินระหว่างสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น กับวัดพระธรรมกาย กล่าวว่า ขณะนี้กำลังเร่งตรวจสอบสิ่งก่อสร้างภายในวัดพระธรรมกายเพื่อประเมินมูลค่าทรัพย์สินของวัด และหาความเชื่อมโยงของจำนวนเงินที่มีการยักยอกจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น

“ส่วนเรื่องอายุคดีความนั้นยืนยันไม่ต้องเป็นห่วง เนื่องจากคดียักยอกทรัพย์มีอายุความถึง 15 ปี ซึ่งจะเริ่มนับตั้งแต่เกิดเหตุเมื่อปี พ.ศ.2552”พ.ต.ท.ปกรณ์ ระบุ

พ.ต.ท.ปกรณ์ กล่าวอีกว่า เบื้องต้นจากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน หลังพบว่านายศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น โอนเงินให้กับพระธัมมชโย และวัดพระธรรมกาย และยังพบว่ามีการโอนเงินต่อไปยังบุคคลอื่นอีกจำนวนหลายกลุ่ม แต่ไม่สามารถระบุได้ว่ามีกี่คน ซึ่งมีการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านธนาคารกว่า 8-9 แห่ง ทั้งนี้ต้องยอมรับว่าการติดตามเส้นทางการเงินนั้นเป็นเรื่องยากว่าจะเจอเงินจำนวนดังกล่าวนั้นไปสิ้นสุดปลายทางที่ใคร

ปปง.ไล่สอบเครือข่ายธรรมกาย

ด้าน พ.ต.อ.สีหนาท ประยูรรัตน์ เลขาธิการ ปปง.กล่าวถึงการตรวจสอบเส้นทางการเงินในส่วนของวัดพระธรรมกายที่ได้รับเช็คบริจาคว่า การตรวจสอบประเด็นวัดพระธรรมกายเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ซึ่ง ปปง.ตรวจสอบเฉพาะประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเส้นทางการเงิน และทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิด ส่วนความผิดคดีอาญาเป็นหน้าที่ของดีเอสไอ ทั้งนี้โดยหลักการดำเนินคดีฟอกเงิน ปปง.จะดูเจตนาเป็นหลักว่า คนรับมีส่วนรู้เห็นหรือไม่ว่าเป็นเงินผิดกฎหมาย หากชี้แจงได้ก็ไม่ถือว่ามีความผิด แต่ทรัพย์ที่เกี่ยวข้องต้องถูกยึด

เลขาธิการ ปปง. กล่าวต่อว่า สำหรับการเรียกสอบปากคำ นายสถาพร วัฒนาศิรินุกุล ผู้บริหารบริษัท เอส.ดับบลิว. โฮลดิ้งกรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด กรณีถูกค้นบริษัทพร้อมอายัดทรัพย์ นายสถาพร เข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนแล้ว แต่ไม่สามารถเปิดเผยในรายละเอียดได้ อย่างไรก็ตาม ปปง.จะเสนอกรณีการอายัดทรัพย์ นายสถาพร เข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการธุรกรรมในวันที่ 17 มี.ค. เพื่อมีมติว่าจะถอนการอายัดหรือไม่ ทั้งนี้ ปปง.อยู่ระหว่างตรวจสอบทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการรับเงิน รวมถึงสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนมงคลเศรษฐี ที่ตั้งอยู่ในวัดพระธรรมกายด้วย

“ปปง.ทำงานคู่ขนานกับดีเอสไอ และไม่ได้ละเลยข้อเสนอที่ให้เข้าไปตรวจสอบการครอบครองที่ดินที่อ้างว่ามีการนำเงินที่ได้รับบริจาคจากนายศุภชัย ไปก่อสร้างศาสนสถาน ทำให้ไม่สามารถยึดและอายัดทรัพย์ดังกล่าวได้ เพราะเป็นที่ธรณีสงฆ์” พ.ต.อ.สีหนาท ระบุ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับวันที่ 6 มี.ค.นี้.เวลา 10.00 น. นายกริชธารณ์เพชร ภาดาแดง เจ้าของ บริษัท อิมพีเรียลรีชอร์ส ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัททำธุรกิจเหมืองแร่ใน ต.หนองบัว จ.นครสวรรค์ มีกำหนดเข้าให้ปากคำกับพนักงานสอบสวนดีเอสไอ ในประเด็นที่นายศุภชัยโอนเงินให้กับ บริษัทเอส.ดับบลิว.ฯ ก่อนที่เงินดังกล่าวจะถูกโอนต่อไปยังบริษัทอิมพีเรียลฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น