ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -คดีมหากาพย์ที่มีการยักยอกเงินไปจากบัญชีกองกลาง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จำนวน 1,494ล้านบาท โดยคดีดังกล่าวได้มาถึงจุดที่มีความคลี่คลาย ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ออกมาตั้งโต๊ะแถลงข่าว ประกาศคืนเงินให้กับทางสจล. จำนวน 1,500 ล้านบาท โดยเป็นเงินที่อยู่ในบัญชีของธนาคารไทยพาณิชย์ที่ถูกยักยอกไปจนเกิดความเสียหาย
ทั้งนี้ ความเสียหายที่ทางธนาคารไทยพาณิชย์ชดใช้ เป็นเงินที่สจล.ถูกยักยอกไป ซึ่งเป็นเงินฝากในบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาห้างบิ๊กซี สุวินทวงศ์ 3 บัญชี ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขา สุวรรณภูมิ 1 บัญชี รวม 1.4พันล้านบาท ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขา สจล. 100 ล้านบาท รวมถึงธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาศรีนครินทร์ อีก 80 ล้านบาท
สาระสำคัญของ การออกมาประกาศคืนเงินที่ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ตั้งโต๊ะแถลงข่าว ไปเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2558 ที่อาคารสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา หรือ สกอ. ที่ห้องประชุม ชั้น 5 โดยมีดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ และศ.ดร.โมไนย ไกรฤกษ์ รักษาการแทนอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง พร้อมด้วย รศ.นพ.กำจร ตติยกวี เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เข้าร่วมการแถลงก็คือ ฝ่ายธนาคารไทยพาณิชย์และฝ่ายผู้บริหาร สจล.ซึ่งได้มีการตกลงร่วมกันว่าทางธนาคารจะจ่ายเงินคืนให้แก่ทางสจล.เป็นจำนวน 1,500ล้านบาท และจะขอร่วมฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากผู้กระทำความผิด
โดยเงินจำนวน 1,500 ล้านบาทที่ทางธนาคารไทยพาณิชย์จ่ายให้แก่ สจล.เป็นเงินค่าประกันความเสียหายไว้ก่อนเบื้องต้น โดยทางธนาคารไทยพาณิชย์ได้เพิ่มเติมว่า หากคดีถึงที่สุด และทวงคืนมาได้ค่อยคืนส่วนที่เกิน อีกทั้งทางธนาคารไทยพาณิชย์ยังระบุว่า เงินจำนวนดังกล่าวไม่ได้จ่ายเพื่อปิดบังความผิด โดยจะมีการเดินหน้าหาผู้กระทำผิดต่อไป และที่ให้ไว้ก็ ด้วยเหตุผลที่ว่า ทางสถาบันมีความจำเป็นต้องใช้เงินดำเนินกิจกรรมในสถานศึกษา
“การที่ธนาคารไทยพาณิชย์ให้เงินเพื่อดูแลความเสียหายแก่ สจล.ครั้งนี้นั้น ธนาคารยึดหลักธรรมาภิบาล ความรับผิบชอบต่อลูกค้า และสังคม ซึ่งกรณีนี้ได้ปรากฏว่ามีพนักงานของธนาคารมีส่วนเกี่ยวข้องในการทุจริต ธนาคารจึงแสดงความรับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสจล. ส่วนเรื่องการเอาผิดตามกฎหมายก็ให้เป็นเรื่องของเจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยพร้อมจะสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจอย่างดีที่สุด และจะมีการตรวจสอบบุคคลภายในอย่างเข้มข้นด้วย จะไม่มีการหยุดตรวจสอบอย่างแน่นอน
“และนี่ไม่ใช่เป็นการซื้อหรือจ่ายเพื่อปิดเรื่อง แต่เป็นการให้เงินประกันไว้เพื่อความสบายใจ แต่สุดท้ายแล้วหากพบว่าเสียหายกว่า ทางสจล.ก็คืนให้กับธนาคารเท่านั้น” ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ แจกแจง
คำถามก็คือว่า ท่าทีของธนาคารไทยพาณิชย์ที่จู่ๆยินยอมคืนเงินให้ง่ายดาย และมีจำนวนมากถึง 1,500 ล้านบาทเป็นความสบายใจของใครกันหรือ
ธนาคารไทยพาณิชย์จะแจงให้สังคมหายข้องใจได้หรือไม่ว่า เงินจำนวนดังกล่าวมีที่มาที่ไปอย่างไร
เพราะสังคมเกิดความไม่สบายใจ โดยเฉพาะลูกค้าที่ฝากเงินไว้ในบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์จำนวนมาก ซึ่งก็ทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ตามมาว่าเอาเงินจากที่ไหนมาคืนและยิ่งทางธนาคารไทยพาณิชย์เคยมีเหตุการณ์ที่ทำให้ลูกค้า เกิดความไม่ไว้วางใจ กรณีเหตุไฟไหม้ ที่เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 7 ก.พ.58ซึ่งเป็นจังหวะเดียวกับที่ทางธนาคารจะต้องส่งมอบหลักฐานที่จะสาวไปถึงตัวผู้บงการคดีมหากาพย์ ยักยอกเงินให้แก่ทาง สจล. จนมาวันนี้หลักฐานดังกล่าวส่งมอบให้แก่ทางสจล.ครบหรือยัง
ทั้งนี้ ก่อนที่เรื่องดังกล่าวจะมาลงเอยด้วยวิธีคืนให้จำนวน 1,500 ล้านบาทนั้น ย้อนกลับไปก่อนจะที่เกิดเหตุไฟไหม้ SCB เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 58 เพียงหนึ่งวัน เป็นช่วงจังหวะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ถูกกดดันอย่างหนัก โดยจำต้องส่งมอบหลักฐานสำคัญที่จะชี้ตัวผู้กระทำผิด ในคดียักยอกทรัพย์ สจล. ซึ่งมีกำหนดส่งหลักฐานให้แก่ทางสจล.วันที่ 9 ก.พ.58
โดยในวันที่ 6 ก.พ.58 ศ.โมไนย ไกรฤกษ์ รักษาการแทนอธิบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ได้เดินทางไปกดดันธนาคารไทยพาณิชย์ โดยได้ปิด 3 บัญชีของธนาคารไทยพาณิชย์สาขาเทคโนโลยีฯเจ้าคุณทหาร รวมเป็นเงินกว่า 50 ล้านบาท พร้อมทั้งแจ้งให้บุคคลากร สจล.กว่า 2,000 คน รวมทั้งนักศึกษาที่ต้องรับเงินจากสถาบันให้เลือกใช้ธนาคารอื่น เพื่อตอบโต้ในการที่ธนาคารไทยพาณิชย์ ยังไม่ส่งมอบหลักฐานสำคัญที่จะชี้ตัวผู้กระทำผิดในคดียักยอกเงิน สจล.
“ขณะนี้ยังไม่ได้รับความร่วมมือจากธนาคารไทยพาณิชย์ ในการส่งมอบหลักฐานเอกสารสำคัญที่จะชี้ตัวผู้กระทำผิดได้ชัดเจนอย่างครบถ้วน และยังไม่ถึงครึ่งหนึ่งของธุรกรรมทั้งหมด รวมทั้งเอกสารหลักฐานการยืนยันและผลการสอบสวนอดีตผู้จัดการธนาคาร ซึ่งทำให้สถาบันฯ เกิดความคลางแคลงไม่ไว้วางใจในธรรมาภิบาลของธนาคารอย่างยิ่ง” ศ.โมไนย ไกรฤกษ์ รักษาการแทนอธิบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง แจกแจง
จนกระทั่งวันที่ 7 ก.พ.58 ก็ได้เกิดเหตุเพลิงไหม้ขึ้นที่ SCB สำนักงานใหญ่ขึ้น และก็ทำให้สังคมพุ่งเป้าไปที่เอกสารหลักฐาน ซึ่งตอนนั้นทางธนาคารไทยพาณิชย์ได้ออกมาแจงว่าเอกสารหลักฐานไม่ได้ถูกไฟไหม้ และออกมาแจ้งขอเลื่อนวันส่งมอบเอกสารให้แก่สจล.ออกไป
ธนาคารไทยพาณิชย์ถูกกระแสสังคมกดดันอย่างหนัก จึงได้มีการออกมาให้ข้อมูลว่าได้ส่งเพิ่มให้แก่สจล.ไปแล้ว โดยเพิ่มเติมให้ทั้งหมด 6 รายการ ทว่าก็ยังไม่ครบทั้งหมด จนกระทั่งบัดนี้
สำหรับความคืบหน้าของคดีนั้น ก็คงเป็นความเคลื่อนไหวนายถวิล พึ่งมา อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ซึ่งตกเป็นผู้ต้องหาในคดียักยอกทรัพย์คดีสจล.ได้ไปร้องขอความเป็นธรรมกับผู้ตรวจการแผ่นดิน ทำนองว่าตนถูกตั้งข้อกล่าวหาแต่เป็นคนเดียว และยังมีผู้ที่เกี่ยวข้องในคดีนี้อีก
โดยนายถวิลเรียกร้องให้ตรวจสอบ นายกิตติ ตีรเศรษฐ ซึ่งดำรงตำแหน่งอธิการบดี ปี 2548 - 2555 และนายโมไนย ไกรฤกษ์ ดำรงตำแหน่งอธิการบดี เมื่อปี 2556 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน อีกทั้งยังระบุว่ามีเจ้าหน้าที่ธนาคารมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยแน่นอน
“การยักยอกทรัพย์ครั้งนี้ไม่ใช่คนของ สจล.ทำเพียงฝ่ายเดียว เชื่อว่าต้องมีการร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของธนาคาร เพราะการที่ธนาคารอ้างว่าเมื่อผมพ้นจากตำแหน่งยังได้มีการเปิดบัญชีซึ่งประเด็นนี้เป็นไปไม่ได้ เพราะขนาดที่มีอำนาจเป็นอธิการบดี ธนาคารยังขอดูเอกสารการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นอธิการบดี ถ้าไม่มีคนในธนาคารเกี่ยวข้องจะไปเปิดบัญชีได้อย่างไร
“รวมทั้งเงินที่หายไปก่อนที่ผมจะเข้ามารับตำแหน่ง ได้หายไป 300 ล้านบาท พอตนเข้ารับตำแหน่งได้หายไป 800-900 ล้านบาท และเมื่อพ้นจากตำแหน่งแล้วเงินก็ยังหายไม่หยุด โดยกระบวนการที่เกิดขึ้นไม่มีทางที่ผู้บริหาร สจล.จะทำเพียงฝ่ายเดียว ต้องมีเจ้าหน้าที่ของธนาคารรวมด้วย โดยมีลักษณะ 50-50 อย่างเช่น ธนาคารอ้างว่าตนได้เซ็นเอกสารย้อนหลังทั้งที่ผมไม่มีอำนาจที่จะเซ็น แสดงว่าคนในธนาคารได้ขโมยเอกสารของผมไปใช้ เรื่องนี้มีลับลมคมในอยู่แน่นอน”
แน่นอน ความเคลื่อนไหวของนายถวิลดูจะไม่มีน้ำหนักอะไรมากนัก ใน กรณีของการขอให้ตรวจสอบนายกิตติและนายโมไนย แต่ที่น่าสนใจก็คือการลากโยงไปถึงบุคคลสำคัญในธนาคารไทยพาณิชย์ เพราะเป็นไปไม่ได้ที่จะมีแค่ “นายทรงกลด ศรีประสงค์” ทำเพียงคนเดียว
ดังนั้น ต้องมาจับตาดูกันว่าคดีมหากาพย์ ยักยอกเงินสจล.จำนวน 1,494 ล้านบาท จะจับตัวผู้กระทำผิดที่ยักยอกเงินไปได้ครบหรือไม่ หรือว่าเรื่องจะจบอยู่ที่เงินจำนวน 1,500 ล้านบาทเท่านั้น