ASTVผู้จัดการ-เผยเบื้องหลังตำรวจกองปราบตัดสินใจล็อก “ถวิล พึ่งมา” กับพวก เปลี่ยนแนวสอบสวนกะทันหัน เพราะ “กิตติ ศักดิ์ มัทธุจัด”ยังดำดินผิดสังเกตไม่รู้เป็นหรือตาย เผยทีเด็ดเส้นทางซุกมหาสมบัติ ดอดเก็บบ้านเมียน้อย คาใจ “บิ๊กบอส” ตัวเอ้ยังลอยนวล แกะรอยบิ๊กบอส "อาจารย์" หรือ "นายแบงก์" คาดมีไอ้โม่งธนาคารหลบอยู่หลังฉาก
ในที่สุดคดีทุจริตในสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)ก็เดินทางมาถึงจุดสำคัญเมื่อพนักงานสอบสวนตัดสินใจดำเนินคดีต่อ 3 อดีตผู้บริหาร สจล. 3 คนคือนายถวิล พึ่งมา อดีตอธิการบดีฯนายสรรพสิทธิ์ ลิ่มนรรัตน์ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายการคลัง และนายศรุต ราชบุรี อาจารย์ใน สจล.โดยทั้งหมดเดินทางมาพบกับพนักงานสอบสวนกองปราบปรามตามหมายเรียกเมื่อตอนสายวันที่ 24 ก.พ.
เจ้าหน้าที่ได้แจ้งข้อหาร่วมกันลักทรัพย์ ปลอมแปลงและใช้เอกสารสิทธิปลอม เป็นเจ้าพนักงานของรัฐที่ดูแลทรัพย์แต่เบียดเบียนทรัพย์เป็นของตนเอง เป็นเจ้าพนักงานละเว้นหรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 และร่วมกันฟอกเงิน รวม 5 ข้อหาก่อนนำฝากขังศาลจังหวัดมีนบุรี
นับเป็นความก้าวหน้าของคดีนี้ที่สังคมต่างพากันจับจ้องถึงความเอาจริงเอาจังในการบังคับใช้กฎหมาย และหากย้อนหลังอันเป็นจัดเริ่มต้นของคดีสั่นสะเทือนวงการศึกษาด้วยมูลค่าความเสียหายนับพันล้านบาทนั้นทีมข่าวอาชญากรรม ASTV ผู้จัดการคือสื่อแรกและสื่อเดียวที่เริ่มขุดคุ้ยกระทั่งมีการเสนอข่าวในภาพรวมก่อนมีตัวแทน สจล.ในฐานะผู้เสียหายเข้าแจ้งความร้องทุกข์
วันที่ 21 ธ.ค.2557 หรือปลายปีที่ผ่านมามีรายงานข่าวอาชญากรรมจากASTVผู้จัดการว่าเกิดเรื่องไม่ชอบมาพากลขึ้นในสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)โดยมีผู้ร้องเรียนไปยังพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกสถาบันฯขอให้ตรวจสอบบัญชีเงินกองกลางเนื่องจากพบว่าเงินดังกล่าวถูกยักยอกไปจำนวนมากคาดว่าไม่ต่ำกว่า 1.6 พันล้านบาท และเมื่อมีการร้องเรียนกระทั่งเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบปรากฏว่า ผจก.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาหนึ่งซึ่งมีที่ทำการใก้ลกับ สจล.ได้หลบหนีไป
หลังเกิดเป็นข่าวครึกโครมเจ้าหน้าที่ติดตามจับกุมนายทรงกรด ศรีประสงค์ อดีตผจก.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาบิ๊กซีศรีนครินทร์ ได้เป็นคนแรก น.ส.อำพร น้อยสัมฤทธิ์ ผอ.ส่วนการคลัง สจล.เป็นรายที่สองและค่อยๆสาวต่อไปถึงเครือข่ายรวมเกือบ 10 คน ซึ่งในจำนวนนี้ผู้ต้องหาที่สร้างความฮือฮามากที่สุดในฐานะคนดังในแวดวงเกย์นั่นคือนายภาดา บัวขาว หรือโอ๊ต พราด้า คู่ขานายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด หลังถูกจับกุมนายภาดา ได้เปิดเผยข้อเท็จจริงทั้งหมดโดยยอมรับว่ามี่สัมพันธ์กันนายกิตติศักดิ์ ฐานะคนรักและชีวิตที่สุขสบาย หรูหรามีการเที่ยวเตร่ใช้สอยอย่างสบายกระทั่งเช่าเหมา ฮ.เที่ยวเกาะฮ่องกงก็มาจากการเงินที่นายกิตติศักดิ์ ดูแล
อย่างไรก็ตาม “โอ๊ต พราด้า”หลุดประเด็นสำคัญออกมาให้จับประเด็นด้วยโดยระบุถึง “บอสใหญ่”ที่คอยวางแผนอยู่เบื้องหลังเพราะได้ยินจากนายกิตติศักดิ์ พูดถึง “บอสใหญ่”อยู่บ่อยๆ ในการนี้เจ้าหน้าที่ได้ยึดทรัพย์สินต่างๆประกอบด้วยบัญชีเงินฝาก 130 บัญชี บ้านและที่ดิน อาคารชุดรวมทั้งรถยนต์หรู “แลมโบกินี”ที่ขบวนการโกง สจล.ซื้อขายกับนายปกรณ์ ฉัตรบริรักษ์ หรือบอย-ปกรณ์ ดาราดังในราคา 13.5 ล้านบาทรวมทรัพย์สินที่ติดตามยึดได้กว่า 100 ล้านบาท
ส่วนนายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด ผู้ต้องหารายสำคัญและเชื่อว่าเขาคือกูญแจดอกสำคัญนำไปสู่ “บอสใหญ่”หรือตัวการระดับสูง แต่จนบัดนี้เวลาล่วงเลยไปกว่า 2 เดือนแล้วยังไม่มีวี่แววหรือแม้แต่การเคลื่อนไหว จนรูปคดีต่างๆชักเริ่มแกว่ง จังหวะเดินเครื่องแบบดับๆติดๆของพนักงานสอบสวนกองปราบปราม ในระยะหลังก่อนการตัดสินใจออกหมายเรียก และแจ้ง 5 ข้อหาแก่อดีตบิ๊ก สจล.เชื่อว่าตำรวจได้เปลี่ยนทิศการสอบสวน จากการมุ่งไปที่นายกิตติศักดิ์เพื่อหวังได้คำซัดทอดแต่จนแล้วจนรอดผู้ต้องหารายนี้ก็ยังไม่ปรากฏตัว แม้จะมีข่าวว่าเดินทางหลบหนีไปยังอังกฤษ หรือที่อื่นๆแต่ทางการไทยก็ยังไม่ประสานหรือดำเนินการอะไรเป็นเรื่องเป็นราว
ยิ่งไปกว่านั้นอาจเป็นไปได้ว่านายกิตติศักดิ์ มัทธุจัด ถูกขบวนการโกงเงิน สจล.สั่งเก็บ หรือสั่งปิดปากไปแล้วก็เป็นได้ ประเด็นการสอบสวนเพื่อหาพยานหลักฐานมัดตัวอดีตผู้บริหาร สจล.จึงกำหนดขึ้นใหม่ซึ่ง
นอกจากข้อขัดแย้งตามที่พล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ โฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกมาระบุว่าแม้นายถวิล พึ่งมา กับพวกจะปฏิเสธทุกข้อหาแต่จากพยานหลักฐานและพฤติกรรมพบว่านายถวิล ลงนามเปิดบัญชีสถาบันก่อนที่จะมาดำรงตำแหน่งอธิการบดี รวมทั้งเป็นคนปิดบัญชีหลังหมดสภาพการเป็นอธิการบดีแล้วแต่ยังคงทำหนังสือถึงธนาคาร พร้อมระบุไม่อนุญาตให้ธนาคารตรวจสอบบัญชี หรือสถานะทางการเงินของสถาบัน
นอกจากข้อพิรุธดังกล่าวยังมีรายงานด้วยว่าเจ้าหน้าที่กำลังเร่งตรวจสอบแหล่งซุกเงินซึ่งเป็นภรรยาน้อยของกลุ่มผู้ต้องหา
ข่าวระบุด้วยว่าก่อนหน้าอดีต “บิ๊ก”ระดับผู้บริหาร สจล.ไปพบรักครั้งที่สองกับพยาบาลสาวใหญ่รุ่นราวคราวเดียวกันเมื่อครั้งไปเรียนที่ต่างประเทศจนกลับมาประเทศไทย และอยู่กินกันอย่างลับๆ
ซึ่งคนที่รู้จักกับ “บิ๊ก”ผู้นี้ต่างทราบดี
จึงเชื่อว่าเส้นทางการเงินจำนวนหนึ่งจะต้องส่งผ่านมายังบ้านเล็กแต่การตรวจสอบจะต้องเพิ่มความละเอียดรอบคอบเนื่องจากผู้ต้องหาก็เป็นบุคคลมีฐานะ อย่างไรก็ตามหากพบความผิดปกติย่อมสามารถพิสูจน์ได้ และเชื่อว่าจะเป็นหลักฐานเด็ดมัดตัวจนดิ้นไม่หลุด
มีรายงานเพิ่มเติมว่าถึงแม่การสอบสวนของตำรวจกองปราบปรามจะมาถึงฉากสุดท้ายคือคว้าตัวใหญ่มาเป็นผู้ต้องหาถึง 3 คนคือนายถวิล พึ่งมา อดีตอธิการบดี สจล.นายสรรพสิทธิ์ นิ่มนรรัตน์ อดีตรองอธิการบดีฝ่ายการคลังและนายศรุต ราชบุรี อาจารย์ สจล.ซึ่งไม่เกินความคาดหมายเนื่องจากแนวทางสืบสวนสอบสวนหาผู้เกี่ยวข้องระดับบนล้วนมุ่งไปยังผู้ต้องหาเหล่านี้ทั้งสิ้น แต่ที่ยังคงค้างคาใจต่อสาธารณะชนทั้งหลายที่ได้ติดตามเรื่องนี้ เฉพาะอย่างยิ่งบุคคลในแวดวงสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.)ต่างยังคงเคลือบแคลงใจในพฤติการณ์ของธนาคารไทยพาณิชย์ ซึ่งถือเป็น 1 ในตัวละครหลักซึ้งหากมีการดำเนินงานที่รัดกุมคงไม่เกิดกรณีเช่นนี้แน่
ความไม่ชอบมาพากลของธนาคารแห่งนี้เริ่มจากอุปสรรคของพนักงานสอบสวนที่ไม่ได้รับความร่วมมืออย่างเท่าที่ควร และคำสัมภาษณ์ของนายพงษ์สิทธิ์ ชัยฉัตรพรสุข ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่อาวุโส สายบริหารป้องกันอาชญากรรมทางการเงินและความปลอดภัย ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ระบุว่าก่อนนายทรงกรด ศรีประสงค์ ผู้ต้องหาคนสำคัญจะออกไปจากธนาคาร ไทยพาณิชย์มีการตรวจสอบพบการกระทำผิดระเบียบการเบิกจ่ายเงิน ทำให้ต้องส่งเรื่องให้กรรมการสอบสวนทางวินัยของธนาคารพิจารณา และได้เชิญนายทรงกลด ออกจากงานไปในเวลาต่อมา
“ในช่วงที่เขายังทำงานอยู่กับเรา มีการตรวจสอบพบว่าการเบิกจ่ายเงินส่วนหนึ่งของเขามีการทำไม่ถูกต้องตามระเบียบ เราจึงรู้สึกหมดความไว้วางใจและเสนอเรื่องไปยังกรรมการวินัยของธนาคารเพื่อแจ้งให้เขาลาออกเอง แต่ยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการอะไรขึ้นมาเพราะยังไม่มีความผิดหรือเสียหายอะไรเพียงแต่ดำเนินการไม่ครบถ้วนตามขั้นตอนเท่านั้น”
และยืนยันว่าการออกจากธนาคารไทยพาณิชย์ ไปสู่ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ทางสังกัดเดิมได้ติดต่อและแจ้งข้อมูลให้ทราบแล้วว่านายทรงกรด มีประวัติเช่นไรแต่ไม่เห็นธนาคารแห่งนั้นจะว่าอะไรเลย
ข้อมูลจากนายพงษ์สิทธิ์ ให้อะไรกับสังคมบ้าง ถ้าไม่ใช่เป็นการโยนความผิดไปยังนายทรงกรด อดีตพนักงานของธนาคารไทยพาณิชย์ เองซึ่งขณะนี้ได้ตกเป็นผู้ต้องหาไปแล้ว
เฉพาะในส่วนของธนาคารไทยพาณิชย์ สจล.ตรวจพบค่าความเสียหายทั้งสิ้นถึง 1.5 พันล้านบาท จากบัญชีเงินฝากธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาห้างบิ๊กซี สุวินทวงศ์ 3 บัญชี และธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาสุวรรณภูมิ 1 บัญชี ค่าเสียหายประมาณ 1.4 พันล้านบาท และธนาคารไทยพาณิชย์ สาขา สจล.อีก 100 ล้านบาท มากกว่าธนาคารกรุงศรีอยุธยา สาขาศรีนครินทร์ ที่มีค่าความเสียหาย 80 ล้านบาท
ธนาคารไทยพาณิชย์ จึงตกเป็นจำเลยของสังคมและผู้เกี่ยวข้องใน สจล.อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้และมีความเชื่ออีกประการหนึ่งว่าหากไม่มีผู้มีอำนาจในธนาคาร ธุระกรรมต่างๆที่โกงกันอย่างมโหฬารนั้นจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย
เงื่อนงำต่างๆยังวนเวียนอยู่กับพฤติกรรมของนายทรงกรด และข้อมูลจาก 2 ธนาคารระหว่างไทยพาณิชย์ กับกรุงศรีอยุธยา ว่าได้ให้ข้อมูลอันเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อสาธารณะ หรือต่อรูปคดีแค่ไหนเพราะเป็นที่ทราบกันดีว่าปัจจุบันทุกสถาบันการเงินมีการแข่งขันกันสูง และสิ่งที่เพิ่มมูลค่าให้กับธนาคารมากที่สุดก็คือการมีเงินฝากจำนวนมากๆ จึงอาจเป็นจุดอ่อนให้เจ้าของเงิน หรือผู้รับผิดชอบการเงินดังเช่นกลุ่มแก๊ง สจล.ใช้เป็นเงื่อนไขต่อรองกับธนาคาร จนถึงขั้นปั้นแต่งโจรใส่สูทผูกไททั้งที่เคยมีประวัติไม่น่าไว้ใจไปหนี่งตำแหน่งสำคัญ
อีกเหตุการณ์อันเป็นพิรุธคือกรณีไฟลึกลับเผาชั้น 10 อาคารโซนเอของธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่เมื่อกลางดึกคืนวันที่ 7 ก.พ.ที่ผ่านมาแม้จะไม่เสียหายมากมายแต่ได้สร้างความตื่นตระหนกอยู่พอสมควรกับภาพควันไฟที่พวยพุ่งออกมาอย่างเห็นได้ชัด และจากเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้มีเจ้าหน้าที่กู้ภัยสำลักควันไฟเสียชีวิตไป 1 นายด้วย
ท่ามกลางความสงสัยของประชาชนทั่วไปที่คิดตรงกันว่าน่าจะมีสื่งผิดปกติเกิดขึ้นโดยเฉพาะมาเกิดเหตุระหว่างคดี สจล.กำลังเข้าด้ายเข้าเข็ม ต่างตั้งคำถามว่าหรือจะเป็นการวางเพลิงเพื่อทำลายหลักฐานเนื่องจากจุดเกิดเหตุเป็นห้องเก็บเอกสารของธนาคาร อย่างไรก็ตามในเวลาต่อมา ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ ออกมาชี้แจงว่าต้นเพลิงเกิดขึ้นจากชั้น 10 ซึ่งเป็นห้องถ่ายเอกสารมิใช่ห้องเก็บเอกสาร ส่วนสาเหตุไม่อาจสรุปได้เพราะตอนเกิดเหตุไม่มีใครอยู่ในห้องและตามข้อกังวลของประชาชนว่าเกี่ยวข้องกับคดี สจล.ขอยืนยันว่าไม่เกี่ยวข้องกันอย่างแน่นอน
ทางด้านกองพิสูจน์หลักฐาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติโดยพล.ต.ท.ประวุฒิ ถาวรศิริ กล่าวว่าจากการตรวจพิสูจน์ของ พฐ.ไม่พบสารเร่ง-น้ำมันหรืออื่นใดที่น่าสงสัยแต่สอบพบว่าก่อนเกิดเหตุมีบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งมาพ่นสารกำจัดยุงจึงจะเชิญตัวมาสอบสวนต่อไป
นี่คือรายละเอียดส่วนหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับธนาคารไทยพาณิชย์โดยตรง แม้ในส่วนที่เกี่ยวข้องจากธนาคาร ก็ดีหรือจากตำรวจก็ตามที่คงห้ามความสงสัยจากผู้เกื่ยวข้องที่มีต่อคดีนี้ไม่ได้
ปมประเด็นสำคัญที่มีการพูดในระยะหลังก็คือ “บอส” หรือ “บิ๊กบอส”ที่โอ๊ต พราด้า หลุดปากมานั้นเป็นใครกันแน่
ระหว่างไอ้โม่งในสจล. หรือ ไอ้โม่ง “บิ๊กแบงก์”
เพราะตามปกติหากผู้คนจะเอ่ยถึงใครสักคนไม่ว่าจะเป็นระดับบริหาร หรือระดับล่างถ้าเป็นวงการศึกษามักใช้ “อาจารย์”นำหน้า หากแต่ “บอส -บิ๊กบอส” หรือเจ้านาย จะนิยมใช้ในกลุ่มนักธุรกิจ