xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ซูเปอร์โฮลดิ้ง....คสช. ทำสำเร็จนะจ๊ะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -เป้าหมาย “ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ” ของคณะรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เริ่มเห็นรูปธรรมความสำเร็จขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ยึดอำนาจแล้วออกคำสั่งแต่งตั้ง “ซูเปอร์บอร์ด” ขึ้นมาเพื่องานนี้โดยเฉพาะ

โดยล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ด ครั้งที่ 4/2558 เมื่อวันที่ 2 มี.ค. 2558 ซึ่งมีพล.ประยุทธ์ นั่งเป็นประธาน มีมติเห็นขอบให้มีการจัดตั้ง “บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ” เป็นโฮลดิ้งนำร่องก่อนพัฒนาไปสู่ “ซูเปอร์โฮลดิ้ง” เพื่อเข้ามาคุมรัฐวิสาหกิจเบ็ดเสร็จ

จากถ้อยแถลงภายหลังการประชุมของนายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) มีใจความสำคัญว่า คนร.เห็นชอบในหลักการแนวทางปรับปรุงการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ โดยให้จัดตั้งหน่วยงานทำหน้าที่คล้ายเจ้าของรัฐวิสาหกิจแบบรวมศูนย์ โดยแบ่งออกเป็น 2 หน่วยงาน คือ

1)บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติในรูปโฮลดิ้ง ทำหน้าที่เป็นเจ้าของ บริหารงาน และถือหุ้นรัฐวิสาหกิจที่เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เช่น บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) รัฐวิสาหกิจที่แปลงเป็นบริษัทมหาชน เช่น บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และดูแลรัฐวิสาหกิจที่แปลงเป็นบริษัท จำกัด เช่น บริษัท ขนส่ง จำกัด และบริษัท อู่กรุงเทพ จำกัด เป็นต้น รวมทั้งสิ้น 14 แห่ง จากรัฐวิสาหกิจทั้งหมด 56 แห่ง

และ 2) รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นด้วยกฎหมายเฉพาะ ให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ สคร. เหมือนเดิม เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การประปาฯ เป็นต้น

สาเหตุที่ต้องแยกออกเป็น 2 ส่วน เนื่องจากการนำรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งตามกฎหมายเฉพาะมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของบรรษัทฯ ทันที เป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่ถ้านำรัฐวิสาหกิจที่มีทุนเรือนหุ้น หรือ เป็นบริษัทมหาชนอยู่แล้ว เข้ามาอยู่ภายใต้บรรษัทฯจะไม่มีผลกระทบต่อสัดส่วนการถือครองหุ้น เป็นเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบการกำกับดูแลเท่านั้น

หลังการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ กระทรวงการคลังจะโอนหุ้นของบริษัทมหาชนและบริษัทจำกัดที่ถือหุ้นอยู่มาให้บรรษัทฯบริหารจัดการทั้งหมด โดยบรรษัทฯหรือองค์กรเจ้าของจะทำหน้าที่เหมือนผู้ถือหุ้น ที่จะทำหน้าที่ดูแลรัฐวิสาหกิจโดยเฉพาะอย่างมืออาชีพ เหมือนในต่างประเทศที่มีบริษัทเทมาเส็ก โฮลดิงส์ของสิงคโปร์ หรือ คาซาน่า ของมาเลเซีย

นอกจากนี้ คนร. ยังมอบหมายให้คณะอนุกรรมการที่มีดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นประธาน ศึกษารายละเอียดและยกร่างกฎหมายในการกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจทุกแห่งในภาพรวม ทั้งการจัดทำแผนกลยุทธ์รัฐวิสาหกิจ การสรรหา แต่งตั้ง ถอดถอนคณะกรรมการและผู้บริหารรัฐวิสาหกิจ การจัดทำระบบบรรษัทภิบาล การติดตามประเมินผลคณะกรรมการและองค์กร การตรวจสอบและเปิดเผยข้อมูล

ขณะเดียวกัน คณะอนุกรรมการฯ ยังจะต้องศึกษาการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ทั้งเรื่องการสรรหาคณะกรรมการ กรรมการผู้จัดการ รวมไปถึงอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบและแนวทางการทำงานของบรรษัทฯ โดยคาดว่าจะเสนอเข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อขอความเห็นชอบภายในเดือนมิ.ย. 2558

ณ เวลานี้ บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ จะยังเป็นเพียงโฮลดิ้งเพราะยังไม่ได้รับโอนรัฐวิสาหกิจทั้งหมดเข้ามา แต่ถือเป็นการนำร่องไปก่อน จากแนวความคิดเดิมที่จะให้รัฐวิสาหกิจทั้งหมดเข้ามาอยู่ภายใต้โฮลดิ้งแต่ห่วงเรื่องแรงต่อต้านและต้องมีการวางกรอบป้องกันการแทรกแซงให้ดีเสียก่อน หากผลงานออกมาดีจะทยอยนำรัฐวิสาหกิจอื่นเข้ามาอยู่ภายใต้โฮลดิ้งดังกล่าว

หากมองย้อนกลับไป แนวความคิดเรื่องการจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ หรือ ซูเปอร์โฮลดิ้ง เพื่อเข้ามาบริหารจัดการรัฐวิสาหกิจเบ็ดเสร็จนี้ ริเริ่มมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ เมื่อปี 2549 แล้ว และกุนซือข้างกายที่ให้แนวคิดนี้แก่นายใหญ่ ก็หาใช่ใครอื่นแต่เป็นนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ควบรมว.พาณิชย์ ขณะนั้น และอีกคนที่มีส่วนร่วมอยู่ด้วยก็คือ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล “หม่อมอุ๋ย” ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

และ ณ บัดนี้ บุคคลทั้งสองก็อยู่ข้างกายหัวหน้าคสช. โดยนายสมคิด มีตำแหน่งเป็นที่ปรึกษาคสช. ส่วน “หม่อมอุ๋ย” นั่งเก้าอี้เป็นรองนายกรัฐมนตรีและที่ปรึกษาคสช. ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การตั้งซูเปอร์บอร์ดจะได้รับการผลักดันจนสำเร็จให้เห็นในก้าวแรกในยุครัฐบาลคสช.ที่มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

ความเหมือนที่แตกต่างกันของซูเปอร์โฮลดิ้งระหว่างยุครัฐบาลทักษิณ กับยุค คสช. ก็คือ รัฐบาลทักษิณ มีแนวคิดจัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ เพื่อโอนหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่มีอยู่ในเวลานั้นถึง 9.9 แสนล้านบาทซึ่งอยู่ในบัญชีหนี้สาธารณะของประเทศออกไปโป๊ะไว้ในซูเปอร์โฮลดิ้ง เป็นการแต่งบัญชีเพื่อลดยอดหนี้สาธารณะ โดยบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติดังกล่าวจะมีกระทรวงการคลัง ถือหุ้นทั้งหมดร้อยเปอร์เซ็นต์ และจะทำหน้าที่เข้าบริหารจัดการทั้งหนี้สิน ทรัพย์สิน และรายได้ทั้งหมดของรัฐวิสาหกิจ

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ขณะนั้น ฝันไกลถึงโดยจะออกกฎหมายใหม่มารองรับโดยใช้เวลาประมาณ 6 เดือน นับจากเดือนส.ค. 2548 และบรรษัทฯนี้ จะเป็นบริษัทมหาชนที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ต่อไป

เพียงแค่อ้าปากก็เห็นลิ้นไก่ ขณะที่กระแสขับไล่รัฐบาลทักษิณ ก็เข้มข้นขึ้นจากการแปรรูปการไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ เข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ทำให้เกิดการต่อต้านการจัดตั้งซูเปอร์โฮลดิ้งทุกสารทิศ เพราะนโยบายทุนนิยมแบบสุดขั้วของรัฐบาลทักษิณที่คิดแปลงทุกอย่างเป็นทุน แล้วเรื่องนี้ก็เงียบหายไปเมื่อเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร เดือน ก.ย. 2549 ยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณ

ขณะที่บรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ในสมัยคสช. ที่มีแรงผลักดันของกุนซือคนหน้าเดิม จะออกมารูปลักษณ์ไหน เพราะแม้จะมีเป้าหมายดีที่ต้องการบริหารจัดการการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพ

แต่คำถามสำคัญเรื่องการป้องกันการเข้าแทรกแซงของนักการเมืองหรือผู้มีอำนาจ ความโปร่งใสตรวจสอบได้ จะทำได้กี่มากน้อย เพราะนอกเหนือจากคณะกรรมการในโฮลดิ้งจะต้องไม่ถูกแทรกแซงจากฝ่ายการเมืองแล้ว บรรดาข้าราชการระดับสูงที่มีผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่ในรัฐวิสาหกิจ ยังสวมหมวกอีกใบนั่งอยู่ในโฮลดิ้งด้วยนั้นจะจัดการอย่างไร กรณีบอร์ดปตท. มีให้เห็นเป็นตัวอย่างที่คลาสสิกที่สุด

การออกแบบโครงสร้างคณะกรรมการบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ที่จะมาเป็นอรหันต์คุมรัฐวิสาหกิจเบ็ดเสร็จนั้น จะประกอบไปด้วยผู้มีส่วนได้เสียครบถ้วนทั้งตัวแทนภาครัฐ ตัวแทนของรัฐวิสาหกิจ ภาคเอกชน และภาคประชาชน และจะโปร่งใสตรวจสอบได้สักเพียงไหน นั่นเป็นการบ้านที่คสช.ต้องตอบต่อสังคมให้ได้

มิฉะนั้นจุดหมายปลายทางของซูเปอร์โฮลดิ้งของซูเปอร์บอร์ดยุครัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ อาจเหมือนกับรัฐบาลทักษิณ ที่เป็นเจ้าตำรับผลักดัน “ซูเปอร์โฮลดิ้ง” เพื่อเข้ามาเล่นแร่แปรธาตุแสวงหาประโยชน์จากขุมทรัพย์รัฐวิสาหกิจเข้าพกเข้าห่อของตัวเองและพวกพ้อง ก็เท่านั้น

อย่าลืมว่า ขุมทรัพย์รัฐวิสาหกิจ มันเย้ายวนให้เกิดพลิกล็อกระหว่างทางได้ทุกเวลา ทั้งนี้ ข้อมูลที่กระทรวงการคลัง ได้รายงานฐานะของรัฐวิสาหกิจ 9 สาขา จำนวน 55 แห่ง ณ เดือน มิ.ย. 2557 พบว่า มีทรัพย์สินรวมกัน 11.8 ล้านล้านบาท มีหนี้สิน 9.33 ล้านล้านบาท มีรายได้จากการดำเนินงาน 1.36 ล้านล้านบาท มีรายจ่ายการดำเนินงาน 1.21 ล้านล้านบาท มีกำไรสุทธิ 7.1 หมื่นล้านบาท มีเงินนำส่งรัฐในปีงบประมาณ 2557 ที่ผ่านมา 1.36 แสนล้านบาท

อย่าลืมว่า เวลานี้ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่กำลังพิจารณาหมวดที่ว่าด้วยการปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ โดยประเด็นสำคัญว่าด้วยเรื่องรัฐวิสาหกิจที่กำหนดให้มีองค์กรอิสระเพื่อรับผิดชอบดูแลหน่วยงานที่เป็นเจ้าของรัฐวิสาหกิจ หรือ “ซูเปอร์บอร์ด” ที่ดูแลหน่วยงานรัฐวิสาหกิจชาติทั้งหมดนั้น มีการอภิปรายกันว่าอาจมีปัญหาต่อการบริหารจัดการ โดยยกประเด็นซูเปอร์บอร์ดต่างๆ ที่ตั้งขึ้นมาไม่พบความสำเร็จในการกำกับดูแล และการตั้งซูเปอร์บอร์ดเพื่อกำกับรัฐวิสาหกิจทั้งหมด อาจเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด

ประเด็นที่กมธ. อภิปรายคือที่ผ่านมารัฐวิสาหกิจบางแห่งสามารถประกอบกิจการที่มีผลกำไรแต่มีปัญหาเกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้บริหาร ควรแก้ประเด็นการแต่งตั้งเท่านั้น ขณะที่รัฐวิสาหกิจบางแห่งพบการขาดทุนยาวนาน เช่น การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ควรกำหนดการแปรรูปเฉพาะรัฐวิสาหกิจที่ล้มเหลวหรือมีปัญหายาวนาน ด้วยการให้มีหน่วยงานหรือบุคคลภายนอกที่ไม่ได้อยู่ใน รฟท. หรือ กระทรวงการคลัง ไปดำเนินการ

นั่นสะท้อนว่า การตั้งซูเปอร์บอร์ดเพื่อมาปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ น่าจะมีปัญหาในสายตาของกมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญฯ

เมื่อกมธ.ร่างรัฐธรรมนูญฯ ไม่เห็นพ้องกับการมีซูเปอร์บอร์ด หรือ คนร. ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน จึงไม่แน่ว่า มติ คนร. ที่ให้จัดตั้งบรรษัทวิสาหกิจแห่งชาติ ขึ้นมา จะไปได้ตลอดรอดฝั่งหรือไม่ เมื่อรธน.ฉบับใหม่คลอดออกมาบังคับใช้ และเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง

นี่เป็นอีกประเด็นที่มองข้ามไม่ได้อย่างเด็ดขาด หากพล.อ.ประยุทธ์ ต้องการให้ผลงานโบแดงนี้สำเร็จลุล่วงด้วยดี


สมคิด จาตุศรีพิทักษ์
ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล
กำลังโหลดความคิดเห็น