xs
xsm
sm
md
lg

หญิงวัย34ร้องสนช.ขอลูกคืน หลังรับจ้างอุ้มบุญให้"มะกัน"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (2 มี.ค.) ที่รัฐสภา น.ส.วีรุทัย มณีนุชเนตร กรรมการบริหารสมาคมบัณฑิตสตรีทางกฎหมายแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ ได้นำน.ส.ออย (นามสมมติ) อายุ 34 ปี เข้ายื่นหนังสือต่อ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อขอให้ใช้มาตรการทางการกฎหมาย คุ้มครองผู้รับอุ้มบุญ และบุตรที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์
โดย น.ส.วีรุทัย กล่าวว่า ตนได้รับการร้องเรียนจากน.ส.ออย ว่าได้รับการติดต่อจากนายหน้าคนไทย เพื่อให้รับจ้างอุ้มบุญจากชาวสหรัฐอเมริกา วัย 40 ปีเศษ ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของเสปิร์มโดยติดต่อผ่านทางเฟซบุ๊ก ที่ประกาศหาหญิงไทยที่รับจ้างอุ้มบุญ ซึ่งจะต้องเป็นหญิงที่เคยมีบุตรมาก่อน โดยตกลงค่าจ้างราคา 3.8 -4 แสนบาทต่อราย พร้อมค่าใช้จ่ายรายเดือน 1.4 หมื่นบาทจนถึงวันคลอด โดยได้รับเงินล่วงหน้าจำนวนครึ่งหนึ่งก่อน
น.ส.วีรุทัย กล่าวอีกว่า มีหญิงไทยหลายรายเข้าไปรับจ้างโดยมี นพ.พิสิฐ ที่เคยเป็นข่าวรับจ้างอุ้มบุญให้กับชายชาวญี่ปุ่น ที่มาจ้างหญิงไทยและเป็นปัญหาอยู่จนถึงเวลานี้ โดยน.ส.ออย ไปทำการอุ้มบุญที่ห้องเช่าย่านเพลินจิต ทั้งที่ช่วงดังกล่าว นพ.พิสิฐ ยังอยู่ระหว่างการถูกดำเนินคดี
ทั้งนี้ ระหว่างที่ น.ส.ออย เข้ามาร้องเรียนกับตน ก็ได้รับการติดต่อจาก นพ.พิสิฐ เพื่อขอให้รับเงินค่าจ้างอีกครึ่งหนึ่ง และให้จบคดีนี้ แต่น.ส.ออย อยากได้ลูกคืนเพราะเชื่อว่าเป็นลูกของตัวเอง จึงขอเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่เร่งดำเนินคดี อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ แม้จะมีการทำสัญญารับจ้างอุ้มบุญ แต่ก็ถือเป็นโมฆะ เพราะเป็นการค้าขาย และขัดต่อศีลธรรมในลักษณะซื้อขายมนุษย์ ขัดต่อกฎหมายสำคัญของสหรัฐฯที่ได้ประกาศต่อต้านการค้ามนุษย์ แต่คนสหรัฐฯเองกลับมาทำเรื่องนี้ที่ประเทศไทย ซึ่งทางสมาคมฯได้ทำหนังสือร้องถึงสถานทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย เพื่อขอให้สกัดไม่ให้พ่อชาวสหรัฐฯ นำเด็กคนดังกล่าวออกนอกประเทศ ซึ่งทราบว่าเวลานี้ ยังอาศัยอยู่ในประเทศไทย
ด้าน น.ส.ออย กล่าวว่า ในวันที่ 17 ม.ค. 58 หลังจากตนได้คลอดบุตร ผู้ที่อ้างว่าเป็นพ่อชาวอเมริกัน ได้รับตัวบุตรออกจากโรงพยาบาลและขาดการติดต่อไปเลย ซึ่งตนอยากได้ลูกคืน ลูกอายุประมาณ 1 เดือนแล้ว เพราะสงสัยว่าเด็กคนดังกล่าว จะเป็นลูกของตนเอง เพราะขั้นตอนการดำเนินการ ก็ไม่ทราบว่านำไข่คนอื่นผสมกับสเปิร์มหรือฉีดสเปิร์มเข้าไปผสมกับไข่ของตัวเองหรือไม่ เพราะไม่มีความรู้เรื่องนี้
ขณะที่ นายวัลลภ กล่าวว่า แม้กฎหมายอุ้มบุญ จะมีผลใช้บังคับแล้ว แต่ไม่มีผลย้อนหลังเรื่องนี้ แต่ทางกรรมาธิการฯได้ตั้งอนุกรรมาธิการขึ้นมาดูแลเรื่องนี้ ซึ่งประกอบด้วย กมธ.แพทยสภา สำนักงานตำรวจตรวจคนเข้าเมือง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งนอกจากคลี่คลายปัญหานี้ ยังมีอีกหลายเรื่องได้แก่ กรณีชาวญี่ปุ่นมาจ้างอุ้มบุญ และมีเด็กตกค้างอยู่ 13 ราย และกรณีชาวออสเตรเลีย จ้างอุ้มบุญยังมีปัญหาอีก 400 ราย โดยเฉพาะชาวสหรัฐฯ คาดว่าจะมีผู้ที่่เข้ามาจ้างอุ้มบุญ อีกจำนวนไม่น้อย

** อีก90วัน กม.อุ้มบุญบังคับใช้

น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กล่าวในประชุมวิชาการ "การคุ้มครองผู้บริโภคด้านระบบบริการสุขภาพ และระบบสุขภาพภาคประชาชนแห่งชาติ" ครั้งที่ 2 ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. ... 3 วาระ โดยจากนี้ จะใช้เวลาอีก 90 วัน ในการที่จะบังคับใช้ได้ตามกฎหมาย ซึ่งพ.ร.บ.ฉบับนี้ มุ่งคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ฯ และคนที่ต้องการมีบุตรด้วยวิธีนี้ ต้องดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ว่า ไม่สามารถตั้งครรภ์ด้วยวิธีการทางธรรมชาติได้
สาระสำคัญใน ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ประกอบด้วย เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ หมายความว่า กรรมวิธีใดๆ ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ ที่นำอสุจิและไข่ ออกจากร่างกายมนุษย์ เพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์โดยไม่เป็นไปตามธรรมชาติ รวมทั้งการผสมเทียม ส่วนการตั้งครรภ์แทน หมายความว่า การตั้งครรภ์โดยอาศัยเทคโนโลยีฯ โดยหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน มีข้อตกลงเป็นหนังสือไว้กับสามี และภริยา ที่ชอบด้วยกฎหมายก่อนตั้งครรภ์ว่า จะให้ทารกในครรภ์เป็นบุตรของสามีและภริยา ที่ชอบด้วยกฎหมาย นอกจากนี้ให้มีคณะกรรมการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ (กคทพ.) มีปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เป็นประธาน ทำหน้าที่ในการเสนอความเห็นต่อรัฐมนตรี ในการกำหนดนโยบายคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีฯ
"ส่วนการตั้งครรภ์แทน มีข้อกำหนดตามกฎหมาย คือ 1. สามีและภริยาต้องมีสัญชาติไทย กรณีสามีหรือภริยามิได้มีสัญชาติไทย ต้องจดทะเบียนสมรสมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี โดยหญิงที่รับตั้งครรภ์แทน ต้องเป็นญาติสืบสายโลหิตของสามี หรือภริยา แต่ต้องไม่ใช่บุพการี หรือผู้สืบสันดาน ส่วนกรณีที่ไม่มีญาติ ให้หญิงอื่นรับตั้งครรภ์แทนได้ โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่รมว.สาธารณสุข ประกาศ ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 1 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2. ห้ามมิให้ผู้ใดดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทน เพื่อประโยชน์ทางการค้า ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 2 แสนบาท
3. ห้ามมิให้ผู้ใดเป็นคนกลาง หรือนายหน้า โดยเรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด เพื่อเป็นการตอบแทนในการจัดการ หรือชี้ช่องให้มีการตั้งครรภ์แทน ผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
4. ห้ามมิให้ผู้ใดซื้อ เสนอชื้อ ขาย นำเข้า หรือส่งออกซึ่งอสุจิ ไข่ หรือตัวอ่อน ผู้ใดฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น" อธิบดี สบส. กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น