รมต.สำนักนายกฯ เผยมติวิป สนช.ชงร่าง พ.ร.บ.อุ้มบุญเข้า ครม.พรุ่งนี้ ให้มีข้อตกลงทารกที่ให้หญิงตั้งครรภ์ ต้องเป็นบุตรสามี-ภริยาตาม กม. ใช้เชื้อตัวเอง พร้อมลงโทษหมอทำไม่ถูกวิธี แจงเพื่อคุ้มครองเด็กจนเกิดไม่ให้มีปัญหา ไม่ให้เป็นเรื่องพาณิชย์ และชง พ.ร.บ.การยางฯ เข้าถกด้วย หวังวางระบบให้ครบวงจร ก่อนเสนอ สนช.เห็นชอบ
วันนี้ (17 พ.ย.) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ว่า มติที่ประชุมเสนอร่างกฎหมาย 2 ฉบับเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 18 พ.ย.เพื่อนำเสนอ สนช.ให้ความเห็นชอบ ได้แก่ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สาระสำคัญคุ้มครองเด็กที่เกิดจากเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ ตั้งแต่การตั้งครรภ์จนถึงเกิด สาระสำคัญพ่อแม่ที่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ หญิงที่ได้รับการตั้งครรภ์แทน ต้องมีข้อตกลงเป็นหนังสือไว้กับสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายก่อนตั้งครรภ์ว่าจะให้ทารกในครรภ์เป็นบุตรของสามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมายนั้น การตั้งครรภ์แทนจะไปใช้อสุจิและไข่ของคนที่ตั้งครรภ์แทนไม่ได้ ต้องใช้ของพ่อและแม่เด็กเท่านั้น และต้องเป็นเครือญาติกัน รวมถึงมีบทโทษสำหรับหมอที่ทำไม่ถูกต้องด้วย ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวจะเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ดูเรื่องการดูแลเด็ก กับกระทรวงสาธารณสุข ที่ดูเรื่องการเจริญพันธุ์
เมื่อถามว่า คิดว่าเมื่อออกเป็นกฎหมายแล้ว จะป้องปรามการอุ้มบุญที่ผิดกฎหมายได้หรือไม่ นายสุวพันธ์กล่าวว่า 1. เมื่อร่างกฎหมายนี้บังคับใช้แล้ว กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จะไปช่วยดูแลอย่างไรได้บ้าง เพื่อไม่ทำให้เกิดปัญหาทางสังคม และต่อไปในอนาคตจะดูอย่างไรให้การบังคับใช้มีผลในทางปฏิบัติ แก้ปัญหาสังคมได้ ฉะนั้นกฎหมายนี้วัตถุประสงค์เพื่อคุ้มครองเด็กจนกระทั้งเกิด เพื่อไม่ให้เกิดปัญหากับตัวเด็ก ส่วนเทคโนโลยี ข้อปลีกย่อยในการปฏับัติของคนที่ตั้งครรภ์แทนจะทำอย่างไรนั้นก็ว่ากันไป 2. พยายามไม่ทำให้เรื่องนี้เป็นเรื่องพาณิชย์ ในลักษณะรูปแบบบริษัท มีนายหน้า กฎหมายนี้จะช่วยได้
นายสุวพันธ์กล่าวว่า ส่วนกฎหมายฉบับที่ 2 ร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย โดยหัวใจสำคัญจะมีการตั้งองค์กรการยางแห่งประเทศไทย วางระบบครบวงจร มีกองทุนดูแล รักษาเสถียรภาพราคายาง การวิจัย การพัฒนา และจะทำให้เกิดการปฏิรูปทั้งหมด ของการบริหารจัดการยางของประเทศ จัดสรรผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน การทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และช่วยเรื่องการส่งเสริมการทำงาน ส่งเสริมสถานะความเป็นอยู่ของชาวสวนยางพารา จึงเป็นกฎหมายที่ส่งเสริมยางพาราในบ้านเรา