xs
xsm
sm
md
lg

สศช.คาดจีดีพีโต4.5%นายกรัฐมนตรีลั่นเศรษฐกิจจะดีขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน - สภาพัฒน์คาดการณ์เศรษฐกิจปี 58 ขยายตัวในระดับ 3.5-4.5% ปัจจัยการฟื้นตัวของภาคการส่งออก การลงทุนภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการเร่งรัดการใช้จ่ายและโครงการลงทุนสำคัญของภาครัฐ ส่วนนายกฯ คุยโวเศรษฐกิจกำลังจะดีขึ้น

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมช.คมนาคม ในฐานะเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ แถลงเมื่อวานนี้ (16 ก.พ.) ว่า เศรษฐกิจไทยหรือจีดีพีปี 2558 จะขยายตัวในระดับ 3.5-4.5% โดยมีปัจจัยหนุนคือการฟื้นตัวของภาคการส่งออกตามทิศทางเศรษฐกิจโลก การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว การเร่งรัดการใช้จ่ายและโครงการลงทุนสำคัญของภาครัฐ ราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง รวมทั้งปริมาณการผลิตและจำหน่ายรถยนต์กลับมาขยายตัว ซึ่งจะเป็นตัวช่วยสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้เป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี

อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจยังมีข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยงจากสถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรที่ยังอยู่ในภาวะอ่อนตัว ความผันผวนของระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูง และแนวโน้มการอ่อนค่าของสกุลเงินในประเทศสำคัญๆ ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงปรับตัวเพิ่มขึ้น

ขณะที่เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังมีแนวโน้มอยู่ในเกณฑ์ดีทั้งในด้านดุลบัญชีเดินสะพัดที่มีแนวโน้มเกินดุลมากขึ้นตามการฟื้นตัวของการส่งออกและการลดลงของราคาน้ำมันในตลาดโลกและอัตราการว่างงานที่ยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งปีแรกในขณะที่การปรับตัวของสถานการณ์ด้านราคาในช่วงครึ่งปีหลังยังเป็นประเด็นที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

แถลงการสภาพัฒน์ระบุว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าจะขยายตัว 3.5% การบริโภคของครัวเรือนและ การลงทุนรวมขยายตัว 2.9% และ 6.0% ตามลำดับ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ในช่วง 0.0-1.0% และบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 4.9% ของ GDP ส่วนราคาน้ำมันในตลาดโลกคาดว่าจะยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำที่ราว 50-60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ด้านเศรษฐกิจโลกในปี 58 มีแนวโน้มที่จะขยายตัว 3.5% เร่งขึ้นเล็กน้อยจากการขยายตัว 3.2% ในปี 57 สนับสนุนโดยการขยายตัวเร่งขึ้นของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ซึ่งคาดว่าจะขยายตัวสูงสุดในรอบ 10 ปี อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจกลุ่มประเทศยูโรโซนและญี่ปุ่นยังอยู่ในช่วงของการฟื้นตัวช้าๆ ท่ามกลางแรงกดดันของภาวะเงินฝืด ในขณะที่เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่องจากปี 57 และเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมใหม่และภูมิภาคอาเซียนปรับตัวดีขึ้นจากปีที่ผ่านมาและแรงกดดันจากภาวะเงินเฟ้อลดลง

"การขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แตกต่างกันทำให้ทิศทางนโยบายการเงินระหว่างสหรัฐฯ และประเทศสำคัญๆ อื่นๆ มีความแตกต่างกันมากขึ้น โดยธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นและยุโรปยังอยู่ในช่วงของการดำเนินมาตรการขยายปริมาณเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและลดแรงกดดันจากภาวะเงินฝืดอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ที่มีแนวโน้มผ่อนคลายนโยบายการเงินเพื่อสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ลดแรงกดดันจากภาวะเงินฝืดและการแข็งค่าของอัตราแลกเปลี่ยน เงื่อนไขดังกล่าวทำให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯ มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินสำคัญอื่นๆ"

ส่วนการแข็งค่าของเงินเหรียญสหรัฐฯ ท่ามกลางการเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตน้ำมันในอเมริกาเหนือและการชะลอตัวของเศรษฐกิจผู้บริโภคน้ำมันที่สำคัญๆ ยังทำให้ราคาน้ำมันและราคาสินค้าขั้นปฐมในตลาดโลกยังอยู่ภายใต้แรงกดดันอย่างต่อเนื่อง เมื่อรวมกับแนวโน้มการปรับทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐฯ เงื่อนไขดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะทำให้ประเทศที่มีปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจอ่อนแอและพึ่งพิงรายได้จากสินค้าขั้นปฐมมีความสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจมากขึ้น

 นายกฯ โวเศรษฐกิจกำลังจะดีขึ้น

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ว่า ได้ให้สำนักงานคณะกรรมการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ฯ ชี้แจงสถานการณ์การเงินของประเทศ ซึ่งเท่าที่วิเคราะห์จากไตรมาส3และไตรมาส 4 ของปี 57 รวมแล้วโตขึ้น 0.7% ถือว่าดี เพราะเป็นไปตามการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจภายนอก

"ก็ต้องไปดูว่า ทำไมขึ้นมาแค่ 0.7% ก็ต้องไปดูว่าในไตรมาสที่ 1 และไตรมาสที่ 2 ติดลบมาตลอด พอตนเข้ามารับหน้าที่จึงปรับตัวขึ้นมา การท่องเที่ยวตอนนี้ก็ดีขึ้นมากว่า 20% ตัวเลขนักท่องเที่ยวจากเดิม 7 ล้านคน ก็ขึ้นมาเป็น 7.5 ล้านคน สนามบินก็มีคนมาใช้บริการเพิ่มขึ้น" พล.อ.ประยุทธ์กล่าวและว่า รัฐมนตรีท่องเที่ยวได้รายงานว่า นักท่องเที่ยวจีนและญี่ปุ่นเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก รวมถึงการท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆ ก็ดีขึ้น คนไทยก็ไปเที่ยวมากขึ้น

ส่วนเรื่องอัตราเงินเฟ้อก็ติดลบ นายกฯ กล่าวว่า ฝ่ายการเงินระบุว่าไม่มีผลอะไร เรื่องดอกเบี้ยคิวอีของต่างประเทศที่เขาทุ่มเงินลงมาก็ยังมาไม่ถึงเรา แต่ส่วนใหญ่เป็นการเข้ามาซื้อหุ้นระยะสั้นเก็งกำไรก็ว่าไป ขณะนี้ให้ธนาคารแห่งประเทศไทยไปดู 2 เรื่อง ทั้งเรื่องของอัตราเงินเฟ้อและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้.
กำลังโหลดความคิดเห็น