xs
xsm
sm
md
lg

แผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย (2) : เรื่อง การปฏิรูปการเมืองของไทย ตอน (2.6) ว่าด้วยบุคคลที่สมัครรับเลือกตั้ง กับบุคคลที่ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: วีระศักดิ์ นาทะสิริ

1. กล่าวนำ

ในบทความเรื่อง การปฏิรูปการเมืองของไทย ตอน (2.5) ได้กล่าวถึง ที่มาของบุคคลผู้ปฏิบัติงานให้รัฐ พรรคการเมือง ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารโดยได้กล่าวถึงกระบวนการกลั่นกรองบุคคลผู้ปฏิบัติงานให้รัฐ แต่ไม่ได้กล่าวถึงคุณสมบัติที่สำคัญของบุคคลผู้ปฏิบัติงานให้รัฐด้านการเมืองว่าควรเป็นอย่างไร ดังนั้นในบทความนี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงคุณสมบัติที่สำคัญของบุคคลผู้ปฏิบัติงานให้รัฐด้านการเมืองและบุคคลที่เป็นผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

มีหลายท่านให้ความเห็นเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญว่า ในโลกนี้มีระบอบการปกครองหลากหลาย มีรัฐธรรมนูญที่แต่ละประเทศนำมาใช้หลายรูปแบบ ทำไมไม่เอารัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศมาศึกษาดูแล้วเลือกส่วนที่ดีที่เหมาะสมมาใช้กับประเทศไทยน่าจะเร็วและดีกว่าที่จะให้สภาปฏิรูปแห่งชาติทำการศึกษา และเสนอความคิดเห็นที่เกี่ยวกับการปฏิรูปประเทศไทยซึ่งจะทำให้สิ้นเปลืองทั้งงบประมาณและเวลาไปเปล่าๆ ก็เป็นความคิดเห็นที่น่าสนใจเพราะดูจะคล้ายกับการลอกและตัดแปะวิทยานิพนธ์ที่กำลังเป็นที่นิยมกันในหมู่นักศึกษาหลายสถาบัน– ผู้เขียน

สำหรับความคิดเห็นส่วนตัวแล้ว ผู้เขียนมีความเห็นว่า ประเทศไทยได้นำระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่ลอกแบบจากหลายประเทศในยุโรปและประเทศสหรัฐอเมริกามาใช้ตั้งแต่ปี 2475 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลานานร่วม 83 ปีแล้ว ถ้าจะกล่าวแบบภาษานักอ่านหนังสือกำลังภายในก็คงจะต้องกล่าวว่า เรียนรู้มาทุกสำนัก ร่ายรำได้ทุกกระบวนท่า แต่ก็ยังเอาชนะคู่ต่อสู้สำคัญไม่ได้ (คู่ต่อสู้สำคัญของไทยก็คือการซื้อสิทธิขายเสียง การคอร์รัปชัน ทุจริต และคดโกง การใช้ระบบพรรคพวกมากกว่าหลักความถูกต้อง การยอมเป็นทาสทางความคิดของต่างชาติมากกว่าความเป็นไทยการที่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าผลประโยชน์ของชาติ เป็นต้น)

เมื่อเราได้ใช้เวลานานร่วม 83 ปี ก็ยังเอาชนะคู่ต่อสู้สำคัญดังกล่าวไม่ได้ แล้วเรายังจะตื้อลอกเลียนแบบหรือนำเอาความคิดของคนชาติอื่นมาใช้กับประเทศไทยของเราอยู่อีกต่อไปได้อย่างไร ประการสำคัญก็คือ ขอให้ คสช. ครม. สนช. สปช. และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทุกท่านอย่าลืมว่า บรรพบุรุษของไทยเสียเลือดเนื้อสร้างประเทศไทยของเราเองเราไม่ได้พึ่งพาใครสร้างประเทศนี้ขึ้นมา ดังนั้นเราจึงไม่ได้เป็นหนี้ หรือไม่ได้เป็นขี้ข้าหรือไม่ได้เป็นทาสของสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อังกฤษ หรือประเทศใดในโลกนี้ ถ้าคนไทยได้ไปอยู่ในประเทศที่กล่าวเหล่านี้จะพบว่า สังคมเหลวแหลก ครอบครัวแตกแยกมีการหย่าร้างกันมาก มีคนติดยาเสพติด และคนโรคจิตทุกรูปแบบรวมทั้งมีกลุ่มอาชญากรทุกประเภท เช่น นักเรียนใช้อาวุธปืนเข้ามายิงทั้งครูและนักเรียน มีคดีข่มขืน และฆาตกรรมต่อเนื่องเกิดขึ้นเกือบทุกวัน เป็นต้น แล้วเราจะเดินตามก้นประเทศเหล่านี้ไปอีกทำไม

2. ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับบุคคลที่สมัครรับเลือกตั้งหรือบุคคลที่ต้องการปฏิบัติงานให้รัฐและบุคคลผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

2.1 คุณสมบัติที่สำคัญของบุคคลที่สมัครรับเลือกตั้งหรือบุคคลที่ปฏิบัติงานให้รัฐ

1) ควรจบการศึกษาขั้นต่ำระดับปริญญาตรีในสาขาวิชาที่กำหนดขึ้นตามระเบียบหรือตามหลักเกณฑ์ของหน่วยงานต่างๆ และจากสถาบันที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐานสากล

2) ต้องผ่านการตรวจร่างกายและจิตใจอย่างละเอียด จนปรากฏผลชัดว่า ไม่ได้เป็นโรคติดต่อร้ายแรง หรือไม่ได้ติดยาเสพติด หรือไม่ได้ป่วยเป็นโรคจิตประเภทต่างๆ แต่อย่างใด

3) ต้องไม่เคยถูกดำเนินคดีจนศาลตัดสินลงโทษจากการกระทำความผิดอาชญากรรมประเภทต่างๆ (ยกเว้นเป็นการกระทำด้วยความประมาท) และรวมทั้งการกระทำความผิดจากการคอร์รัปชันหรือการกระทำผิดทางเพศ เช่น การคดโกงฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือการกระทำผิดทางเพศต่อบุคลใดๆทั้งที่เป็นชายและหญิงเป็นต้น

4) ผู้สมัครจะต้องได้รับสัญชาติไทยและเชื้อชาติไทยโดยการเกิดเท่านั้น และจะต้องมีบิดามารดาที่มีสัญชาติไทยในขณะที่ให้กำเนิดผู้สมัครอีกด้วย

5) ต้องผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานทะเบียนประวัติและจริยธรรมสำหรับบุคคลผู้ปฏิบัติงานให้รัฐ (เป็นองค์กรที่ผู้เขียนเสนอให้จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่ในการกลั่นกรองบุคคลที่ต้องการสมัครเข้ารับการเลือกตั้งหรือต้องการดำรงตำแหน่งผู้บริหารในองค์กรของรัฐ) และผ่านการทดสอบจนได้รับใบประกอบวิชาชีพบุคคลผู้ปฏิบัติงานให้รัฐเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (เปรียบเช่นใบประกอบโรคศิลป์ของแพทย์หรือใบประกอบวิชาชีพของผู้ตรวจสอบบัญชี นั่นเอง)

6) ต้องไม่เคยทำงานให้องค์กรหรือหน่วยงานต่างๆที่สังกัดรัฐต่างประเทศ ยกเว้นองค์กรระหว่างประเทศ เช่น องค์การสหประชาชาติ เป็นต้น

7) คุณสมบัติอื่นๆ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

2.2 คุณสมบัติที่สำคัญของบุคคลผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง

1) จะต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิดเท่านั้น และจะต้องมีบิดามารดาที่มีสัญชาติไทยในขณะที่ให้กำเนิดผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอีกด้วย

2) ต้องไม่เป็นบุคคลที่ถูกดำเนินคดีจนศาลตัดสินลงโทษจากการกระทำความผิดอาชญากรรมทุกประเภท (ยกเว้นเป็นการกระทำด้วยความประมาท) และรวมทั้งการกระทำความผิดจากการคอร์รัปชัน เช่น การคดโกงฉ้อราษฎร์บังหลวง หรือการกระทำผิดทางเพศต่อบุคคลอื่นทั้งที่เป็นชายและหญิง เป็นต้น

3) ต้องจบการศึกษาขั้นต่ำตามมาตรฐานการศึกษาของไทยและตามที่กฎหมายกำหนด

4) คุณสมบัติอื่นๆให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด

2.3 เหตุผลที่กำหนดให้บิดามารดามีสัญชาติไทยในขณะที่ให้กำเนิดผู้สมัครรับเลือกตั้ง และผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง (ดูภาพที่ 1 ประกอบ) มีดังนี้
ถ้าไม่กำหนดคุณสมบัติในเรื่องนี้ไว้ ในอนาคตอาจมีบุคคลที่เป็นบุตรของคนต่างด้าวซึ่งแม้จะได้อยู่อาศัยในประเทศไทยมาเป็นเวลานาน แต่ยังคงไม่เข้าใจหรือยึดมั่นในค่านิยม ขนบธรรมเนียมประเพณี และวัฒนธรรมของไทยอย่างลึกซึ้ง เนื่องจากไม่ได้เติบโตและได้รับการศึกษาของไทยในวัยเด็ก จึงอาจไม่รู้สึกผูกพันต่อการดำรงอยู่ของชาติไทยแต่อย่างใด และถ้ามีบุตรในประเทศไทย บุตรของบุคคลเหล่านี้ก็จะกลายเป็นบุคคลสองสัญชาติที่ส่วนใหญ่ยังผูกพันและยึดมั่นในขนบธรรมเนียมประเพณีของประเทศที่บิดามารดาของตนเกิดและเติบโตมา มากกว่าที่จะยึดมั่นในค่านิยมและความเป็นประเทศไทย

ดังนั้น ถ้าเราไม่กำหนดคุณสมบัติในเรื่องสัญชาติไว้ให้รัดกุม ในอนาคตประเทศไทยอาจก็มีนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่มีบิดามารดาเป็นคนต่างชาติอย่างแน่นอน และเมื่อนั้นความเป็นไทยก็คงสูญสิ้นไปพร้อมกับชาติไทยในที่สุด ขอให้ดูกรณีตัวอย่างจากบุตรของแรงงานต่างด้าวชาวพม่าที่อพยพเข้ามาทำงานในร้านก๋วยเตี๋ยวชื่อดังที่เมืองทองธานี ได้สัญชาติไทยและเข้ารับการศึกษาในโรงเรียนของไทย ต่อไปอาจเข้ารับการศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษาของไทย และถ้าเข้ารับราชการหรือลงสมัครรับเลือกตั้ง ก็จะมีโอกาสเข้ามามีบทบาทในการบริหารและปกครองประเทศไทย ซึ่งอาจมีผลทำให้ประเทศไทยมีผู้นำที่มีบิดามารดาเป็นคนต่างด้าวที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากในไทยนั่นเอง ความรู้สึกซาบซึ้งในวัฒนธรรมความเป็นคนไทยและความยึดมั่นในสถาบันพระมหากษัตริย์ของไทยก็ย่อมจะไม่ลึกซึ้งดังเช่นคนไทยโดยทั่วไป กรณีเช่นนี้อาจทำให้ไทยต้องสูญเสียความเป็นชาติไทย ซึ่งเปรียบได้กับการเป็นเมืองขึ้นในอดีตนั่นเอง

ภาพที่ 1 สิทธิของบุคคลที่มีเชื้อชาติและสัญชาติไทย

3. สิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง : ความยุติธรรมแบบก้าวหน้า

ในความคิดเห็นส่วนตัว ผู้เขียนมีความเห็นว่า ถ้าคำนึงถึงความยุติธรรมแล้ว ประชาชนทุกคนไม่ควรได้รับสิทธิการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเท่ากัน เนื่องจากประชาชนแต่ละคนได้ให้ประโยชน์แก่รัฐและสังคมไม่เท่ากัน ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงขอเสนอให้พิจารณานำหลักความยุติธรรมก้าวหน้า (Progressive Justice) มาใช้ในการกำหนดสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้คนไทยตามจำนวนที่ผันแปรไปตามจำนวนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่แต่ละคนได้เสียให้แก่รัฐในแต่ละปี

3.1 สิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแบบดั้งเดิมที่ใช้กันโดยทั่วไป

ภาพที่ 2 จะแสดงถึงการที่ประชาชนทุกคนได้รับสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเท่ากันทุกคน โดยไม่ได้คำนึงผลประโยชน์ที่รัฐหรือสังคมได้รับ (Social Benefits) จากบุคคลนั้นแต่อย่างใด สรุปก็คือ คนว่างงานไม่มีงานทำ (หรือเสียภาษีเท่ากับ 0 บาท) กับคนที่มีงานทำเสียภาษีให้รัฐจำนวนมากเป็นประจำทุกปี (ตั้งแต่ 40,000 – 160,000 บาทต่อปี) จะได้รับสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง 1 เสียงเท่ากัน ซึ่งผู้เขียนมีความเห็นว่า ไม่ได้ให้ความเป็นธรรมต่อสมาชิกทุกคนในสังคม

ภาพที่ 2 การให้สิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเท่ากันทุกคน

3.2 สิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งแบบก้าวหน้าตามจำนวนภาษีเงินได้ที่เสีย

การให้ประชาชนทุกคนได้รับสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งเท่ากันทุกคน แม้จะมีความเท่าเทียมกันก็จริง แต่ก็ได้สร้างไม่ยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคมด้วยเช่นกันเพราะมีกลุ่มบุคคลที่ไม่ได้ให้ประโยชน์ใดๆ แก่รัฐหรือสังคมเลย แต่กลับได้รับสิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่างๆ อย่างเต็มที่จากรัฐ (ไม่รวมผู้ด้อยโอกาส และคนพิการต่างๆ) ด้วยเหตุนี้ผู้เขียนจึงขอเสนอให้นำหลักความยุติธรรมแบบก้าวหน้า มาใช้ในการกำหนดสิทธิในการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งให้ประชาชนแต่ละคน โดยจะผันแปรไปตามจำนวนภาษีเงินได้บุคคลที่ได้เสียให้แก่รัฐและสังคม ดังตัวอย่างที่แสดงในภาพที่ 3

ภาพที่ 3 การให้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้งตามหลักความยุติธรรมแบบก้าวหน้า (ตามภาษีเงินได้)

จากภาพที่ 3 จะแสดงถึงการให้สิทธิออกเสียงเลือกตั้งผันแปรตามจำนวนภาษีเงินได้ คือ

- ผู้ที่เสียภาษีตั้งแต่ 0-40,000 บาทได้รับสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจำนวน 1 เสียง

- ผู้ที่เสียภาษีตั้งแต่ 40,000–80,000 บาทได้รับสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจำนวน 2 เสียง

- ผู้ที่เสียภาษีตั้งแต่ 80,000–120,000 บาทได้รับสิทธิออกเสียงเลือกตั้งจำนวน 3 เสียงเป็นต้น

4. บทสรุป

ผู้เขียนเชื่อว่า การนำหลักความยุติธรรมแบบก้าวหน้ามาใช้ในการกำหนดสิทธิออกเสียงเลือกตั้งให้แก่ประชาชนทุกคน จะเป็นการให้ความยุติธรรมแก่ประชาชนทุกคนมากกว่าการให้สิทธิลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง 1 เสียงเท่ากัน เพราะไม่เพียงจะทำให้ประชาชนทุกคนได้รับความเป็นธรรมตอบสนองจากการเสียภาษีให้แก่รัฐและสังคมอย่างถูกต้องเท่านั้น แต่ยังทำให้ประชาชนทุกคนได้รับรู้ถึงสิทธิในฐานะประชาชนคนไทยที่มีหน้าที่และความรับผิดชอบต่อรัฐและสังคมในการเสียภาษีเงินได้ให้แก่รัฐอีกด้วยที่สำคัญก็คือ เป็นการสนับสนุนคนที่ทำดีไม่คดโกงและไม่หนีภาษีนั่นเอง
อย่างไรก็ดี ผู้เขียนมีความเห็นว่า รัฐบาลควรจะต้องดำเนินการปฏิรูประบบการจัดเก็บภาษีให้มีความยุติธรรมและโปร่งใสยิ่งขึ้น โดยชำระหรือยกเลิกกฎระเบียบหรือกฎหมายเก่าๆ ที่ไม่ได้ใช้หรือล้าสมัยไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อป้องกันไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐอาศัยช่องว่างของกฎระเบียบต่างๆ แสวงหาผลประโยชน์จากประชาชนอย่างเช่นที่ได้เคยทำมา

ในเรื่องนี้ได้มีผู้ให้ความคิดเห็นเพิ่มเติมว่า ไม่เพียงจะต้องปฏิรูปกฎระเบียบและกฎหมายต่างๆ เท่านั้น แต่ควรกำหนดโทษสูงสุดถึงขั้นประหารชีวิตสำหรับเจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่ในการจัดเก็บภาษีที่แสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบอีกด้วย เมื่อการจัดเก็บภาษีมีความเป็นธรรมมากขึ้น เราก็จะสามารถนำข้อมูลการเสียภาษีเงินได้ที่ถูกต้องมาคำนวณหาสิทธิการออกเสียงเลือกตั้งให้แก่ประชาชนได้อย่างถูกต้องด้วยเช่นกัน

ท้ายบทความ

ผู้เขียนขอชี้แจงมายังผู้อ่านที่กำลังรอคอยบทความในเรื่องต่างๆ อยู่ว่า ผู้เขียนไม่ได้หยุดเขียน แต่อาจช้าไปบ้างเพราะบางครั้งก็มีงานด่วนเข้ามาแทรก สำหรับบทความ แผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย (12.2) เรื่อง นามสกุล นั้น ผู้เขียนกำลังรวบรวมข้อมูลให้ชัดเจนขึ้น จึงก็ต้องขออภัยที่ผู้อ่านอาจจะต้องรอไปอีกสักพักหนึ่ง ส่วนบทความ แผ่นดินของไทย ปัญหาของคนไทย (4) ผู้เขียนจะขอเน้นหนักในเรื่องปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวกับครอบครัว เด็ก สตรี คนชรา และผู้ด้อยโอกาสต่างๆ จึงขอให้ทุกท่านได้ติดตามบทความต่างๆ ในตอนต่อไป ขอบคุณครับ

หมายเหตุ : ถ้าต้องการแสดงความคิดเห็นและสอบถามปัญหาที่ udomdee@gmail.com
กำลังโหลดความคิดเห็น