ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -สถานการณ์ของมิสเตอร์ปรองดอง “บิ๊กป้อม-พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ “พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์” ณ เวลานี้ ดูเหมือนว่าจะตกอยู่ในสถานการณ์ที่ “ล่อแหลม” เป็นอย่างยิ่ง
ความล่อแหลมที่ว่านี้ หมายถึงความล่อแหลมที่สุ่มเสี่ยงจะกลายเป็น “ไพ่ที่ถูกทิ้ง” จากเกมแห่งอำนาจที่บีบรัดเข้ามาทุกที โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีความเคลื่อนไหวจาก “ป๋าเปรม-พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ
กระทั่งไม่แน่นักว่า สถานะของ พล.อ.ประวิตรที่เคยทะยานสู่จุดสูงสุดในความเป็นผู้มีบารมีทางการเมืองคนใหม่ ซึ่งถนนทุกสายต่างพุ่งตรงไปหาจนหัวบันไดบ้านไม่แห้ง จะดำรงอยู่ได้นานสักแค่ไหน
ทั้งนี้ หนึ่งในสัญญาณล่าสุดที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ก็คือ กรณีที่ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีทำเรื่องขออนุญาตต่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เดินทางไปยังฮ่องกงเพื่อพบพี่ชายสุดที่รัก นช.ทักษิณ ชินวัตร ตามคำกล่าวอ้างของ “อ้ายปึ้ง-นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล” ทาสในเรือนเบี้ยของตระกูลชินวัตรว่า เหมาลำเครื่องบินเพื่อไปกินโจ๊ก
พล.อ.ประวิตรที่รักษาการแทนในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีหลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) เดินทางไปเยือนประเทศญี่ปุ่น ได้แสดงท่าทีอัน “แปลกประหลาด” ออกมาจนสังคมตั้งคำถามกันไปต่างๆ นานา เกี่ยวกับอำนาจในการอนุญาตให้นางสาวยิ่งลักษณ์เดินทางออกนอกประเทศในช่วงระหว่างวันที่ 8-22 กุมภาพันธ์ 2558 ทั้งๆ ที่รู้อยู่ว่าอัยการสูงสุด(อสส.) จะยื่นฟ้องคดีทุจริตโครงการรับจำนวนข้าวต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในช่วงเวลาเดียวกัน และมีความเป็นไปได้ในเปอร์เซ็นต์สูงยิ่งที่นางสาวยิ่งลักษณ์อาจตัดสินใจ “หนี” เฉกเช่นเดียวกับพี่ชาย
“การที่นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกชะลอการเดินทางไปต่างประเทศนั้น มาจากการพิจารณาของอัยการสูงสุด คสช.ได้สอบถามไปยังอัยการสูงสุดแลได้รับคำตอบว่า ขณะนี้คดีโครงการรับจำนำข้าวของอดีตนายกฯ อยู่ในชั้นตอนกระบวนการยุติธรรมแล้ว จึงมีข้อกังวลใจเรื่องคดีความ อัยการสูงสุดจึงเห็นว่า ควรชะลอการเดินทางไปต่างประเทศของนางสาวยิ่งลักษณ์ไว้ก่อน หากทนายความของนางสาวยิ่งลักษณ์างไปจากเหตุผลนี้ ต้องไปสอบถามอัยการสูงสุดเอง เพราะผู้พิจารณาอนุญาตหรือไม่นั้น ไม่ใช่ คสช.”
พล.อ.ประวิตรที่รักษาการแทนนายกรัฐมนตรีกล่าวเมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2558
เมื่อ พล.อ.ประวิตรเล่นโบ้ยอย่างนี้ ก็เกิดคำถามเอากับมิสเตอร์ปรองดองว่า อ้าว...ถ้า คสช.ไม่มีอำนาจแล้วใครในบ้านนี้เมืองนี้จะมีอำนาจ เพราะ คสช.คือองค์รัฏฐาธิปัตย์ผู้มีอำนาจสูงสุดมิใช่หรือ
มิหนำซ้ำ คสช.ยังสามารถใช้ มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้อย่างกว้างขวางและครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งอำนาจฝ่ายนิติบัญญัติ อำนาจฝ่ายบริหารและอำนาจฝ่ายตุลาการ
ถามว่า คนอย่าง พล.อ.ประวิตรจะไม่รู้เชียวหรือว่า ขอบข่ายอำนาจของ คสช.นั้น มีแค่ไหน
คล้อยหลังจากคำให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประวิตรไม่นานนัก สัญญาณแรงๆ ก็ถูกส่งผ่านออกมาจากปากของ “นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย” ซึ่งต้องถือว่าเป็นคนของ คสช.โดยตรง
นายวิษณุกล่าวว่า “การที่ คสช.จะอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ใครจะเดินทางออกนอกประเทศเป็นอำนาจ คสช.ไม่เกี่ยวกับเรื่องศาล หรือเรื่องอะไรทั้งนั้น จะมาบอกว่าไม่สมควร เพราะยังไม่ถูกฟ้องไม่ต้องเอามาพูด เป็นการใช้อำนาจ คสช.ตามกฎอัยการศึก ซึ่งมีหลายคนที่อยู่ในข่าย”
คำกล่าวของนายวิษณุมีความสำคัญยิ่ง
เหตุที่ว่าสำคัญยิ่ง เพราะต้องไม่ลืมว่านายวิษณุคือที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ พ่วงด้วยรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย และหัวหน้าคณะร่างรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557
อะไรคือเหตุผลที่ทำให้นายวิษณุกล้าออกมาหัก พล.อ.ประวิตรชนิดทำให้หน้าแตกชนิดหมอไม่รับเย็บเช่นนี้
เป็นไปได้หรือไม่ว่า การที่นายวิษณุออกมายืนยันความมีอำนาจของ คสช.ผ่านการให้สัมภาษณ์ต่อสาธารณชน ในขณะที่ พล.อ.ประวิตรปฏิเสธ เป็นเพราะนายวิษณุได้รับสัญญาณอะไรบางประการ
ไม่ใช่ถอดถอนเท่ากับไม่ปรองดอง ซึ่งเป็นวาทกรรมที่มีความพยายามในการพูดกรอกหูและยัดเยียดให้กับสังคมมาโดยตลอด
หากแต่คือสัญญาณให้เห็นว่า รัฐบาลจะต้องควบคุมมิให้นางสาวยิ่งลักษณ์มีโอกาส “ไปแล้วไปลับไม่กลับมา” เหมือนผู้เป็นพี่ชาย
เป็นสัญญาณที่สอดคล้องกับการเคลื่อนไหวของ พล.อ.เปรมที่ประกาศเจตนารมณ์ชัดว่า การโกงชาติเป็นสิ่งที่ พล.อ.เปรมรังเกียจที่สุด พร้อมกับเสนอให้มีการจัดตั้ง “ศาลฉ้อราษฎรบังหลวง” เพื่อย่นระยะเวลาในการเอาผิดกับคนโกงบ้านโกงแผ่นดิน
ไม่เช่นนั้น สัญญาณที่เคยเลือนรางของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เกี่ยวกับการถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์จะมาชัดเจนในวันสุดท้ายของการลงมติได้อย่างไร
ไม่เช่นนั้น อัยการสูงสุดที่เคยยืนอยู่ในอีกฝั่งหนึ่งจะกลับมามีมติสั่งฟ้องนางสาวยิ่งลักษณ์ในคดีอาญาทุจริตรับจำนำข้าวเพียงไม่กี่ชั่วโมงการการลงมติถอดถอนได้อย่างไร
นี่คือความชัดเจนในยุคที่บ้านเมืองต้องการการปฏิรูปและการกำจัดคนโกงอย่างจริงๆ จังๆ
ไม่เพียงแต่นายวิษณุ เครืองามคนเดียวเท่านั้น หากแต่ยังมีสัญญาณที่น่าสนใจออกมาจากปากของรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลที่ทำให้ พล.อ.ประวิตรถูกตั้งคำถามในเรื่องของความน่าเชื่อถือ
นั่นคือคำประกาศของ พล.อ.ประวิตรหลังนั่งหัวโต๊ะประชุมร่วมกับพ่อค้ายางรายใหญ่ในประเทศซึ่งมีเครือข่ายครอบคลุมทั่วภาคใต้ที่รู้จักกันในนาม 5 เสือวงการยางไทยก่อนที่จะออกมาแถลงเสียงดังฟังชัดว่า “ในอีก 1 เดือนข้างหน้า ราคายางจะถีบตัวขึ้นไปถึงกิโลกรัมละ 80 บาท เพราะผู้ค้ายางรายใหญ่รับปากแล้วว่าจะทำการลุยซื้อยาง โดยรัฐบาลจะเป็นผู้ใช้เงินกู้เพื่อใช้ในการชี้นำตลาดให้ราคายางสูงขึ้น”
แน่นอน ชาวสวนยางย่อมดีใจกับคำประกาศรับปากของผู้มากบารมีอย่าง พล.อ.ประวิตร แต่คำถามก็เกิดขึ้นว่า จะเป็นเช่นนั้นจริงหรือ
ได้มีการปรึกษาหารือกับแม่ทัพเศรษฐกิจอย่าง ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรีและนายอำนวย ปะติเส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขุนพลของรัฐบาลในการแก้ปัญหาราคายางแล้วหรือ
ในที่สุดคำตอบก็เด่นชัดขึ้นจากปากของ ม.ร.ว.ปรีดียาธร ซึ่งแม้จะไม่ได้เอ่ยถึงชื่อ พล.อ.ประวิตร แต่ก็บ่งบอกอะไรบางอย่างได้เป็นอย่างดี
“อย่าไปคาดหวังลมๆ แล้งๆ ซึ่งเราต้องพูดกันในข้อเท็จจริงเนื่องจากโลกลง เหมือนการคาดหวังราคายาง 80 บาท นี่คือลมๆแล้งๆเลย ไม่เชื่อผมไม่เชียร์นะ แต่ทุกคนไม่ดูตลาด ตอนนั้น ยาง 51 บาท เมื่อ ก.ย. ดึงมา 63 บาท ตั้งใจว่าจะให้ถึง 70 บาท แต่บังเอิญมีเรื่อง ยางเทียม 60 กว่าบาท คงจะดึงยางพาราให้ 70 บาทได้ แต่ราคาน้ำมันมันลง เหลือ 45-46 จาก80 เหรียญ ทำให้ราคายางมันลดมาด้วย ยางเทียมมันทดแทนยางพาราได้เลย สิ่งนี้คือมันกดราคายางพาราไว้ มันมีจุดของมัน ได้แค่ไหนก็แต่นั้น ฉะนั้น คนในรัฐบาล ก็ฝันลมๆแล้งๆ ฝันกันไป โลกมีขึ้นมีลง ต้องอยู่ให้ได้ ช่วยกันให้ได้
“เอาอำนาจที่ไหนมา เราผลิตยางประเทศเดียวหรอ ใช้ยางประเทศเดียวหรอ ทุกอย่างมีเหตุมีผล เราอยากขึ้นมั้ย เราอยากขึ้น แต่ในเมื่อยางเทียมมันยังไม่ถึง 40 บาท ซึ่งธรรมชาติของราคายางพารา จะได้ประมาณ 46-47 บาท ขณะนี้ 63 บาทแล้ว มากกว่านี้ ก็จะเสียหาย แก่งบประมาณประเทศ ขาดทุนกันหมด แล้วถามว่าใครรับผิดชอบ”
ยิ่งย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่า บทบาทอันเคยโดดเด่นของ พล.อ.ประวิตรได้ถูกลดทอนลงโดยสิ้นเชิง เริ่มจากกรณีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ที่มีธงเด่นชัด กลับถูกหักลงอย่างหน้าตาเฉยจากการลงมติของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) ที่ไม่เห็นด้วย แถมหัวเรือใหญ่ในการเคลื่อนไหวก็คือ “พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป” อดีตนายทหารคนสนิทของ พล.อ.เปรม
ส่วนเรื่องการถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ในคดีทุจริตรับจำนำข้าวของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ที่มีการเคลื่อนไหวผ่าน สนช.สายทหารมาโดยตลอดว่า ไม่ต้องการแตกหักกับระบอบทักษิณ เพราะต้องการลดความขัดแย้ง โดยมีตรรกะที่เป็นอันหนึ่งอันเดียวว่า ถ้าไม่ต้องการให้เกิดความขัดแย้งก็ไม่ต้องถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์
โดยเฉพาะ “บิ๊กกี่-พล.อ.นพดล อินทปัญญา” สนช.สายทหาร ที่ปรึกษา คสช.เพื่อนรัก พล.อ.ประวิตรที่เคยให้สัมภาษณ์ชัดเจนว่า ไม่เห็นด้วยกับการถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ก่อนมาออกตัวในภายหลังว่าเป็นความเห็นส่วนตัวและเป็นความเห็นเดิมเพราะขณะนั้นยังไม่เห็นสำนวนถอดถอนอย่างเป็นทางการจาก ป.ป.ช.
ทว่า สุดท้ายเมื่อ สนช.ลงมติถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ 190 ต่อ 10 ภารกิจของการปรองดองจึงล้มเลวเป็นคำรบสอง
ไหนจะเรื่องการระเบิดที่สยามพารากอน การจับขบวนการล้มเจ้า การใช้ยุทธศาสตร์โลกล้อมประเทศ ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่า ความพยายามในการปรองดองของ พล.อ.ประวิตรไม่เป็นผล ความสงบที่ผ่านมาเป็นเพียงภาวะการแกล้งตายเท่านั้น
ขณะที่ภาระกิจทางเศรษฐกิจก็ทำให้ พล.อ.ประวิตรร้อนรุ่มไม่แพ้กันเพราะเวลาที่ผ่านไป ทำให้รัฐบาล คสช.ถูกตั้งคำถามหนักขึ้นเรื่อยๆ เรื่องฝีไม้ลายมือในการบริหารราชการแผ่นดิน จนต้องเรียกประชุมนายทหารและรัฐมนตรีจากกระทรวงต่างๆ เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อเร่งการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดิน แก้ปัญหาเงินค้างท่อจนทำให้งานไม่เดินหน้า
เพราะความจริงปรากฏว่า งบลงทุน 33 เปอร์เซ็นต์ เพิ่งเบิกจ่ายไปได้เพียง 13 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าต่ำกว่าเป้าหมายมาก
ดังนั้น ถึงตรงนี้ คงต้องกล่าวว่า สถานการณ์ของรัฐบาล คสช.อยู่ในภาวะร่อแร่เต็มที เพราะทุกอย่างบีบคั้นจนไม่เป็นไปตามแผนการที่วางไว้ สถานการณ์การเมืองไทยได้แปรเปลี่ยนกลับกลายไปโดยสิ้นเชิง กลับตาลปัตรจากเดิมที่กระแส “ปรองดอง” ดังกระหึ่มทั่วทั้งแผ่นดิน สอดรับกับท่าทีประนีประนอมของคณะรักษาความสงบแห่งชาติไปในทางตรงกันข้าม
สัญญาณที่ชัดเจนจากป๋า ทำให้ พล.อ.ประวิตรถึงกับไปไม่เป็นเลยทีเดียว
ส่วนสุดท้ายจะมี “การแก้เกม” ออกมาให้รูปใดเพื่อเรียกศรัทธาและบารมีให้กลับคืนมา ก็คงต้องติดตามสถานการณ์กันอย่างใกล้ชิด แต่ที่แน่ๆ คือไม่ง่ายที่จะทำตามที่ปรารถนาเหมือนเช่นที่ผ่านมาอีกแล้ว