xs
xsm
sm
md
lg

ห้ามไปนอก-อสส.ฟ้อง 19 ก.พ. จับตาปูขอลี้ภัย คสช.แจงรอบคอบ-ทนายโวย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTVผู้จัดการรายวัน - "ประยุทธ์" ปัดตอบกรณี คสช.เบรก"ยิ่งลักษณ์" บินนอก ให้ไปอ่าน นสพ.ดู ขณะที่โฆษก คสช.แจง จะกระทบเงื่อนไขรูปคดี ที่อัยการสูงสุดจะส่งสำนวนฟ้องในวันที่ 19 ก.พ.นี้ ด้านทนาย ชี้ "ปู" ยังไปนอกได้ อ้างเหตุยังไม่ยื่นฟ้องต่อศาล ชี้การสั่งห้ามออกนอก อาจกระทบสิทธิและเสรีภาพ "นิพิฏฐ์" ชี้ข้อต่างคดีนักการเมืองศาลพิจารณาคดีไม่ได้ หากไร้จำเลยในวันพิจารณาคดีวันแรก เตือน "ยิ่งลักษณ์" เผ่นหนี จะเสียประโยชน์เอง จับตาใช้วิธีขอลี้ภัยทางการเมือง

เมื่อเวลา 08.50 น. วานนี้ (8 ก.พ.) ที่ท่าอากาศยานทหาร กองบิน 6 ดอนเมือง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้สัมภาษณ์ก่อนเดินทางไปประเทศญี่ปุ่น ถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า คสช.ไม่อนุญาตให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางไปประเทศฮ่องกง ตามที่ยื่นหนังสือขอเดินทางไปต่างประเทศ 1 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 8 ก.พ. ต่อ คสช. ว่า "ให้ไปอ่านหนังสือพิมพ์ดูนะ หนังสือพิมพ์เขาเขียนว่าอย่างไร"

ด้าน พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และโฆษกกองทัพบก กล่าวถึงกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะขอเดินทางไปต่างประเทศว่า กรณีนี้ขั้นตอนการพิจารณาก็อาจต้องใช้เวลามากขึ้น ไม่เหมือนช่วงที่ผ่านมา เพราะต้องนำองค์ประกอบ และเหตุผล ทั้งทางเจตนาและทางกฎหมาย มาพิจารณาด้วย โดยเฉพาะในขณะนี้กำลังเริ่มเข้าสู่กระบวนการในทางคดีฯ ที่อัยการสูงสุดสั่งฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในคดีทุจริตจำนำข้าว ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาทางการเมือง จึงอาจจะต้องมีการประสานขอแนวทางที่เหมาะสมสอดคล้องกับข้อปฏิบัติทางกฎหมาย กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ คสช.ต้องใช้ดุลยพินิจอย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดความสะดวกกับผู้ขออนุญาต และไม่ให้กระทบกับกระบวนการทางคดี

สำหรับการเดินทางไปต่างประเทศหลายบุคคลที่มีเงื่อนไข ให้แจ้งบอกกล่าวมาทาง คสช.ก่อน ขอเรียนว่า ส่วนใหญ่ต้องการความเป็นส่วนตัว ไม่ประสงค์ให้ถูกรบกวน จึงเป็นไปได้ที่แม้ว่าจะได้รับอนุญาตแต่อาจไม่เป็นที่รับทราบของสังคม

ทั้งนี้ มีรายงานว่า อัยการสูงสุด จะส่งสำนวนฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในวันที่ 19 ก.พ.นี้

**สปช.หวั่นปล่อยเสือเข้าป่า

พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า ตนไม่มองเรื่องนี้ว่าเป็นการจำกัดสิทธิเกินไป เพราะก่อนหน้านี้ที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังไม่เป็นผู้ต้องหาคดีอาญา ทาง คสช. ก็อนุญาตให้เดินทางไปต่างประเทศได้ตามปกติ แต่วันนี้เมื่อเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา คงอนุญาตลำบาก เพราะตัวอย่างในอดีตก็มีให้เห็นแล้วว่า เคยมีผู้ต้องหาหลบหนีไปต่างประเทศแล้วไม่ยอมกลับมาต่อสู้คดี ซึ่งส่วนตัวไม่ได้มองแง่ร้ายว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นเสือที่กำลังจะขอหนีเข้าป่า แต่ถ้าครั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช. ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ออกนอกประเทศได้ แล้วเกิดสิ่งผิดพลาดขึ้นมา แม้หัวหน้าคสช.เองก็คงตอบคำถามไม่ได้ ทั้งนี้ไม่คิดว่าประเด็นนี้จะทำให้เกิดภาพว่า คสช. กำลังบีบคั้นอดีตนายกฯ มากเกินไป จนกระทบภาพความปรองดองที่สปช. กำลังทำงานอยู่ เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ ตัดสินใจตามหลักสากล ไม่ได้ใช้อารมณ์ เชื่อว่าประชาชนคงเข้าใจ

** อ้างยังไม่ยื่นฟ้องศาล"ปู"ไปนอกได้

นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทนายความส่วนตัวของน.ส.ยิ่งลักษณ์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ตามที่มีกระแสข่าวว่า คสช.ไม่อนุญาตให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางออกนอกประเทศตามคำขอ โดยอ้างเหตุคดีเรื่องจำนำข้าว ที่อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องน.ส.ยิ่งลักษณ์ ไปแล้วนั้น นายนรวิชญ์ กล่าวว่า ทางทีมทนายทำงานอยู่ในกรอบเฉพาะในทางคดีเท่านั้น ส่วนการที่น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะเดินทางไปที่ไหน อย่างไร หรือไม่นั้น ทางอดีตนายกฯ ไม่จำเป็นต้องแจ้งให้ทางทีมทนายทราบ เพราะเป็นเรื่องส่วนตัวของท่าน

ทั้งนี้ ความจริงแล้ว หากน.ส.ยิ่งลักษณ์ ประสงค์จะเดินทางออกนอกประเทศในช่วงนี้ ก็ไม่ได้ติดขัดในเรื่องข้อกฎหมายอะไร แม้ว่าอัยการสูงสุดจะมีความเห็นสั่งฟ้องในคดีโครงการรับจำนำข้าวไปแล้ว ก็เป็นเพียงความเห็นเท่านั้น ยังไม่ได้มีการยื่นฟ้องต่อศาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ จึงไม่ได้อยู่ในอำนาจการควบคุมของอัยการสูงสุด หรือศาล ในคดีอาญามีหลักอยู่ว่า

“ในคดีอาญาต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหา หรือจำเลย ไม่มีความผิด จนกว่าศาลจะได้มีคำพิพากษาถึงที่สุด" ซึ่งหลักกฎหมายดังกล่าวนี้ รัฐธรรมนูญ ที่เป็นกฎหมายสูงสุดของไทยเราที่ผ่านๆมา ทุกฉบับ ก็ได้ให้การรับรอง และคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องหา หรือจำเลยไว้ แม้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราว พ.ศ. 2557 ก็ได้รับรอง และคุ้มครองไว้ใน มาตรา 4

ส่วนการยื่นฟ้องคดีอาญา ของอัยการสูงสุด ต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น มีขั้นตอน ที่แตกต่างจากการอัยการยื่นฟ้องคดีอาญาทั่วๆ ไป ตั้งแต่ในชั้นการยื่นฟ้องต่อศาล และการพิจารณาว่า จะมีคำสั่งประทับรับฟ้องไว้หรือไม่ ในวันยื่นฟ้องคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กฎหมายกำหนดแต่เพียงให้สำนักงานอัยการสูงสุด ที่เป็นโจทก์ส่งสำนวนการไต่สวนของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ต่อศาล พร้อมคำฟ้อง เพื่อประกอบการพิจารณา และรวมไว้ในสำนวนเท่านั้น กฎหมายไม่ได้กำหนดว่า ในการยื่นฟ้องต่อศาลฯ ให้นำตัวผู้ถูกกล่าวหามาศาลด้วย

ทั้งนี้ มีตัวอย่าง เทียบได้ในคดี เมื่อเร็วๆ นี้ที่มีการยื่นฟ้อง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งในวันยื่นฟ้อง ก็ไม่ต้องนำตัวอดีตนายกฯสมชาย ไปศาลด้วย แม้ภายหลังการยื่นฟ้องแล้วก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งประทับรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาหรือไม่นั้น ยังมีขั้นตอนของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ในการที่จะเลือกผู้พิพากษาในศาลฎีกา เป็นองค์คณะผู้พิจารณาพิพากษาอีกขั้นตอนหนึ่ง และเมื่อศาลมีคำสั่งประทับรับฟ้องแล้ว ศาลจึงจะส่งสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลย และนัดคู่ความมาศาล ในวันพิจารณาครั้งแรก ซึ่งในวันพิจารณาครั้งแรกจึงเป็นวันที่จำเลยต้องไปปรากฏตัว ต่อหน้าศาลศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

ดังนั้น ในสำนวนคดีโครงการรับจำนำข้าว เมื่อยังไม่การกำหนดนัดพิจารณาครั้งแรก หากคสช. มีคำสั่งห้าม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ออกนอกประเทศ ด้วยเหตุผลว่า อัยการสูงสุดมีความเห็นสั่งฟ้องคดีโครงการรับจำนำข้าวแล้วนั้น คำสั่งของคสช. นั้น น่าจะขัดต่อหลัก การคุ้มครองสิทธิ และเสรีภาพ ของผู้ต้องหา หรือจำเลย ในคดีอาญา ที่รัฐธรรมนูญของไทย ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุด ได้รับรอง และคุ้มครองไว้ตลอดมา

** ชี้หาก"ปู"หนี คดีหยุดชะงัก

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถึงเรื่องนี้ว่า ตนยังไม่ทราบรายละเอียด และข้อเท็จจริง คงต้องให้คสช. เป็นผู้ยืนยัน และออกมาชี้แจงเหตุผลว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเรื่องนี้ขึ้นอยู่กับ คสช. จะกำหนดแนวทาง การที่อัยการสูงสุดจะมีความเห็นสั่งฟ้องในคดีโครงการรับจำนำข้าว ทุกคนที่อยู่ในบัญชีรายชื่อ หากจะเดินทางออกนอกประเทศต้องมีการขออนุญาต ตนก็เข้าใจว่า คสช.พิจารณาถึงความจำเป็นในการเดินทาง และความมั่นใจว่า จะไม่มีการหลบหนี เหมือนกรณีที่เคยเกิดขึ้นกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่สามารถเดินทางออกนอกประเทศได้ เนื่องจากศาลอนุมัติ แต่ในครั้งนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังไม่ได้ขึ้นศาล จึงต้องเป็นอำนาจของคสช. เช่นเดียวกับอีกหลายคน ที่หากจะเดินทางไปต่างประเทศก็ต้องขออนุญาต ร่วมถึงตนด้วย

นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณี คสช.ไม่อนุญาตให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เดินทางไปฮ่องกง ว่า ตามหลักของการดำเนินคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีความแตกต่างกับการดำเนินคดีอาญาทั่วไปอยู่บางข้อ ที่สำคัญคือ คดีอาญาทั่วไป หากจำเลยหลบหนีไประหว่างการพิจารณา ศาลจะพิจารณาต่อไปไม่ได้ จะต้องจำหน่ายคดีออกไปชั่วคราว และออกหมายจับจำเลยนั้น

แต่สำหรับคดีของนักการเมืองนั้น ความสำคัญอยู่ที่จำเป็นต้องได้ตัวจำเลยมาปรากฏตัวต่อหน้าศาลฎีกาฯ ในวันพิจารณาวันแรก เมื่อจำเลยมาศาลในวันพิจารณาวันแรกแล้ว หลังจากนั้น หากจำเลยได้หนีไป ศาลก็มีอำนาจที่จะพิจารณาลับหลังจำเลยได้ ส่วนกรณีที่จำเลยไม่มาปรากฏตัวต่อหน้าศาลในการพิจารณาคดีวันแรก ศาลฎีกาฯ จะไม่สามารถพิจารณาคดีนั้นๆ ได้เลย มีตัวอย่างปรากฏให้เห็นแล้วคือ คดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ที่ศาลฎีกาฯได้มีการพิจารณาคดีไปเพียงคดีเดียวเท่านั้น คือ คดีการซื้อที่ดินย่านรัชดาฯ ส่วนคดีอื่นๆ แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีพยานและหลักฐานพร้อมส่งฟ้อง แต่ก็ไม่สามารถเปิดคดีได้ เพราะพ.ต.ท.ทักษิณ ไม่ได้มาปรากฏตัวต่อหน้าศาลฯในวันเปิดพิจารณาวันแรก

" ดังนั้นการได้ตัวจำเลยเพื่อมาศาลในวันแรก จึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญสำหรับการดำเนินคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การหลบหนีภายหลัง ไม่ใช่เรื่องสำคัญแล้ว แต่จำเลยที่หลบหนีจะเสียประโยชน์เอง กรณีนี้ คสช. คงต้องการให้คดีเข้าสู่การพิจารณาตามที่ประชาชนและสังคมคาดหวังว่า คดีที่นักการเมืองมีส่วนเกี่ยวข้องไม่มีความคืบหน้าเลยหรืออย่างไร ซึ่งคดีจะเดินหน้าต่อได้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะต้องไปปรากฏตัวต่อหน้าศาล ในการพิจารณาคดีวันแรก" นายนิพิฏฐ์ กล่าว

***จับตา"ปู"ขอลี้ภัยแทนหลบหนี

นายนิพิฎฐ์ กล่าวด้วยว่า เมื่ออัยการสูงสุด มีมติสั่งฟ้องคดีอาญา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตามข้อกล่าวหาของป.ป.ช. ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยมิชอบในโครงการรับจำนำข้าว เท่ากับว่า เวลานี้อยู่ในระหว่างกระบวนการของคดี และเมื่ออัยการสูงสุด ส่งสำนวนฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แล้ว จะมีการกำหนดวันให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ในฐานะผู้ถูกร้อง ต้องไปแสดงตัวศาลฎีกาตามลำดับต่อไป จากนั้นหาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะขออนุญาตคสช. เพื่อเดินทางออกนอกประเทศอีกครั้ง ก็มีแนวโน้มที่จะได้รับการอนุมัติ ซึ่งในการพิจารณาคดีอาญา อาจใช้เวลายาวนานเป็นปี

เมื่อถามว่า หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า ที่สุดแล้ว น.ส.ยิ่งลักษณ์ อาจใช้วิธีการขอเดินทางออกไปนอกประเทศแล้วไม่กลับมาเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย เช่นเดียวกับ พ.ต.ท.ทักษิณ นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า โดยส่วนตัวแล้วตนเชื่อว่าจากบทเรียนของ พ.ต.ท.ทักษิณ ที่เลือกการหลบหนีคดี และไม่เป็นผลดีตลอดมานั้น น่าจะทำให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่เลือกแนวทางในลักษณะดังกล่าว แต่น่าจะเลือกการทำเรื่องขอลี้ภัยทางการเมืองมากกว่าที่จะเดินทางออกนอกประเทศ และไม่กลับมา เนื่องจากการขอลี้ภัยทางการเมือง จะส่งผลให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีเครดิตมากกว่า ได้ทั้งสิทธิ และความชอบธรรม ที่จะสามารถนำไปใช้ในการขยายผลทางการเมืองได้ต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น