รองหัวหน้า ปชป.แนะ คสช.สั่ง ตม.เข้มห้าม “ยิ่งลักษณ์” เดินตามรอย “พี่แม้ว” หนีไปต่างประเทศ ชี้จ้อโดนคดีอาญาต้องมีมาตรฐานสูงกว่าตนและพวกที่ถูกห้ามเช่นกัน พร้อมถามเหตุ สนช.ไม่ถอด 2 อดีตประธาน อ้างไร้ รธน.50-ลดขัดแย้ง รับไม่ได้ ทั้งที่ศาล รธน.วินิจฉัยว่าผิด ฉะไม่ลงโทษคนผิดจะปฏิรูปทำไม แนะถอดถอนต้องเขียนคำวินิจฉัยเผยแพร่ “นิคม” รับสบายใจ ขอบคุณ สนช.
วันนี้ (23 ม.ค.) นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวภายหลังจากที่อัยการสูงสุดมีมติสั่งฟ้องอาญา น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีโครงการรับจำนำข้าวแล้ว ศาลจะมีคำสั่งห้ามออกนอกประเทศ เหมือนคดีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ที่ศาลก็มีคำสั่งแต่ พ.ต.ท.ทักษิณก็ยังหลบหนีออกไปได้ ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำรอยพี่ชาย ตนเห็นว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ควรอำนาจที่มีสั่งไปยังกองบัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง หรือ ตม.ทุกแห่ง ให้ดูแลอย่างเข้มงวดไม่ให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางออกนอกประเทศ
“กรณีนี้มีบทเรียนมาแล้วว่ากว่าที่ศาลจะมีคำสั่ง พ.ต.ท.ทักษิณก็ออกนอกประเทศไปนานแล้ว โดยที่ไม่มีใครรู้ หรือสกัดกันได้ทัน จึงไม่ควรให้มีการซ้ำรอยในคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์อีก” นายนิพิฏฐ์กล่าว และว่าขนาดตนเองและกลุ่มบุคคลอีกหลายคนที่ได้ไปร่วมเจรจากับ คสช.ก่อนการปฏิวัติทุกวันนี้ยังถูกสั่งห้ามเดินทางออกนอกประเทศ และ ตม.ก็ควรตรวจตรา ดังนั้นในกรณีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ถือเป็นผู้ที่เข้าข่ายกระทำผิดคสช.จึงควรวางมาตรฐานที่สูงกว่า เพราะนอกจากถูก สนช.ถอดถอนในวันนี้แล้วยังจะโดนคดีอาญาที่ร้ายแรงกว่าพวกตนด้วยซ้ำ
นอกจากนี้ นายพิฏฐ์ยังกล่าวถึงการที่ สนช.มีมติไม่ถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา ตนเชื่อว่าสังคมอยากรู้ว่าเหตุที่ไม่ถอดถอนของ สนช.แต่ละคนคืออะไร การจะอ้างว่าเพราะรัฐธรรมนูญ 50 ไม่มีแล้วตนรับไมได้ เพราะก็ยังมี พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่กำหนดเรื่องการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ซึ่งยังมีผลบังคับใช้อยู่ และที่สำคัญศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่า บุคคลทั้งสองมีความผิด การที่ สนช.ไม่ถอดถอน ทำให้กลายเป็นว่าประมุขสถาบันนิติบัญญัติทำผิดกฎหมายสูงสุดของประเทศกลับลอยนวล
“แม้จะมีการตีความได้สองทาง แต่อย่าลืมว่าเป็นการกระทำผิดก่อนที่จะมีการปฏิรูป แต่ตอนนี้เราก้าวเข้าสู่ยุคปฏิรูปแล้ว กลายว่าเขาไม่ผิด ถือเป็นเรื่องแปลกเพราะมันสวนทางกัน ในเมื่อมีการปฏิรูปแล้วก็ควรเอาคนผิดมาลงโทษให้ได้ ไม่เช่นนั้นจะปฏิรูปทำไม จะอ้างว่ายกประโยชน์ให้จำเลยก็ไม่ได้เพราะคำนี้ใช้กับคดีอาญาเท่านั้น แต่นี่เป็นความผิดทางการเมืองที่ย้อนหลังได้ ซึ่งศาลเคยตัดสินเป็นบรรทัดฐานไว้แล้ว”
อย่างไรก็ตาม แม้การถอดถอนจะเป็นความลับ แต่สังคมอยากรู้ว่าเหตุผลซึ่งนำมาสู่การถอดถอนหรือไม่ถอดถอนคืออะไร ดังนั้น ขอเสนอว่าเมื่อเราต้องการให้มีการปฏิรูปประเทศก็ควรจะกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญให้กระบวนการถอดถอนสมาชิกต้องเขียนคำวินิจฉัยส่วนตนและมีการเผยแพร่ต่อสาธารณชนเหมือนกับศาลรัฐธรรมนูญ หรือกรณีคำพิพากษาของศาลยุติธรรม
เมื่อถามว่า สนช.ถอดถอน น..ส.ยิ่งลักษณ์ แต่ไม่ถอดถอนนายสมศักดิ์ และนายนิคม มองว่าเพราะการลดกระแสความขัดแย้งหรือไม่ นายนิพิฏฐ์กล่าวว่า ถ้าคิดเช่นนั้นถือเป็นการใช้ดุลยพินิจที่ใช้ไมได้ เพราะหากต้องการปรองดองโดยปล่อยคนผิดไปไม่ได้ และกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ ถือว่ามีความผิดไม่ต่างจากบุคคลทั้งสอง แถมทั้งนายสมศักดิ์ และนายนิคมศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยแล้วว่าผิด ต่างจากของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ที่ยังไม่มีองค์กรศาลชี้ว่าผิดเลย
ด้านนายนิคมได้เปิดเผยภายหลังที่ สนช.ลงมติไม่ถอดถอนจากตำแหน่งว่า ขณะนี้ถือว่าหมดภาระที่ต้องต่อสู้แล้ว ที่ผ่านมาได้ชี้แจงด้วยเหตุและผลตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์ของตนเอง ต่อสู้ในแง่กฎหมายครบทุกประเด็น ตามที่ได้ถูกกล่าวหา จากนี้ไปก็ขอพักผ่อนก่อน ยังไม่ได้คิดจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ตอนนี้สบายใจมาก และขอขอบคุณ สนช.ที่ได้ใช้เหตุและผลในการลงมติ