xs
xsm
sm
md
lg

“ปู”ลุยเองแจงสนช.คาดต้นก.พ.รู้ผลถอดถอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอง ปธ.สนช.เผยขั้นตอนพิจารณาถอดถอน “สมศักดิ์-นิคม-ยิ่งลักษณ์” คาดปลายเดือน ม.ค.ลงมติได้ รับมีแรงกดดันจากทุกฝ่าย แต่ขอยึด กม.เป็นหลัก สับพวกลิ่วล้อพล่านนอกสภาฯไร้ประโยชน์ ด้าน “นิคม” ใจแข็งขอมาชี้แจงเอง ส่วน 38 อดีต ส.ว.นัดถกหาทางสู้คดี 14 ม.ค.นี้ “ตวง” พวกไม่สำนึกผิดหาทางเบรก สนช. ขณะที่รองหีวหน้า ปชป.เตือน “บิ๊กตู่” ใช้อำนาจ ม.44 จะยุ่งไปกันใหญ่ แนะ “เอนก” ระบุให้ชัดลบ้างผิดใครบ้าง ซัด สนช.ใจไม่ถึงไม่กล้าถอดถอน ลาออกไป

วานนี้ (5 ม.ค.) นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงการประชุมของ สนช.เพื่อพิจารณาวาระถอดถอน นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.มิชอบ ในวันที่ 8 ม.ค.นี้ว่า ในวันดังกล่าวจะเป็นการแถลงเปิดคดี โดยผู้แทนของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะเป็นผู้เริ่มแถลงเปิดคดีในแต่ละสำนวน ขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาคือ นายสมศักดิ์และนายนิคม หรือผู้ได้รับมอบหมายก็ได้ จะแถลงในลักษณะแก้ข้อกล่าวหา โดยแต่ละสำนวน คาดว่าจะใช้เวลาแถลงสำนวนละ 2 ชั่วโมง จากนั้น สนช.จะตั้งคณะกรรมาธิการ 1 ชุดจำนวน 21 คน เพื่อซักถามโดยรวบรวมคำถามต่างๆจากสมาชิก สนช.ที่จะส่งเข้ามาภายในวันที่ 7 ม.ค. จากนั้นภายใน 7 วัน จะเข้าสู่กระบวนการซักถามคู่กรณี คาดว่าในช่วงปลายเดือน ม.ค.จะแล้วเสร็จว่าจะลงมติถอดถอนหรือไม่

“สุรชัย” ชี้โหวตถอด “ปู” ก.พ.

ในส่วนของวาระการพิจารณาถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่ง สนช.จะประชุมในวันที่ 9 ม.ค.นั้น นายสุรชัยกล่าวว่า จะดำเนินการในรูปแบบเดียวกัน แต่สมาชิก สนช.จะส่งคำถามได้ถึงวันที่ 8 ม.ค. เนื่องจากจะมีการแถลงเปิดคดีในวันที่ 9 ม.ค. และคาดว่าจะมีการลงมติถอดถอนหรือไม่ในช่วงปลายเดือน ม.ค. หรือต้นเดือน ก.พ.ขึ้นอยู่กับจำนวนคำถามชองสมาชิก สนช.

นายสุรชัย ยังกล่าวถึงกรณีที่มีการวิจารณ์ว่า หากสนช.ดำเนินการถอดถอน จะกระทบต่อการปรองดอง หรือหากไม่ดำเนินการ ก็จะตกเป็นจำเลยของสังคมว่า สนช.ทำหน้าที่ตามที่กฎหมายบัญญัติ เมื่อ ป.ป.ช.ส่งเรื่องดังกล่าวมา ซึ่งอยู่ในอำนาจของ สนช. เราก็ไม่มีทางเลือกอื่น หากจะให้ สนช.หยุดการพิจารณาคดี ก็ต้องขอคำแนะนำด้วย แต่ในขณะนี้ตนมองไม่เห็นช่องทางอื่น ส่วนมติจะออกมาเป็นอย่างไร ตนเชื่อว่า สนช.มีอิสระทางความคิดที่จะรับฟังคำแถลงจากทั้ง 2 ฝ่าย เพื่อที่จะนำสิ่งที่ปรากฏในสำนวนมาชั่งน้ำหนักว่าสิ่งใดถูกหรือผิด ถ้า สนช.ดำเนินการถูกต้องและเป็นธรรม ก็เชื่อว่าจะไม่กระทบต่อคำวิจารณ์ต่างๆ

“ต้องขอความเห็นใจ เพราะไม่ว่า สนช.จะทำหรือไม่ทำ ย่อมได้รับแรงเสียดทาน จึงต้องเลือกทางที่ดีที่สุดคือ ทำตามกฎหมาย และความถูกต้อง” นายสุรชัย ระบุ

อัดพวกพล่านนอกสภาฯไร้ประโยชน์

นายสุรชัย เปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้ผู้ถูกกล่าวหาทั้ง 3 คน ยังไม่ตอบรับว่าจะมาแถลงหรือต่อสู้คดีด้วยตนเองหรือไม่ ซึ่งตนก็อยากจะฝากไปยังคนที่เกี่ยวข้องที่ออกมาวิจารณ์ ตนอยากจะให้ออกมาต่อสู้อย่างเป็นทางการ คือการเข้ามาแถลงในสภา เพราะ สนช.ต้องพิจารณาตามข้อเท็จจริงในสำนวน การไปพูดภายนอกและอยู่นอกสำนวน ก็จะไม่เป็นผลดี

นายสุรชัย ยังกล่าวปฏิเสธกรณีที่มีกระแสข่าวว่า กลุ่ม 38 ส.ว.ที่กำลังจะถูกถอดถอนมองว่า สนช.ที่อยู่ในกลุ่มอดีต 40 ส.ว.จะมีอคติ หากมีการพิจารณาสำนวนถอดถอนว่า ทุกคนเป็นเพื่อนกันหมด ไปฟังมาจากไหน และ 38 ส.ว.ก็เป็นเพื่อนตน ทำงานร่วมกันมา แม้แต่สมาชิกพรรคเพื่อไทย ที่ออกมาระบุว่า เสียงในการถอดถอนไม่เพียงพอ ก็เป็นเพียงการคาดคะเน การพิจารณาเรื่องดังกล่าวว่าจะผิดหรือถูกควรยืนอยู่บนพยาน หลักฐาน จะใช้ความเกรงใจมาตัดสินไม่ได้ ต้องยืนหยัดบนความถูกต้องแม้จะไม่ถูกใจก็ตาม

“ยิ่งลักษณ์” ลุยเองแจงถอดถอน

ขณะที่ นายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง ทีมทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้รับผิดชอบคดีรับจำนำข้าว กล่าวถึงการเตรียมตัวแถลงเปิดคดีโครงการรับจำนำข้าวของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ในวันที่ 9 ม.ค.ต่อ สนช.ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะไปชี้แจงข้อเท็จจริง เพื่อคัดค้านการแถลงเปิดคดีของ ป.ป.ช.ในโครงการจำนำข้าวด้วยตัวเอง โดย น.ส.ยิ่งลักษณ์มีความมั่นใจว่า จะสามารถชี้แจงข้อเท็จจริงในโครงการทั้งหมดต่อ สนช.ได้ เนื่องจากเห็นว่าโครงการดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือประชาชน ซึ่งในวันที่ 6 ม.ค. ตนจะไปยื่นหนังสือต่อประธาน สนช. เพื่อยืนยันว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์พร้อมจะไปชี้แจงโต้แย้งข้อเท็จจริงในคดีดังกล่าวต่อที่ประชุม สนช.ในวันที่ 9 ม.ค.นอกจากนี้ในวันที่ 7 ม.ค.จะไปยื่นหนังสือต่ออัยการสูงสุด เพื่อขอความเป็นธรรมไม่ให้รีบเร่งส่งฟ้องคดีอาญาโครงการจำนำข้าว จนกว่าจะมีการสอบข้อไม่สมบูรณ์ในคดีจนครบถ้วนทุกประเด็น

“นิคม” พร้อมหอบหลักฐานสู้

ด้าน นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ส่วนตัวไม่รู้สึกวิตกกังวลแต่อย่างใด พร้อมสู้คดีไปตามข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายในทุกประเด็น โดยแนวทางการต่อสู้คดีส่วนใหญ่จะใช้หลักฐานและเอกสารต่างๆเช่นเดียวกับที่เคยใช้ต่อสู้คดีในชั้นของ ป.ป.ช. อาทิ บันทึกการประชุมที่ถอดมาจากชวเลข รายงานของคณะกรรมาธิการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับการประชุม เป็นต้น ทั้งหมดเป็นหลักฐานที่มาจากข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย

“ไม่มีสิ่งใดน่ากังวลเลย หลักฐานของผมไม่มีประเด็นอะไรที่พูดลอยๆ และในวันที่ 8 ม.ค.นี้ ก็พร้อมจะเดินทางมาชี้แจงกับทาง สนช.ด้วยตัวเอง เพื่อจะได้อธิบายเหตุผลทุกเรื่องให้ สนช.ได้รับทราบในทุกประเด็นด้วย” นายนิคม ระบุ

38 อดีต ส.ว.นัดสุมหัวสู้คดี

ขณะที่ นายดิเรก ถึงฝั่ง สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งเป็น 1 ใน 38 อดีต ส.ว.ที่ถูก ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดกรณีแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่มา ส.ว.มิชอบ เปิดเผยว่า ส่วนตัวไม่ได้รู้สึกวิตกกังวล พร้อมสู้คดีไปตามข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงทุกอย่าง ซึ่งยังไม่มีการเตรียมแนวทางต่อสู้คดีไว้ล่วงหน้า เพราะเชื่อว่าความจริงก็คือความจริงและจะสามารถพิสูจน์ให้ สนช.รับทราบได้ และมีความเชื่อมั่นว่า สนช.จะไม่ลงมติถอดถอนแน่นอน เนื่องจากเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายเป็นอย่างดี อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 14 ม.ค. กลุ่ม 38 อดีต ส.ว.มีการนัดหมายเป็นการภายใน เพื่อนัดหารือเกี่ยวกับแนวทางการต่อสู้คดี

“ตวง” ลั่น สนช.ทำตาม กม.

ส่วนกรณีที่มีว่าสมาชิกพรรคเพื่อไทยพยายามยื่นเรื่องขอให้ สนช.ระงับการดำเนินการพิจารณาวาระการถอดถอนนั้น นายตวง อันทะไชย สมาชิก สนช.กล่าวว่า ทีตอนทำความผิดทำไมไม่กลัว พอจะมีการลงโทษกลับกลัวในสิ่งที่เคยกระทำ และยังพูดวกกลับไปว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 หมดสภาพไปแล้ว ทั้งที่ สนช.ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คณะป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ที่รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวให้คงอยู่ในการทำหน้าที่ตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญไว้ เมื่อ ป.ป.ช.ยื่นเรื่องมา สนช.ก็มีหน้าที่ทำหน้าที่แทนสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ก็ต้องดำเนินการตามหน้าที่รับผิดชอบ

“คนที่เข้ามาทำหน้าที่ สนช.มีแต่ระดับอาจารย์รู้กฎหมายกว่าคนที่ไม่เห็นด้วยหลายเท่า และหากเห็นว่า สนช.ทำไม่ถูกต้อง ขอแนะนำให้มีการไปฟ้องร้องที่ไหนก็ได้ตามสบาย แต่ถ้าปล่อยให้คนทำผิดมาบอกว่า ทำผิดแล้วจะไม่ยอมรับผิด แล้วบ้านเมืองจะอยู่อย่างไร หากไม่ได้กระทำผิด ก็ไม่เห็นต้องกลัว” นายตวงกล่าว

“นิพิฏฐ์” เบรกนิรโทษฯทะลุซอย

ทางด้าน นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย เสนอให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษึความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจตามมาตรา 44 แห่งรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว นิรโทษกรรมให้แก่ทุกฝ่าย ทั้งแกนนำและผู้ชุมนุมว่า สภาฯชุดที่แล้วศึกษาเกือบปีจนได้ข้อยุติว่า จะนิรโทษกรรมให้ประชาชนที่ฝ่าฝืนพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 ไม่รวมถึงคนที่มีคดีอาญาอื่นทั้งใช้อาวุธสงคราม ปล้น ฆ่า เผาและแกนนำ แต่กลับมีการแปลงร่างกฎหมายเป็นฉบับสุดซอยเหมาเข่ง สังคมจึงไม่เอาด้วย พอมาวันนี้ นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ สมาชิก สปช.ในฐานะประธานคณะทำงานแนวทางการสร้างความปรองดองเสนอเรื่องการปรองดองนิรโทษกรรม แต่ระบุไม่ชัดเจนว่าใครบ้าง คนที่ไม่ได้รับการนิรโทษฯก็มาโหนกระแสพ่วงไปด้วย วงจรนี้จึงกลับมาอีก

“ขอให้นายเอนกระบุให้ชัดเจนว่าจะนิรโทษฯใครบ้าง และขอร้องอย่าพ่วงคดีผิดอาญาอื่นๆ หากมีการเสนอให้รวมไปถึงคดีถอดถอนช่วยทั้ง ส.ว. ส.ส.หรือ น.ส.ยิ่งลักษณ์ จะยิ่งเป็นการโหนกระแสที่หนักข้อ ครั้งนี้จะเป็นฉบับทะลุซอยออกถนนใหญ่ จะยุ่งกันใหญ่” นายนิพิฏฐ์ กล่าว

ส่วนการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองนั้น นายนิพิฏฐ์ กล่าวว่า ขอให้ สนช.คิดโดยปราศจากอคติ หากคิดว่าใจตัวเองไม่มั่นคง ก็ขอให้ลาออกไปให้คนที่มีความกล้าเข้ามาทำหน้าที่แทน เพราะบ้านเมืองยามวิกฤติต้องการคนกล้ามากกว่าคนดี หากทั้งดีและกล้าก็ยิ่งดี แต่หากเอาคนดีแต่กลัวมาทำงาน เมื่อไม่กล้าแล้วการทำงานในยุคปฏิรูปที่ต้องการแก้ไขปัญหาใหญ่ในชาติ ก็ไร้ประโยชน์ และความตั้งใจที่จะปฏิรูปคงไม่สำเร็จตามที่วางไว้แน่
กำลังโหลดความคิดเห็น