xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

ร้อนฉ่า "บิ๊กตู่" ฉะสปช.ขวางสัมปทาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การประชุมยกสองของ "แม่น้ำ 5 สาย" ซึ่งหมายถึงองค์กรหลักในการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศภายใต้คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2558 แบบ "ปิดลับ" ห้าม "นักข่าวเผือก" แต่มีรายงานบรรยากาศภายในเล็ดลอดออกมาว่าอุณหภูมิร้อนฉ่าทั้งที่แอร์เย็นเฉียบ เหตุเพราะว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ไม่ปลื้มผลงานโดยเฉพาะสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) โดนเข้าไปเต็มๆ

ในบรรดาแม่น้ำ 5 สาย พรักพร้อมไปด้วยบิ๊กสูงสุดของแต่ละสาย คือ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรัฐบาล และหัวหน้าคณะคสช. นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสนช. นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ กับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และ ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี ทั้งหมดล้วนแต่เป็นคีย์สำคัญที่จะนำพาประเทศสู่การปฏิรูป

วันดังกล่าว แต่ละสายน้ำเจอท่านหัวหน้าคสช.ไล่เรียงเป็นลูกระนาด แต่ที่หนักสุดเห็นจะเป็นสปช.ในประเด็นเรื่องการลงมติไม่เห็นด้วยกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 อันเป็นนโยบายของรัฐบาล ซึ่งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นั่งเป็นประธาน ได้อนุมัติให้เปิดสัมปทานฯ เป็นที่เรียบร้อยไปแล้ว แต่สปช.กลับมีมติสวนทาง ถือเป็นการแสดงออกถึงความขัดแย้งกับรัฐบาลโดยตรง และกลายเป็นแรงกดดันต่อรัฐบาลคสช. อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น

มีรายงานว่า 3 ชั่วโมงที่วงประชุมแม่น้ำ 5 สายนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวในที่ประชุมตอนหนึ่งถึงกรณีกระแสคัดค้านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21ของรัฐบาล ว่า “มีแต่คนบอกว่าไม่ให้เปิดประมูลแล้วจะเอาที่ไหนมาใช้ บอกแต่ห้ามทำ แต่ไม่มีการเสนอทางออกมาให้ด้วย ยิ่งเฉพาะประเทศไทยไม่มีบริษัทที่จะสำรวจเกี่ยวกับพลังงานทั้งเอกชนและรัฐบาลก็ไม่มี แล้วจะให้ทำยังไง ก็ให้ไปคิดกัน”

พร้อมกับสำทับอีกด้วยว่าในเรื่องประเด็นพลังงานขอให้ทุกฝ่ายคำนึงถึงท่าที และนโยบายของรัฐบาล อย่าสร้างแรงกดดันให้กระทบต่อรัฐบาล ทำอย่างไรก็ได้ให้ทุกฝ่ายหันหน้าเข้าหากัน เพื่อให้ได้ข้อยุติในเรื่องพลังงาน และข้อมูลในเรื่องพลังงานควรพิจารณาจากข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ได้ อย่าใช้ความเชื่อด้านพลังงานมาเป็นแนวทางในการทำงาน

กระแสข่าวที่เล็ดลอดออกมา ทำให้ นายวิษณุ ออกมารับหน้าโดยบอกกับนักข่าวว่า ในที่ประชุมไม่มีการเคลียร์ใจ เรื่องมติ สปช. ที่คัดค้านการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 เพราะไม่จำเป็น นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธาน สปช. ชี้แจงกับที่ประชุมว่า การพิจารณาเรื่องสัมปทานปิโตรเลียมไม่ใช่เป็นหนึ่งในวาระพิจารณาเรื่องปฏิรูป เป็นเพียงการขอความคิดเห็นจากรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งสปช.ลงมติคัดค้าน นายกรัฐมนตรี จึงบอกว่า เมื่อเป็นเช่นนี้ให้ทาง สปช.ส่งความเห็นมา แล้วรัฐบาลจะพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมต่อไป

“ขนาด สปช.เสนอเรื่องปฏิรูปใน 11 หัวข้อที่กำหนดไว้แท้ๆ รัฐบาลก็มีโอกาสที่จะไม่ดำเนินการตามข้อเสนอของ สปช. เพราะในฐานะผู้บริหารราชต้องรับผิดชอบการกระทำใดๆ ถ้าทำผิดจะถูกฟ้อง ในขณะที่ สปช.เมื่อหมดหน้าที่ก็ลุกไป จะทำได้หรือไม่ได้รัฐบาลมีข้อมูล มีบุคลากร ต้องเป็นผู้ตัดสินใจ ที่ประชุมไม่ได้ว่าอะไร” นายวิษณุ กล่าว

คำอธิบายของนายวิษณุ แปลไทยเป็นไทยได้ว่า คสช.ตั้งสปช.ขึ้นมาก็เพียงเพื่อเป็นไม้ประดับเท่านั้น ไม่ได้ต้องการฟังความคิดเห็นอะไรจริงจัง โดยอ้างเหตุผลเพราะสปช.ไม่ต้องมารับผิดตามกฎหมาย เรื่องที่สปช.เสียเวลาศึกษา เสียเวลาระดมสมองเสนอขึ้นไปยังรัฐบาลนั้น รัฐบาลจะฟังหรือไม่ฟังก็ได้ และถ้าขัดกับนโยบายของรัฐบาลอย่างเรื่องสัมปทานปิโตรเลียม ก็มีสิทธิ์เจอว๊ากเอาได้ง่ายๆ ที่บอกจะฟังสปช. สุดท้ายก็เห็นกันแล้วว่าไม่ฟังใคร

และดูเหมือนว่าเรื่องสำคัญอย่างพลังงาน พล.อ.ประยุทธ์ ก็ไม่ได้ลงมาดูอะไรในรายละเอียด เพราะยังถามอยู่เช่นเดิมว่าจะให้ทำยังไง ทั้งที่ความจริงสปช.ก็เสนอไปพร้อมกันด้วยแล้วว่าให้รัฐบาลไปศึกษาระบบแบ่งปันผลผลิต เปรียบเทียบกับระบบสัมปทานเสียก่อน จะได้มีทางเลือกใหม่ๆ แทนที่จะยืนยันใช้ระบบสัมปทานเหมือนเดิม และข้อมูลที่เสนอขึ้นไปก็เป็นข้อมูลวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ได้เพราะตัวเลขสถิติต่างๆ ก็อ้างอิงจากหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบด้านพลังงานทั้งสิ้น ไม่ได้มีข้อมูลไสยศาสตร์แม่มดหมอผีที่เข้าทรงแล้วเชื่อแบบทึกทักเอาเองเสียเมื่อไหร่

เรื่องสัมปทานปิโตรเลียม ดูจากท่าทีของพล.อ.ประยุทธ์ กับการไม่ยอมเลิกราของภาคประชาชนที่เคลื่อนไหวมุ่งมั่นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงให้ได้ คงเป็นหนังยาวที่ยังหาตอนจบไม่ได้

ไม่ใช่แต่เพียงเรื่องสัมปทานเท่านั้น ประเด็นพลังงานที่ร้อนระอุขึ้นไม่แพ้กันในช่วงนี้ก็คือการปรับขึ้นค่าก๊าซเอ็นจีวีที่กระทบกับภาคขนส่งทั้งรถโดยสาร รถแท็กซี่ กระทบชิ่งถึงค่าครองชีพของประชาชน

เรื่องนี้ นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ออกมาให้ข้อมูลว่า ตั้งเป้าหมายปรับราคาก๊าซเอ็นจีวีเพื่อสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยจะจัดเก็บภาษีสรรพสามิต และเก็บเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพิ่มอีกกก.ละ 4 - 5บาท จากต้นทุนจริงที่ศึกษาไว้ที่กก.ละ 14-15 บาท โดยอ้างว่าเป็นราคาที่สะท้อนตลาดโลก

ทั้งนี้ หากขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี แท็กซี่จะขอขึ้นราคาค่าโดยสาร จากเดิม 5 % เป็น 13 % ภายในเดือนเม.ย. 2558 นี้ พร้อมทั้งรถโดยสารประจำทางหรือรถร่วมบริการ ขสมก. ก็เตรียมจ่อขึ้นค่าโดยสาร โดยขอขึ้นราคาอีก 3บาท หรือจาก 8บาท เป็น 11บาท หากไม่เช่นนั้นรถร่วม 2500 คันจะประท้วงด้วยการหยุดวิ่งทันที

ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 ก.พ. 58 ทางกระทรวงพลังงาน ต้องรีบออกมาปรามให้ใจเย็นๆ และชะลอการขึ้นราคาก๊าซเป็นการด่วน ทั้งยังปลอบใจว่า จะให้การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยหากมีการปรับค่าโดยสารขึ้น อีกทั้งยังบอกว่าจะมีโครงการรถไฟฟรี รถเมล์ฟรี ที่จะช่วยเหลือประชาชนได้ และการปรับราคาก๊าซก็ไม่ได้มากมายอะไร เพราะราคาต่ำสุดหากเทียบเบนซิน และดีเซล

ขณะที่ พล.อ.ประจิน จั่นตอง รมว.คมนาคม รีบปัดเผือกร้อนโยนให้ทางรองปลัดกระทรวงคมนาคมและปลัดกระทรวงพลังงาน ออกมารับหน้าแทน ทั้งที่ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 3 ก.พ. 2558 ทางกระทรวงคมนาคม เพิ่งจะรับหนังสือจากขสมก.และบอกจะอนุมัติให้ขึ้นค่าโดยสารให้ในเงื่อนไขเกิน 1 บาท แต่พอมาเจอกระแสตีกลับ ขู่ประท้วง กลับบอกชะลอขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวี และการปรับอัตราค่าโดยสารจะขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริง

ไม่เพียงแต่แท็กซี่และขสมก.เท่านั้น ที่ตั้งท่าเตรียมประท้วง สมาคมขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย ที่มีนายกฤษณ์ สุริยผล เลขานุการนายกสมาคมฯ ก็ขู่ให้ยุติการปรับขึ้นราคาก๊าซเอ็นจีวีด้วยเช่นกัน

“เราต้องการให้กระทรวงพลังงานยุติการปรับขึ้นราคาเอ็นจีวีไว้ที่ 13 บาทต่อกก. จากที่เคยแจ้งว่าจะปรับขึ้นตามต้นทุนที่ 15-16 บาทต่อกก. หากกระทรวงพลังงาน ไม่ให้คำตอบที่ชัดเจนภายในสัปดาห์นี้ ทางกลุ่มรถบรรทุกจะหยุดวิ่งรถ และนัดรวมตัวกันโดยขับรถบรรทุกมาปิดล้อมที่กระทรวงพลังงาน พร้อมทั้งนัดกันถอดถังก๊าซเอ็นจีวีทิ้ง หันไปใช้น้ำมันดีเซลแทนเพื่อประท้วงนโยบายรัฐบาลที่ในอดีตเคยสนับสนุนให้รถบรรทุกหันมาใช้เอ็นจีวีแทนน้ำมัน แต่สุดท้ายก็มาปรับขึ้นราคา ที่ผ่านมารัฐบาลปรับขึ้นราคาเอ็นจีวีสวนกระแสราคาพลังงานโลกที่ปรับลดลง และตอนนี้ก็นับว่าปรับมามากพอแล้ว”

การปรับราคาโครงสร้างพลังงานนั้น รัฐบาลอ้างเสมอว่าเพื่อเป็นการสะท้อนต้นทุนพลังงานที่แท้จริง ซึ่งนายณรงค์ชัย อัครเศรณี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพิ่งออกมาพูดเมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2558 นี้เองว่าจะขึ้นราคาแก๊สเอ็นจีวีไม่เกิน 16 บาทต่อกก.ในไตรมาส 1ปีนี้

แต่เพียงระยะเวลาไม่ถึง 1เดือนเท่านั้น กระแสข่าวก๊าซเอ็นจีวี (NGV) เตรียมจ่อขึ้นเป็น กก.ละ20 บาท ทำให้ผู้ประกอบการรถแท็กซี่ รถโดยสารประจำทาง รถบรรทุก รวมถึงประชาชนหาเช้ากินค่ำ และมนุษย์เงินเดือน เดือดร้อน ทนไม่ไหว และพากันตั้งคำถามแล้วที่ เรียกว่าราคาพลังงานที่เป็นธรรมแก่ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของทรัพยากรปิโตรเลียมนั้นคืออะไร

นาทีนี้ คงเป็นที่ชัดเจนแล้วว่าสิ่งที่รัฐบาลบิ๊กตู่กำลังทำอยู่ในเรื่องพลังงาน ทั้งเรื่องการเปิดสัมปทานและการปรับขึ้นราคาก๊าซฯ สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาลต้องการให้ประชาชนได้รับผลประโยชน์ หรือบริษัทพลังงานได้ผลประโยชน์มากกว่ากัน


กำลังโหลดความคิดเห็น