xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

อลงกรณ์ พลบุตร “ปฏิรูปพลังงานคือการยืนอยู่บนขาตัวเอง”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อลงกรณ์ พลบุตร
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - เพราะเป็นห่วงเรื่องพลังงานของชาติ ทำให้ “อลงกรณ์ พลบุตร” สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช.ด้านพลังงาน ออกมาเสนอแนวคิด 3 หลักสำคัญของพลังงานในอนาคต นั่น คือ ความมั่นคงด้านพลังงาน,การพัฒนาพลังงานทดแทน และการอนุรักษ์พลังงาน ซึ่งเขาเชื่อว่าหากทำได้สำเร็จจริง จะเป็นการปฏิรูปพลังงานที่ยั่งยืนและทำให้ประเทศไทยยืนอยู่บนขาตัวเองได้ในที่สุด

รัฐบาลควรจะจัดการเรื่องปิโตรเลียมอย่างไร จึงจะเกิดประโยชน์แก่ประเทศสูงสุด

แนวคิดที่ผมเสนอ เป็นทางเลือกที่แตกต่างจากข้อเสนอของกรมพัฒนาเชื้อเพลิงธรรมชาติ ซึ่งเขาใช้ระบบสัมปทาน แต่ข้อเสนอของผมยืนอยู่บน 3 หลัก คือ 1.จะต้องเดินหน้าการเปิดสัมปทาน เพื่อตอบปัญหาเรื่องความมั่นคง ด้านพลังงานในอนาคต
2.จะต้องใช้ระบบผสม คือ ใช้ระบบสัมปทาน และระบบแบ่งปันผลผลิต หรือ PSCซึ่งในระบบนี้ให้เอกชนเสนอว่าจะใช้รูปแบบใด 3.ในพื้นที่สัมปทาน 29 แปลงให้ปรับลดเหลือ 25แปลง โดย 4 แปลงทะเลที่อยู่กับแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกชให้รัฐดำเนินการในรูปแบบของระบบแบ่งปันผลผลิต เพราะสองแหล่งนี้เป็นแหล่งที่มีศักยภาพ มีความเสี่ยงน้อย สามารถใช้แท่นการผลิตและท่อที่เชื่อมต่อกับระบบท่อในปัจจุบันได้ เพื่อให้เป็นฐานความมั่นคงของการผลิตแก๊สในอ่าวไทย เพราะปัจจุบันแหล่งเอราวัณและบงกช คือแหล่งผลิตใหญ่ที่สุดคิดเป็น 80%ของการผลิตในอ่าวไทยทั้งหมด ส่วนในพื้นที่ 25 แปลงที่เหลือ จะเหลือในทะเล 2 แปลง และบนบกอีก 23 แปลง ให้เอกชนเสนอว่าจะใช้ระบบสัมปทาน หรือระบบแบ่งปันผลผลิตโดยรัฐจะเป็นคนดูผลตอบแทน และดูผลกระทบต่างๆ อย่างรอบคอบ

หากรัฐบาลยังคงเดินหน้าให้เปิดสัมปทานปิโตรเลียมต่อไป จะเกิดผลเสียแก่ประเทศอย่างไร

ที่ผ่านมาเราใช้ระบบสัมปทาน 40 กว่าปีแล้วนับแต่มี พ.ร.บ.ปิโตรเลียม2514 แต่ตอนนี้เราต้องเริ่มปฏิรูปความคิดในด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ที่เป็นพลังงานของเราคือ“การยืนบนขาตัวเอง”รวมถึงการสร้างบุคลากร การสร้างองค์ความรู้ Know Howและการที่จะให้ประชาชนสามารถใช้ทรัพยากรของเราอย่างคุ้มค่า ซึ่งข้อเสนอผมแตกต่างจากระบบที่คิดแต่ระบบสัมปทานเพียงแบบเดียว ระบบสัมปทานเดิมเหมือนการให้สัมปทานทำเหมืองคือ ให้สัมปทานไปแล้ว เอกชนเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ของทรัพยากรที่ขุดค้นมาได้ รัฐได้เพียงค่าภาคหลวง ได้เพียงภาษี แต่เราจะไม่ได้ Know How นี่คือข้อเสีย

ถ้าเป็นแหล่งที่มีศักยภาพต่ำ ก็ควรใช้ระบบสัมปทาน แต่ถ้าเป็นแหล่งที่มีศักยภาพสูง ก็ ควรใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต รัฐไม่ควรมีความเสี่ยงสูง เพราะมันคือความรับผิดชอบที่จะต้องตกกับคนไทยทั้งประเทศ ดังนั้นผมไม่ได้มองว่าสัมปทานเป็นสิ่งเลวร้าย เพียงแต่ว่าเมื่อถึงจุดหนึ่งรัฐสามารถทำได้ เราควรทำ ผมถึงได้เสนอให้เอาระบบแบ่งปันผลผลิตเข้ามาใช้ โดยเฉพาะในแหล่งใหญ่ที่เป็นแหล่งที่มีศักยภาพสูงสุด เราต้องไม่มองในเชิงพาณิชย์เท่านั้น แต่ต้องมองในเรื่องของการเป็นเจ้าของทรัพยากรด้วย

นอกจากวิธีการแบ่งปันผลผลิต มีแนวทางไหนที่จะทำเกิดการปฏิรูปพลังงานที่ยั่งยืนบ้างไหม

ถ้าพูดถึงความมั่นคงพลังงานมันเป็นเรื่องที่ใหญ่ และกว้างกว่าการพูดถึงเพียงการสำรวจ และผลิตแหล่งปิโตรเลียมในประเทศเท่านั้น การปฏิรูปประเทศในเรื่องพลังงานต้องยืนบน 3 หลักการและต้องขับเคลื่อนแบบมีดุลยภาพพร้อมๆ กัน นั่นคือ 1.ความมั่นคงด้านพลังงาน 2.การพัฒนาพลังงานทดแทน 3.การอนุรักษ์พลังงาน

ทุกวันนี้ทั่วโลกยืนบน 3 เสา และมันได้พิสูจน์แล้วว่า ประเทศใดประเทศหนึ่งที่ไปเน้นแต่เรื่องความมั่นคงพลังงาน ละเลย หรือให้ความสำคัญน้อยต่อเรื่องพลังงานทดแทน หรือเรื่องอนุรักษ์พลังงาน ในที่สุดก็จะเกิดปัญหาความมั่นคงด้านพลังงาน ดังนั้นการปฏิรูปครั้งนี้เราจะวางรากฐานใหม่ให้ประเทศด้วยการให้ประเทศยืนอยู่บน 3 เสาหลัก และส่งเสริม3 เสาหลักพร้อมๆ กัน

อย่างเรื่องพลังงานทดแทน ผมและคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานเสนอเรื่อง “โซลาร์รูฟเสรี” หรือพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ เพื่อให้ประชาชนมีสิทธิ์ผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ได้อย่างเสรี นอกจากนั้นเรายังเดินหน้าจะเสนอเรื่องเข้าสภาปฏิรูปแห่งชาติ นั่นคือ “เรื่องยานยนต์ไฟฟ้า “เราเห็นรูปรถไฟฟ้าของกัมพูชาราคาแสนกว่าบาท แต่ประเทศไทยทำไม่ได้ ใครเคยถามปัญหานี้และตอบโจทย์นี้หรือไม่ เกิดอะไรขึ้นกับประเทศของเราที่เป็น 1ใน10 ประเทศที่ผลิตรถมากที่สุดในโลก ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นว่า การส่งเสริมและพัฒนาพลังงานทดแทน และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง เช่น ยานยนต์ ไฟฟ้าไม่เคยได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่องอาจเป็นเพราะอิทธิพลของกลุ่มทุนต่างชาติและอิทธิพลของกลุ่มทุนขนาดใหญ่

ดังนั้นกุญแจไขปัญหานี้ คือการเปิดเสรีให้เอกชน และประชาชน สามารถที่จะผลิตพลังงานทดแทนในรูปพลังงานไฟฟ้า ในรูปพลังงานเชื้อเพลิง โดยใช้พลังงานธรรมชาติที่เรามีอยู่ ทั้งเอทานอล ทั้งไบโอดีเซล หรือการส่งเสริมพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม เป็นต้นและนี่คือแนวทางของการปฏิรูปพลังงานในมิติใหม่

เรายังเสนอให้รัฐธรรมนูญใหม่บรรจุหลักการใหม่ในเรื่องการผลิตไฟฟ้าเสรี ซึ่ง เป็นการเปลี่ยนแปลงในรอบศตวรรษ แทนที่รัฐจะเป็นฝ่ายจัดหาและผลิตเพียงฝ่ายเดียว เปลี่ยนเป็นให้ประชาชนเป็นผู้ใช้ ผู้ผลิต และผู้จำหน่ายไฟฟ้าได้ด้วย นี่คือการกระจายการผลิตไฟฟ้าเป็นแนวโน้มใหม่ของโลก และจะแก้ปัญหาความมั่นคงของพลังงานในอนาคต อย่างโซลาร์รูฟเสรีแต่ก่อนรัฐมีโควตา มีสัมปทาน และมีการทุจริต อย่างกรณียานยนต์ไฟฟ้า ในอดีตเราไม่มีนโยบายที่ชัดเจนเป็นรูปธรรม วันนี้ต้องเปลี่ยนแปลงใหม่สู่ทิศทางใหม่

ส่วนเรื่อง“การอนุรักษ์พลังงาน” ผมมองว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่นำเข้าพลังงานทุกชนิด แต่เป็นประเทศที่ติดอันดับต้นๆ ของโลกที่ใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือยที่สุด เพราะฉะนั้นการปฏิรูปพลังงานไม่ใช่เป็นเพียงแค่การประหยัดพลังงาน แต่เป็นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ถามว่าหลอดไฟฟ้าทั้งประเทศ มีกี่ดวงที่เปลี่ยนเป็นหลอดไฟแอลอีดี มีโรงงานผลิตแอลอีดีที่พัฒนาจาก KNOW-HOW TECHNOLOGY ของเราหรือไม่ ทั้งที่ไม่ใช่เทคโนโลยีสูงอะไรมากมายนัก คำตอบคือ ไม่ ถึงบอกว่าในอดีต เรามองแต่มุมความมั่นคงพลังงาน แต่เราลืมยืนบนขาตัวเองด้วยพลังงานทดแทน และเรื่องอนุรักษ์พลังงาน

มีข้อมูลไหนที่คิดว่า รัฐยังได้ข้อมูลไม่ถูกต้องในเรื่องพลังงานบ้าง

ความจริงรัฐมีข้อมูลสมบูรณ์มาก แต่สิ่งที่รัฐไม่ค่อยรู้คือ “ศักยภาพของแหล่งปิโตรเลียมแต่ละแหล่ง” ผมเสนอให้เป็นข้อคิดทางเลือกใหม่ว่า ควรแบ่งสัญญาออกมาเป็น 2 สัญญา สัญญาที่ 1คือ สัญญาการสำรวจ กับ 2.สัญญาการผลิต

ผมพิจารณาจากตัวเลขที่รัฐบอกว่าการเปิดสัมปทานรอบ 21จะมีการลงทุนใหม่ 5พันล้าน เพื่อลงทุนในการสำรวจ ทั้งหมด 29 แปลง ที่รัฐบอกว่าลงทุน5พันล้าน เพราะว่าเงิน 5พันล้านมันคือ 1% ของการประเมินมูลค่าทั้งหมดของแปลงสัมปทานทั้ง 29 แปลง คือ 5แสนล้าน ถ้าลงทุนแค่นี้ ผมคิดว่าทำไมเราไม่ลงทุนสำรวจเองล่ะ

ในออปชั่นที่ 2 คือ รัฐลงทุนสำรวจ โดยให้รัฐวิสาหกิจของเราคือ ปตท.และ ปตท.สผ.ดำเนินการ เงินสำรวจลงทุนแค่ 5 พันล้าน เล็กน้อยมากสำหรับกิจการอย่าง ปตท.หรือ สผ.เมื่อสำรวจแล้วเราจะรู้ว่า แต่ละแหล่งมีศักยภาพแค่ไหน ก็ใช้หลักว่าถ้าแหล่งเล็กก็ใช้ระบบสัมปทานไป แต่ถ้าเป็นแหล่งใหญ่ก็ใช้เป็นระบบแบ่งปันผลผลิต ผมเชื่อว่าตอนนี้รัฐไม่มีข้อมูลมากพอ

การเปิดรอบ 21เป็นสัมปทานแบบเหมาเข่งนั้น ผมตั้งข้อสังเกตอีกข้อว่าทำไมจึงเอา 4แปลงในทะเลที่ติดกับแหล่งเอราวัณ อยู่ติดกับแหล่งที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไปเหมาเข่งทำไมเพราะมีโอกาสที่จะเจอแก๊สและน้ำมันสูงมาก เป็นแหล่งที่มีศักยภาพสูง ในทางกลับกันก็มีความเสี่ยงน้อย ผมถึงได้เสนอว่า 4 แปลงนี่ตัดมาเลย ให้เลือกใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต ส่วน 25 แปลง แบ่งเป็นบนบก 23ในทะเล 2 ก็ใช้ระบบผสมไป

ถ้ารัฐไม่มีการสำรวจก่อนให้สัมปทาน เราก็ไม่สามารถคำนวณผลตอบแทนที่คุ้มค่าได้แม่นยำ เรื่องนี้เหมือนกับทำเหมือง ถ้าคุณสำรวจศักยภาพของสายแร่ คุณจะรู้ว่าแปลงไหนมี แหล่งแร่ที่อุดมสมบูรณ์ รัฐสำรวจเองก็รู้ และเราก็เลือกก่อน อันนี้คือการใช้สิทธิในฐานะเจ้าของทรัพยากร แต่การเปิดสัมปทานแบบเหมาเข่ง โดยบอกว่าเป็นเรื่องของเอกชนทั้งหมด ถ้าเอกชนเขาสำรวจเจอแหล่งใหญ่ เขาอาจจะไม่ได้บอกทั้งหมดและระบบจ่ายผลตอบแทนที่ใช้อยู่ขณะนี้ไม่ส่งเสริมให้มีการผลิตเกิน15,000-20,000บาร์เรลต่อหลุมไม่ค่อยมีคนรู้เรื่องนี้เท่าไหร่นัก

ลองพิจารณาว่าถ้ารัฐต้องลงทุน 5 พันล้าน เงิน 5 พันล้านเป็นตัวเลขที่ไม่มากเลย สำหรับ ปตท.หรือ ปตท.สผ. พอรัฐสำรวจและรู้ข้อมูลทั้งหลาย รัฐจึงมาเลือกว่าจะเป็นแบ่งปันผลผลิตหรือว่าเป็นสัมปทาน โดยใช้หลักเดียวกันคือ แหล่งใหญ่ใช้ระบบแบ่งปันผลผลิต แหล่งเล็กใช้ระบบสัมปทาน

ภาพโดย ชาติกล้า สำเนียงแจ่ม


กำลังโหลดความคิดเห็น