xs
xsm
sm
md
lg

โครงสร้างราคาแอลพีจี สวนทางปฏิรูปพลังงาน

เผยแพร่:   โดย: นกหวีด

ณรงค์ชัย อัครเศรณี
ข่าวปนคน คนปนข่าว

มติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2558 ที่มี ณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน นั่งหัวโต๊ะเป็นประธาน กำหนดแนวทางการปรับโครงสร้างราคาแก๊สแอลพีจีใหม่ครั้งล่าสุด เสมือนเป็นการตอกย้ำว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้เดินสวนทางการปฏิรูปพลังงานไปเรียบร้อยแล้ว เนื่องจากนโยบายที่ออกมาเป็นการ “ปฏิรูปตามเส้นทางของทุนพลังงาน” อย่างชัดเจน

เริ่มจากหลักคิดในการปรับโครงสร้างราคาด้วยการปรับสูตรคำนวณราคาต้นทุนแอลพีจีจากเดิมใช้ราคา 333 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อตัน หรือประมาณ 11 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 488 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อตัน หรือ 16.11 บาทต่อกิโลกรัม โดยมีฐานคิดจากการเฉลี่ยราคาหน้าโรงกลั่น โรงแยกก๊าซธรรมชาติ และราคานำเข้า ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2558

สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้คิดว่า “แอลพีจี” เป็นทรัพยากรธรรมชาติที่คนไทยมีสิทธิใช้ในราคาที่เป็นธรรม ตามต้นทุนที่แท้จริงภายในประเทศ แต่กลับมองว่า “แอลพีจี” คือ สินค้าที่ต้องกำหนดราคาให้เป็นธรรมต่อผู้ประกอบการแทน

การนำราคาเฉลี่ยจากหน้าโรงกลั่น โรงแยกก๊าซธรรมชาติ และราคานำเข้ามากำหนดราคาต้นทุนเท่ากับผลักภาระรายจ่ายของผู้ประกอบการที่ต้องนำเข้าแอลพีจีมาให้คนไทยทั้งประเทศแบกรับแทน ทั้งๆ ที่เราสามารถผลิตก๊าซภายในประเทศได้ถึง 80% ซึ่งเพียงพอต่อการใช้ของภาคครัวเรือน แต่ที่ต้องนำเข้าเป็นเพราะความต้องการใช้แอลพีจีของภาคปิโตรเคมี

หากย้อนกลับไปดูข้อมูลเกี่ยวกับการผลิตแอลพีจีของประเทศไทย จะพบว่าในช่วงปี 2538-2550 ประเทศไทยสามารถผลิตแอลพีจีได้เกินความต้องการใช้ภายในประเทศ และนำส่วนเกินส่งออกไปขายในต่างประเทศ ทำให้รัฐบาลทักษิณเห็นชิ้นปลามัน คิดทำกำไรเพิ่มจากแอลพีจีส่วนเกินที่ส่งออกไปขายในต่างประเทศ โดยให้ ปตท.ไปศึกษาการลงทุนในธุรกิจปิโตรเคมีในช่วงปลายปี 2544

รัฐบาลทักษิณโดย นายแพทย์ พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช รมว.พลังงาน กำหนดนโยบายนำเอาอุตสาหกรรมปิโตรเคมีไปผูกกับแผนการพัฒนาพลังงานของประเทศ โดยอ้างว่าจะเป็นตัวกระตุ้นให้เศรษฐกิจขยายตัวตามเป้าหมายของรัฐบาล ผลจากนโยบายดังกล่าวทำให้ความต้องการใช้ก๊าซแอลพีจีในประเทศเพิ่มขึ้นจนต้องมีการนำเข้าตั้งแต่ปี 2551 มาจนถึงปัจจุบัน

จะเห็นได้ว่ารากเหง้าของปัญหาที่ทำให้ปิโตรเคมีได้รับสิทธิพิเศษเหนือคนไทยในการใช้แอลพีจีเกิดจากรัฐบาลทักษิณ ที่บริหารทรัพยากรชาติเพื่อการทำกำไรทางธุรกิจ สร้างกลไกผูกขาดให้กับทุนพลังงานผ่านการแปรรูป ปตท. มีการจัดทำแผนบูรณาการระหว่างแผนพลังงานกับแผนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นยุทธศาสตร์กำหนดแผนแม่บทอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ระยะที่ 3 พ.ศ. 2547 - 2561 ใช้ก๊าซซึ่งเป็นทรัพยากรธรรมชาติมาเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี

จากแผ่นแม่บทดังกล่าว ปตท. ได้ก่อสร้างโครงการอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในพื้นที่เดียวกับโรงแยกก๊าซ ซึ่งมีข้อมูลถึงขนาดว่า มีการต่อท่อจากโรงแยกก๊าซตรงไปที่อุตสาหกรรมปิโตรเคมีของ ปตท. เท่ากับว่า ทรัพยากรธรรมชาติของไทยถูกจัดสรรให้อุตสาหกรรมปิโตรเคมีเป็นอันดับแรก แทนที่จะจัดสรรให้กับประชาชน

ข้ออ้างที่ว่าการใช้แอลพีจีในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีความคุ้มค่าทางธุรกิจมากกว่าเป็นเหตุผลตามหลักคิดแบบทุนนิยม แต่ไม่ได้คิดถึงระบบเศรษฐกิจที่เป็นธรรม เพราะผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีคือ กำไรของผู้ถือหุ้นซึ่งพบว่ามีผลประโยชน์เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด โดยดูจากผลกำไรของ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล บริษัทในเครือ ปตท. พบว่าในปี 2554 มีกำไร 2,133.44 ล้านบาท ปี 2555 กำไรเพิ่มเป็น 34,001.27 ล้านบาท และปี 2556 กำไร 33,277 ล้านบาท

ผลประโยชน์จากอุตสาหกรรมปิโตรเคมีที่ได้รับสิทธิพิเศษซื้อแอลพีจีในราคาถูกคืนกลับ มาที่คนไทยเพียงแค่ 51% ส่วนอีก 49% ตกเป็นของผู้ถือหุ้น แตกต่างจากการใช้ก๊าซในภาคครัวเรือน ที่คนไทยทุกคนใช้เพื่อดำรงชีวิตในการปรุงอาหาร แต่รัฐบาลกลับมองว่าการเปิดแก๊สเพื่อทำครัว คือการเผาผลาญทรัพยากรธรรมชาติอย่างไม่มีประสิทธิภาพ

เมื่อคิดว่าความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจคือ กำไรของทุนใหญ่ ย่อมไม่มีทางที่จะจัดสรรทรัพยากรธรรมชาติให้ประชาชนได้อย่างเป็นธรรม และเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดการปฏิรูปพลังงานที่จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำเพื่อสร้างความเป็นธรรมในสังคม

ตลกร้ายสำหรับประเทศไทยจากนโยบายพลังงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ คือ ณรงค์ชัย อัครเศรณี รมว.พลังงาน อ้างเหตุผลที่ต้องคำนวณต้นทุนใหม่ เพราะมีราคาที่แตกต่างกันระหว่าง หน้าโรงกลั่น โรงแยกก๊าซ และราคานำเข้า แต่ไม่เคยให้ข้อมูลกับประชาชนว่า ปตท. คือผู้ผูกขาดธุรกิจนี้ เพราะโรงกลั่นน้ำมันในประเทศ ปตท.คือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ 5 แห่ง มีเพียงแห่งเดียวที่เป็นของเอสโซ่

ส่วนโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ที่ใช้ก๊าซจากอ่าวไทยเป็นวัตถุดิบในการผลิตมีโรงแยกก๊าซทั้งหมด 7 แห่ง ซึ่งล้วนแต่เป็นของ ปตท.ทั้งสิ้น โดย 6 แห่งเป็นของ ปตท. ส่วนอีก 1 แห่งเป็นของ ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ซึ่งตั้งอยู่ที่แหล่งน้ำมันสิริกิติ์ จังหวัดกำแพงเพชร ในขณะที่การนำเข้าแอลพีจีจากต่างประเทศก็ดำเนินการโดย ปตท.

เท่ากับว่าราคาแอลพีจีในประเทศไทยอยู่ในกำมือของ ปตท.เป็นผู้กำหนด ในขณะเดียวกันก็ไม่เคยมีการเปิดเผยต้นทุนที่แท้จริงของการผลิตแอลพีจี ภายในประเทศว่าอยู่ที่เท่าไหร่ โดยใช้วิธีการเอาราคานำเข้ามาเฉลี่ยเป็นราคากลาง ปิดทางประชาชนใช้แอลพีจีในราคาที่เป็นธรรมทั้งๆ ที่เป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติ

หลักคิดของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จึงเป็นการเดินตามรอยเท้าของทุนนิยม ไม่คิดสร้างความเป็นธรรมในการจัดสรรทรัพยากรให้ประชาชนได้ใช้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม โดยอ้างว่าการใช้แอลพีจีภาคครัวเรือนของประชาชน เป็นเรื่องฟุ่มเฟือย เพราะเป็นการเผาก๊าซทิ้ง แต่การใช้แอลพีจีในธุรกิจปิโตรเคมีเป็นการต่อยอดทางธุรกิจผลิตเมล็ดพลาสติก ซึ่งถือว่าคุ้มค่ามากกว่า จึงไม่มีการเก็บภาษีสรรพสามิต แต่เก็บภาษีมูลค่าเพิ่มแทน ทำให้ปิโตรเคมีเป็นธุรกิจที่ได้รับสิทธิพิเศษซื้อแอลพีจีในราคาประมาณ 21 บาท ถูกกว่าภาคครัวเรือน ขนส่ง และอุตสาหกรรม ที่ต้องซื้อในราคา 24.16 บาท

จึงมองได้ว่า การปฏิรูปพลังงานในยุคนี้ เป็นการเดินตามเส้นทางที่ทุนพลังงานกำหนด เหยียบบ่าคนไทยเพื่อทำกำไรจากทรัพยากรธรรมชาติที่ประชาชนเป็นเจ้าของ
กำลังโหลดความคิดเห็น