xs
xsm
sm
md
lg

บทพิสูจน์ คสช.ทำ􀂟จริงหรือดีแต่พูด ปราบโกง-ปฏิรูปประเทศไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


หลังจากยึดอำนาจมาได้กว่าครึ่งปี ก็ถึงเวลาที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช.ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นหัวหน้า จะได้พิสูจน์ตัวเองว่านโยบายการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชันและการปฏิรูปประเทศไทยทุกๆ ด้าน เป็นเพียงแค่การโฆษณาประชาสัมพัน์ สร้างภาพ หรือว่าเป็นเจตจำนงที่มั่นคงแท้จริงของ คสช.

จะเสียของหรือไม่เสียของจะเป็นการคืนความสุขให้กับประเทศไทย หรือเป็นแค่สมบัติผลัดกันชม ประชาชนคนไทยจะได้เห็นกันในไม่กี่วันนี้ จากการตัดสินใจของ คสช. ใน 2 เรื่อง คือ การลงมติถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ในข้อหาจงใจ ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตใน โครงการรบั จำนำข้าว ตามการชีมู้ลของ ป.ป.ช.และการที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช.ลงมติไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอให้เปิดประมูลสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ของคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานเสียงข้างมาก

เรื่องแรก แม้จะเป็นการลงมติโดยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.แต่ใครจะกล้าปฏิเสธล่ะว่าในทางปฏิบัติแล้ว สนช. ส่วนใหญ่ คสช.สั่งได้ จะให้ซ้ายหันขวาหันลงมติอย่างไร เพราะ สนช.ทั้ง 220คน นั้น คสช.ตั้งมากับมือในจำนวนนี้เป็นทหาร 3 เหล่าทัพ และตำรวจเกือบครึ่งหนึ่ง ส่วนใหญ่ยังรับราชการอยู่ และเป็นข้าราชการพลเรือนอีก 30 กว่าคน เมื่อบวกกับ สนช.สายอื่นๆ มากพอที่จะลงมติด้วยคะแนนเสียง 3 ใน 5 คือ 132 คน ถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

ขอเพียง คสช.โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พลเอกประยุทธ์สั่งการมาเท่านั้นว่าจะเอาผิดคนคดโกง สร้างความเสียหายให้ประเทศชาติไม่ต่ำกว่า 5-6 แสนล้านบาท ไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างหรือไม่ สนช.พร้อมอยู่แล้วที่จะสนอง เพราะเป็นหน้าที่ของ สนช.ที่จะต้องตอบสนองกับความต้องการของ คสช. และรัฐบาล ซึ่งมีหัวหน้าคนเดียวกันคือ พลเอกประยุทธ์

ข้อมูลการทุจริตและความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ เป็นเรื่องที่คนไทยส่วนใหญ่รับรู้กันดีอยู่แล้ว สนช. และ คสช.ซึ่งต้องรู้ผิดชอบชั่วดีมากกว่าคนทั่วไป ไม่ต้องใช้วิจารณญาณพิจารณาว่าผู้บริหารสูงสุดขององค์กรที่ปล่อยให้มีการคดโกงกันขนานใหญ่ โดยอ้างว่าไม่รู้ไม่เห็น ทั้งๆ ที่มีคนเตือนแล้ว ควรต้องรับผิดหรือไม่ แต่ต้องใช้ความกล้าหาญ่ในการตัดสินใจว่าจะปล่อยให้คนโกงลอยนวลหรือไม่ และการตัดสินใจนี้ย่อมสะท้อนถึงจุดยืนของ คสช.

หากการลงมติของ สนช.ในวันที่ 23 มกราคมสามารถถอดถอนนางสาวยิ่งลักษณ์ได้ นโยบายปราบโกงของ คสช. และรัฐบาลก็พอจะเชื่อถือได้ว่าเอาจริง

แต่ถ้ามีสมาชิก สนช.ที่ลงมติให้ถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีไม่ถึง 3 ใน 5 คือ 132 คน ก็เป็นสัญญาณให้คนไทยได้ตระหนักว่าอย่าจริงจังกันนักกับนโยบายปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชันของ คสช.เลย เพราะขนาดเห็นชัดๆ ว่าคนที่สร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ มากมายมหาศาลยังปล่อยให้ลอยนวล

กรณีสัปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ที่สมาชิก สปช.ส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปพลังงานที่จะให้มีการเปิดประมูลสัมปทานสำรวจและขุดเจาะตามแนวทางของกระทรวงพลังงาน แม้ข้อเสนอหรือมติของ สปช.จะไม่มีกฎหมายรองรับว่ารัฐบาลต้องปฏิบัติตาม แต่เรื่องการปฏิรูปนั้นเป็นสัญญาประชาคมที่ คสช.ให้คำมั่นกับประชาชนว่าจะดำเนินการปฏิรูปประเทศไทย 12 ด้าน โดยหนึ่งในนั้นคือการปฏิรูปด้านพลังงานของชาติ โดยตั้ง สปช.ขึ้นมาศึกษาทำข้อเสนอในการปฏิรูป

ข้อเสนอบางส่วนจะได้รับการบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่วนข้อเสนออื่นๆ จะเป็นแนวทางให้รัฐบาลนี้ และรัฐบาลชุดต่อไปนำไปปฏิบัติ

ก่อนหน้านี้ เมื่อภาคประชาชนมีการเคลื่อนไหวในเรื่องการปฏิรูปพลังงาน และเรื่องอื่นๆ พลเอกประยุทธ์มักจะพูดเสมอว่ามีอะไรก็ไปพูดกันในสภาปฏิรูป หรือไปเสนอผ่านสภาปฏิรูปอย่าไปพูดกันข้างนอก เพราะมีเวทีให้แล้ว

หาก คสช. และรัฐบาลเมินเฉยต่อมติ สปช.ที่ไม่เห็นด้วยกับการเปิดสัมปทานรอบที่ 21 และสนับสนุนให้กระทรวงพลังงานเดินหน้าเปิดประมูลสัมปทานต่อไป โดยอ้างว่าแก๊สธรรมชาติจะหมดใน 7 ปี จึงต้องรีบเปิดสัมปทานก็เท่ากับว่า คสช. และพลเอกประยุทธ์ไม่ได้มีความตั้งใจจริงที่จะให้สภาปฏิรูปเป็นเวทีหาทางออก เพื่อปฏิรูปประเทศไทยเพราะไม่ยอมรับฟังสิ่งที่สมาชิกสภาปฏิรูป คิดแตกต่างไปจากรัฐบาล

หากเป็นเช่นนั้น สภาปฏิรูปก็ไม่มีความหมายเพราะไม่มีอะไรที่จะต้องปฏิรูปในเมื่อ คสช.และรัฐบาลเลือกฟังแต่เสียงของกลุ่มทุน และข้าราชการประจำ การปฏิรูปจึงเป็นเรื่องหลอกเด็ก



กำลังโหลดความคิดเห็น