ASTVผู้จัดการรายวัน - “ผู้แทนมะกัน” เดินสายพบ “บิ๊กเจี๊ยบ - ปู - มาร์ค” ก่อนบรรยายพิเศษที่จุฬาฯระบุ ถอดถอน “ยิ่งลักษณ์” กระทบปรองดอง ห่วงไทยไร้เสรีภาพแสดงความเห็น ด้าน “บิ๊กตู่” ไม่ห่วงมีป่วน ลั่นไม่เอาประเทศไปลงทุนไล่ล่าใคร ย้ำเข้ามาเพราะประเทศมีปัญหา ไม่รัก-เกลียดใครเป็นพิเศษ ชี้ “ผู้แทนมะกัน” ไม่มาพบเรื่องปกติ ด้าน “ยิ่งลักษณ์” หนีบลิ่วล้อ โร่ฟ้องขบวนการเด็ดหัวซ้ำรอย “ทักษิณ” ปูดเขียน รธน.หวังล้มล้าง พท. ขณะที่ “บิ๊กโด่ง” ยันไม่มีธงกำจัดตระกูลชินฯ หวด “โอ๊คอ๊าค” อย่าห้าว โพสต์เฟซฯให้พอเหมาะ
วานนี้ (26 ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายแดเนียล รัสเซล ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ฝ่ายกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก พร้อมด้วย นายแพทริค เมอร์ฟีย์ อุปทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ได้เดินทางเข้าพบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ผู้แทนรัฐบาลสหรัฐฯเดินทางมาเยือนไทยอย่างเป็นทางการภายหลังการรัฐประหารวันที่ 22 พ.ค.55 ทั้งนี้นายแดเนียลและคณะยังได้ให้การต้อนรับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย ก่อนจะเดินทางไปพบกับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ณ ที่ทำการพรรคประชาธิปัตย์ เพื่อสอบถามสถานการณ์บ้านเมืองของไทยด้วย
** “มะกัน” ห่วงเสรีภาพความคิดในไทย
จนเมื่อเวลา 14.00 น. ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายแดเนียลได้บรรยายพิเศษในหัวข้อ “บทบาทของสหรัฐอเมริกาในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิคในปี 2015” ซึ่งจัดโดยสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย โดยกล่าวตอนหนึ่งว่า เช้าวันนี้ ตนได้มีโอกาสพบกับ พล.อ.ธนะศักดิ์ น.ส.ยิ่งลักษณ์ และนายอภิสิทธิ์ ซึ่งเป็นผู้นำทางการเมือง และผู้นำภาคประชาสังคมของไทย เพื่อรับฟังและหารือกันถึงสถานการณ์การเมืองของไทย พร้อมกับแสดงทัศนะและความหวังของสหรัฐฯที่มีต่อประเทศไทย โดยทุกฝ่ายเน้นความสำคัญของการปรองดองและการวางรากฐานประชาธิปไตยในอนาคต
“สหรัฐฯให้ความเคารพกับประเทศไทย และยืนยันว่า ไม่ได้เลือกข้างอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะเป็นเรื่องของประเทศไทยและประชาชนไทยที่จะตัดสินว่าอะไรเป็นความชอบธรรมของรัฐบาล ส่วนรัฐบาลสหรัฐฯมีความกังวลเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และการรวมตัวทางการเมืองที่ถูกกีดกันในไทย เพราะสหรัฐฯเห็นว่าเสียงทุกเสียงของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญในการร่วมออกแบบอนาคตของประเทศ” ผู้แทนรัฐบาลสหรัฐฯระบุ
** ชี้ถอด “ปู” ทำชาวโลกไม่เข้าใจ
นายแดเนียล กล่าวอีกว่า ตนได้พูดกับ พล.อ.ธนะศักดิ์ ถึงความเป็นไปได้ในการที่รัฐบาลไทยจะยกเลิกกฎอัยการศึก และห้ามการชุมนุมใดๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงทัศนะในการปฏิรูปประเทศ นอกจากนี้ยังมองว่า เรื่องของความยุติธรรมเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างความปรองดอง ซึ่งไม่นานมานี้มีอดีตผู้นำของไทยที่มาจากการเลือกตั้งได้ถูกถอดถอนและตัดสิทธิทางการเมืองจากกลุ่มผู้ทำรัฐประหาร และยังเป็นเป้าหมายในการดำเนินคดีทางอาญา ในขณะที่กระบวนการประชาธิปไตยถูกรบกวนอยู่ ซึ่งประชาคมระหว่างประเทศเริ่มสงสัย ว่า ขั้นตอนเหล่านี้อาจมีเจตนาทางการเมืองหรือไม่
“เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยากสำหรับประชาคมระหว่างประเทศต่อกรณีที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งถูกขจัดออกจากอำนาจ แล้วยังถูกถอดถอนอีก โดยกลุ่มคนกลุ่มเดียวกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เกินกว่าคนอื่นจะเข้าใจเป็นอย่างอื่นได้ นอกเสียจากว่าคือการแทรกแซงทางการเมือง ซึ่งเชื่อว่าจะกระทบกับกระบวนการสร้างความปรองดองในไทย” นายแดเนียล กล่าว
** นายกฯไม่ปิดทาง “ปู” บินนอก
วันเดียวกัน ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่หลายฝ่ายแสดงความเป็นห่วงสถานการณ์ทางการเมืองที่อาจเกิดความวุ่นวายขึ้นหลังจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ว่า ทุกคนต้องเข้าใจว่าทุกอย่างเป็นไปตามกติกาและกฎหมาย อย่าไปเขียนว่าต้องการไล่ล่าใครเป็นกรณีพิเศษ อย่าลงทุนกันมากขนาดนั้นเลย เพราะการที่ต้องใช้ประเทศทั้งประเทศ หรือประชาชนทั้งประเทศ มาต่อสู้กันนั้น ตนคงไม่ไปลงทุนขนาดนั้น ทุกอย่างก็ต้องเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย กติกา และกฎหมายว่าอย่างไร ถ้ามันทำไม่ได้ ก็คือทำไม่ได้ อะไรทำได้ ก็ทำได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้มีการติดต่อมาบ้างหรือไม่ นายกฯกล่าวปฏิเสธว่า ไม่มีการติดต่อ เขาจะติดต่อมาเรื่องอะไร ยืนยันว่า ไม่มีการโทรศัพท์มาพูดคุย หรือติดต่ออะไรมาทั้งนั้น
เมื่อถามว่า หากช่วงนี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ สามารถขออนุญาต คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เดินทางไปต่างประเทศได้หรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องถามกระบวนการยุติธรรมก่อนว่าจะว่าอย่างไร ปกติการจะห้ามคนเดินทางไปไหนมาไหนต้องใช้กฎหมาย ไม่ใช่อะไรก็จะถาม คสช.ฝ่ายเดียว อย่างไรก็ตามเรื่องการถอดถอนเป็นเรื่องของคดีทางการเมือง ยังไม่ได้มีคดีอาญาไม่ใช่หรือ
** ป้อง สนช.มีสิทธิถอดถอนตามหน้าที่
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่า หากมองภาพกว้างของสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะส่งผลกระทบต่อกระบวนการปรองดองหรือไม่ นายกฯกล่าวว่า บอกแล้วว่าให้แยกเรื่องออกจากกัน ว่าอะไรคือการสร้างความปรองดอง อะไรคือคดีความทางกฎหมาย ขอให้เป็นไปตามกระบวนการต่อสู้ ซึ่งทุกคนก็ต้องยอมรับในกติกา ถ้าทุกคนไม่ยอมรับกติกา ทุกอย่างก็จะกลับไปเป็นเหมือนเดิม เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ทุกอย่างก็ต้องเข้าสู่กระบวนการ ทุกคนก็ต้องเคารพ เมื่อตัดสินอย่างไรก็ต้องว่าไปตามนั้น วันนี้ สนช.ทำงานแทนสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ซึ่งก่อนหน้านี้ก็มีหน้าที่ถอดถอนไม่ใช่หรือ และหากจะบอกว่า สนช.ไม่ได้รับการเลือกตั้งมา แต่ สนช.เป็นของรัฐบาล ซึ่งเป็นรัฐบาลในวาระพิเศษ ทำหน้าที่แทนรัฐบาลจริง เมื่อแต่งตั้ง สนช.ขึ้นมา เขาก็ต้องทำงาน และสมาชิกที่อยู่ใน สนช. ก็คัดมาด้วยคุณสมบัติ และความเหมาะสม
เมื่อถามว่า มีกระแสข่าวว่า หากมีการเคลื่อนไหวอย่างใดอย่างหนึ่งจะมีการใช้กฎอัยการศึกเข้าไปดำเนินการ นายกฯกล่าวว่า ไม่ใช่เช่นนั้น เพียงแต่ไม่ว่าใครทั้งนั้นจะออกมาเคลื่อนไหวใดๆไม่ได้ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องนี้เท่านั้น วันนี้เราต้องการความสงบสุขเรียบร้อย ประชาชนก็เรียกร้องว่า ขอให้บ้านเมืองมีความสงบสุข
“ไม่ว่าใครก็ออกมาเคลื่อนไหวไม่ได้ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องคดีการถอดถอนเท่านั้น แต่ทุกคณะจะออกมาเคลื่อนไหวใดๆไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม” พล.อ.ประยุทธ์ ระบุ
** อย่าโยงเยือนไทยช่วงสอย “ปู”
พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้กล่าวการที่ผู้แทนรัฐบาลสหรัฐฯเดินทางเข้าพบ พล.อ.ธนะศักดิ์ ด้วยว่า เป็นการมาในเรื่องทั่วๆไป และเท่าที่ทราบเอกอัครราชทูตสหรัฐฯประจำประเทศไทย ก็จะเดินทางมาประจำในเดือน ก.พ.นี้ ก็เป็นเรื่องธรรมดา อย่าเอาไปพันกันกับคดีการถอดถอนอดีตนายกฯเลย สหรัฐฯเขาไม่ได้มาดูเรื่องการตัดสินคดีของอดีตนายกฯ สิ่งที่รัฐบาลต้องการชี้แจงกับผู้แทนรัฐบาลสหรัฐฯ ก็เป็นความก้าวหน้าต่างๆ ทั้งการแก้ปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ เรื่องประมง ในส่วนของกระบวนการประชาธิปไตยก็กำลังเดินหน้าอยู่ รวมทั้งการเตรียมการเลือกตั้ง การร่างรัฐธรรมนูญก็ต้องอธิบายว่าอะไรคือเหตุผลและความจำเป็น เพราะถ้าวันนี้ทุกอย่างยังเป็นเหมือนเดิมยังมีการประท้วงเหมือนเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมาแล้วจะเกิดอะไรขึ้น จะมีคนบาดเจ็บล้มตายอีกเท่าใด
“ถามว่าถ้าผมไม่ออกมา แล้วเกิดรัฐบาลที่แล้วต้องออกไปอีก พรรคการเมืองเข้ามา รัฐบาลชุดที่แล้วจะประท้วงหรือไม่ มันก็เหมือนเดิม แล้วเราจะปล่อยให้มันกลับไปกลับมาเช่นนี้หรือ เราก็ต้องไปปิดสถานการณ์ตรงนี้ให้ได้ เหมือนกับการหยุดเลือดที่มันไหลอยู่ อยากให้เข้าใจกันสักที ผมไม่ได้ไล่ล่า ไม่ได้เป็นศัตรูกับใคร ไม่ได้รักใครพิเศษ หรือเกลียดใครพิเศษ” นายกฯกล่าว
** “บิ๊กตู่” ชี้มะกันไม่ขอพบเรื่องปกติ
ส่วนการพบกันระหว่างผู้แทนรัฐบาลสหรัฐฯกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์นั้น พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า เป็นสิทธิที่จะพบกัน ซึ่งเขาต้องรู้ว่าเขาต้องทำอย่างไร เราไม่ได้ไปห้ามปรามอะไร เพียงแต่ขอร้องว่า อย่าไปบอกว่า สิ่งที่ทำวันนี้เพื่อจะไปไล่ล่าอดีตนายกฯ ตนยืนยันอีกครั้งว่าเราทำเพื่อขับเคลื่อนประเทศ ต้องเข้าใจว่าในช่วงนั้นรัฐบาลบริหารงานไม่ได้ เป็นความจำเป็นที่เราต้องยึดอำนาจ ทำให้คดีความและเรื่องต่างๆที่ติดขัดเดินต่อไปได้ นี่คือจุดมุ่งหวังของตน ทั้งสื่อไม่ควรตีความว่าทางสหรัฐฯเลือกมาเยือนไทยในจังหวะพอดีกับการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์
เมื่อถามว่า มีการติดต่อมาพบนายกรัฐมนตรีบ้างหรือไม่ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวย้อนถามว่า “เขาจะมาพบผมทำไม เขาไม่พบผม เพราะเขาก็รู้อยู่ว่า ผมมาอย่างไร การเมืองก็คือการเมือง การเศรษฐกิจเขาก็มีการค้าขายกับเรา การฝึกร่วมรบ ก็ยังฝึกกับเรา เขาแยกแยะออกจากกัน แต่เรายังเอาหลายเรื่องมารวมกันอยู่เลย วันนี้หลายประเทศ ก็ยังค้าขายกับเราอย่างปกติ ประเทศที่ต่อต้านเรา ไม่เห็นชอบกับเราแต่ก็ยังค้าขายกับเราได้”
** นายกฯแจง 19 ทูตสถานการณ์ไทยปกติ
ก่อนหน้านั้น ที่ทำเนียบรัฐบาล นายนรชิต สิงหเสนี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมนายวีรชัย พลาศรัย เอกอัครราชทูต คณะผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก นำคณะเอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรประจำสหประชาชาติ รวม 19 ประเทศ เข้าเยี่ยมคารวะ พล.อ. ประยุทธ์ ในโอกาสที่เดินทางมาสังเกตการณ์ภายในประเทศไทย รวมถึงขอให้มาร่วมประชาสัมพันธ์ด้านการท่องเที่ยวในประเทศไทยด้วย
โอกาสนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้กล่าวขอบคุณคณะทูต และระบุว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในภาวะสงบเรียบร้อยดี และขอให้ประเทศไทยเป็นเสมือนบ้านหลังที่สอง ที่สามารถเข้ามาพักอาศัยหรือท่องเที่ยวได้อย่างเต็มที่ ขณะที่ตัวแทนคณะทูต ได้แสดงความชื่นชมและประทับใจ โดยยืนยันเช่นกันว่าจะช่วยโปรโมทด้านการท่องเที่ยวประเทศ จากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ ได้เดินลงมาส่งตัวแทนคณะทูตทั้ง 19 ประเทศด้วยตัวเอง พร้อมให้ พล.อ.วิลาศ อรุณศรี เลขาธิการนายกรัฐมนตรี นำคณะทูตไปเยี่ยมชมงานตลาดนัดกล้วยไม้คุณภาพ บริเวณข้างทำเนียบรัฐบาลด้วย
** “ปึ้ง” ฟ้องยาวเป็นหางว่าว
อีกด้าน นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล อดีตรองนายกฯและรมว.ต่างประเทศ กล่าวภายหลังร่วมคณะ น.ส.ยิ่งลักษณ์พบกับผู้แทนรัฐบาลสหรัฐฯว่า ได้พูดคุยสอบถามถึงสถานการณ์การเมืองในประเทศไทย โดยเฉพาะกรณีที่ สนช.ลงมติถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งความจริงทางอเมริกาได้ติดตามข่าวคราวอยู่ตลอดทราบดีอยู่แล้วว่าเกิดอะไรขึ้นกับประเทศไทย เพียงแต่อยากฟังจากปาก จึงเล่าให้ฟังว่ามันมีที่มาที่ไปและมีขบวนการอย่างไร ในขณะที่ยังหาตัวคนผิดไม่ได้ แต่ลงโทษคนกำกับนโยบายไปแล้ว เป็นกระบวนการถอดถอนที่สังคมโลกยอมรับไม่ได้ ซึ่งทางอเมริกาได้ถามถึงการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ว่าเป็นอย่างไร เราจึงตอบไปว่าการเขียนกติกาใหม่ชัดเจนว่าเขาต้องการล้มล้างพรรคของเรา อย่างที่เคยทำมาตลอด
นายสุรพงษ์ กล่าวต่อว่า ทางสหรัฐฯได้แสดงความเป็นห่วงสิ่งที่เกิดขึ้น อดีตนายกฯที่มาจากการเลือกตั้งต้องโดนถอดถอนจากคนที่มาจากการแต่งตั้ง ไม่ได้มาตามครรลองประชาธิปไตย เรื่องนี้จะส่งผลกระทบแน่นอน โดยเฉพาะความเชื่อมั่น การลงทุน ต่างชาติไม่กล้าคบค้าสมาคมด้วย นอกจากนี้นายแดเนียลยังสอบถามว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นเมื่อใด จึงบอกไปว่าคงต้องรอให้เขาได้ในสิ่งที่ต้องการ คือการเขียนกติกาใหม่ที่มั่นใจว่าตัวเองจะชนะ ถึงมีการเลือกตั้ง แต่ถ้าเขียนออกมาแล้วประชาชนไม่ยอมรับก็เหนื่อย
** “มาร์ค” ย้ำหนุนประชามติ รธน.
ขณะที่ นายอภิสิทธิ์ เปิดเผยภายหลังพบนายแดเนียลว่า ได้มีคุยกันเรื่องสถานการณ์บ้านเมืองทั่วไป และดูว่าโรดแมปของรัฐบาล จะมีแนวทางเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน และแนวคิดเกี่ยวกับการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเราก็มีที่ข้อเสนอที่เป็นทางการอยู่แล้ว ซึ่งเราเห็นว่า ควรมีการทำประชามติ เพื่อเป็นการยอมรับรัฐธรรมนูญ นอกจากนั้นยังได้พูดคุยถึงต้นตอของปัญหาความขัดแย้ง ซึ่งมี 2 เรื่องหลัก คือ การใช้อำนาจโดยมิชอบ ถึงแม้พรรคการเมืองที่ได้รับเลือกตั้งเสียงข้างมากจัดตั้งรัฐบาล ก็มีการละเมิดการใช้อำนาจ ซึ่งหวังว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คงจะมีรายละเอียดที่ปรับปรุงเรื่องเหล่านี้ และเรื่องคอร์รัปชัน ซึ่ง นายแดเนียลยังแสดงท่าทีเป็นมิตรกับประเทศไทย แต่เราก็บอกไปว่า ท่าทีของแต่ละกลุ่มก็แตกต่างกันไป เขาก็ควรกำหนดท่าทีที่มองไปข้างหน้ามากกว่า
** ผบ.ทบ.เชื่อไม่มีการป่วน
ด้าน พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รมช.กลาโหม ในฐานะผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) กล่าว ว่า สถานการณ์ตอนนี้ไม่มีอะไรที่น่าหนักใจ ก็เป็นไปตามที่เคยดำเนินการกันมา ส่วนการพิจารณาถอดถอนนั้น ตนคิดว่าเป็นไปตามขั้นตอนที่ผ่านพ้นไปแล้ว ที่ สนช.ลงมติถอดถอนไป ประกอบกับด้านการข่าวพบว่า ไม่มีผลกระทบอะไร ส่วนที่วิจารณ์ว่าการถอนถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นความพยายามขจัดตระกูลชินวัตรให้พ้นทางการเมืองนั้น เป็นการกล่าวที่ไม่ถูกต้อง เป็นเรื่องของ สนช.ที่พิจารณาและฟังเหตุผล พร้อมทั้งใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจของแต่ละท่าน หากมีอะไรต่อไปก็เป็นไปตามกระบวนการของกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีการแสดงความเห็นตามสื่อโซเชียลเน็ตเวิร์ค โดยเฉพาะกรณี นายพานทองแท้ ชินวัตร บุตรชาย พ.ต.ท.ทักษิณ จะเข้าข่ายปลุกระดมทางการเมืองหรือไม่ พล.อ.อุดมเดช กล่าวว่า ตนอยากให้ระมัดระวัง และขอร้องให้ใช้วิจารณญาณในการดำเนินการต่างๆ ไม่ว่าจะแสดงความคิดเห็นใดๆก็ตาม ถ้าแสดงความเห็นออกมา แล้วไปก่อให้เกิดปัญหาก็ไม่ควรกระทำ ซึ่งขอให้แสดงความเห็นอย่างพอเหมาะพอควร อยู่ในกรอบ ซึ่งตนขอให้ปฏิบัติตามนี้ และสิ่งใดที่เราพอรับได้ก็จะไม่ดำเนินการอะไร
“ผมฝากบอกไปว่า ถ้าอยากให้บ้านเมืองมีความสงบเรียบร้อย เพื่อให้ไปถึงจุดหมายปลายทางที่ทุกคนคาดหวังไว้ อันเป็นไปตามกรอบโรดแมป คสช. ผมขอให้ช่วยกันแสดงความคิดเห็นอย่างระมัดระวัง สิ่งต่างๆ ที่ผ่านพ้นมา ผมมองว่ายังไม่เกิดปัญหาอะไร ก็ขอให้ช่วยกันรักชาติบ้านเมืองให้มากๆ" พล.อ.อุดมเดช กล่าว