xs
xsm
sm
md
lg

ให้สัมปทานเท่ากับไม่มั่นคง ธีระชัยสอนมวยพลังงานบิ๊กตู่ หมอชนบทออกโรงจี้ทบทวน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อดีต รมว.คลัง “ธีระชัย” ซัดพวกอ้าง “สัมปทานรอบ 21” ช่วยสร้างความมั่นคงพลังงานให้ประเทศ กางกฎหมาย พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 มาตรา 56 ระบุชัด หลังได้สัมปทานผู้รับสัมปทานเป็นเจ้าของปิโตรเลียม รวมถึงสิทธิการขายและจำหน่าย ประเทศไทยมิใช่เจ้าของอีกต่อไป สอนมวยนายกฯ จะมั่นคงต้องเปลี่ยนไปใช้ระบบแบ่งผลผลิต-กระจายความเสี่ยงของแหล่งพลังงานโดยซื้อจากหลายๆ ประเทศ ด้านชมรมแพทย์ชนบท ออกแถลงการณ์เรียกร้อง “ประยุทธ์” อย่าเพิ่งให้สัมปทานโดยที่ยังไม่ได้ศึกษาอย่างถี่ถ้วน

หลังจากเมื่อวันศุกร์ 16 ม.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงกรณีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ในเดือนกุมภาพันธ์ ว่า รัฐบาลและกระทรวงพลังงานจะเดินหน้าต่อแน่นอน แม้ว่า การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อวันที่ 13 ม.ค. ซึ่งที่ประชุมลงมติไม่เห็นชอบกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปเสียงข้างมาก เรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และรายงานเรื่อง การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และแนวทางการบริหารจัดการพลังงานปิโตรเลียมอย่างยั่งยืน

“กระทรวงพลังงานเดินหน้าอยู่แล้ว ยังไงก็ต้องเดิน แต่ไม่ใช่เดินในวันนี้ พรุ่งนี้ เพราะจะมีการเปิดสัมปทานในเดือน ก.พ. ส่วนบางกลุ่มที่จะออกมาเรียกร้องยืนยันว่าออกมาไม่ได้ ไม่ให้ออก ไปหาเรื่องชี้แจง อยากหาเรื่องออกมาเดินขบวนกันอีก” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว และอ้างว่า การเปิดสัมปทานดังกล่าวเป็นการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ พร้อมกล่าวหาว่า พวกที่ออกมาต่อต้านจะรับผิดชอบไหมหากอีก 6 ปีไม่มีพลังงาน

ขณะที่เมื่อวันที่ 17 ม.ค. นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ออกมาเขียนบันทึกและเผยหลักฐานอ้างอิงต่อกรณีดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊ก @Thirachai Phuvanatnaranubala โดยระบุว่า การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ซึ่งทำกันมาแต่เดิมจะไม่ได้ช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศเช่นที่ พล.อ.ประยุทธ์ และฝ่ายสนับสนุนการเปิดสัมปทานกล่าวอ้าง

“รูปนี้เป็นบทบัญญัติใน พ.ร.บ. ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 “มาตรา 23 ปิโตรเลียมเป็นของรัฐ ผู้ใดสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในที่ใด ไม่ว่าที่นั้นเป็นของตนเองหรือของบุคคลอื่น ต้องได้รับสัมปทาน” มาตรานี้เป็นการกำหนดว่าปิโตรเลียม เป็นทรัพยากรของประเทศ แม้จะเกิดมีในที่ดินของเอกชน ก็เป็นของรัฐ แม้แต่เจ้าของที่ ก็ไม่สามารถสำรวจหรือผลิตได้เอง ต้องได้รับสัมปทานจากรัฐ

“ระบบนี้แตกต่างจากระบบของสหรัฐฯ ที่ปิโตรเลียมในที่เอกชน เป็นของเจ้าของที่ “มาตรา 56 ผู้รับสัมปทานมีสิทธิขายและจำหน่ายปิโตรเลียมที่ผู้รับสัมปทานผลิตได้” ตรงนี้แหละครับ ที่ในความเห็นของผม ถึงแม้ปิโตรเลียมจะเป็นของรัฐ แต่เมื่อรัฐให้สัมปทานแก่ผู้ประกอบการไปแล้ว ในระหว่างอายุสัมปทาน สิทธิการขายและจำหน่ายจะเป็นของผู้รับสัมปทานโดยสมบูรณ์

“ดังนั้น ในความเห็นของผม ผลในทางปฏิบัติ ทันทีที่รัฐให้สัมปทาน สิทธิดังกล่าวจะหลุดออกจากมือของรัฐโดยพลัน คำว่าปิโตรเลียมเป็นของรัฐ จึงมีผลเป็นเพียงนามธรรมเท่านั้น แต่ในรูปธรรม อำนาจในการขาย จำหน่าย จ่ายแจก เป็นของผู้รับสัมปทานทั้งสิ้น ผู้รับสัมปทานเท่านั้นที่จะตัดสินเรื่องนี้

ในระบบสัมปทาน เฉพาะตามมาตรานี้ รัฐจึงไม่มีอำนาจจะเข้าไปแทรกแซง ในการขาย การจำหน่าย จ่ายแจก ใดๆ เลย เอกสารของกรมเชื้อเพลิงก็ระบุว่า Production ownership เป็นของ concessionaire แปลว่า ความเป็นเจ้าของปิโตรเลียมที่ผลิตได้ เป็นของ ผู้รับสัมปทาน แตกต่างจากระบบแบ่งปันผลผลิต ที่เอกสารดังกล่าวระบุว่า Production ownership เป็นของ host stateแปลว่า ความเป็นเจ้าของปิโตรเลียมที่ผลิตได้ เป็นของ รัฐ

ทั้งนี้ ถ้าวิเคราะห์งบการเงินของบริษัทที่ประกอบธุรกิจสำรวจและผลิต ที่แสดงในตลาดหลักทรัพย์ ก็จะเห็นว่า บริษัทสำรวจและผลิต ได้บันทึกปริมาณปิโตรเลียมทั้งหมดในแปลง ที่บริษัทได้รับสัมปทาน เป็นทรัพย์สินของบริษัท จึงน่าจะเป็นการยืนยันว่า แนวทางปฏิบัติ ทั้งของผู้ประกอบการในไทย และตามเอกสารของกรมเชื้อเพลิงดังกล่าว บ่งชี้นัยทางเศรษฐกิจว่าผู้รับสัมปทาน เป็นเจ้าของปิโตรเลียม ดังนั้น การที่เน้นความมั่นคงพลังงาน จึงต้องถามว่า กรณีระบบสัมปทานตามมาตรานี้ ซึ่งรัฐไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปแทรกแซง การขาย การจำหน่าย หรือการจ่ายแจก รัฐจะมีความมั่นคงพลังงานได้อย่างไร?” นายธีระชัยระบุ

นอกจากนี้ นายธีระชัย ยังให้ความเห็นถึงวิธีการสร้างความมั่นคงทางพลังงานด้วยว่า บรรดาพวกที่อ้างความมั่นคงพลังงาน เพื่อจะเร่งปิโตรเลียมรอบ 21 ในรูปแบบสัมปทานนั้น บางคนอ้างว่า ถ้าประเทศไม่มีพลังงานของตัวเอง ต้องนำเข้าทั้งหมด ถ้าหากผู้ขายไม่ยอมนำส่ง จะทำอย่างไร มีหลายประเทศที่ไม่มีพลังงานของตัวเอง ที่สร้างความมั่นคงด้วยการนำเข้า รวมไปถึงจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ฯลฯ
วิธีสร้างความมั่นคง คือต้องกระจายความเสี่ยง โดยซื้อจากหลายๆ ประเทศ กระจายหลายทวีป เพื่อป้องกันกรณีแหล่งใดแหล่งหนึ่งเกิดปัญหาด้านการขนส่ง และมีการบังคับให้ผู้ประกอบการ ต้องเก็บสต๊อคพลังงานสำรองไว้ ไม่ว่าในประเทศ หรือในแหล่งที่ปลอดภัยในต่างประเทศ รวมทั้งควรมีการนำเข้าจากประเทศอาเซียนด้วยกันมากขึ้น ไม่ว่าจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน

แต่ถ้ารัฐบาลมีข้อกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงพลังงานมากอย่างนี้ ยิ่งจะเดินหน้ารอบ 21 ในระบบสัมปทานไม่ได้เลย เพราะสำหรับระบบสัมปทานนั้น กฎหมายไทยกำหนดไว้ว่า ผู้ได้รับสัมปทานเป็นผู้ซึ่งมีสิทธิในการขายและการจำหน่ายปิโตรเลียม ไม่ใช่รัฐบาลไทย ดังนั้น ในระบบสัมปทาน ในกรณีปกติเมื่อรัฐบาลไทยไม่มีสิทธิเด็ดขาดในการขายและการจำหน่ายปิโตรเลียมที่ผลิตในไทย รัฐบาลไทยจะมีความมั่นคงทางพลังงานได้อย่างไร

ข้ออ้างว่าต้องรีบเปิดสัมปทานรอบ 21 เพราะถ้าทำแล้ว ประเทศจะมั่นคงทางพลังงาน จึงขัดกันโดยสิ้นเชิง ดังนั้น ยิ่งรัฐบาลมีข้อกังวลเรื่องความมั่นคงพลังงาน ยิ่งจะไม่สมควรใช้ระบบสัมปทาน แต่ยิ่งจะต้องรีบเปลี่ยนไปใช้ระบบแบ่งผลผลิต

***หมอชนบทออกแถลงค้านบิ๊กตู่

วานนี้ (18 ม.ค.) นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ประธานชมรมแพทย์ชนบท ออกแถลงการณ์ชมรมแพทย์ชนบท “ขอให้นายกรัฐมนตรี อย่าเพิ่งเปิดให้สัมปทานปิโตเลียมโดยที่ยังไม่ได้ศึกษาอย่างถี่ถ้วน”

สืบเนื่องจากความทุกข์และความคาดหวังของประชาชนต่อเรื่องการปฎิรูปพลังงานที่กระทบปากท้องของคนทุกคน จนนำมาสู่การถกเถียงและเคลื่อนไหวของหลายกลุ่มในสังคม ที่แม้จะต่างแนวคิดต่างความเชื่อ แต่ก็ล้วนมีความปรารถนาดีของประเทศไทย ความตื่นตัวของประชาชนนั้น ส่งผลให้การที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้มีมติเสียงข้างมาก 130 ต่อ 79 เสียงในวันที่ 13 มกราคม 2558 ไม่เห็นด้วยกับการให้สัมปทานปิโตรเลียมและสนับสนุนแนวทางตามระบบการแบ่งปันผลผลิต อย่างไรก็ตามในสองวันถัดมา นายกรัฐมนตรีก็ออกมายืนยันว่าให้เดินหน้าสัมปทานต่อไป ซึ่งผิดไปจากความคาดหวังของประชาชนในประเทศอย่างมาก
ชมรมแพทย์ชนบทมีความเห็นต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้

1.ชมรมแพทย์ชนบทเข้าใจว่า ปัญหาของประเทศชาติมีจำนวนมาก ต่างล้วนมีความซับซ้อน มีสาระเฉพาะที่ยากที่จะเข้าใจได้ทั้งหมดในเวลาอันจำกัด ท่านนายกรัฐมนตรีเองก็มีเวลาเพียง 24 ชั่วโมง มีหนึ่งสมองสองมือเหมือนกับทุกคน ประกอบกับการที่ท่านถูกประกบและมีโอกาสรับฟังเฉพาะคนใกล้ชิด โดยเฉพาะกระทรวงพลังงานและเทคโนแครตด้านพลังงานมากกว่าสียงของประชาชนหรือคนที่คิดต่าง จึงไม่แปลกที่นายกรัฐมนตรีจะมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกับกระทรวงพลังงานที่ตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของนายทุนพลังงาน

2.ชมรมแพทย์ชนบทซึ่งได้มีส่วนร่วมในเรียกร้องให้เกิดการปฏิรูปใหญ่ประเทศไทยตั้งแต่แรก และได้ติดตามประเด็นการปฏิรูปพลังงานอย่างใกล้ชิด มีความเชื่อมั่นว่า ประเทศไทยได้เสียสิทธิสภาพนอกอาณาเขตด้านปิโตรเลียมแก่นายทุนพลังงานมายาวนานด้วยการให้สัมปทาน ครั้งนี้เป็นครั้งสำคัญที่ประเทศไทยจะได้เริ่มต้นจัดการปิโตรเลียมใหม่ให้เกิดความมั่นคงทางพลังงานอย่างแท้จริง การสัมปทานคือการขายสิทธิทั้งหมดเสมือนการที่จีนจำใจยอมยกเกาะฮ่องกงให้อังกฤษเช่าในอดีต เมื่อสัมปทานไปแล้ว เราจะสูญเสียสิทธิเหนือพื้นที่สัมปทานไปตลอดอายุสัมปทาน 39 ปีอย่างไม่อาจเรียกกลับคืนมา แต่ระบบการแบ่งปันผลผลิต เรายังเป็นเจ้าของทรัพยากร ยังเป็นเจ้าของสิทธิทุกประการ ผลิตปิโตรเลียมได้มาเท่าไรก็แบ่งปันผลผลิตกันตามสัญญา บังเกิดความมั่นคงทางพลังงานมากกว่า และที่สำคัญโปร่งใสมากกว่า โอกาสเกิดการคอรับชั่นน้อยกว่าการให้สัมปทานอย่างมาก

3.ชมรมแพทย์ชนบทยังมีความเชื่อมั่นลึกๆ ว่า ท่านนายกรัฐมนตรี มีความตั้งใจในการพัฒนาและแก้ปัญหาประเทศ โดยไม่ได้มีผลประโยชน์ส่วนตน แต่การตัดสินใจที่ไม่ฟังเสียงประชาชนและ สปช.นั้น เป็นเพราะอิทธิพลของทุนปิโตรเลียมที่ใกล้ชิดและฉ้อฉล เป่าหูด้วยข้อมูลรายละเอียดที่ซับซ้อนจนมึนงง ถึงขนาดที่จับหลักการใหญ่ไม่ถูก ดังนั้นหากหลากหลายองค์กรร่วมกันออกมาแสดงจุดยืนให้ความเห็น จนเป็นกระแสร่วมของสังคมแล้ว เชื่อว่านายกรัฐมนตรีจะหันกลับทบทวนจุดยืนของตนเองและรัฐบาล หาไม่แล้วรัฐบาลก็จะสูญเสียความชอบธรรมในการปกครองประเทศไปอย่างที่ไม่อาจเรียกคืนมาได้

ชมรมแพทย์ชนบทหวังว่า ท่านนายกรัฐมนตรีจะทบทวนจุดยืนที่ได้ประกาศไปแล้ว แล้วหันกลับมาฟังเสียงประชาชนและองค์กรอื่นๆ รวมทั้งเสียงของฝ่ายทหารสายปฏิรูปเองที่ก็ไม่เห็นด้วยกับระบบสัมปทาน เพื่อให้การตัดสินใจครั้งนี้มีความรอบคอบ ไม่ตกเป็นเครื่องมือของทุนพลังงานที่รอเขมือบทรัพยากรประเทศไทย

***รองโฆษกฯแก้ตัว อ้างต่างชาติจะไม่เชื่อมั่น

วานนี้ (18 ม.ค.) พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง กรณีที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีมติ ไม่เห็นด้วยกับการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมฯ รอบที่ 21 ของกระทรวงพลังงาน ว่า ทางสปช.ไม่ได้เสนอให้หยุดสร้างความมั่นคงทางพลังงาน แต่ให้ดูว่า มีรูปแบบใดที่เหมาะสมกว่า ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมากระทรวงพลังงานได้พิจารณาแล้วว่า ไทยแลนด์ทรีพลัสดี ดีกว่า เพราะเมื่อก่อนการแบ่งปันผลประโยชน์ คือรัฐกับภาคเอกชนที่จะลงทุน ต้องเอาเงินมารวมกันเพื่อสำรวจ หากเจอแหล่งพลังงานจะมีการตกลงในรายละเอียดในแต่ละครั้ง ซึ่งเรื่องนี้เมื่อเปลี่ยนรัฐบาล ก็จะเกิดคำถามเรื่องผลประโยชน์ที่อาจจะมีกลุ่มการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง แต่หากเป็นรูปแบบไทยแลนด์ทรีพลัส รัฐไม่ต้องทำอะไรเลย เอกชนลงทุนฝ่ายเดียว หากเจอแหล่งพลังงาน ก็ให้ต้นทุนในการสำรวจแก่เอกชนกลับไป ส่วนกำไรจะแบ่ง 2 ส่วน โดยรัฐได้ 70 % เอกชนได้ 30 % จึงมีความโปร่งใส ชัดเจน และสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งหากไม่ดำเนินการตามข้อตกลง รัฐสามารถสั่งระงับให้หยุดดำเนินการได้

"รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ได้อะไร บริษัทไม่ได้เอาเงินมาจ่ายให้เรา เพราะเอาเงินไปลงทุนสำรวจ เราจึงเห็นว่า ไทยแลนด์ทรีพลัส ดีกว่า แต่มาวันนี้เราลงนามในการเปิดให้คนมาสำรวจ และผลิต ซึ่งเป็นสัญญาต่อเนื่องคือ ทั้งสำรวจและผลิต หากเราไม่ดำเนินการต่อไป คิดว่านักลงทุนต่างชาติ จะเกิดความมั่นใจไหม มันไม่ใช่การซื้อขนม ซื้ออาหาร แต่เป็นการลงทุนทางธุรกิจ ต่อไปเมื่อพล.อ.ประยุทธ์ เดินทางไปประเทศใด เขาก็อาจบอกว่า อย่าไปคุย เพราะไทยเดี๋ยวชักเข้าแล้วก็ชักออก" พล.อ.สรรเสริญ กล่าว
พล.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า ในเรื่องดังกล่าวพล.อ.ประยุทธ์ ให้แนวทางชัดเจนว่า กระทรวงพลังต้องไปดูในรายละเอียดเพิ่มเติม ซึ่งอาจต้องไปปรึกษาผู้ที่เกี่ยวข้อง ในการเอาข้อสังเกตต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ มาดูใหม่ คงใช้เวลาไม่นานนัก หากมีการดำเนินการต่อ ผู้ที่ไม่เห็นด้วยจะได้รู้ว่ารัฐบาลไม่ได้เพิกเฉยต่อข้อคิดเห็นของเขา เพราะได้มีการปรับปรับในหลายจุด เรื่องดังกล่าวต้อสร้างความเข้าใจ วันนี้สังคมเข้าใจมาพอสมควร แต่จะให้ทุกคนเข้าใจทั้งหมดเป็นไปไม่ได้ ในขณะเดียวกัน คนในพื้นที่ก็อาจได้รับข้อมูลผิดพลาด ทางกระทรวงพลังงาน คงต้องหาคนมาสร้างความเข้าใจ

ผู้สื่อข่าวถามว่า มองว่า จะก่อให้เกิดความขัดแย้งบานปลายหรือไม่ พล.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า คิดว่าไม่ ในท้ายที่สุดสังคมต้องฟัง ถามว่าหากรัฐบาลหยุด มันจะเกิดอะไรขึ้น นักลงทุนทั้งหลาย ภาคเศรษฐกิจ จะเกิดความเชื่อมั่นหรือไม่ แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่เคยหยุดคิด เราหยุดคิดมาก่อนหน้านี้แล้ว และมีการเปรียบเทียบว่า อะไรดีกว่ากัน โดยนายกฯได้ให้แนวทางในการทำความเข้าใจ ในการเจาะให้ตรงเป้าหมายโดยนำพื้นฐานความเป็นจริงและข้อมูลที่ถูกต้อง และให้ประชาชนเป็นผู้อธิบายต่อๆกันไป

เมื่อถามว่า ที่ผ่านมากระทรวงพลังงานให้ความจริงต่อสาธารณทั้งหมดแล้วหรือไม่ พล.อ.สรรเสริญ กล่าวว่า ก็พยายามให้ข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหมด เพราะวันนี้สังคมตรวจสอบได้ทุกเรื่อง ไม่มีอะไร ตื้น ลึก หนา บาง หากสมมุติว่า เปิดสัมปทานเอกชนไม่มีอะไรต้องจ่ายให้รัฐบาล ยืนยันว่า ไม่มี แต่เป็นไปตามสัญญาว่า เมื่อใดที่เริ่มสำรวจก็จะมีเปอร์เซ็นต์อยู่แล้ว.
กำลังโหลดความคิดเห็น