xs
xsm
sm
md
lg

ชัดๆ! “ธีระชัย” งัดหลักฐานสอนมวย “ประยุทธ์” ชี้สัมปทานรอบ 21 เท่ากับยกปิโตรเลียมให้เอกชน-ตัวการทำประเทศขาดความมั่นคงทางพลังงาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. และนายกรัฐมนตรีไทย (แฟ้มภาพ)
ASTVผู้จัดการ – อดีต รมว.คลัง ธีระชัย โต้พวกมั่วอ้าง “สัมปทานรอบ 21” ช่วยสร้างความมั่นคงพลังงานให้ประเทศ กางกฎหมาย พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 มาตรา 56 ระบุชัด หลังได้สัมปทานผู้รับสัมปทานเป็นเจ้าของปิโตรเลียม รวมถึงสิทธิการขายและจำหน่าย ประเทศไทยมิใช่เจ้าของอีกต่อไป ชี้จะมั่นคงต้องเปลี่ยนไปใช้ระบบแบ่งผลผลิต-กระจายความเสี่ยงของแหล่งพลังงานโดยซื้อจากหลายๆ ประเทศ

หลังจากเมื่อวันศุกร์ 16 ม.ค. ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ออกมาให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงกรณีการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ในเดือนกุมภาพันธ์ ว่า รัฐบาลและกระทรวงพลังงานจะเดินหน้าต่อแน่นอน แม้ว่า การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เมื่อวันที่ 13 ม.ค. ซึ่งที่ประชุมลงมติไม่เห็นชอบกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการปฏิรูปเสียงข้างมาก เรื่องการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และรายงานเรื่อง การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 และแนวทางการบริหารจัดการพลังงานปิโตรเลียมอย่างยั่งยืน

“กระทรวงพลังงานเดินหน้าอยู่แล้ว ยังไงก็ต้องเดิน แต่ไม่ใช่เดินในวันนี้ พรุ่งนี้ เพราะจะมีการเปิดสัมปทานในเดือน ก.พ. ส่วนบางกลุ่มที่จะออกมาเรียกร้องยืนยันว่าออกมาไม่ได้ ไม่ให้ออก ไปหาเรื่องชี้แจง อยากหาเรื่องออกมาเดินขบวนกันอีก” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว และอ้างว่า การเปิดสัมปทานดังกล่าวเป็นการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ พร้อมกล่าวหาว่า พวกที่ออกมาต่อต้านจะรับผิดชอบไหมหากอีก 6 ปีไม่มีพลังงาน

วานนี้ (17 ม.ค.) นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ออกมาเขียนบันทึกและเผยหลักฐานอ้างอิงต่อกรณีดังกล่าวผ่านเฟซบุ๊ก @Thirachai Phuvanatnaranubala โดยระบุว่า การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ซึ่งทำกันมาแต่เดิมจะไม่ได้ช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศเช่นที่ พล.อ.ประยุทธ์ และฝ่ายสนับสนุนการเปิดสัมปทานกล่าวอ้าง

“รูปนี้เป็นบทบัญญัติใน พ.ร.บ. ปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 “มาตรา 23 ปิโตรเลียมเป็นของรัฐ ผู้ใดสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในที่ใด ไม่ว่าที่นั้นเป็นของตนเองหรือของบุคคลอื่น ต้องได้รับสัมปทาน” มาตรานี้เป็นการกำหนดว่าปิโตรเลียม เป็นทรัพยากรของประเทศ แม้จะเกิดมีในที่ดินของเอกชน ก็เป็นของรัฐ แม้แต่เจ้าของที่ ก็ไม่สามารถสำรวจหรือผลิตได้เอง ต้องได้รับสัมปทานจากรัฐ



“ระบบนี้แตกต่างจากระบบของสหรัฐฯ ที่ปิโตรเลียมในที่เอกชน เป็นของเจ้าของที่ “มาตรา 56 ผู้รับสัมปทานมีสิทธิขายและจำหน่ายปิโตรเลียมที่ผู้รับสัมปทานผลิตได้” ตรงนี้แหละครับ ที่ในความเห็นของผม ถึงแม้ปิโตรเลียมจะเป็นของรัฐ แต่เมื่อรัฐให้สัมปทานแก่ผู้ประกอบการไปแล้ว ในระหว่างอายุสัมปทาน สิทธิการขายและจำหน่ายจะเป็นของผู้รับสัมปทานโดยสมบูรณ์

“ดังนั้น ในความเห็นของผม ผลในทางปฏิบัติ ทันทีที่รัฐให้สัมปทาน สิทธิดังกล่าวจะหลุดออกจากมือของรัฐโดยพลัน คำว่าปิโตรเลียมเป็นของรัฐ จึงมีผลเป็นเพียงนามธรรมเท่านั้น แต่ในรูปธรรม อำนาจในการขาย จำหน่าย จ่ายแจก เป็นของผู้รับสัมปทานทั้งสิ้น ผู้รับสัมปทานเท่านั้นที่จะตัดสินเรื่องนี้

ในระบบสัมปทาน เฉพาะตามมาตรานี้ รัฐจึงไม่มีอำนาจจะเข้าไปแทรกแซง ในการขาย การจำหน่าย จ่ายแจก ใดๆ เลย เอกสารของกรมเชื้อเพลิงก็ระบุว่า Production ownership เป็นของ concessionaire แปลว่า ความเป็นเจ้าของปิโตรเลียมที่ผลิตได้ เป็นของ ผู้รับสัมปทาน แตกต่างจากระบบแบ่งปันผลผลิต ที่เอกสารดังกล่าวระบุว่า Production ownership เป็นของ host stateแปลว่า ความเป็นเจ้าของปิโตรเลียมที่ผลิตได้ เป็นของ รัฐ

ทั้งนี้ ถ้าวิเคราะห์งบการเงินของบริษัทที่ประกอบธุรกิจสำรวจและผลิต ที่แสดงในตลาดหลักทรัพย์ ก็จะเห็นว่า บริษัทสำรวจและผลิต ได้บันทึกปริมาณปิโตรเลียมทั้งหมดในแปลง ที่บริษัทได้รับสัมปทาน เป็นทรัพย์สินของบริษัท จึงน่าจะเป็นการยืนยันว่า แนวทางปฏิบัติ ทั้งของผู้ประกอบการในไทย และตามเอกสารของกรมเชื้อเพลิงดังกล่าว บ่งชี้นัยทางเศรษฐกิจว่าผู้รับสัมปทาน เป็นเจ้าของปิโตรเลียม ดังนั้น การที่เน้นความมั่นคงพลังงาน จึงต้องถามว่า กรณีระบบสัมปทานตามมาตรานี้ ซึ่งรัฐไม่มีอำนาจที่จะเข้าไปแทรกแซง การขาย การจำหน่าย หรือการจ่ายแจก รัฐจะมีความมั่นคงพลังงานได้อย่างไร?”
นายธีระชัยระบุ

นอกจากนี้ นายธีระชัย ยังให้ความเห็นถึงวิธีการสร้างความมั่นคงทางพลังงานด้วยว่า บรรดาพวกที่อ้างความมั่นคงพลังงาน เพื่อจะเร่งปิโตรเลียมรอบ 21 ในรูปแบบสัมปทานนั้น บางคนอ้างว่า ถ้าประเทศไม่มีพลังงานของตัวเอง ต้องนำเข้าทั้งหมด ถ้าหากผู้ขายไม่ยอมนำส่ง จะทำอย่างไร มีหลายประเทศที่ไม่มีพลังงานของตัวเอง ที่สร้างความมั่นคงด้วยการนำเข้า รวมไปถึงจีน ญี่ปุ่น เกาหลี ฯลฯ

วิธีสร้างความมั่นคง คือต้องกระจายความเสี่ยง โดยซื้อจากหลายๆ ประเทศ กระจายหลายทวีป เพื่อป้องกันกรณีแหล่งใดแหล่งหนึ่งเกิดปัญหาด้านการขนส่ง และมีการบังคับให้ผู้ประกอบการ ต้องเก็บสต๊อคพลังงานสำรองไว้ ไม่ว่าในประเทศ หรือในแหล่งที่ปลอดภัยในต่างประเทศ รวมทั้งควรมีการนำเข้าจากประเทศอาเซียนด้วยกันมากขึ้น ไม่ว่าจากอินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไน

แต่ถ้ารัฐบาลมีข้อกังวลเกี่ยวกับความมั่นคงพลังงานมากอย่างนี้ ยิ่งจะเดินหน้ารอบ 21 ในระบบสัมปทานไม่ได้เลย เพราะสำหรับระบบสัมปทานนั้น กฎหมายไทยกำหนดไว้ว่า ผู้ได้รับสัมปทานเป็นผู้ซึ่งมีสิทธิในการขายและการจำหน่ายปิโตรเลียม ไม่ใช่รัฐบาลไทย ดังนั้น ในระบบสัมปทาน ในกรณีปกติเมื่อรัฐบาลไทยไม่มีสิทธิเด็ดขาดในการขายและการจำหน่ายปิโตรเลียมที่ผลิตในไทย รัฐบาลไทยจะมีความมั่นคงทางพลังงานได้อย่างไร

ข้ออ้างว่าต้องรีบเปิดสัมปทานรอบ 21 เพราะถ้าทำแล้ว ประเทศจะมั่นคงทางพลังงาน จึงขัดกันโดยสิ้นเชิง ดังนั้น ยิ่งรัฐบาลมีข้อกังวลเรื่องความมั่นคงพลังงาน ยิ่งจะไม่สมควรใช้ระบบสัมปทาน แต่ยิ่งจะต้องรีบเปลี่ยนไปใช้ระบบแบ่งผลผลิต

ชมคลิป “บิ๊กตู่” ทุบโต๊ะ! ลุยเปิดสัมปทานรอบ 21 อ้างเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน ขู่ห้ามมีม็อบ

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (แฟ้มภาพ)
พื้นที่เปิดให้ยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ครั้งที่ 21

กำลังโหลดความคิดเห็น