xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

“ช้างป่า”เขาใหญ่ฮืออาละวาด ปฐมบทสั่งสอนผู้รุกรานไร้สำนึก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พื้นที่เขาใหญ่ ปัจจุบันมีประชากรช้างป่ามากกว่า 300 ตัว กระจัดกระจายทั่วพื้นที่
ASTV ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -ปรากฏการณ์ “ช้างป่า” อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่อาละวาด ก่อเหตุระทึกกระทืบทำลายรถยนต์ประชาชนนักท่องเที่ยว สัญจรบนถนนหมายเลข 3077 สายเขาใหญ่-ปราจีนบุรี หลายครั้งต่อเนื่องในช่วงต้นปีนี้ รวมทั้งบุกรื้อทำลายร้านอาหารสวัสดิการ ถึงหน้าศูนย์บริการนักท่องเที่ยวและที่ทำการอุทยานฯเขาใหญ่ ได้ก่อให้เกิดคำถามกับหลายฝ่ายว่าเกิดอะไรขึ้นกับช้างป่ากว่า 300 เชือก บนผืนป่าเขาใหญ่อันเคยอุดมสมบูรณ์แห่ง นี้

และ ถึงเวลาหรือยังที่ “มนุษย์”ผู้รุกราน จักได้รู้สึกสำนึก หยุดกอบโกยล้างผลาญทรัพยากรธรรมชาติในสารพัดรูปแบบอย่างบ้าคลั่ง เสียที

หลังต้องประเดิมเหตุระทึกต้อนรับปีใหม่ 2558 กันตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม เมื่อเกิดเหตุช้างป่าเขาใหญ่ออกจากป่าเดินหากินอยู่ที่บริเวณน้ำตกเหวนรก หลัก กม.ที่ 20 ถนนหมายเลข 3077 เขาใหญ่ -ปราจีนบุรี ด้านด่านเนินหอม จ.ปราจีนบุรี ใช้งวงฟาดใส่รถของนักท่องเที่ยวเสียหายเล็กน้อยหลายคัน

เบื้องต้นคาดว่าเพราะมีรถนักท่องเที่ยวสัญจรขึ้น-ลงอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่บนเส้นทางดังกล่าวจำนวนมาก ทำให้ช้างไม่สามารถเดินไปมาได้ตามธรรมชาติ ประกอบกับมีรถติดสะสมจำนวนมาก เมื่อช้างเห็นมีรถมาประกบหน้า-หลัง อีกทั้งนักท่องเที่ยวได้บีบแตรไล่ ทำให้ช้างตกใจเกิดอาการเครียดหงุดหงิด จึงให้บทเรียนระทึกขวัญแก่ผู้รุกรานหรือรบกวน ดังกล่าวเล็กน้อย

ต่อมาวันที่ 10 มกราคม เวลา 16.15 น. ซึ่งเป็นวันเด็กแห่งชาติ เกิดเหตุช้างป่าเพศผู้ อายุราว 8 ปี ชื่อว่า “ไอ้ดื้อ” ออกมาหากินริมถนนข้างทางด่านช้าง บริเวณหลัก กม.30 ถนนเขาใหญ่- ปราจีนบุรี ได้เข้าหยอกล้อและทำลายรถยนต์ นักท่องเที่ยวได้รับความเสียหาย 2 คัน คือ รถยนต์เก๋ง ยี่ห้อ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ทะเบียน กง-1028 มหาสารคาม และ รถยนต์เก๋งยี่ห้อ โตโยต้า รุ่น วีออส ทะเบียน ฆฮ 1945 กทม. โดยคันแรกช้างใช้เท้าเหยียบฝากระโปรงบุบ แต่สามารถขับเบี่ยงหนีพ้นไปได้

ส่วนคันที่สอง ซึ่งขับขี่มาเป็นครอบครัว หญิง 2 ชาย 2 ไม่สามารถกลับรถหรือถอยหลังหนีทัน ช้างใช้เท้าขึ้นเหยียบหน้ารถ หม้อน้ำ กระจกหน้าแตกร้าว ฝากระโปรงหน้าบุบ และ ดึงกันชนหน้าหลุด

เหตุดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจาก มีปริมาณรถมาก ชุดสายตรวจของอุทยานฯเขาใหญ่ เข้าช่วยเหลือไม่ทัน และมีนักท่องเที่ยวส่วนหนึ่งต้องการดูและถ่ายรูปจึงทำให้รถยนต์ติด ประกอบกับผู้ประสบเหตุเกิดความตกใจ ไม่ยอมถอยรถหนี ช้างจึงมีเวลาทำลายรถ แต่โชคดีไม่มีผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิต

ถัดมาไม่กี่วัน ช่วงกลางดึกตั้งแต่เวลา 02.00 น. ต่อเนื่องจนถึงเช้าวันที่ 12 มกราคม ช้างพลาย งายาว รูปร่างสูงใหญ่ อายุราว10 ปี ชื่อ “ไอ้ด้วน” เพราะมีลักษณะขนปลายหางด้วนกุดหมด ได้บุกเข้ารื้อทำลายร้านอาหารวนาลี ซึ่งเป็นร้านค้าสวัสดิการขายอาหารตามสั่งของอุทยานฯ ตั้งอยู่ใกล้ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ติดถนนสาย 3077 และอยู่บริเวณหน้าที่ทำการอุทยานฯเขาใหญ่

“ไอ้ด้วน” ปฏิบัติการรื้อรั้วหลังร้านพังเสียหาย ใช้งวงและงา ดันกระจกข้างห้องครัว และประตูร้าน แตก หลุดลงมา แล้วเข้าไปในครัวกินสับปะรด เกลือ น้ำตาลซอสเครื่องปรุงต่างๆ ที่เก็บไว้เพื่อเตรียมไว้ขายจนหมด และ เหยียบถ้วยจานแตกเสียหาย ก่อนเจ้าหน้าที่จะได้ระดมกำลังผลักดัน ซึ่งใช้เวลาหลายชั่วโมง ก่อน“ไอ้ด้วน” จะกลับเข้าป่าไปแต่โดยดี

สำหรับสาเหตุนั้น เจ้าหน้าที่อุทยานฯให้ข้อมูล ว่า ปกติแล้ว“ไอ้ด้วน” เป็นช้างป่าไม่ดุร้ายเกเร เป็นที่คุ้นเคยกับเจ้าหน้าที่อุทยานและนักท่องเที่ยวดี เพราะบริเวณนี้เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของเขาอยู่แล้ว แต่ช่วงนี้มีอาการ “ตกมัน” เพราะอยู่ในฤดูผสมพันธุ์ ทำให้อารมณ์หงุดหงิดเลยออกมาเดินเพ่นพ่านบนถนน และอาละวาดทำลายข้าวของที่ขวางหูขวางตา เพราะต้องการแสดงความสามารถให้ช้างตัวเมียเห็นเพื่อการผสมพันธุ์ ประกอบกับต้องการหากินอาหารในร้านค้าดังกล่าว เพราะช้างมีประสาทสัมผัสรับรู้กลิ่นได้ดีกว่าสัตว์ทั่วไป

ภาพเหตุการณ์ระทึกเหล่านี้ ได้มีผู้ถ่าย ภาพนิ่ง คลิปวิดีโอ ไว้ได้หลายเวอร์ชั่น ถูกนำเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดียและสื่อทุกแขนงเป็นจำนวนมาก จนได้รับความสนใจจากประชาชน นักท่องเที่ยว รวมทั้งสื่อมวลไทยและต่างประเทศเป็นอย่างมาก และเกิดกระแสเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง เพื่อหวังให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมองเห็นต้นตอของปัญหาและหาทางออกอย่างแท้จริง

ด้าน นายครรชิต ศรีนพวรรณ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เจ้าของรับผิดชอบพื้นที่โดยตรง ระบุว่า จากข้อมูลการสำรวจอย่างไม่เป็นทางการในปี 2552 ด้วยการวางแปลงสำรวจประมาณการณ์พบว่า ขณะนั้นมีประชากรช้างป่าอยู่ในอุทยานฯเขาใหญ่ ประมาณ 250 ตัว แต่ปัจจุบันคาดว่ามีมากกว่า 300 ตัว กระจายอยู่เต็มพื้นที่อุทยานฯ และแวะเวียนเดินทางหาอาหารผ่านไปมาทุกวันเป็นปกติของช้างป่าที่ต้องกินอาหารเป็นปริมาณมาก

พื้นที่ที่มักพบช้างป่าเป็นประจำแทบทุกวัน ในฝั่งด้านเขต อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา มักพบตั้งแต่ หนองผักชี หลัก กม. 29-30 ขึ้นมา ส่วนฝั่งด้านด่านเนินหอม จ.ปราจีนบุรี พบบ่อยอยู่ใกล้น้ำตกเหวนรก ซึ่งเป็นบริเวณด่านช้างที่มีช้างผ่านจำนวนมากเป็นประจำ ระหว่างหลัก กม.ที่ 20-30 โดยสามารถพบเจอช้างได้ทุกวันเวลา ทั้งในลักษณะ “ช้างโทน” ที่ออกหากินลำพัง และ “ช้างโขลง” โขลง ๆ ละประมาณ 15-20 ตัว

ฝั่งด้าน จ.ปราจีนบุรี นี้ จุดที่ช้างป่ามักออกมาเดินบนถนน ได้แก่ บริเวณเขาแหลม เขาฟ้าผ่า คลองอีเถ้า โป่งอาจารย์แมว น้ำตกเหวนรก และ เขาร่ม โดยได้ก่อเหตุกับรถยนต์นักท่องเที่ยวไปแล้ว 2 ครั้ง ในวันที่ 1 ม.ค. และ 10 ม.ค. ที่ผ่านมา

ช่วงเวลาที่พบช้างป่ามากที่สุด คือ ช่วงเย็น และ เวลากลางคืน ที่ช้างส่วนใหญ่มักออกหากิน ทางอุทยานฯ จึงทำการปิดประตูด่านไม่ให้รถยนต์สัญจรผ่านอุทยานฯ เขาใหญ่ ตามเส้นทางถนนหมายเลข 3077 ดังกล่าว ตั้งแต่เวลา 21.00-06.00 น.ของทุกวัน

ดังนั้น ประชาชน นักท่องเที่ยวจึงสามารถพบเจอช้างป่าได้ตลอดเวลา เพราะป่าเขาใหญ่อันอุดมสมบูรณ์คือบ้านถิ่นอาศัยและแหล่งอาหารของพวกเขาที่อยู่กันมาช้านาน และพวกเราไม่สามารถไปควบคุมธรรมชาติของช้างป่าได้ ฉะนั้นสิ่งที่ทำได้คือต้องปรับเปลี่ยนจิตสำนึก และพฤติกรรมของคน ซึ่งถือเป็นสิ่งแปลกปลอมที่เข้ามาบ้านของพวกเขา จึงขอให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของอุทยานฯและคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ รวมถึงข้อแนะนำในเอกสารประชาสัมพันธ์ที่แจกจ่ายให้กับทุกคน เพื่อให้คนกับสัตว์ป่าอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ

ทั้งนี้ นอกจากพฤติกรรมนักท่องเที่ยว เมื่อเจอช้างแล้วไม่หลบเลี่ยง และไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อกำหนด แต่กลับจอดรถลงไปรุมถ่ายรูปใช้แฟลช ทำเสียงเลียนแบบช้าง บ้างตะโกนโฮ่หา ใช้สปอร์ตไลท์ส่องอย่างไม่เกรงกลัวซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องทำให้ช้างเครียด

และสิ่งที่น่าเป็นห่วงและเจ้าหน้าที่กำลังจับตามอง คือ ปัญหาพฤติกรรมไกด์แสบไร้จิตสำนึก ที่นำนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในอุทยานฯ พยายามใช้รถยนต์ปิดหัวปิดท้ายช่วงที่ช้างเดินผ่านบนถนนเพื่อให้ช้างอยู่กลางวงล้อมให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูปเพื่อเป็นจุดขายของทัวร์และได้ทิปเป็นรางวัลจากนักท่องเที่ยวโดยเฉพาะชาวต่างชาติในจำนวนมาก

รวมทั้งมีชาวต่างชาติดำเนินการร่วมมือ กับไกด์นำเที่ยวเพื่อติดตามถ่ายรูปและถ่ายคลิปช้างป่าเขาใหญ่อย่างใกล้ชิดพร้อมนำไปลงเว็บไซต์ เพื่อให้คนทั่วโลกติดตามและขายผลงานอย่างเป็นขบวนการด้วย

ขณะทางฟากบรรดานักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ และองค์กรพัฒนาเอกชนที่เกี่ยวข้อง ต่างออกมาเสนอความคิดเห็นและแนวทางการแก้ปัญหาในทำนองเดียวกันว่า เรื่องนี้ต้องมุ่งแก้ที่ “คน” ไม่ใช่ “ช้าง”และถึงเวลาที่มนุษย์ต้องทบทวนตัวเอง หยุดรุกราน กอบโกยผลประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ในด้านต่างๆ อย่างบ้าคลั่งสุดโต่งได้แล้ว ไม่ว่าจะเป็นทุนสามานย์ด้านธุรกิจการท่องเที่ยว โรงแรม รีสอร์ท คอนโดมิเนียม บ้านจัดสรร และบ้านพักตากอากาศสุดหรู ที่ผุดขึ้นดาษดื่นปิดล้อมสูบเลือดเนื้อเขาใหญ่แทบเดินเหยียบกันตาย อยู่ในปัจจุบัน

อีกทั้งถึงเวลาต้องจัดระเบียบอุทยานฯเขาใหญ่กันครั้งใหญ่ เพราะปรากฏการณ์ช้างลุกฮืออาละวาด ครั้งนี้ ถูกมองว่า ปัจจัยหลักมาจากช้างป่าถูกรบกวนมากเกินไป เพราะป่าเขาใหญ่เป็นพื้นที่แหล่งอาศัยหากินดั้งเดิมของช้างป่า แต่ปัจจุบันมีปริมาณนักเที่ยวท่องเที่ยวและรถยนต์ขึ้นไปจำนวนมาก ถึงขั้นมีปัญหารถติดยาวเหยียดบนถนนไม่ต่างจากเมืองหลวง

ล่าสุดปี 2557 มีนักท่องเที่ยว เดินทางมาเที่ยวอุทยานฯเขาใหญ่ มากถึง 1,186,175 คน แบ่งเป็น ชาวไทย 1,141,581 คน ชาวต่างชาติ 44,594 คน และช่วงวันหยุดยาวหนาแน่นวันละ 15,000-30,000 คน จึงควรมีมาตรการต้องจำกัดปริมาณคน รถยนต์ ขึ้นไปบนอุทยานฯเขาใหญ่อย่างจริงจัง ควรขยายเวลาปิดถนนให้ยาวนานขึ้น หรือปิดเส้นทางบางส่วนที่จำเป็นโดยเฉพาะสายเขาใหญ่-ด่านเนินหอม จ.ปราจีนบุรี เพื่อใช้ในการลาดตระเวนเท่านั้น ไม่ใช่ให้รถวิ่งได้อย่างเสรีเช่นถนนทางหลวงทั่วไป

รวมทั้งมาตรการติดกล้องโทรทัศน์วงจรปิด(CCTV) เพื่อติดตามข้อมูลข่าวสาร การทำสัญญาณติดตามตัวช้าง การทำรั้วไฟฟ้า การขอความร่วมมือเอกชนติดตั้งสัญญาณโทรศัพท์มือในจุดที่ช้างออกมา รวมทั้งการย้ายโป่งเทียมข้างทางขึ้นเขาใหญ่ ด้านปราจีนบุรี-เขาใหญ่ 2 จุด คือ โป่งอาจารย์แมว และโป่งผาตาแบก ที่ทางอุทยานฯสร้างขึ้นให้นักท่องเที่ยวขับรถผ่านให้เห็นภาพช้างป่ากำลังกินโป่ง เขาไปในป่าลึก เพื่อป้องกันช้างออกมาและออกมาเดินเล่นบนถนน เป็นต้น

ทั้งหมดทั้งปวงนี้ ต้องติดตามกันต่ออีกยาว เพราะหลายฝ่ายเชื่อว่าปรากฏการณ์ระทึกช้างป่าเข้าใหญ่อาละวาด ที่เกิดในวันนี้เป็นเพียงปฐมบทสั่งสอนมนุษย์ผู้รุกรานและไร้จิตสำนึก เท่านั้น

ล้อมกรอบ

เปิดคัมภีร์ 8 ข้อปฏิบัติเมื่อเผชิญหน้าช้างป่าเขาใหญ่

1.ขอให้หยุดรถให้ห่างจากช้าง อย่างน้อย 300 เมตร หากช้างเดินเข้าหาให้เคลื่อนรถหนีรอจนกว่าช้างจะหลบจากถนน จึงเคลื่อนรถผ่านไป

2. อย่าใช้แตรรถหรือส่งเสียงดังรบกวนช้างหรือไล่ช้าง เพราะอาจทำให้ช้างโกรธและตรงเข้ามาหาเราได้

3. งดการใช้แฟลซถ่ายรูป เพราะอาจทำให้ช้างตกใจและตรงเข้ามาทำร้ายได้

4.ให้ติดเครื่องรถยนต์ไว้เสมอ เพื่อให้สามารถเคลื่อนรถหนีได้ทันท่วงที

5.หากพบช้างในเวลากลางคืน ให้เปิดไฟรถไว้เสมอ เพื่อให้สามารถสังเกตอาการของช้างและระยะห่างระหว่างรถกับช้างได้โดยสะดวก

6.เมื่อตกอยู่ในวงล้อมของช้าง ตั้งสติให้มั่น หากเป็นเวลากลางคืนให้ใช้ไฟสูงแล้วเลือกเคลื่อนรถไปในทางที่มีช้างอยู่น้อย แม้บางครั้งจำเป็นต้องเข้าใกล้หรือเบียดโขลงช้างไปก็ตาม อย่าดับเครื่องยนต์หรือปิดไฟรถเป็นอันขาด ค่อย ๆ เคลื่อนรถให้เสียงเครื่องยนต์นิ่งที่สุด

7.โดยปกติช้างจะวิ่งไล่ผู้รบกวนเป็นระยะทางสั้นๆ เพียง 2-3 ครั้ง หากตามผู้รบกวนไม่ทันก็จะเลิกวิ่งไล่ไปเอง

และ 8. เมื่อช้างอารมณ์ดี จะไม่ทำร้ายแม้รถจะวิ่งเข้าใกล้ก็ตาม แต่หากช้างโกรธ หรือไม่ไว้วางใจสิ่งใด เช่น ช้างแม่ลูกอ่อน อาจตรงเข้าทำร้ายผู้รบกวนได้ในระยะไกล จึงให้สังเกตอารมณ์และอาการของช้างไว้ประกอบการตัดสินใจด้วยเสมอ

ส่วนวิธีสังเกตอารมณ์ของช้างอย่างง่าย ๆ คือ 1. เมื่อช้างอารมณ์ดี หูจะสะบัดไปมา หากแกว่ง ใช้งวงสะบัดไปมา หรือเกี่ยวดึงต้นไม้กิน ไม่ค่อยสนใจเรา 2. แต่เมื่อช้างอารมณ์ไม่ดี หูจะตั้งกาง ไม่สะบัด งวงจะนิ่งแข็ง และอยู่นิ่งจ้องมาที่เรา


เหตุการณ์ล่าสุด ช้างบุก ทำลายร้านค้าร้านอาหารของเจ้าหน้าที่ ตรงข้ามที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
ภาพที่ปรากฏในโซเชียลมีเดียว เมื่อครั้งช้างทำลายรถยนต์นักท่องเที่ยว
บนเขาใหญ่ จะมีป้ายเตือนในทุกจุด ที่เป็นทางผ่านของช้าง  รวมทั้งป้ายแนะนำต่างๆ เมื่อเจอช้าง
เจ้าหน้าที่กำลังพยายามไล่ช้างกลับเข้าสู่ป่า
กำลังโหลดความคิดเห็น