จันทบุรี - หลายหน่วยงานลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือชาวบ้านใน 2 หมู่บ้าน อำเภอแก่งหางแมว หลังจากจังหวัดจันทบุรี ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติช้างป่า ขณะที่หน่วยงานเกี่ยวข้องเตรียมจัดทำป้ายระวังช้างป่า รวมทั้งวิธีการหลบเลี่ยงเมื่อเจอช้างป่า และช่วงเวลาโขลงช้างป่าออกหากินตลอดถนนเข้าออกหมู่บ้าน เพื่อให้ชาวบ้านได้รับรู้
ผู้สื่อข่าวรายงานความคืบหน้ากรณีที่ทางจังหวัดได้ประกาศให้พื้นที่ 2 หมู่บ้านในตำบลพวา อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี ประกอบด้วยหมู่ 1 และหมู่ 9 เป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติช้างป่า จากเหตุแรงงานกรีดยางชาวกัมพูชาถูกช้างป่าทำร้าย
ขณะที่พื้นที่สวนผลไม้ได้ถูกโขลงช้างป่าเข้ามาบุกกัดกินเหยียบย่ำจนพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้านได้รับความเสียหายเป็นวงกว้างนั้น ทางจังหวัดได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจความเสียหายในเบื้องต้น รวมทั้งจ่ายเงินเยียวยาให้แก่ชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบ ทั้งแรงงานที่ถูกช้างป่าทำร้าย และจ่ายเงินให้แก่ชาวบ้านที่พืชผลทางการเกษตรถูกช้างป่าบุกทำลายอย่างเร่งด่วนแล้ว
ทั้งนี้ เจ้างาบิด ยังคงนำโขลงช้างป่ากว่า 70 ตัว กระจายออกหากินบริเวณท้ายหมู่บ้าน โดยไม่มีทีท่าจะนำโขลงช้างป่ากลับขึ้นเขาแต่อย่างใด เจ้าหน้าที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน เจ้าหน้าที่ป่าไม้คลองครก ชุดปฏิบัติการเฝ้าระวังช้างป่า ชุด ชรบ.อปพร.ผู้นำท้องถิ่น ยังคงตรึงกำลังเข้มป้องกันไม่ให้โขลงช้างป่ารุกคืบเข้ามาในหมู่บ้าน ที่มีชาวบ้าน ผู้สูงอายุ และเด็กอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก
ส่วนการผลักดันขับไล่โขลงช้างป่ายังไม่สามารถที่จะดำเนินการได้สำเร็จ เพราะโขลงช้างป่ามีจำนวนมาก ประกอบกับเจ้างาบิด มีนิสัยดุร้าย หวงโขลง และไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่เข้าใกล้ หรือเข้าประชิดโขลง เจ้าหน้าที่ทำได้แต่เพียงวางกำลังโดยรอบ และโอบล้อมไม่ให้โขลงช้างป่ารุกคืบมาในหมู่บ้าน และพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านที่เหลือเท่านั้น
ขณะที่การดำเนินการจัดทำคูดักช้างล้อมรอบแนวเชิงเขากล้วย และเขาปอ เจ้าหน้าที่เขตจะประสานกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ให้เข้ามาดำเนินการให้เร็วที่สุด ซึ่งหากแล้วเสร็จจะเป็นการชะลอ หรือลดปริมาณช้างป่าเข้ามาในพื้นที่ตำบลพวา และตำบลขุนซ่อง อำเภอแก่งหางแมว จังหวัดจันทบุรี ได้ในระดับหนึ่ง รวมทั้งเจ้าหน้าที่จะเข้าดำเนินการสางเถาวัลย์ขึ้นเป็นโพรงเพื่อไม่ให้โขลงช้างป่ามีที่พัก หรือหลบแดดหลบฝน ซึ่งจะทำให้โขลงช้างป่ากว่า 70 ตัว กลับขึ้นเขาไปเอง
นอกจากนี้ ป้ายระวังช้างป่า รวมทั้งวิธีการหลบเลี่ยงเมื่อเจอช้างป่า และเวลาโขลงช้างป่าออกหากินนั้น เจ้าหน้าที่จะรีบดำเนินการติดตั้งตลอดถนนเข้าออกหมู่บ้านทั้งสาย เพื่อให้ชาวบ้านได้รับรู้ และหลีกเหลี่ยงการใช้เส้นทาง ป้องกันชาวบ้านได้รับอันตรายจากช้างป่า
ด้านการแก้ไขปัญหาในระยะยาว จังหวัดจันทบุรี จะทำโป่งเพื่อปลูกพืชอาหารให้ช้างป่าเพื่อลดความเสียหายพืชผลทางการเกษตรของชาวบ้าน รวมทั้งเพื่อให้ช้างป่าสามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อีกด้วย