ช้างป่าอาละวาดกลายเป็นประเด็นที่นักท่องเที่ยวต่างหวาดหวั่นกันมากขึ้นจากฤดูกาลท่องเที่ยวที่ผ่านมา เหตุเผชิญหน้าระหว่าง “นักท่องเที่ยว” กับ “ช้างป่าเขาใหญ่” เกิดขึ้นบ่อยครั้งจนน่าตกใจ ล่าสุดเพิ่งปรากฏข่าวช้างบุกทำลายร้านอาหารใกล้ที่ทำการอุทยานฯ จนต้องมีการประกาศเตือนพร้อมจัดชุดลาดตระเวนช่วยเหลือ 24 ชม.
เกิดอะไรขึ้นกับความเปลี่ยนแปลงของเขาใหญ่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา... เหตุใดช้างจึงออกมาเผชิญหน้ากับนักท่องเที่ยวบ่อยครั้งแบบนี้?
ช้างป่าอาละวาด
ในช่วงปีนี้มีเหตุช้างป่าปะทะนักท่องเที่ยวเกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปีใหม่ 1 มกราคม โดยมีนักท่องเที่ยวขับรถขึ้นไปพบช้างป่าออกมาอยู่ใกล้กับถนนจึงมีการ “บีบแตรไล่” แต่ช้างกลับตกใจวิ่งเข้าใส่รถพร้อมฟาดงวงฟาดงาใส่แทนเป็นเหตุให้รถติดกันหลายคัน
ต่อมาเมื่อช่วงวันเด็กที่ผ่านมา (10 มกราคม) ก็มีการแจ้งเหตุประชาชนพบช้างป่าจำนวนมากเดินบนถนนทางขึ้นอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จนเกิดเหตุระทึกเมื่อมีช้างป่าเข้าปะทะกับรถ 2 คัน โดยรถคันแรกถูกช้างใช้เท้าเหยียบไปที่ฝากระโปรงของรถคันหนึ่งจนบุบเสียหาย แต่รถคันดังกล่าวยังสามารถขับพ้นไปได้ ส่วนรถคันที่ 2 ถูกช้างเหยียบที่หน้ากระจกแตกร้าว ฝากระโปรงยุบ และถูกดึงกันชนหน้าหลุด โชคยังดีที่ทั้งสองเหตุการณ์นั้นไม่มีผู้เสียชีวิต
เหตุการณ์ดังกล่าวมีผู้ถ่ายคลิปไว้ได้ กลายเป็นเหตุการณ์ที่มีคนวิพากษ์วิจารณ์กันไปในวงกว้าง โดยต่างมองว่าคนเป็นฝ่ายรุกเข้าไปในพื้นที่ป่าซึ่งเป็นที่อยู่ของช้างจึงทำให้เกิดเหตุดังกล่าวขึ้น
ทว่า ไม่นานจากนั้นยังมีเหตุช้างป่าเขาใหญ่บุกทำลายร้านอาหารใกล้ที่ทำการอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา ชวนให้สงสัยว่าเหตุใดช้างป่าจึงมีการออกมาปะทะกับผู้คนมากกว่าที่ผ่านมา
ด้านครรชิต ศรีนพวรรณ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ กล่าวว่า จากกรณีที่มีช้างป่าออกมาทำลายรถยนต์นักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ตั้งแต่ปีใหม่ที่ผ่านมาเป็นจำนวนมาก ทำให้ช้างป่าที่ออกมาหากินมีพฤติกรรมเปลี่ยนไป
โดยเขากล่าวเพิ่มเติมว่า เป็นเรื่องปกติที่ช้างจะออกมาหากินได้ทุกจุดทุกวันในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ เพราะที่นี่เป็นบ้านของช้างและสัตว์ป่าอื่นๆ และที่ผ่านมาก็ออกมาบ่อยในจุดนี้ เมื่อช้างเขาทำลายเราก็ซ่อมแซมใหม่ เพราะเราจะยึดช้างเป็นศูนย์กลาง ไม่ทำร้ายช้าง การเข้าไปทำลายทรัพย์สินต่างๆ นี้เนื่องจากช้างมองว่าเป็นสิ่งแปลกปลอม และอาจหาอาหารกิน ทั้งนี้ ต้องขอเตือนประชาชนนักท่องเที่ยวหากเจอช้างป่าให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่และข้อแนะนำในเอกสารที่แจกจ่ายให้อย่างเคร่งครัด
ในมุมของอุทยานแห่งชาติที่ต้องรับมือกับปัญหาเผยว่า วิธีปฏิบัติเมื่อเจอช้าง คือ ให้จอดรถอยู่ห่างจากช้างอย่างน้อย 30 เมตร พร้อมที่จะกลับรถหนีช้างได้ อย่าดับไฟหน้า ให้ตั้งสติ อย่าดับเครื่องยนต์ อย่าบีบแตรไล่ช้าง และพร้อมจะเคลื่อนรถออกจากพื้นที่ที่มีช้างอยู่ อย่างไรก็ตาม ล่าสุดทางอุทยานฯ ก็ได้มีการคุมเข้มเฝ้าระวังเพิ่มมากขึ้นหลังจากหลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอีกด้วย
พฤติกรรมช้าง
สิ่งหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจสำหรับคนทั่วไปอย่างมากก็คือ พฤติกรรมช้างป่า เหตุเผชิญหน้าระหว่างคนกับช้างนั้นมีเกิดขึ้นเป็นปกติทั่วโลก และเป็นปัญหาที่หากคนยังต้องมีใช้ชีวิตอยู่กับช้างก็ต้องมีเหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ
อลงกต ชูแก้ว ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยและอนุรักษ์ช้าง เขาใหญ่ เผยว่า ปรากฏการณ์ดังกล่าวควรมองโดยยึดหลักพฤติกรรมการเคลื่อนย้ายหากินของช้างป่า จากการศึกษาพบว่า พฤติกรรมดังกล่าวของช้างป่าในเขาใหญ่นั้นแบ่งได้เป็น 3 ฤดูกาลด้วยกัน โดยฤดูฝนช้างจะออกมาปรากฏตัวข้างทางน้อย ขณะที่ฤดูแล้งก็จะพบช้างปรากฏตัวพอๆ กับช่วงฤดูฝน
“แต่เมื่อสิ้นหน้าฝน การปรากฏตัวของช้างจะเกิดขึ้นบ่อยมากกว่า จากการศึกษาก็พบว่า ช่วงพลบค่ำ 17.00-18.00 น.เป็นต้นไปก็จะเริ่มมีช้างออกมาปรากฏตัวและจะเจอมากที่สุดประมาณช่วง 19.00-20.00 น.”
นอกจากนี้ จากการศึกษายังพบด้วยว่า พฤติกรรมของช้างสำหรับการเคลื่อนย้ายหากินในแต่ละวัน ช้างป่าจะมีการพักในช่วง 10.00 น. และมาตื่นอีกทีในช่วง 13.00-14.00 น. เขามองว่ามีเหตุปัจจัยสำคัญ 2 ประการด้วยกันที่ทำให้ช้างมาปรากฏตัวที่ถนนสายปราจีนบุรี-อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ดังนี้
“1. การที่สองข้างทางของถนนมีพืชพรรณเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เพราะพืชใบเลี้ยงเดี่ยวต่างๆ พวกนี้ได้รับแสงจากถนนมากกว่าในป่าที่มีร่มเงาครึ้ม ฉะนั้นเมื่อสองข้างทางที่มีพืชมีแสงลง เจริญเติบโตมาตั้งแต่หน้าฝน ช้างก็ออกมาหากินในแถบนี้ ว่าง่ายๆ มีของกินเยอะข้างถนน ช้างก็ออกมากิน ปัจจัยนี้ถือเป็นปัจจัยหลัก
“2. มีแหล่งน้ำซึ่งถนนหลายๆ แห่งเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำซึ่งถือเป็นแหล่งน้ำสำคัญของช้างและสัตว์ป่าอื่นๆ ดังนั้นเมื่อมีอาหารมีน้ำยุทธศาสตร์การดำรงชีวิตอยู่ของสัตว์ก็คือ การมีกินและปลอดภัย ทีนี้ในช่วงเวลานั้น แปลว่าช้างจะปรากฏตัวบ่อยอยู่แล้วในช่วงนี้ เมื่อมารวมกับการมีกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวและนันทนาการของคนมันก็สัมพันธ์กับช้างพอดี จึงไม่แปลกที่จะเกิดปรากฏการณ์แบบนี้ขึ้น ซึ่งมันไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เกิดขึ้นมานานแล้ว”
ในส่วนของความก้าวร้าวที่เกิดขึ้น เขาเผยจากการศึกษาพบว่า ช้างตัวผู้มีโอกาสตกมันค่องข้างสูงในช่วงฤดูหนาวอยู่แล้ว โดยจะพบมากตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเรื่อยไปจนถึงช่วงเดือนกุมภาพันธ์หรือมีนาคมของแต่ละปี
“ฉะนั้น ช้างที่พบในช่วงนี้จึงมีการท้าทายหรือมีการตอบสนองที่รุนแรง ก็อาจจะมีเป็นองค์ประกอบหนึ่งซึ่งโดยปกติก็จะเป็นในช่วงนี้ของปีอยู่แล้ว”
โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ถนนมีการตัดขึ้นไปสู่เขาใหญ่มานานกว่า 10 ปีแล้ว ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและอนุรักษ์ช้าง เขาใหญ่ ให้ทัศนะว่า ช้างป่าเป็นสัตว์ที่ฉลาด เรียนรู้ ปรับตัวได้เก่ง หากสังเกตให้ดีจะพบช้างที่เข้าโจมตีกระแทกรถจะเป็นช้างตัวผู้ที่อยู่ในช่วงวัยรุ่นซึ่งอาจเป็นช้างที่เพิ่งออกจากโขลงได้ไม่นาน และเพิ่งประกาศอาณาเขต อาณาจักรของตัวเอง
“นิสัยของช้างแต่ละตัวก็ต่างกัน ช้างบางตัวที่ไม่ดุร้ายไม่ก้าวร้าว บางตัวอาจจะก้าวร้าวและบางทีอาจมีประสบการณ์ที่ไม่ดีกับมนุษย์ มันจึงอาจจะเป็นช่วงจังหวะที่มนุษย์บังเอิญไปเจอกับช้างเหล่านั้นเข้า แต่ทั่วไปแล้วช้างก็มีพฤติกรรมเหมือนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดอื่นๆ”
อย่างไรก็ตาม หากมองในแง่การจัดการเขาก็ยังให้เครดิตทางอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ว่ามีการจัดการที่ดี โดยมีเจ้าหน้าที่ที่มีคุณภาพ มีความรู้ความเข้าใจเรื่องช้างและมีประสบการณ์ในการป้องกันระมัดระวังที่เพียงพอในระดับสากลแล้ว
อุทยานต้องจำกัดคนขึ้น
เหตุเผชิญหน้าระหว่าง “คน” กับ “ช้าง” เป็นเหตุอันตรายที่หลายคนหวั่นกลัว ถึงตอนนี้ความเสียหายยังคงเป็นเพียงทรัพย์สินเท่านั้น ทว่าในมุมของนักเคลื่อนไหวที่ทำงานกับประเด็นช้างป่ามานานอย่าง “โซไรดา ชวาลา” เลขาธิการมูลนิธิเพื่อนช้าง เธอมองว่าเหตุดังกล่าวไม่ควรเกิดขึ้น โดยความสูญเสียที่เกิดขึ้นในครั้งต่อไปอาจมีมากกว่าทรัพย์สินที่เสียหาย
“ทุกคนต้องเข้าใจก่อนว่าพื้นที่อุทยานมันเป็นที่อยู่ของสัตว์ป่าและสัตว์ป่าที่ตัวใหญ่ที่สุดก็คือ ช้าง บริเวณนั้นช้างก็เดินของเขาอยู่แล้ว ก็มีทั้งด้านช้าง โป่งช้าง ทางอุทยานฯ ก็มีป้ายเตือนให้ระวังช้างป่าแต่เนื่องจากวันหยุดยาวของเรามันถี่และยาว เขาใหญ่ก็เป็นพื้นที่ใกล้ที่สุด นักท่องเที่ยวก็อยากขึ้นไปสัมผัสอากาศเย็น สัมผัสธรรมชาติ แต่ทางอุทยานกลับไม่มีการจำกัดยานพาหนะว่าวันหนึ่งขึ้นได้กี่คัน”
หากมองในมุมของนักท่องเที่ยว เธอมองว่า การที่นักท่องเที่ยงมีการขับรถขึ้นไปเป็นจำนวนมากนั้นถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นในช่วงเทศกาลท่องเที่ยว การก่อให้เกิดเสียงดังของรถยนต์ที่ขึ้นไปก็เป็นธรรมชาติที่เกิดจากการท่องเที่ยว ภาพที่รถจอดเรียงรายราวกับอยู่ในเมืองติดกันบนอุทยานแห่งชาติกลายเป็นภาพที่เกิดขึ้นทุกปีไปแล้ว ดังนั้นเมื่อมีช้างโผล่ขึ้นมา บางครั้งจึงอาจมีการแกล้งรถยนต์เหล่านั้นด้วยความรำคาญในฐานะที่เป็นเจ้าบ้านอยู่บ้าง
“จริงๆ กรณีแบบนี้นักท่องเที่ยวไม่ผิดเพราะอุทยานอนุญาตให้นักท่องเที่ยวสามารถขึ้นไปได้ เมื่อมีการอนุญาตโดยไม่มีการจำกัดบางพื้นที่ ซึ่งจริงๆ อาจจะเพราะเขาใหญ่ก็ดีใจให้คนอยากไปอยู่กับธรรมชาติมากขึ้น แต่มันก็มีปัญหา”
เธอเผยว่า มีการเคลื่อนไหวในวันที่ 26 มกราคมที่จะถึงนี้ซึ่งจะมีพิธีไหว้เจ้าพ่อเขาใหญ่ ก็จะมีการเข้าไปยื่นหนังสือเรื่องการจำกัดรถและคนเข้าอุทยาน
“ตอนนั้นเรามีความเสียหายเกิดขึ้นเฉพาะทรัพย์สินไม่อยากให้มีความเสียหายมากไปกว่านี้ เรื่องการจำกัดทั้งยานพาหนะและคนที่ขึ้นไปมีการคุยกันมาหลายปีมากแต่ก็ไม่เป็นผล เรื่องท่องเที่ยวมันเป็นตัวนำให้คนรักธรรมชาติ ชื่นชมธรรมชาติก็เป็นเรื่องดี
“ถ้าคนไปถึงแล้วไม่ให้เข้าไปก็คงเสียใจ ดังนั้นต้องสื่อสารให้เข้าใจ ประชาสัมพันธ์ให้ทราบว่า ในหนึ่งวันเข้าได้กี่คน กี่โมงถึงกี่โมง วันไหนบ้าง บางช่วงเป็นฤดูกาลที่ช้างจะเคลื่อนมาด้านนี้มากเพราะพืชในป่ามันก็โตไม่เท่ากัน มะม่วงอยู่ด้านนี้ กระท้อนอยู่ด้านนั้น เปลือกไม้ด้านนี้อร่อย ช้างเขาก็จะเดินเป็นวงกลม ก่อนจะกลับมาที่เดิมเขาก็ถ่ายไป ผลไม้ที่ทานไปมันก็จะงอกขึ้นมาเป็นต้นใหม่ ถึงคราวที่กลับมาอีกรอบเขาก็มีต้นใหม่กิน พฤติกรรมตรงนี้มันเป็นพฤติกรรมตามธรรมชาติของช้างอยู่แล้ว
“เราเข้าไปในบ้านของเขา เขาก็หงุดหงิดรำคาญ ช้างไม่ผิด นักท่องเที่ยวที่เข้าไปก็ไม่ผิดเพราะเขาก็อยากเข้าไปเที่ยว อยากมาชื่นชมธรรมชาติ อยากเห็นช้างด้วยแต่พอดีช้างมาล้อเล่นซึ่งมันก็อันตราย ดังนั้นต้องมีการจำกัดยานพาหนะ ช่วงเวลาที่ปิด ห้ามเที่ยว”
ข่าวโดย ASTV ผู้จัดการ LIVE
มาตามติด Facebook Fanpage และ Instagram
"ASTVผู้จัดการ Live" และ "@astv_live" กันได้ที่นี่!!
และสามารถส่งข่าวสารและเรื่องราวร้องทุกข์ในสังคมมาได้: astvmanager.live.lite@gmail.com
หรือ โทร.0-2629-4488 ต่อ 1477, Fax 0-2629-4754