xs
xsm
sm
md
lg

ล้อมคอกสื่อทำแตกแยก รธน.ห้าม”Hate Speech”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงถึง ความคืบหน้าในการยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา ในหมวด 2 ประชาชน ส่วนที่ 2 สิทธิและเสรีภาพของบุคคล ว่า จุดเด่นของหมวดสิทธิเสรีภาพของบุคคล มีการแยกเป็น 3 ส่วน คือ บททั่วไป สิทธิมนุษยชน และสิทธิพลเมือง โดยมีคำใหม่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญ คือ บัญญัติว่าบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน โดยมีการเพิ่มคำว่า “เพศสภาพ”เข้ามาด้วย ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการคุ้มครองเสรีภาพของคนกลุ่มนี้ แต่ยังไม่ถึงขั้นรับรองการสมรสระหว่างคนเพศเดียวกัน โดยเห็นว่าในส่วนนี้น่าจะไปอยู่ในกฎหมายลำดับรองมากกว่า
นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มเติมเนื้อหาเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพ คือ การจำกัดเสรีภาพเพื่อป้องกัน หรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจ หรือสุขภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเกลียดชังกันระหว่างคนในชาติ หรือ ศาสนา หรือการใช้ความรุนแรงระหว่างกัน ซึ่งเป็นการบัญญัติตามสภาพปัญหาในปัจจุบัน ที่มีการใช้คำพูดยั่วยุ หรือ ที่เรียกว่า hate speech โดยในประเด็นนี้ จะเกี่ยวพันถึงการใช้เสรีภาพของสื่อสารมวลชนในทุกแขนง รวมถึงในโลกออนไลน์ด้วย เนื่องจากการใช้ถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง เป็นรากฐานของปัญหาความแตกแยกในสังคม จึงจำเป็นต้องมีการควบคุม ซึ่งจะต้องมีกฎหมาย และองค์กรวิชาชีพเข้ามาควบคุม เพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะต้องมีการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มฐานความผิดในการกำหนดโทษเพิ่มเติมด้วย แต่การจำกัดเสรีภาพดังกล่าว ต้องไม่เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ
อย่างไรก็ตาม การจำกัดเสรีภาพต้องตีความแบบแคบ เพราะรัฐธรรมนูญมีเจตนาที่จะคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชนในการแสดงออก เช่น การใช้สัญลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่งในการเคลื่อนไหว แต่สาเหตุที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นำประเด็นเกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง มาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อจำกัดเสรีภาพ เนื่องจากเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องมีบทบัญญัติกฎหมายดูแลเพื่อให้เท่าทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น
แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่ลิดรอนสิทธิประชาชนจนเกินกว่าเหตุ ซึ่งหลังจากนี้น่าจะมีการต่อยอดในการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดนิยามที่ชัดเจนเกี่ยวกับ "ถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง" ว่ามีความหมายอย่างไร
สำหรับประเด็นที่แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญ ปี 2550 เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินว่า การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้ประโยชน์ในกิจการสาธารณะ ต้องชดใช้ค่าทดแทนที่เป็นธรรมภายในเวลาอันควร โดยคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด การได้มา สภาพ และที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ ความเสียหายของผู้ถูกเวนคืน และประโยชน์ที่รัฐและผู้ถูกเวนคืนได้รับจากการใช้สอยอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืน
นายคำนูณ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดแผนการทำงานในสัปดาห์นี้ว่า จะยกร่างรัฐธรรมนูญให้ได้ 89 มาตรา โดยในขณะนี้ยกร่างได้แล้ว 51 มาตรา และในวันที่สามนี้จะพยายามพิจารณาให้ได้ 16 มาตรา รวมสามวัน น่าจะพิจารณาได้ 67 มาตรา

**วิษณุแจงแก้ม.68เพื่อให้ชัดเจน

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย กล่าวถึงกรณีที่ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เสนอแก้ไขมาตรา 68 ให้ประชาชนสามารถยื่นฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญโดยตรงได้แล้ว เพราะมีข้อกังวลว่าจะเป็นปัญหาเหมือนในอดีตว่า เรื่องนี้คงต่างจาก มาตรา 68 ที่ผ่านมา แล้วตีความว่าประชาชนยื่นฟ้องได้ ทำให้ไม่แน่ใจว่า ถูกหรือผิด วันนี้จึงจะเขียนให้ชัดว่า ประชาชนยื่นฟ้องร้องได้ ก็จะไม่มีปัญหาในเรื่องของการตีความ แต่เกรงว่าประชาชนจะยื่นฟ้องร้องกันมาก ตรงนี้ก็เป็นหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ ว่าหากรู้ว่า มาตรา 68 จะมีใจความอย่างนี้แล้ว ประชาชนจะมาฟ้องร้องเยอะ ศาลรัฐธรรมนูญจะต้องสร้างมาตรการเตรียมสกัด รับมือ เช่น อาจต้องมีประชาชนเท่าไหร่ ไปยื่นที่ไหน ใครตรวจสอบ จะได้มีเวลาเตรียมตัวทันในส่วนนี้ ในอดีตนั้น เตรียมตัวไม่ทันเพราะเกิดการตีความชั่วข้ามคืน หากรู้เช่นนี้ ศาลรัฐธรรมนูญจะได้เตรียมตัวทัน เพราะในอนาคตจะมีกฎหมายออกมาฉบับหนึ่ง ชื่อ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ตรงนี้จะกำหนดรายละเอียดได้ว่า หากยื่นฟ้อง มาตรา 68 ต้องทำอย่างไร เหมือนตัวอย่างคือ มาตรา 7 วรรค 2 เพราะในอดีตมันมีปัญหาว่า อะไรคือ ประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เถียงกันใหญ่ วันนี้จึงใส่ให้ว่าหากมีปัญหาเรื่องดังกล่าวให้ถามศาลรัฐธรรมนูญได้ ทีนี้ก็จะถามกันเยอะไปหมด ก็ต้องมีเวลาไปสร้างเกราะป้องกัน อย่างประชาชนส่งฟ้องเองไม่ได้ ส่งได้เฉพาะครม. สภา ศาลฎีกา ที่ต้องผ่านที่ประชุมใหญ่ มันก็จะได้เรื่องไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ ไม่กี่เรื่อง
เมื่อถามว่า จะมีข้อกังขาหรือไม่ เนื่องจากในอดีตศาลรัฐธรรมนูญถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก นายวิษณุ กล่าวว่า "อย่าไปพูดถึงเรื่องในอดีต พูดถึงอนาคตสิ"
เมื่อถามอีกว่า เห็นด้วยกับการเพิ่มอำนาจศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ถึงการเพิ่มอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ อย่างที่เคยกล่าวไปคือ ต้องดู 3 อย่าง 1. ที่มา ถ้าที่มามันสมเหตุสมผล เราก็อาจจะวางใจ ในอดีตอาจจะไม่วางใจ 2.จำนวน ปัจจุบันมีองค์คณะ 9 คน ต่อไปอาจจะเปลี่ยน ตนเห็นมานานแล้วว่า 9 คนนั้น น้อยไป ถึงเวลาก็ลงมติ 5 : 4 งดออกเสียงบ้าง ไปต่างประเทศบ้าง 3. อำนาจหน้าที่ ทั้ง อย่างนี้ต้องไปด้วยกันเราจะไว้ใจให้อำนาจหน้าที่เมื่อเราไว้ใจที่มา และจำนวน
กำลังโหลดความคิดเห็น