xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ยกร่างฯ เพิ่มเนื้อหา รธน.ห้ามสื่อ Hate Speach คุ้มครองเพศสภาพ เวนคืนเป็นธรรม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“คำนูณ” เผย ความคืบหน้ายกร่างฯ รธน. ปรากฏคำใหม่ “เพศสภาพ” คุ้มครองเสรีภาพคนกลุ่มนี้ แต่ไม่ถึงขั้นรับรองสมรสเพศเดียวกัน เพิ่มเนื้อหาจำกัดเสรีภาพ ไม่ให้เกิดความเกลียดชัง ต้องควบคุมสื่อห้ามใช้คำยั่วยุ Hate Speach โบ้ยเป็นเหตุทำขัดแย้ง เล็ง แก้ กม.เพิ่มฐานความผิด พร้อมนิยามคำให้ชัด ย้ำ ไม่ลิดรอนสิทธิเกินกว่าเหตุ - เวนคืนให้ชดใช้ค่าตอบแทนเป็นธรรม



วันนี้ (14 ม.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงถึงความคืบหน้าในการยกร่างรัฐธรรมนูญรายมาตรา ในหมวด 2 ประชาชน ส่วนที่ 2 สิทธิและเสรีภาพของบุคคลว่า จุดเด่นของหมวดสิทธิเสรีภาพของบุคคลมีการแยกเป็นสามส่วน คือ บททั่วไป สิทธิมนุษยชน และสิทธิพลเมือง โดยมีคำใหม่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญ คือ บัญญัติว่าบุคคลย่อมเสมอกันในกฎหมายและได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน โดยมีการเพิ่มคำว่า “เพศสภาพ” เข้ามาด้วย ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นในการคุ้มครองเสรีภาพของคนกลุ่มนี้ แต่ยังไม่ถึงขั้นรับรองการสมรสระหว่างคนเพศเดียวกัน โดยเห็นว่าในส่วนนี้น่าจะไปอยู่ในกฎหมายลำดับรองมากกว่า

นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มเติมเนื้อหาเกี่ยวกับการจำกัดเสรีภาพคือ การจำกัดเสรีภาพเพื่อป้องกันหรือระงับความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชน หรือเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเกลียดชังกันระหว่างคนในชาติ หรือศาสนา หรือการใช้ความรุนแรงระหว่างกัน ซึ่งเป็นการบัญญัติตามสภาพปัญหาในปัจจุบันที่มีการใช้คำพูดยั่วยุหรือที่เรียกว่า hate speachโดยในประเด็นนี้จะเกี่ยวพันถึงการใช้เสรีภาพของสื่อสารมวลชนในทุกแขนงรวมถึงในโลกออนไลน์ด้วย เนื่องจากการใช้ถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังเป็นรากฐานของปัญหาความแตกแยกในสังคม จึงจำเป็นต้องมีการควบคุมซึ่งจะต้องมีกฎหมายและองค์กรวิชาชีพเข้ามาควบคุมเพื่อให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจจะต้องมีการแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มฐานความผิดในการกำหนดโทษเพิ่มเติมด้วย แต่การจำกัดเสรีภาพดังกล่าวต้องไม่เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ

อย่างไรก็ตาม การจำกัดเสรีภาพต้องตีความแบบแคบ เพราะรัฐธรรมนูญมีเจตนาที่จะคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนในการแสดงออก เช่น การใช้สัญลักษณ์อย่างใดอย่างหนึ่งในการเคลื่อนไหว แต่สาเหตุที่กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนำประเด็นเกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความเกลียดชังมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเพื่อจำกัดเสรีภาพ เนื่องจากเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน จึงจำเป็นต้องมีบทบัญญัติกฎหมายดูแลเพื่อให้เท่าทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องไม่ลิดรอนสิทธิประชาชนจนเกินกว่าเหตุ ซึ่งหลังจากนี้น่าจะมีการต่อยอดในการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดนิยามที่ชัดเจนเกี่ยวกับ “ถ้อยคำที่ก่อให้เกิดความเกลียดชัง” ว่ามีความหมายอย่างไร

สำหรับประเด็นที่แตกต่างไปจากรัฐธรรมนูญปี 2550 เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินว่า การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เพื่อใช้ประโยชน์ในกิจการสาธารณะต้องชดใช้ค่าทดแทนที่เป็นธรรมภายในเวลาอันควร โดยคำนึงถึงราคาที่ซื้อขายกันตามปกติในท้องตลาด การได้มา สภาพและที่ตั้งของอสังหาริมทรัพย์ ความเสียหายของผู้ถูกเวนคืนและประโยชน์ที่รัฐและผู้ถูกเวนคืนได้รับจากการใช้สอยอสังหาริมทรัพย์ที่ถูกเวนคืน

นายคำนูณ กล่าวว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกำหนดแผนการทำงานในสัปดาห์นี้ว่าจะยกร่างรัฐธรรมนูญให้ได้ 89 มาตรา โดยในขณะนี้ยกร่างได้แล้ว 51 มาตรา และในวันนี้จะพยายามพิจารณาให้ได้ 16 มาตรา รวมสามวันน่าจะพิจารณาได้ 67 มาตรา




กำลังโหลดความคิดเห็น