xs
xsm
sm
md
lg

เสวนาปฏิรูปสื่อ เสนอตั้งสภาสอบจริยธรรมองค์กรเดียว เบรกใบวิชาชีพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วสันต์ ภัยหลีกลี้ (แฟ้มภาพ)
เสวนา กมธ.ปฏิรูปสื่อ เสนอตั้งสภาสอบจริยธรรมองค์กรเดียว แยกสื่อการเมืองออกจากสื่อกระแส สื่อออนไลน์อยู่ใต้กำกับ กสทช. รวมองค์กรสื่อจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเพื่อให้มีบทลงโทษ ส่วนใบประกอบวิชาชีพสื่อฯ ยังไม่ได้ข้อสรุป หวั่นเปิดช่องให้ผู้มีอำนาจรัฐเข้ามาควบคุมสื่อ

วันนี้ (25 พ.ย.) คณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ เปิดการสัมมนาและรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 เรื่อง “ประเด็นปฏิรูปสื่อในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” ที่อาคารรัฐสภา 2 โดยมีตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อ ตัวแทนเครือข่ายเพื่อการปฏิรูป เข้ารวมการเสวนา โดยมีนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยการแสดงความคิดเห็นดังกล่าวจะนำข้อเสนอแนะที่เป็นประโยชน์ต่อการร่างรัฐธรรมนูญในด้านสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ จัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูป เพื่อกระตุ้นเตือนให้หน่วยที่เกี่ยวข้องร่วมกันผลักดันในการแก้ไขปัญหาและมีส่วนร่วมในการปฏิรูปสื่อสารมวลชนฯ

ทั้งนี้ ในวงสัมมนาได้มีการหารือกันในหลายประเด็น โดยเฉพาะการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนและการทำหน้าที่ของ กสทช.ควรมีองค์กรหรือสภาวิชาชีพที่กำกับดูแลการประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนเพียงหน่วยเดียว เพราะเห็นว่าสื่อได้ถูกหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวจนไม่อาจแบ่งแยกได้

ส่วนองค์กรวิชาชีพแต่ละด้านเห็นควรให้แยกกันอยู่เช่นเดิม ขณะที่บางส่วนเสนอให้แยกแยะสื่อด้านการเมืองให้ออกจากสื่อกระแสหลัก บางส่วนเห็นว่าสื่อออนไลน์ควรอยู่ในการกำกับดูแลของ กสทช.มากกว่าอยู่ในกำกับดูแลของกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ อย่างไรก็ตาม วงสัมมนาเห็นพ้องกันว่า กสทช.ควรเป็นองค์กรอิสระที่มีบทบาทการกำกับดูแลผู้ได้รับใบอนุญาต ส่วนการกำกับเนื้อหาให้เป็นหน้าที่ขององค์กรอื่นๆ ด้านวิชาชีพเป็นเบื้องต้น

นอกจากนี้ยังมีการหารือประเด็นการให้มีใบประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนจากนางจำนรรค์ ศิริตัน นายกสมาพันธ์วิชาชีพวิทยุกระจายและวิทยุโทรทัศน์ โดยเธอเห็นว่าผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมีผลกระทบต่อสังคมและมีการละเมิดบุคคลอื่นๆ อยู่บ่อยครั้ง และที่ผ่านมาเห็นว่า กสทช.ทำหน้าที่ได้ย่อหย่อน ทำในเรื่องที่เล็กๆ เช่น การเรียกผู้ประกอบการไปปรับ แทนที่จะทำในเรื่องใหญ่ๆ แต่ก็ไม่กล้าดำเนินการ เพราะกลัวถูกผู้ประกอบการฟ้อง นอกจากนี้ ยังเห็นว่าองค์กรวิชาชีพ ควรรวมตัวกันเป็นองค์กรเดียว และจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเพื่อให้มีบทลงโทษได้ อย่างไรก็ตาม ไม่เห็นด้วยที่จะถูกควบคุมโดยภาครัฐ เพียงแต่องค์กรแบบนี้ต้องมีความหลากหลายจากทุกภาคส่วนขอสังคม

นายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เห็นแย้งว่า วิชาชีพสื่อสารมวลชนมีความแตกต่างไปจากวิชาชีพอื่นๆ เช่น แพทย์ วิศวกร ทนายความ ที่มีกำหนดมาตรฐานทางวิชาชีพชัดเจน การกำหนดให้มีใบประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนจะกลายเป็นการเปิดช่องให้ผู้มีอำนาจรัฐต้องการเข้ามาควบคุมสื่อ และไม่มีความชัดเจนว่าองค์ใดจะเป็นองค์กรผู้ออกใบอนุญาต นอกจากนี้ยังเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น การพูด และการเขียน

“จากนี้ไปประชาชนจะไม่ต้องไปขอใบอนุญาตทุกครั้งในการพูดหรือเขียนในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นหรือ” นายกสมาคมนักข่าววิทุยและโทรทัศน์ไทยกล่าว และว่า ส่วนการรวมกันเป็นองค์กรเดียวกันนั้น ส่วนตัวเห็นว่าควรรวมตัวในลักษณะสมาพันธ์วิชาชีพสื่อสารมวลชนอยู่เหนือขึ้นไปอีกชั้น โดยองค์กรเดิมยังคงอยู่ และในอนาคตเราอยากเห็นข้อกำหนดให้สื่อทุกประเภทต้องสังกัดองค์กรตรวจสอบด้านจริยธรรม เพื่อป้องกันการลาออกไปกรณีถูกตรวจสอบ

ด้านนายจักรกฤษณ์ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวคิดการมมีองค์ตรวจสอบควบคุมกันเองเพียงหน่วยงานเดียว เพราะสื่อปัจจุบันได้หลอมรวมกันจนไม่อาจแยกจากกันได้เด็ดขาด แต่องค์กรวิชาชีพยังต้องแยกกันอยู่ แต่ต้องยอมรับว่าองค์กรตรวจสอบด้านจริยธรรมทำงานไม่เป็นไปตามที่สังคมคาดหวัง แต่ไม่ได้หมายความว่าสภาวิชาชีพฯ ทำงานไม่ได้เลย โดยการกำกับดูแลสื่ออาจผ่านองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ หากมีปัญหาขึ้นมา องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคสื่อสามารถเป็นผู้เสียหายแทนผู้ถูกละเมิดได้ทันหรือส่งไปยังสภาวิชาชีพฯ เพราะที่ผ่านไม่มีใครฟ้องร้องสื่อ ทั้งๆ ที่สื่อไทยได้ละเมิดกฎหมายอย่างน้อย 3 ฉบับอยู่เนืองๆ เช่น กฎหมายคุ้มครองเด็กและเยาวชน กฎหมายความรุนแรงในครอบครัว และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเด็ก


กำลังโหลดความคิดเห็น