xs
xsm
sm
md
lg

กมธ.ปฏิรูปสื่อฯ เล็งวางกรอบเสรีภาพไม่ให้ถูกแทรกแซง พร้อมชงตั้งสภาวิชาชีพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


กมธ.ปฏิรูปสื่อมวลชนฯ เน้นเสรีภาพในการนำเสนอข่าวไม่ให้ถูกแทรกแซงครอบงำจากใคร พร้อมชงให้มีสภาวิชาชีพออกใบอนุญาตการทำงาน



นายบุญเลิศ คชายุทธเดช รองโฆษกคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ปฏิรูปการสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ แถลงหลังการประชุมรับฟังความเห็นของตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อว่า ที่ประชุมมีความเห็นเบื้องต้นร่วมกัน คือ 1. สื่อมวลชนในอนาคตจะเปลี่ยนไปในด้านเทคโนโลยี เป็นอุตสาหกรรมสื่อสารมวลชน มีการประกอบการธุรกิจและวิชาชีพจึงต้องปรับไปด้วยกันทั้งธุรกิจและความเป็นวิชาชีพ

2. เสรีภาพเป็นหัวใจสำคัญที่สุดของวิชาชีพสื่อสารมวลชนในการปกครองระบอบประชาธิปไตย รัฐธรรมนูญต้องรับรองเสรีภาพสื่อ 3. หลักการความรับผิดชอบ ต้องใช้เสรีภาพในกรอบที่จะไม่สร้างปัญหาหรือผลกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคล และสังคมโดยรวม ทั้งยังต้องรับผิดชอบต่อกฎหมายและจริยธรรม ซึ่ง กมธ.มีข้อเสนอให้มีการกำกับควบคุมกันเองของสื่อทุกแขนง โดยอาจรวมอยู่ในองค์กรสภาวิชาชีพร่วมกัน

และ 4. สื่อวิทยุและโทรทัศน์ ถูกสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เข้ามาควบคุมตามกฏหมายจัดสรรคลื่นความถี่ฯ จึงต้องศึกษาว่าจะมีการปรับเปลี่ยนให้มีประสิทธิภาพหรือไม่ ทั้งนี้ ยอมรับให้ กสทช.ทำหน้าที่ต่อไป แต่ต้องมีการปรับปรุงการทำงาน ส่วนเรื่องมาตรฐานวิชาชีพสื่อก็มีความสำคัญในการปฏิรูปประเทศจึงต้องมีการส่งเสริม

ผู้สื่อข่าวถามว่า องค์กรวิชาชีพที่ให้สื่อแขนงต่างๆ มาสังกัดในสภาวิชาชีพจะมีอำนาจหน้าที่ หรือมีอำนาจในการถอนใบอนุญาตการทำงานด้านสื่อสารมวลชนหรือไม่ นายบุญเลิศกล่าวว่า ยังอยู่ระหว่างการหารือถึงความเป็นไปได้ว่าการถอดถอนหรือให้ใบอนุญาตนั้น จะมีผลปฏิบัติจริงได้อย่างไรบ้าง แต่องค์กรดังกล่าวจะมีตัวแทนจากสภาวิชาชีพต่างๆ รวมอยู่ด้วย เพื่อช่วยกันออกกฎระเบียบและจัดการให้มีแนวทางที่สอดคล้องกัน รวมทั้งจะมีการคุ้มครองการทำงานจากภาครัฐและนายทุน เพื่อไม่ให้เข้ามาแทรกแซง และจะดำเนินการเพื่อดำรงจริยธรรมได้อย่างเต็มที่ ส่วนฝ่ายที่ไม่เข้ามาเป็นสมาชิกนั้น ก็จะพยายามหาทางออกที่ดีที่สุดต่อไป

ส่วนเรื่องการเสนอให้มีการยกเลิกคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 97 และ 103 ซึ่งเป็นกฎหมายแทรกแซงสื่อนั้น นายบุญเลิศระบุว่า เรื่องดังกล่าวไม่ถือเป็นหน้าที่ของ กมธ. เพราะ กมธ.มุ่งในการปฏิรูปสื่อตามกรอบรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้เท่านั้น สำหรับนักการเมืองส่งนอมินีเข้ามาควบคุมสื่อที่ก่อตั้งขึ้น ก็จะพยายามวางหลักการตรงนี้ และเป็นอีกเรื่องที่ กมธ.หยิบยกขึ้นมาหารือกันต่อไป

ขณะที่นางเตือนใจ สินธุวณิก กมธ.สื่อสารมวลชน กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ในการทำงานจะยึดเสียงประชาชนเป็นหลัก จะนำรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550 มาพิจารณาประกอบเพื่อปฏิรูปสื่อสารมวลชน โดยจะนำกฎหมายที่มีอยู่เดิมมาดูแลไม่ให้มีการแทรกแซงสื่อในทุกรูปแบบ ทั้งจากผู้มีอำนาจและเจ้าของกิจการ ต้องส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อของประชาชน ปรับปรุงรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับภูมิทัศน์ของสื่อสมัยใหม่

อย่างไรก็ดี จะสรุปความเห็นเสนอต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญต่อไป และจะเชิญผู้บริหารและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมต่อจากนี้ ทั้งยังเห็นว่า จำเป็นต้องคงหลักการไม่ให้นักการเมืองเป็นเจ้าของสื่อ และต้องมีกฎหมายลูกที่มีผลบังคับใช้ให้ปฏิบัติได้อย่างแท้จริง

สำหรับกฎหมายป้องกันการแทรกแซงสื่อจะเป็นอย่างไรนั้น นางเตือนใจกล่าวว่า สื่อย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการนำเสนอข้อมูลสู่ประชาชน โดยไม่ถูกบังคับแทรกแซง ดังนั้นจะพยายามหาหนทางว่าทำอย่างไรให้สื่อได้รับการคุ้มครองอย่างแท้จริง เพราะบางครั้งการนำเสนอข้อมูลโดยสุจริตใจ แต่บางครั้งกลับถูกแทรกแซงโดยเจ้าของ ซึ่งตรงนี้จะมีการระดมความเห็นต่อไป

ส่วนกลุ่มการเมืองที่ตั้งสื่อขึ้นมาเพื่อหวังผลทางการเมือง นางเตือนใจ กล่าวว่า รัฐธรรมนูญ มาตรา 48 ห้ามนักการเมืองมามีส่วนได้เสีย ดังนั้น คิดว่าจะคงมาตรานี้ไว้ แต่มีจุดด้อยคือ ไม่มีการร่างกฎหมายลูกมาเสริมมาตรา 48 กมธ.ได้มองเห็นจุดด้อยนี้ ดังนั้น คงมีหารือถึงการออกกฎหมายลูกต่อไป

กำลังโหลดความคิดเห็น