xs
xsm
sm
md
lg

เสวนากมธ.ปฏิรูปสื่อ ตั้งสภาสอบจริยธรรม ค้านใบประกอบวิชาชีพ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (25พ.ย.) คณะกรรมาธิการปฏิรูปสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ สภาปฏิรูปแห่งชาติ เปิดการสัมมนา และรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 1 เรื่อง " ประเด็นปฏิรูปสื่อในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่" ที่อาคารรัฐสภา 2 โดยมีตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อ ตัวแทนเครือข่ายเพื่อการปฏิรูป เข้ารวมการเสวนา โดยมี นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เป็นผู้ดำเนินรายการ โดยการแสดงความคิดเห็นดังกล่าว จะนำข้อเสนอแน่ที่เป็นประโยชน์ต่อการร่างรัฐธรรมนูญในด้านสื่อสารมวลชน และเทคโนโลยีสารสนเทศ จัดทำแนวทางและข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิรูป เพื่อกระตุ้นเตือนให้หน่วยที่เกี่ยวข้องร่วมกันผลักดันในการแก้ไขปัญหาและมีส่วนร่วมในการปฏิรูปสื่อสารมวลชนฯ
ทั้งนี้ในวงสัมมนาได้มีการหารือกันในหลายประเด็น โดยเฉพาะการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน และการทำหน้าที่ของ กสทช. ควรมีองค์กร หรือสภาวิชาชีพที่กำกับดูแลการประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนเพียงหน่วยเดียว เพราะเห็นว่าสื่อได้ถูกหลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวจนไม่อาจแบ่งแยกได้ ส่วนองค์กรวิชาชีพแต่ละด้านเห็นควรให้แยกกันอยู่เช่นเดิม ขณะที่บางส่วนเสนอให้แยกแยะสื่อด้านการเมือง ให้ออกจากสื่อกระแสหลัก บางส่วนเห็นว่าสื่อออนไลน์ ควรอยู่ในการกำกับดูแลของ กสทช. มากกว่าอยู่ในกำกับดูแลของกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ อย่างไรก็ตาม วงสัมมนาเห็นพ้องกันว่า กสทช. ควรเป็นองค์กรอิสระที่มีบทบาทการกำกับดูแลผู้ได้รับใบอนุญาต ส่วนการกำกับเนื้อหา ให้เป็นหน้าที่ขององค์กรอื่นๆ ด้านวิชาชีพเป็นเบื้องต้น
นอกจากนี้ ยังมีการหรือประเด็นการให้มีใบประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน จากนางจำนรรค์ ศิริตัน นายกสมาพันธ์วิชาชีพวิทยุกระจายและวิทยุโทรทัศน์ โดยเธอเห็นว่า ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมีผลกระทบต่อสังคม และมีการละเมิดบุคคลอื่นๆอยู่บ่อยครั้ง และที่ผ่านมาเห็นว่า กสทช. ทำหน้าที่ได้ย่อหย่อน ทำในเรื่องที่เล็กๆ เช่น การเรียกผู้ประกอบการไปปรับ แทนที่จะทำในเรื่องใหญ่ๆ แต่ก็ไม่กล้าดำเนินการ เพราะกลัวถูกผู้ประกอบการฟ้อง นอกจากนี้ ยังเห็นว่า องค์กรวิชาชีพควรรวมตัวกันเป็นองค์กรเดียว และจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เพื่อให้มีบทลงโทษได้ อย่างไรก็ตาม ไม่เห็นด้วยที่จะถูกควบคุโดยภาครัฐ เพียงแต่องค์กรแบบนี้ ต้องมีความหลากหลายจากทุกภาคส่วนของสังคม
นายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เห็นแย้งว่า วิชาชีพสื่อสารมวลชน มีความแตกต่างไปจากวิชาชีพอื่นๆ เช่น แพทย์ วิศวกร ทนายความ ที่มีกำหนดมาตรฐานทางวิชาชีพชัดเจน การกำหนดให้มีใบประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชน จะกลายเป็นการเปิดช่องให้ผู้มีอำนาจรัฐต้องการเข้ามาควบคุมสื่อ และไม่มีความชัดเจนว่า องค์ใดจะเป็นองค์กรผู้ออกใบอนุญาต นอกจากนี้ ยังเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็น การพูด และการเขียน
"จากนี้ไปประชาชนจะไม่ต้องไปขอใบอนุญาตทุกครั้งในการพูด หรือเขียนในการแสดงออกซึ่งความคิดเห็นหรือ" นายกสมาคมนักข่าววิทุยและโทรทัศน์ไทย กล่าว และว่าส่วนการรวมกันเป็นองค์กรเดียวกันนั้น ส่วนตัวเห็นว่า ควรรวมตัวในลักษณะสมาพันธ์วิชาชีพสื่อสารมวลชนอยู่เหนือขึ้นไปอีกชั้น โดยองค์กรเดิมยังคงอยู่ และในอนาคตเราอยากเห็นข้อกำหนดให้สื่อทุกประเภท ต้องสังกัดองค์กรตรวจสอบด้านจริยธรรม เพื่อป้องกันการลาออกไป กรณีถูกตรวจสอบ
ด้านนายจักรกฤษณ์ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า เห็นด้วยกับแนวคิดการมมีองค์ตรวจสอบควบคุมกันเองเพียงหน่วยงานเดียว เพราะสื่อปัจจุบันได้หลอมรวมกันจนไม่อาจแยกจากกันได้เด็ดขาด แต่องค์กรวิชาขีพยังต้องแยกกันอยู่ แต่ต้องยอมรับว่าองค์กรตรวจสอบด้านจริยธรรม ทำงานไม่เป็นไปตามที่สังคมคาดหวัง แต่ไม่ได้หมายความว่า สภาวิชาชีพฯทำงานไม่ได้เลย โดยการกำกับดูแลสื่ออาจผ่านองค์กรคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ หากมีปัญหาขึ้นมา องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ สามารถเป็นผู้เสียหายแทนผู้ถูกละเมิดได้ทันหรือส่งไปยังสภาวิชาชีพฯ เพราะที่ผ่านไม่มีใครฟ้องร้องสื่อ ทั้งๆที่สื่อไทยได้ละเมิดกฎหมายอย่างน้อย 3 ฉบับ อยู่เนืองๆ เช่น กฎหมายคุ้มครองเด็กและเยาวชน กฎหมายความรุนแรงในครอบครัว และประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเด็ก
กำลังโหลดความคิดเห็น