ASTVผู้จัดการรายวัน-"พรเพชร" เตรียมพิจารณาให้ลิ่วล้อ "ยิ่งลักษณ์" ร่วมแถลงเปิดสำนวนหรือไม่ ยันไม่มีความจำเป็นต้องถ่ายทอดสด "นิคม" มั่นใจชี้แจงปมถอดถอน เพื่อเป็นบรรทัดฐานว่าการทำหน้าที่ของ ส.ว.ถูกต้อง หวัง สนช. ใช้ดุลยพินิจไปในทางที่ถูก "ปึ้ง"ขู่ฟ้อง สนช. หากลงมติถอด "นิคม-สมศักดิ์" รัฐบาลไม่หวั่นมวลชนแห่ให้กำลังใจ "ปู" เชื่อ คสช.ประเมินสถานการณ์ รับมือไหว
นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยถึงการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ วานนี้ (8ม.ค.) ที่จะมีการแถลงเปิดสำนวนคดีถอดถอนนายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ อดีตประธานรัฐสภา และนายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา เป็นผู้ถูกกล่าวหา รวมทั้งกรณีที่ทีมทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขอเพิ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ จำนวน 8 คน เข้าร่วมแถลงโต้คำร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในวันที่ 9 ม.ค. ว่า ถ้าทั้ง 8 คน มาเป็นกำลังใจก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้ามีวัตถุประสงค์เพื่อขอให้แถลงร่วมกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ตนก็จะต้องพิจารณาตามหลักกฎหมาย โดยทั้ง 8 คน ต้องแถลงอยู่ในขอบเขตพยานหลักฐาน ที่มีอยู่ในสำนวนของป.ป.ช. หากแถลงในสิ่งที่ไม่ได้อยู่ในสำนวน ก็จะกลายเป็นการแถลงหลักฐานใหม่ ทั้งนี้ ทางสนช. จะต้องสอบถามอีกครั้งว่า จะแถลงเรื่องอะไร หรือเคยเป็นพยานในป.ป.ช. หรือไม่
ส่วนเรื่องการถ่ายทอดสดขณะเปิดสำนวนนั้น ตามปกติไม่มีการถ่ายทอด ดังนั้น ในกรณีนี้ จึงไม่จำเป็นต้องทำ ที่สำคัญกระบวนการพิจารณาของ สนช. ก็เป็นไปอย่างเปิดเผยอยู่แล้ว โดยประชาชนสามารถติดตามได้ทางสถานีวิทยุโทรทัศน์รัฐสภา
** "นิคม"อ้างทำตามอำนาจหน้าที่
นายนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธานวุฒิสภา กล่าวว่า ตนจะเดินทางไปชี้แจงต่อที่ประชุมสภา สนช. ด้วยตัวเอง โดยจะนำเสนอข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย พร้อมทั้งพยานหลักฐาน ซึ่งเป็นสำนวนเดียวกับที่ คณะกรรมการป.ป.ช. เคยพิจารณาแล้ว ทั้งนี้ ในส่วนของตน ป.ป.ช.ได้ชี้มูลความผิด ฐานส่อว่าจงใจใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 3 วรรคสอง และมาตรา 291 ซึ่งตนจะนำหลักฐานที่มี อาทิ บันทึกการประชุม และรายงานของกรรมาธิการในการแปรญัตติว่ามีเจตนาอย่างไร ชี้แจงต่อสมาชิก สนช. ประกอบการพิจารณา
"เหตุผลสำคัญอีกประการที่ผมเดินทางไปชี้แจง สนช. ด้วยตัวเอง เพื่อรักษาบรรทัดฐานของสถาบันนิติบัญญัติว่าการพิจารณาของสมาชิกทุกคน มีเอกสิทธิ์คุ้มครอง ซึ่งเป็นการกระทำที่อยู่ในอำนาจหน้าที่ หากองค์กรอื่นก้าวล่วง ต่อไปสมาชิกจะทำอะไรไม่ได้เลย" นายนิคมกล่าว
เมื่อถามว่า มีความมั่นใจในข้อกฎหมายและพยานหลักฐานมากน้อยเพียงใด นายนิคม กล่าวว่า มั่นใจ ไม่มีความกังวล เพราะสิ่งที่เตรียมนำไปชี้แจงต่อ สนช. ทั้งหมดเป็นข้อเท็จจริง และข้อกฎหมาย ซึ่งหวังว่าสมาชิก สนช. จะใช้พิจารณาประกอบการตัดสินใจ โดยใช้ดุลยพินิจไปในทางที่ถูกต้อง
** "ปึ้ง"ขู่ฟ้องสนช.หากลงมติถอดถอน
นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล แกนนำพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า จากการตรวจสอบมติของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่เสนอถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมายัง สนช. พบว่า มติของป.ป.ช. มีความผิดพลาด เนื่องจากองค์คณะบางราย มีคุณสมบัติไม่ถูกต้อง ดังนั้น มติดังกล่าว จึงเป็นมติที่ไม่ชอบ เมื่อส่งเรื่องมาถึง สนช. เพื่อพิจารณาถอดถอน จึงเท่ากับว่า สนช. หยิบยกเรื่องที่มิชอบขึ้นมาพิจารณา ซึ่งหากสมาชิก สนช. ลงมติถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ทั้งนายนิคม นายสมศักดิ์ และน.ส.ยิ่งลักษณ์ ในช่วงปลายเดือนนี้ ตนก็จะยื่นฟ้องต่อศาลยุติธรรมและศาลอาญา เพื่อดำเนินการเอาผิดกับ สนช. ที่ลงมติถอดถอนทั้งหมด ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 123/1 ของพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เพราะการลงมติของ สนช. ถือเป็นความผิด และเข้าข่ายที่สามารถดำเนินคดีได้
**"วิษณุ"เชื่อไม่ทำสังคมแตกแยก
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการพิจารณาคำร้องถอดถอนของ สนช. ทั้ง 2 คดี ว่า อยู่ที่ สนช. แน่ใจมีอำนาจหรือไม่ ถ้าแน่ใจว่ามีอำนาจ ก็เลยไปขั้นตอนต่อไป จะถอดถอนหรือไม่ ซึ่ง สนช. ต้องดูแลตรงนี้เอง เป็นอำนาจ สนช. ประธาน สนช. ก็จะคุมการใช้อำนาจตรงนี้ และประธาน สนช. ต้องแน่ใจแล้วที่จะพิจารณาถอดถอน ไม่อย่างนั้นคงไม่รับเรื่องเข้ามา กำหนดวัน กำหนดขั้นตอนไปแล้ว คนอื่นที่อาจไม่เชื่อ ไม่แน่ใจ อาจจะมีได้ เพราะฉะนั้นจะต้องไปหาวิธีให้ได้คำตอบขึ้นมา คิดว่าสุดท้ายคงมีคำตอบชัดเจนได้ ไม่น่ามีปัญหา คงมีคำตอบที่ชัดเจนได้ และมั่นใจว่าเรื่องนี้ไม่ทำให้สังคมกลับมาวุ่นวายใหม่อีก
**ไม่หวั่นมวลชนแห่ให้กำลังใจ"ปู"
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีกระแสว่าจะมีมวลชนรวมตัวมาให้กำลังใจ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในวันเปิดสำนวนคดีโครงการรับจำนำข้าวของ สนช.ว่า เรื่องการให้กำลังใจใคร เป็นเรื่องส่วนบุคคล สามารถทำได้ ไม่ได้ห้าม เข่นเดียวกับกรณีงานศพ พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย จะไปก็ไป เป็นเรื่องของเขา แต่จะไปทำอะไรที่ขัดต่อข้อกฎหมาย ในลักษณะเคลื่อนไหวก็คงไม่ได้ ส่วนจะผิดกฎอัยการศึกหรือไม่นั้น เราไม่ได้บังคับใช้ในทุกกรณี แต่ดูเจตนาเป็นที่ตั้งมากกว่า ที่ผ่านมา กฎอัยการศึกแทบไม่ได้ทำอะไรเลย มีไว้เพื่อให้เจ้าหน้าที่สามารถให้เจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปตรวจสอบเรื่องราวต่างๆ ได้ หากมีข้อมูลเบื้องต้นว่าจะเกิดเหตุร้าย
"กรณีอย่างนี้ เทียบเคียงได้กับกรณีงานศพ จะไปก็ไป แต่ถ้าจะไปไฮปาร์ก ก็คงจะไม่ถูกต้อง แต่เชื่อว่าทุกฝ่ายเข้าใจดี ในสถานการณ์ที่ว่าไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็แล้วแต่ ก็เป็นคนไทยเหมือนกัน ทุกคนก็รู้ว่าสถานกาณ์บ้านเมืองเป็นยังไง เขาก็คงไม่ทำแบบนั้นหรอก" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว และว่า แค่ไปให้กำลังใจคงไม่ต้องใช้เครื่องกระจายเสียง แค่เห็นหน้าก็ได้แล้ว
เมื่อถามว่า กลัวว่าจะมีการข่มขู่ สนช. หรือไม่ พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า สนช.คงไม่ยอมอยู่แล้ว เป็นหน้าที่องค์กรของเขาที่ต้องปฏิบัติงานตามภารกิจหน้าที่ เพื่อให้บ้านเมืองเดินไปได้ ทุกฝ่ายก็รู้ กลุ่มการเมืองก็รู้ ตนเชื่อมั่นว่าเขาทราบ และคงไมทำแบบนั้น ส่วนการรักษาความปลอดภัยบริเวณด้านหน้าอาคารรัฐสภา เชื่อว่าเป็นปกติที่เจ้าหน้าที่จะสามารถวิเคาระห์สถานการณ์ได้ว่าควรจะมีมาตรการอย่างไร เพื่อให้เกิดความสบายใจทุกฝ่ายในการปฏิบัติหน้าที่ ส่วนจะปิดถนนบริเวณนั้นหรือไม่ เป็นเรื่องของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จะวิเคาระห์ พิจารณาว่า ต้องทำแค่ไหน อย่างไร เพื่อให้สังคมดูไม่ตื่นตกใจและสามารถดำเนินการไปได้ อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไม่ได้เป็นห่วง หรือกังวลใจในเรื่องนี้เลย