สนช.ไม่รับหลักฐานเพิ่ม 72 รายการ ตามที่ “ทนายยิ่งลักษณ์” เสนอ หลัง ป.ป.ช.ยืนยันอยู่ในสำนวนสอบสวนแล้ว “วิชา” ฟ้องระหว่างพิจารณาคดีถูกคุกคามหนักถึงขนาดยิงระเบิดใส่ที่ทำงานจนต้องไปพักในเซฟเฮาส์ ด้านทนายอ้าง “ปู” เป็นแค่ผู้หญิงงบอบบางไม่มีนิสัยก้าวร้าว บอกพอใจแม้ สนช.ไม่รับหลักฐานเพิ่ม เหตุ “พรเพชร” ยืนยันจะนำมาพิจารณาด้วย โวหาก สนช.ได้อ่านแล้วจะรู้ว่านายกฯ ไม่ได้ปล่อยปละละเลยให้ทุจริตโครงการจำนำข้าว ขณะเดียวกันแบ่งรับแบ่งสู้ “ยิ่งลักษณ์” จะมาแจงด้วยตัวเองยวันที่ 9 ม.ค.หรือไม่
ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 10.00 น. วันนี้ (28 พ.ย.) มีการการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช.เป็นประธานการประชุม ได้ทำการพิจารณาวาระเรื่องด่วนเพื่อดำเนินกระบวนการถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีออกจากตำแหน่ง ตามมาตรา 6 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 ประกอบมาตรา 64 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พ.ศ. 2542 ตามการชี้มูลความผิดของ ป.ป.ช. จากกรณีที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์เคยประกาศนโยบายต่อสภาว่าจะป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบในภาครัฐอย่างจริงจัง แต่กลับปล่อยให้เกิดการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าวและการระบายข้าว โดยไม่มีการระงับยับยั้ง ทั้งที่สามารถตรากฎหมายยุติโครงการรับจำนำข้าวได้
นายพรเพชรชี้แจงกรณี น.ส.ยิ่งลักษณ์โต้แย้งถึงข้อบังคับการประชุม สนช.หมวด 10 ว่าด้วยการถอดถอน ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ และสนช.ไม่มีอำนาจถอดถอนว่า สนช.มีอำนาจถอดถอนบุคคลออกจากตำแหน่ง ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วย ป.ป.ช. จึงจำเป็นต้องตราข้อบังคับการประชุมที่ผ่านการลงมติเห็นชอบจากที่ประชุม สนช. และเป็นไปตามที่รัฐธรรมนูญให้อำนาจ สนช.มาตรา 6 จึงดำเนินการไปตามกระบวนการถอดถอนได้ โดยกำหนดให้วันแถลงเปิดสำนวนของ ป.ป.ช.ในฐานะผู้กล่าวหา และให้ผู้ถูกกล่าวหาได้แถลงคำคัดค้าน ในวันที่ 9 ม.ค. 59 เวลา 10.00 น.
ต่อมาเป็นการพิจารณาคำขอเพิ่มเติมพิจารณาหลักฐานตามคำขอของผู้ถูกกล่าวหา โดยมีนายนรวิชญ์ หล้าแหล่ง และนายเอนก คำชุ่ม เป็นทนายความผู้รับมอบอำนาจจาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ เพื่อขอเพิ่มหลักฐานเพิ่มเติมทั้งสิ้น 72 รายการ
นายนรวิชญ์ชี้แจงต่อที่ประชุมว่า เชื่อว่าคุณธรรม ความรู้ความสามารถของสมาชิก สนช.จะให้ความเป็นธรรมต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ผ่านเราได้พยายามเสนอข้อเท็จจริงต่อ ป.ป.ช.มาโดยตลอด มีทั้งการขอเพิ่มเติมพยานบุคคล 18 ปาก แต่ก็ได้เพียง 6 ปาก ซึ่งหากพิจารณาดูให้ดีจะพบว่า ข้อกล่าวหาจาก ป.ป.ช. เป็นข้อกล่าวหาที่กว้างมาก โดยมองว่าโครงการรับจำนำข้าวคือการทุจริตเชิงนโยบาย แต่อย่างในคำวินิจฉัยของ ป.ป.ช.
ส่วนที่ 2 นั้น ก็มีเพียง 4 หน้า ทั้งที่ข้อกล่าวหานี้มีต่ออดีตนายกรัฐมนตรีและเป็นข้อกล่าวหาที่ใหญ่ ซึ่งหากตรวจดูก็จะพบว่า ป.ป.ช.ไม่ได้ระบุว่าพยานหลักฐานของผู้ถูกกล่าวหานั้น ฟังขึ้นหรือไม่ หรือหักล้างได้หรือไม่อยู่เลย พยานและเอกสารที่ขอเพิ่มเติมในวันนี้ จึงเป็นเอกสารที่เคยเสนอ ป.ป.ช.เพิ่มเติมในชั้นไต่สวนแล้ว แต่ไม่ได้รับอนุญาต พอมาถึงชั้นการพิจารณาของ สนช. ทีมทนายจึงจำเป็นต้องขอเพิ่มเติมเอกสารหลักฐาน เพราะมองว่าการพิจารณาของ สนช.ไม่อาจจะยึดสำนวนของ ป.ป.ช. เป็นหลักได้ ซึ่งเอกสารพยานหลักฐานหลายรายการนั้น อยู่ในสำนวนของ ป.ป.ช. แล้ว แต่ป.ป.ช.ไม่ได้หยิบยกมาในการพิจารณาวินิจฉัยให้เป็นคุณต่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เลย
ขณะที่ทางฝั่ง ป.ป.ช.ในฐานะผู้กล่าวหา มีนายวิชา มหาคุณ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เป็นตัวแทน โดยชี้แจงว่าเอกสารที่ผู้ถูกร้องขอเพิ่มเติม ในรายการที่ 1-25, 31, 40, และ 72 รวม 28 รายการ นั้น ผู้ถูกร้องเคยยื่นต่อกรรมการ ป.ป.ช.แล้ว โดยอ้างว่าไม่ถูกนำไปพิจารณา ตนขอชี้แจงว่าหลักฐานดังกล่าวได้อยู่ในสำนวน แต่กระบวนการวินิจฉัยก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของกรรมการ ป.ป.ช.ว่าจะหยิบพยานหลักฐานใดมาพิจารณาก็ได้ มีเพียงพยานหลักฐานรายการที่ 26-30 ที่เป็นกลุ่มพยานและเอกสารคำสั่งคณะอนุกรรมการตรวจสอบและติดตามการรับจำนำข้าว, 32-39 ที่เป็นกลุ่มพยานและเอกสารสรุปผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ และ 41-71 ที่เป็นกลุ่มพยานและเอกสารรายงานการประชุมคณะอนุกรรมการกำกับดูแลการจำนำข้าว รวม 44 รายการนั้น ยังไม่ได้มีการยื่นเพิ่มเติมเข้ามาทั้งที่ ป.ป.ช.เปิดโอกาสให้ยื่นเข้ามาแล้ว แต่ฝ่ายทนายความ น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ยอมนำมาเสนอต่อป.ป.ช.
“ตลอดการทำงานในคดีนี้ สำนักงาน ป.ป.ช.ได้ถูกปิดล้อม มีการใช้อาวุธยิงสงครามยิงเข้ามาในห้องทำงาน ต้องย้ายที่ทำงาน ผมในฐานะผู้รับผิดชอบก็ต้องไปอาศัยในเซฟเฮาส์ เปลี่ยนรถที่เคยนั่ง แม้แต่ภรรยาและครอบครัวก็ไม่รู้”
ด้านนายนรวิชญ์จึงโต้แย้งกลับว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์เป็นผู้หญิงตัวเล็กๆ บอบบาง ไม่มีนิสัยก้าวร้าวที่จะไปคุกคามใครได้ ส่วนที่ใครไปคุกคาม ป.ป.ช.นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งก็ไปว่ากันต่อไป และขณะนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ไม่ได้มีอำนาจบารมี ต้องอยู่ในเซฟเฮ้าส์เช่นกัน ส่วน พยานและเอกสารที่ ป.ป.ช.มีแล้ว เราติดใจในประเด็นที่ว่า ทำไมเอกสารเหล่านี้จึงไม่นำเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการ ป.ป.ช. จึงอยากให้นำเอกสารเหล่านั้นมาพิจารณาด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากทั้งสองฝ่ายแสดงเหตุผลอย่างกว้างขวางแล้ว นายพรเพชรในฐานะประธานการประชุมจึงเสนอลงมติว่าจะอนุญาต ให้นำเอกสารทั้ง 28 รายการที่อยู่ในสำนวนของ ป.ป.ช.มาพิจารณาในชั้น สนช.หรือไม่ โดยที่ประชุมมีมติไม่ให้นำมาพิจารณา 165 ต่อ 15 จากนั้นที่ประชุมจึงลงมติไม่รับพยานหลักฐานเพิ่มเติมในรายการ 26-30 ด้วยคะแนน 122 ต่อ 63 และในรายการที่ 32-39 และ 41-71 ด้วยคะแนน 148 ต่อ 31 จากนั้นนายพรเพชรได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า หากสมาชิกต้องการยื่นข้อซักถามต่อกรณีถอดถอน น.ส.ยิ่งลักษณ์ ให้ยื่นคำถามได้ตั้งแต่วันที่ 28 พ.ย. - 8 ม.ค. 58 ก่อนสั่งปิดการประชุมในเวลา 12.40 น.
นายนรวิชญ์ให้สัมภาษณ์หลังผิดหวัง สนช.ไม่รับพิจารณาพยานหลักฐานเพิ่มเติมที่เสนอเข้าไปว่า แม้ที่ประชุม สนช.จะมีมติไม่รับพิจารณาพยานหลักฐานที่พวกตนเสนอทั้งหมด แต่ก็พอใจเพราะใน 28 รายการแรกที่ไม่รับนั้นแม้จะอยู่ในสำนวนของ ป.ป.ช. แต่ ป.ป.ช.ก็ยอมรับว่าได้ใช้ดุลยพินิจไม่นำมาเป็นส่วนหนึ่งในการพิจารณาวินิจฉัยชี้มูล ซึ่งประธาน สนช.ได้ระบุถ้อยคำที่พวกตนรู้สึกพึงพอใจ โดยกล่าวว่าเมื่ออยู่ในสำนวนแล้วที่ประชุม สนช.จะพิจารณาเอง เพราะหลักฐานดังกล่าวจะเป็นตัวที่ชี้ว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้ปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในโครงการนี้
“อย่างน้อยก็แสดงให้ สนช.รู้ว่าเอกสารที่เรานำมาสู้นั้นเป็นอะไรและมีอะไรบ้าง เพราะเกรงว่าโดยภาระหน้าที่ของ สนช.ที่มีอยู่ก็หนักอยู่แล้ว สำนวนมีถึง 3 พันกว่าหน้าท่านคงไม่มีเวลาอ่านทั้งหมด คงจะได้อ่านแต่ส่วนที่สรุปร้อยกว่าหน้า ซึ่งถ้าอ่านเฉพาะส่วนนี้ก็จะไม่เห็นถึงพยานหลักฐานเหล่านี้ เพราะ ป.ป.ช.รับไปจริง แต่เอาไปตั้งไว้เฉยๆ แล้วไม่นำเข้าสู่การวินิจฉัย ทั้งที่เป็นหลักฐานสำคัญ”
นายนรวิชญ์ยืนยันว่า ไม่หนักใจและหากในวันนี้ที่ประชุม สนช.รับหรือไม่รับ พยานหลักฐานทั้งหมดก็ไม่มีผลที่จะทำให้เรายื้อหรือประวิงเวลาออกไป เพราะถึงอย่างไรก็ต้องไปเริ่มกระบวนการสำนวนการไต่สวนในวันที่ 9 ม.ค. ส่วนในวันดังกล่าว น.ส.ยิ่งลักษณ์จะเดินทางมาแถลงเปิดคดีด้วยตนเองหรือไม่ หลังจากนี้ทางทีมทนายก็จะหารือกับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ซึ่งก็เข้าใจว่าในประเด็นที่ถูกกล่าวหาว่าละเลย หากเจ้าตัวจะมาชี้แจงด้วยตนเองก็จะดี แต่ก่อนหน้านี้ก็ได้ชี้แจงไว้เป็นเอกสารหมดแล้ว แต่ทั้งนี้จะมีการพิจารณาในประเด็นนี้อีกครั้ง หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ตัดสินใจที่จะมาแถลงด้วยตนเองก็จะมีการสื่อสารกับสื่ออีกครั้งก่อนที่จะถึงวันที่ 9 ม.ค.