xs
xsm
sm
md
lg

พ.ศ.2558 ปีแห่งการเปลี่ยนแปลง

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

สวัสดีปีใหม่ท่านผู้อ่านและพี่น้องผองเพื่อนทุกท่านครับ

ปีนี้เป็นอีกปีหนึ่งที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงของการเปลี่ยนแปลง ตามกำหนดการปกติจะมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ใช้บังคับในช่วงประมาณเดือนกันยายนหรือตุลาคม หรือถ้ามีการทำประชามติเพิ่มขึ้นมาก็จะไม่เกินสิ้นปี รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะมีลักษณะผิดแผกแตกต่างไปจากฉบับก่อนๆ แน่นอนเพราะประการหนึ่งก็เป็นครั้งแรกที่มีกรอบบังคับไว้ 10 ประการตามมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 หรือพูดง่ายๆ ว่าตามความต้องการของคณะคสช.ในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ผู้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวหลังรัฐประหาร ขณะที่อีกประการหนึ่งก็จะเป็นครั้งแรกอีกเช่นกันที่จะมีบทบัญญัติว่าด้วยการปฏิรูปประเทศและการสร้างความปรองดองไว้ในรัฐธรรมนูญด้วย ขณะเดียวกันสภาวะเศรษฐกิจก็ไม่สดใสเป็นอย่างยิ่ง ประชาชนหลายภาคส่วนโดยเฉพาะภาคเกษตรกรยังคงเดือดร้อนอย่างต่อเนื่อง แม้ไม่มีการเคลื่อนไหวต่อสู้ทางการเมืองบนท้องถนนทั้งใหญ่ทั้งย่อยแต่ก็เป็นเพียงปรากฏการณ์ภายใต้กฎอัยการศึกและการคุมเข้มจากอำนาจพิเศษไม่อาจกล่าวได้ว่าความขัดแย้งที่ดำรงอยู่มาเกือบ 1 ทศวรรษยุติลงโดยสิ้นเชิง ความนิยมในรัฐบาลอำนาจพิเศษเองก็พ้นช่วงระยะดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์กับประชาชนแทบทุกกลุ่มไปแล้ว

จะเห็นได้ว่าความคิดเห็นแตกต่างชนิดสุดขั้วในสังคมไทยยังคงดำรงอยู่

รูปธรรมเริ่มปรากฏให้เห็นเมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญตกลงแนวทางเบื้องต้นในการยกร่างบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตราเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2557

ฟากหนึ่งบอกว่า “ไม่เป็นประชาธิปไตยจริง!”

ฟากหนึ่งบอกว่า “เป็นการวางยาเพื่อประโยชน์ของกลุ่มการเมืองเก่า!!”


ฟากแรกเห็นว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง ส.ส.และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งคือผู้กำหนดก้าวเดินของประเทศในนามของประชาชน พรรคการเมืองคือกลไกในการเข้าสู่อำนาจการเมืองที่จำเป็น ปัจจัยอื่นเป็นรอง

ขณะที่ฟากหลังนั้นเห็นว่าการเลือกตั้งไม่ใช่ทั้งหมดของประชาธิปไตย ส.ส.และรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นต้นเหตุของวิกฤต พรรคการเมืองเสมือนมารร้าย หากเขียนกฎเกณฑ์ประเทศไปแบบเดิมๆ ตามที่ฟากแรกต้องการ ประเทศก็จะกลับเข้าสู่วงจรอุบาทว์เกือบจะทันทีหลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งใหม่จบลง อันที่จริงฟากหลังนี้เห็นเป็นพื้นฐานด้วยว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะไม่มีทางเยียวยาวิกฤตของประเทศได้สักกี่มากน้อย รัฐบาลอำนาจพิเศษขณะนี้เองต่างหากที่สามารถทำได้หากมีทิศทางที่ถูกต้อง แต่น่าเสียดายที่ตั้งโจทย์ผิดไปตั้งตัวเป็นกรรมการระงับความขัดแย้งแทนที่จะชี้ถูกชี้ผิดให้กระจ่าง

บทบัญญัติที่ก่อให้เกิดความคิดเห็นแตกต่างกันมากที่สุดก็คือที่มาของรัฐสภาและนายกรัฐมนตรี ฟากแรกไม่ว่าจะสังกัดพรรคการเมืองใดต้องการระบบการเลือกตั้งแบบเดิม หรือเปลี่ยนแปลงไม่มาก บังคับให้ ส.ส.สังกัดพรรคการเมืองเหมือนเดิม จำกัดให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น อีกฟากหนึ่งไม่เพียงแต่ต้องการให้เลิกบทบังคับให้ ส.ส.สังกัดพรรคการเมืองและบทจำกัดว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น แต่ยังต้องการให้ยกเลิก ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อทั้งหมดไปเลย และให้ใช้ระบบเลือกตั้งเขตใหญ่ระดับจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง

ข้อตกลงเบื้องต้นของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อให้คณะทำงานฝ่ายเทคนิคไปยกร่างบทบัญญัติเป็นข้อกฎหมายรายมาตราเพื่อนำกลับมาพิจารณารายมาตราตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2558 เป็นต้นไปนั้นไม่ได้จู่ๆ นึกจะบัญญัติอย่างไรก็บัญญัติอย่างนั้น

แต่มีทั้งรากฐานความคิด และมาตรการอื่นๆ ที่สังคมไม่ค่อยได้พูดถึงมากนักประกอบด้วยมากทีเดียว

ถูกผิดประการใดวิพากษ์วิจารณ์เสนอแนะได้
แต่เบื้องต้นคืออยากให้ได้เห็นภาพรวมของโครงสร้างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งหมดก่อน ตามเอกสารที่ออกมาเมื่อท้ายปีเรื่อง “หลักการใหม่เกี่ยวกับระบอบการเมือง นักการเมือง และสถาบันการเมือง” จำนวน 5 หน้ากระดาษขนาด A 4 ก่อนเป็นปฐม

อันที่จริงรากฐานความคิดจริงๆ ก็จะใกล้เคียงกับที่ผมเคยเขียนไว้ ณ ที่นี้เมื่อปลายปีก่อน

คือพวกเราเห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องเขียนกฎเกณฑ์ใหม่ให้สามารถผนึกรวมพลังอำนาจที่ดำรงอยู่จริงในสังคมไทยให้เข้ามามีที่ยืนในโครงสร้างทางการเมืองในระบบให้ได้ ให้เสียงของทุกพลังอำนาจสามารถเปล่งออกอย่างเป็นทางการ ได้ยินไปทั่วอย่างเป็นทางการ และร่วมตัดสินชะตากรรมของสังคมไทยได้ พวกเราเห็นพ้องต้องกันว่าองค์ประกอบของสังคมไทยมี 4 ส่วนหลัก สังคมจะราบรื่นสมานฉันท์ “ปรองดอง” ได้ก็ต่อเมื่อเกิดดุลยภาพอย่างลงตัวในองค์ประกอบทั้งสี่นี้ คือ

1. พระมหากษัตริย์ หรือสถาบันพระมหากษัตริย์ - สังคมไทยนับแต่อดีตจวบจนปัจจุบันมีแต่การเปลี่ยนแปลงจากเบื้องบน ไม่มีการลุกขึ้นสู้แล้วก่อการเปลี่ยนแปลงจากเบื้องล่าง หรือมีอยู่บ้างก็เล็กและพ่ายแพ้ พระมหากษัตริย์นับแต่ยุคสุโขทัยมา ทรงเป็นผู้นำ ทรงเป็นศูนย์รวมจิตใจ และเป็น Statesman หรือรัฐบุรุษในความหมายที่แท้จริง บทบาทแจ่มชัด ชัดเจน แต่โครงสร้างใหม่ในทางลายลักษณ์อักษรพระองค์จะไม่ทรงมีบทบาททางการเมือง ยกเว้นในยามวิกฤตนองเลือด หรือใกล้จะนองเลือด

2. ประชาชนส่วนใหญ่ในชนบท - คนกลุ่มนี้เข้าถึงทรัพยากรได้ยาก เป็นผู้เสียเปรียบถาวรนับแต่เกิดแผนปฏิรูปทุนนิยมในปี 2504 พวกเขามีอำนาจต่อรองในระบบเศรษฐกิจและระบบตลาดน้อยหรือไม่มีเลย ต้องพึ่งพิงคนอื่น มีจุดเด่นอยู่อย่างเดียวคือมีจำนวนมาก ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งในการเลือกตั้ง จึงเป็น “ฐานคะแนนเสียงของนักการเมือง” มาโดยตลอด

3. ชนชั้นกลาง ทั้งในกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ - คนกลุ่มนี้มีความสามารถต่อรองได้ในระบบเศรษฐกิจและระบบตลาด รวมทั้งสามารถเข้าถึงทรัพยากร จึงเป็น “ฐานนโยบายของนักการเมือง” มาโดยตลอดเช่นกัน

4. ทหาร และข้าราชการพลเรือน – เป็นผู้กุมอำนาจรัฐตัวจริงมายาวนาน แม้หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองหลังปี 2475 จนถึงก่อนปี 2540 ก็ยังคงมีบทบาทอยู่ทั้งในทางความเป็นจริง แต่ในทางลายลักษณ์อักษรกลับไม่มีอำนาจทางการเมือง และถูกกีดกันออกจากการเมือง

คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเห็นพ้องต้องกันว่าเกิดการเสียสมดุลในโครงสร้างทางการเมืองในระบบมาตั้งแต่ปี 2540 ทำให้บางพลังอำนาจหลุดออกจากโครงสร้างทางการเมืองในระบบ เป็นปัจจัยสำคัญในการเกิดวิกฤต การมีบทบัญญัติ “3 ต้อง” (ส.ส.ต้องสังกัดพรรค, ส.ส.ต้องปฏิบัติตามมติพรรคทุกประการ และนายกรัฐมนตรีต้องมาจาก ส.ส.เท่านั้น) อย่างเข้มข้นเป็นตัวซ้ำเติมให้วิกฤตเกิดขึ้นและยากที่จะดับ

แต่รากฐานแห่งวิกฤตของประเทศในรอบ 10 ปีมานี้มองได้หลายมุม

ฟากแรกย่อมจะมองว่าเพราะพลังอำนาจที่มีอยู่จริงในสังคมไทยบางส่วนที่เคยได้ประโยชน์ไม่ยอมรับอำนาจของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย เข้ามาแทรกแซง และล้มกระดาน การตั้งโจทย์สำหรับรัฐธรรมนูญใหม่อย่างนี้ก็เพียงเพื่อเขียนกฎเกณฑ์ให้พลังอำนาจที่ไม่ยอมรับอำนาจของประชาชนได้ร่วมกุมบังเหียนทิศทางประเทศต่อไปในเสื้อคลุมประชาธิปไตยเท่านั้น

ขณะที่ฟากหลังมองว่าการคอร์รัปชันอำนาจประชาชนของนักการเมืองและพรรคการเมืองนายทุนคือต้นเหตุของวิกฤตที่แท้จริง การดับวิกฤตคือการทำลายต้นเหตุนั้นด้วยมาตรการอำนาจพิเศษ และต้องกีดกันตินเหตุเหล่านี้ออกไปจากระบบการเมืองไทยอย่างถาวร ไม่ใช่ให้ดำรงอยู่ในโครงสร้างทางการเมืองอีก

ทั้ง 2 ฟากย่อมมีแนวโน้มที่จะเห็นต่างไปจากมุมมองของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ

กระบวนการรับฟัง ชี้แจง และปรับแก้ จะดำเนินไปอย่างเข้มข้นตั้งแต่ต้นปี 2558 นี้ยาวไปจนถึงก่อนวันที่ 6 สิงหาคม 2558 ที่สภาปฏิรูปแห่งชาติจะตัดสินใจว่าจะผ่านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น