xs
xsm
sm
md
lg

บทวิเคราะห์เปิดโปงขบวนการปล้นน้ำมันและพลังงานของชาติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แท่นขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทย (ภาพอินเตอร์เน็ต)
 
โดย..บูรณจิตร แก้วศรีมล นักวิชาการอิสระ

เมื่อทุนนิยมสามานย์ในยุคโลกาภิวัตน์ที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีข้อมูลข่าวสารโดยอาศัยนักการเมืองผู้มีอำนาจ ร่วมมือกับข้าราชการที่จิตใจอ่อนแอ และกลุ่มนายทุนที่มีเงิน โดย ประชาชนขาดการรับรู้ และถูกบิดเบือนข้อมูล สถาบันตรวจสอบอ่อนแอ ภาครัฐไร้ซึ่งธรรมาภิบาลจึงเกิดปรากฎการณ์ร่วมมือกันขโมยทรัพยากรของประเทศเพื่อครอบครองและสร้างผลประโยชน์ให้แก่กลุ่มตนเอง และพวกเขาก็กอบโกยเอาผลประโยชน์จากมะม่วงหลังบ้านไป โดยทิ้งความเสียหายของทรัพยากร และประเทศไว้เบื้องหลัง สุดท้ายความไว้วางใจของสังคมก็พังลงมา

สรุปปัญหาสถานการณ์น้ำมันและพลังงานไทยในปัจจุบัน และแนวทางที่ควรแก้ไข

1.ปัญหาธรรมาภิบาล

1.1 ขาดความโปร่งใสในการนำเสนอข้อมูลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีพฤติกรรมการปกปิดและบิดเบือนข้อมูล ไม่ให้ประชาชนรับทราบ โดยเฉพาะช่องทางสื่อของรัฐบาล หรือสื่อสารมวลชนที่เป็นช่องทางหลักที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ กลับพบว่า สื่อเหล่านั้นไม่ได้นำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริงที่จำเป็น เช่น ข้อมูลแหล่งพลังงานที่ไทยมีทั้งหมด ข้อมูลการค้นหา ขุดเจาะแหล่งพลังงาน ข้อมูลการจำหน่ายพลังงาน หรือการสัมปทานพลังงานฯ ให้แก่ประชาชนได้รับรู้แต่อย่างใด

1.2 ขาดความสามารถในการตรวจสอบได้ ขาดความเข้มแข็งในการตรวจสอบตั้งแต่ระดับฐานราก คือ ประชาชน ซึ่งเกิดจากการขาดข้อมูล ขาดความรู้ ขาดการศึกษา เหมือนถูกปิดหูปิดตา เมื่อไม่รับทราบข้อเท็จจริงก็ทำให้เสียผลประโยชน์ที่ตนควรได้รับโดยปริยาย ไปจนถึงหน่วยงานภาครัฐที่จัดตั้งขึ้นมาตามกฎหมายที่มีหน้าที่ในการตรวจสอบการใช้ทรัพยากรร่วมกันของประเทศ หรือการตรวจสอบการคอร์รัปชันของหน่วยงานราชการ หรือนักการเมืองด้วยกันเอง กลับไม่ทำหน้าที่ในการตรวจสอบ และพิทักษ์ผลประโยชน์ให้แก่ประเทศตนเอง ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นสุนัขเฝ้าบ้าน (Watch Dog) ที่ดี แต่กลับตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มทุน และนักการเมืองให้มากอบโกยผลประโยชน์เสียแทน

1.3 ขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนผู้เป็นเจ้าของทรัพยากรของประเทศ ตั้งแต่ขาดการร่วมรับรู้ รับทราบข้อมูล ร่วมแสดงความคิดเห็น ร่วมตัดสินใจ และที่ร้ายแรงที่สุดคือ การร่วมรับผลประโยชน์จากทรัพยากรของประเทศ ซึ่งประชาชนปัจจุบันนี้เป็นเพียงผู้รับผลกระทบจากนโยบายพลังงานของประเทศที่กำหนดโดยคณะผู้บริหารเท่านั้น โดยจากข้อเท็จจริงเชิงข้อมูลเราพบว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ประชาชนไทยต้องบริโภคพลังงานในราคาที่แพงกว่าประเทศเพื่อนบ้านและประเทศอื่นๆ ทั้งๆ ที่ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ส่งออกพลังงาน โดยรัฐบาลให้เหตุผลว่าเป็นกลไกการตลาด

 
2.การปล้นทรัพยากรของประเทศ

2.1 Common-pool resource เกิดการตั้งคำถามว่า ทรัพยากรพลังงานนั้นเป็นของทุกคนในประเทศ หรือของใครคนใดคนหนึ่งหรือไม่ เพราะจากข้อมูลทำให้ทราบว่า แหล่งพลังงานธรรมชาติของประเทศไทยกลับถูกหน่วยงานที่ได้ขึ้นชื่อว่าได้รับสิทธิ และได้รับความไว้วางใจจากประชาชนกฎหมาย เช่น การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย นักการเมือง กอบโกยเอาผลประโยชน์ไปครอบครองแต่เพียงกลุ่มเล็กๆ แม้กระทั่งการตัดสินใจในการจัดสรรพลังงานของประเทศก็ยังขาดกระบวนการมีส่วนร่วมจากประชาชน (Deliberative) ตามวิถีทางในสังคมประชาธิปไตย

2.2 ประชาชนตกอยู่ในฐานะผู้สูญเสียประโยชน์ และต้องแบกรับภาระ จากข้อมูลที่น่าสนใจพบว่า ประเทศไทยมีการส่งออกพลังงานในปริมาณมหาศาล เช่น ปี 2555 ไทยส่งออกน้ำมันไปยังสหรัฐอเมริกา เป็นอันดับ 2 รองจากรัสเซีย (1024 ล้านบาร์เรล) เมื่อนักลงทุนร่วมมือกับนักการเมืองและข้าราชการ ตะกละตะกลาม ให้สัมปทาน สำรวจขุดเจาะน้ำมันและพลังงานจากทั่วประเทศ โดยมีการส่งรายได้เข้ารัฐสุทธิร้อยละ 29 อีกร้อยละ 71 ที่เหลือกระจัดกระจายประโยชน์ไปยังคนเพียงบางกลุ่มประชาชนที่เป็นเจ้าของทรัพยากรกลับไม่ได้รับประโยชน์ตามที่ตนพึงจะได้ มิหนำซ้ำรัฐยังผลักภาระราคาพลังงานที่แพงขึ้นให้แก่ประชาชนเป็นผู้รับภาระนั้นไป

เพราะในขณะที่พบว่า ไทยส่งออกน้ำมันไปยังสหรัฐฯ แต่ราคาน้ำมันเบนซินที่สหรัฐฯ กลับมีราคาถูกกว่าประเทศไทย ณ มีนาคม 2555 ราคา 28-33 บาท แต่ราคาน้ำมันเบนซินในประเทศไทยมีราคาอยู่ที่ 42.58 บาท และรัฐก็ไม่แสวงประโยชน์ดังกล่าวไว้ให้แก่ประชาชนในรัฐของตนเอง อนึ่ง หากรัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการให้สัมปทาน หรือจำหน่ายพลังงานอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ประโยชน์นั้นก็จะได้ตกอยู่กับประชาชนด้วย แต่ข้อเท็จจริงกลับเป็นตรงกันข้าม

2.3 Post-Nationalizational รัฐต้องตั้งคำถามว่า ทรัพยากรธรรมชาติเป็นของใคร แล้วใครควรได้ประโยชน์อย่างแท้จริง เป็นสิ่งที่รัฐควรตระหนัก และใช้ธรรมาธิปไตย มีความฉลาดในการบริหารจัดการ แต่สถานการณ์พลังงานไทยปัจจุบัน เมื่อทุน+อำนาจ+ข้อมูล+เทคโนโลยีที่มีความตะกละตะกลาม เราจะพบข้อมูลว่า การสำรวจแหล่งทรัพยากร น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติของไทยมีปริมาณมากเป็นอันดับที่ 24 ของโลก แต่เรากลับให้สัมปทานโดยกลุ่มทุนเพียงบางกลุ่ม และส่งรายได้เข้ารัฐในอัตราส่วนสุทธิร้อยละ 29 เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในโลกที่มีอัตราส่วนที่สูง เช่น โบลิเวีย ร้อยละ 82, คาคัซสถาน ร้อยละ 80 ในขณะที่ประชาชนต้องแบกรับภาระการบริโภคพลังงานในราคาที่สูง

รัฐที่ทำงานไม่ล้มเหลวต้องรัฐบาลมีความจริงใจ และใช้วิจารณญาณในการคิดว่า หากแหล่งพลังงานที่มีเป็นปริมาณมากนั้นต้องสามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับคนในชาติอย่างแท้จริง ต้องการแนวทางในการแก้ไขสัมปทานให้คนไทย หรือรัฐบาลได้ประโยชน์อย่างแท้จริงอย่างที่นานาประเทศทำกัน หรือหากรัฐมีนโยบายให้พลังงานในประเทศเป็นการแข่งขันเสรีอย่างจริงจัง ต้องปล่อยให้เป็นการแข่งขันกันแบบเสรี ให้เอกชนเข้ามาประมูลในการลงทุน

เพราะนอกเหนือจะเกิดการบริการที่ดีขึ้นแล้ว รัฐจะได้รับประโยชน์จากการสัมปทาน อย่างตัวอย่างประเทศโบลิเวีย ที่รัฐบาลประกาศให้ผลประโยชน์ทั้งหมดของทรัพยากรธรรมชาติตกเป็นของรัฐ รัฐทำหน้าที่ในการบริหารแล้วคืนประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ให้แก่ประชาชน ประชาชนจะได้ใช้พลังงานในบ้านของตนเองอย่างเต็มที่ในราคาที่เหมาะสม ไม่ใช่ราคาที่บิดเบือนไปจากราคาตลาดโลกแบบในปัจจุบัน

3.ทำลายความไว้วางใจของสังคม (Trust )

3.1 Morality Issue ประเด็นปัญหาทางศีลธรรม ตั้งแต่ระดับบุคคล คณะผู้บริหาร คณะกรรมการพลังงานชาติ นักการเมือง ไม่มีคุณธรรม คำนึงถึงแต่ประโยชน์ส่วนตน ตะกละตะกลามใช้อำนาจในการเข้าครอบครอง และแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรของประเทศให้แก่กลุ่ม และพวกพ้องของตนเอง สังเกตได้จากการประกาศขายหุ้นของการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ที่มีการซื้อขายกันล่วงหน้าในกลุ่มผู้มีอิทธิพล และพวกพ้อง สุดท้ายผลประโยชน์ตกอยู่ในกลุ่มคนเพียงเล็กน้อยที่มีความตะกละตะกลาม ทั้งนี้ ประเด็นศีลธรรมมีความสำคัญมาก ความซื่อสัตย์ต้องเริ่มจากระดับบุคคล ต้องหล่อหลอมระดับบุคล ส่งผลไปยังระดับองค์การ และสุดท้ายจะกลายเป็นความไว้วางใจร่วมกันของคนในสังคมประเทศ

3.2 Corrupt Society สังคมที่เต็มไปด้วยการคอร์รัปชัน กรณีศึกษาก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน กล่าวได้ว่า การคอร์รัปชันเกิดขึ้นตั้งแต่ระดับบุคคลที่อยู่ในองค์การ มีการร่วมมือกันระหว่างนักการเมืองผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกกฎหมาย กำหนดนโยบายด้านพลังงานของประเทศ ฝ่ายนักบริหารประเทศที่บริหารพลังงาน ฝ่ายข้าราชการที่เพิกเฉยต่อการคอร์รัปชัน โดยเฉพาะข้าราชการชั้นสูงที่ให้ความร่วมมือในการคอร์รัปชันเพราะตนได้รับผลประโยชน์

สุดท้าย กลุ่มนายทุนทั้งในและต่างประเทศที่ใช้เทคโนโลยีและถือความเหนือกว่าในเชิงสารสนเทศข้อมูลที่ตนมีในการนำเทคโนโลยีมาสำรวจแหล่งก๊าซทั่วประเทศไทย หลังจากนั้นนักการเมืองก็ออกกฎหมายให้นายทุนสามารถเข้ามาหาผลประโยชน์ในการสำรวจขุดเจาะได้อย่างเต็มที่ และแบ่งปันผลประโยชน์อย่างตะกละตะกลาม (ผลประโยชน์นายทุนร้อยละ 71) ไม่คำนึงถึงความเดือดร้อน และเสียหายของประชาชน และประเทศ โดยได้รับความร่วมมือส่วนหนึ่งจากข้าราชการ ในการอำนายความสะดวก หรือทำหูไปนาตาไปไร่ ไม่ขัดขวางไม่คัดค้าน แม้กระทั่งเมื่อมีหน่วยงานพยายามออกมาขุดคุ้ยข้อมูล หน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบเองก็นิ่งเฉย ไม่ทำหน้าที่ในการเผยแพร่ข้อมูลให้แก่ประชาชนทราบ

3.3 Bureaucratic Autocracy การผูกขาดโดยระบบ เป็นราชการแบบใช้อำนาจเบ็ดเสร็จจากตำแหน่งหน้าที่ โดยการตัดสินใจจากบุคคลที่มีตำแหน่งสำคัญ หรือกลุ่มบุคคล โดยไม่ฟังเสียงจากประชาชน ไม่ได้เป็นกระบวนการแบบประชาธิปไตยอย่างแท้จริง รัฐใช้อำนาจรัฐ แต่ไม่ได้เป็นไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ให้แก่รัฐ หรือประชาชนในรัฐ และกลับเอาอำนาจไปผูกไว้ที่กลุ่มคนเพียงบางกลุ่มแล้วใช้อำนาจนั้นแสวงประโยชน์ให้แก่กลุ่มตนเอง
 
 
 

กำลังโหลดความคิดเห็น