xs
xsm
sm
md
lg

ไม่บังคับ ส.ส.สังกัดพรรค จุดเปลี่ยนในรอบ 40 ปี

เผยแพร่:   โดย: คำนูณ สิทธิสมาน

ภายหลังการปฏิวัติของคณะราษฎรเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2475 รัฐธรรมนูญฉบับแรกของไทยตราขึ้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ขณะนั้นคำว่า “รัฐธรรมนูญ” ยังไม่เกิดจึงปรากฏชื่อว่า...

“ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน...”

ระหว่างดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ขณะยังดำรงพระอิสริยยศเป็นม.จ.วรรณไวทยากร วรวรรณ ที่บุคคลทั่วไปเรียกพระนามติดปากว่า “พระองค์วรรณ” ได้ทรงเสนอความคิดเห็นผ่านทางนสพ.ประชาชาติว่า คำว่า “ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน” ยืดยาวเกินไป จึงสมควรใช้คำที่สั้นกว่าแทน คือ...

“รัฐธรรมนูญ”

คณะอนุกรรมการร่างธรรมนูญการปกครองแผ่นดินของ สภาผู้แทนราษฎร และรัฐบาลเห็นชอบด้วย เพราะเป็นคำกะทัดรัด ได้ความตรงกับคำ “ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน” ซึ่งถ่ายทอด มาจากคำอังกฤษ และคำฝรั่งเศส ที่ว่า “Constitution” รัฐบาลจึงนำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ทรงเห็นชอบด้วย

จึงใช้คำว่า “รัฐธรรมนูญ” นับแต่วันที่ 10 ธันวาคม 2475 เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวรฉบับแรกเป็นต้นมา

ส่วนคำว่า “ธรรมนูญ” นั้นเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยสมเด็จพระเอกา-ทศรฐ แห่งกรุงศรีอยุธยา โดยเป็นคำที่แผลงมาจากคำภาษาบาลีอันมีที่มาจากพระคัมภีร์ธรรมศาสตร์...

“ธมฺมานุญโญ”

(อ่านออกเสียงว่า “ธัมมานุนโย”)

ต่อมา พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ทรงแผลงคำบาลี “ธมฺมานุญโญ” นั้นเสียใหม่เป็นภาษาไทยว่า...

“พระธรรมนูญ”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงใช้คำว่า “พระธรรมนูญ” นี้ประกอบคำว่า “ศาล” ได้แก่ พระธรรมนูญศาลหัวเมือง ร.ศ. 114, พระธรรมนูญศาลทหารบก ร.ศ. 126, พระธรรมนูญ ศาลทหารเรือ ร.ศ. 127, พระธรรมนูญศาลยุติธรรม ร.ศ. 127 และ ฯลฯ หมายถึงกฎหมายว่าด้วยระเบียบการของศาลนั้นๆ

คนไทยจึงรู้จักคำว่า “พระธรรมนูญ” มาหลายชั่วคนก่อนปี 2475 แล้ว

ราชบัณฑิตยสถานบรรจุคำว่า “ธรรมนูญ” ไว้ในพจนานุกรม โดยให้ความหมายว่า...

“ธรรมนูญ -- น. ชื่อกฎหมายว่าด้วยระเบียบการ”

เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2475 ขณะที่ยังมิได้มีผู้ใดบัญญัติศัพท์ไทยว่า “รัฐธรรมนูญ” เพื่อถ่ายทอดคำ “Constitution” นั้น คณะราษฎรจึงใช้คำว่า “ธรรมนูญ” ประกอบคำว่า “การปกครองแผ่นดิน” เพื่อให้คนไทยทั่วไปเข้าใจได้ง่ายๆ ว่า คือ “กฎหมายว่าด้วยระเบียบการปกครองแผ่นดิน” ส่วนคำนำหน้าเพื่อให้แสดงว่าเป็นกฎหมายยังคงใช้คำว่า “พระราชบัญญัติ” ดังนั้นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของเราจึงมีชื่อเต็มๆ ว่า “พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2475” ดังที่ทราบกันดี

รัฐธรรมนูญลายลักษณ์อักษรฉบับที่ 20 ที่กำลังจะร่างกันใหม่ โดยผมมีส่วนร่วมอยู่ในคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 36 คนด้วยคนหนึ่ง จะเป็นเช่นใดแน่นอน ยังเร็วเกินไปที่จะตอบได้ชัดเจน เพราะแม้จะผ่านการตกลงแนวทางเบื้องต้นออกมาแล้วเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2557 เพื่อนำไปยกร่างเป็นรายมาตรา แต่ก็ยังมีโอกาสปรับเปลี่ยนได้ในอีกหลายช่วงเวลา เพราะเป็นการยกร่างท่ามกลางการรับฟังความคิดเห็นของหลากหลายฝ่ายในสังคม

แต่เฉพาะที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญตกลงกันไปแล้วนั้นมีอยู่ 2 ประการที่น่าจะกล่าวถึง ณ ที่นี้ เพราะเป็นการตกลงที่แทบไม่มีเสียงคัดค้านเลย

หนึ่ง – ไม่บังคับให้ผู้สมัคร ส.ส.สังกัดพรรคการเมือง

สอง – ไม่บังคับให้ ส.ส.ต้องปฏิบัติตามมติของพรรคการเมืองที่ตนสังกัด

นี่เป็นความพิกลพิการของระบบการเมืองไทยที่เป็นมา 40 ปีที่กักขัง “ปัญญาของสังคมไทย” ไว้อย่างแน่นหนา โดบเชื่อว่าถ้าบัญญัติบังคับไว้อย่างนี้แล้ว ระบอบประชาธิปไตยไทยจะมั่นคงสถาพรเป็นประชาธิปไตยแท้ ระบบพรรคการเมืองจะเข้มแข็ง ส.ส.จะไม่ขายตัว จะไม่มีการรัฐประหาร ฯลฯ ซึ่งพิสูจน์มาแล้วไม่จริงในเกือบทุกประการ นับตั้งแต่เราเริ่มบทบัญญัติเช่นนี้ไว้ในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2517 การรัฐประหารยังคงเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ส.ส.ยังคงขายตัวในรูปแบบต่างๆ แม้กระทั่งการซื้อขายพรรคการเมืองก็เกิดขึ้น

ที่ต้องใช้คำในทำนองว่าเป็น “คุกทางปัญญา” ก็เพราะคนหลายคนหลายกลุ่มในบ้านนี้เมืองนี้ มักจะโจมตีรัฐบาลด้วยข้อหารวบอำนาจ และเผด็จการรัฐสภา แต่กลับยอมรับมาตรการทางกฎหมาย 2 ประการข้างต้น ใครเสนอแนะใครคัดค้านเป็นโดนกล่าวหาว่าถอยหลังเข้าคลอง

ใครจะว่าอย่างไรก็ตาม แต่ผมยังคงเห็นว่ามาตรการบังคับ ส.ส.สังกัดพรรคการเมืองนั้นเป็นมาตรการป้องกันการฉ้อฉลทางการเมืองที่นอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว ยังสร้างปัญหาใหญ่หลวงขึ้นมาอีก

การบังคับให้ผู้สมัคร ส.ส.ต้องสังกัดพรรคเป็นการขัดต่อเสรีภาพทางการเมือง ไม่มีในประเทศเสรีประชาธิปไตยใดในโลกนี้บัญญัติไว้ มีประเทศไทยเป็นประเทศเดียวที่เหลืออยู่ที่ยังคงบทบัญญัติที่ว่านี้ไว้

และยิ่งกว่านั้น การมีมติของพรรคการเมืองกำหนดให้ ส.ส.ในสังกัดต้องลงมติอย่างใดอย่างหนึ่งล่วงหน้าโดยยังไม่ได้ฟังเหตุผลการอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรเลยนั้น ก็เป็นการขัดต่อสิทธิขั้นพื้นฐานของการปฏิบัติหน้าที่ ส.ส. เพราะเป็นการบังคับให้ ส.ส.ต้องยกมือโดยขัดต่อความรู้สึกผิดชอบของตนเอง

บทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่บังคับ ส.ส.สังกัดพรรค เริ่มต้นอย่างเบาๆ ตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2517 แล้วทวีความเข้มข้นขึ้นในรัฐธรรมนูญ 2521 มีที่มาจากความต้องการทำให้การเมืองระบบรัฐสภามีเสถียรภาพ เพราะมีความเชื่อกันว่าสาเหตุที่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยล้มเหลวเมื่อปี 2514 โดยการรัฐประหารตนเองของจอมพลถนอม กิตติขจรเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 นั้น เป็นเพราะการขายตัวของบรรดา ส.ส.อิสระที่ไม่สังกัดพรรคการเมือง เนื่องจากรัฐธรรมนูญ 2511 และก่อนหน้านั้นไม่ได้บังคับให้ผู้สมัคร ส.ส.ต้องสังกัดพรรคการเมือง

การบังคับ ส.ส.สังกัดพรรคการเมืองมีผลทำให้สถานภาพ ส.ส.เปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง

ก่อนหน้าปี 2521 สถานภาพ ส.ส.ในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ในทำนองว่า....

“สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมเป็นผู้แทนของปวงชนชาวสยาม มิใช่แทนแต่เฉพาะผู้ที่เลือกตั้งตนขึ้นมา... ต้องปฏิบัติหน้าที่ตามความเห็นของตนโดยบริสุทธิ์ใจ มิใช่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใดๆ”

แต่หลังจากปี 2521 เป็นต้นมา ประโยค “...ตามความเห็นของตน” และ “...มิใช่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายใด” ถูกตัดอออกไป

แม้แต่บทบัญญัติว่าด้วยคำปฏิญาณตนของ ส.ส.ในสภาผู้แทนราษฎรก่อนปฏิบัติหน้าที่ ก็ปรับเปลี่ยนไปนับแต่มีบทบัญญัติบังคับ ส.ส.สังกัดพรรค

นักการเมืองใหญ่คนหนึ่งเคยอภิปรายในสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2548 ว่า...

“มีแต่เรื่องคอร์รัปชัน โกงบ้านโกงเมือง กินนั่นกินนี่ กินอะไรต่างๆ ถามว่าผู้เฒ่าสบายใจไหม ไม่สบายใจเลย แต่ไม่ใช่แต่ผมคนเดียว สมาชิกคนอื่นก็ทำตาปริบๆ พูดอะไรก็ไม่ได้ เตือนอะไรก็ไม่ได้ ไปออกความเห็นอะไรก็ไม่ได้ -- ก็รัฐธรรมนูญฉบับนี้บอกว่าฉบับของประชาชน แต่กลับเอาอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยมาอยู่ในคุก”

แม้มีการผ่อนคลายลงในรัฐธรรมนูญ 2550 แต่ก็ยังคงบทบัญญัติบังคับส.ส.สังกัดพรรคการเมืองเอาไว้

การตกลงใจในชั้นนี้ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบันจึงเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ
กำลังโหลดความคิดเห็น