xs
xsm
sm
md
lg

“วิษณุ” ชี้แนวคิดเลือกนายกฯ ได้ตรงประหลาด แย้ม รธน.ใหม่วางสมดุลอำนาจ ตั้งองค์กรพิเศษตีความ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี (แฟ้มภาพ)
รองนายกรัฐมนตรีปาฐกถา 8 ทศวรรษประชาธิปไตยไทย ชี้อยู่ใต้อำนาจแม้จะเป็นทุกข์ก็ทน ไม่สามารถหลีกได้ แนะรู้ทัน รู้จักจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจให้เป็น บอกถ้าให้เลือดตั้งนายกฯ ได้โดยตรงก็ประหลาด รับ รธน.ฉบับล่าสุดพลาดจัดให้สภามากเกินไป แย้มของใหม่ต้องให้เกิดพลวัต ตั้งองค์กรวินิจฉัยตีความโดยไม่ใช่ศาล ชี้ควรแบ่งเป็น 3 ภาคแก้ยาก ปานกลาง และง่าย

วันนี้ (7 พ.ย.) ที่สถาบันพระปกเกล้า นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แสดงปาฐกถาพิเศษในงานประชุมวิชาการสถาบันพระปกเกล้าตอนหนึ่งในหัวข้อ “8 ทศวรรษ ประชาธิปไตยไทย : พลวัตแห่งดุลอำนาจ” ว่า การเมืองเป็นเรื่องของอำนาจ การที่เราจะพูดเรื่องพลวัต เรื่องดุลอำนาจ ก็คือการถ่ายโอน การเปลี่ยนแปลงอำนาจ แม้การอยู่ภายใต้อำนาจจะเป็นทุกข์ก็ต้องทน เราไม่สามารถหลีกหนีจากอำนาจไปได้โดยเฉพาะอำนาจทางการเมือง และต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้อยู่กับอำนาจได้เป็นสุข ต้องรู้ทันและหยิบฉวยอำนาจมาใช้ให้เป็นประโยชน์ คือต้องรู้จักจัดดุลแห่งอำนาจให้เป็น ให้ถูก คือการจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจหนึ่งกับอำนาจหนึ่ง หากจัดไม่เป็น จัดผิดก็จะกลายเป็นอยู่ภายใต้อำนาจทำให้เป็นทุกข์

“ถ้าดูประวัติศาสตร์การเมืองการปกครองของต่างประเทศจะชุลมุนกับการจัดอำนาจ โดยในประเทศที่เป็นรัฐรวม ก็จะชุลมุนแค่ 2 ดุล คือ ทำอย่างไรจะจัดดุลระหว่างรัฐบาลกลางกับมลรัฐได้ รวมทั้งจัดดุลอำนาจระหว่างอำนาจตุลาการ บริหาร นิติบัญญัติ ว่าอะไรเป็นอำนาจของฝ่ายใด ประเทศที่ปกครองโดยประธานาธิบดี ปัญหาดุลอำนาจก็คือประธานาธิบดีควรมีอำนาจมากน้อยแค่ไหน หรือประเทศที่มีรูปแบบรัฐสภา ที่ออกแบบให้ประชาชนเลือก ส.ส. และส.ส.เลือกนายกรัฐมนตรี นายกฯเลือกรัฐมนตรี ดุลแบบนี้รัฐสภาก็มีอำนาจเหนือรัฐบาล ซึ่งถ้าเราตั้งต้นจะใช้ระบบรัฐสภา แล้วมาวางดุลให้เลือกนายกโดยตรง ก็ประหลาด และไม่เคยทำกันแม้เวลานี้จะมีเสียงเรียกร้องอยากทดลองในประเทศไทยก็ตาม” นายวิษณุกล่าว

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า 8 ทศวรรษที่ผ่านมามีรัฐธรรมนูญ 19 ฉบับพยายามจัดดุลแห่งอำนาจอย่างที่คิดว่าดีที่สุด หากมองย้อนไปอาจจะบอกว่าดุลที่จัดไว้นั้นอาจจะผิดไม่เหมาะสม นั่นอาจเป็นเพราะเราจัดดุลยอำนาจโดยเอนไปที่สภาผู้แทนราษฎรมากเกินไป ถ้ามองจากวันนี้อาจมองว่าพลาด และเหตุที่พลาด เพราะเราควรจัดดุลอำนาจให้ครบทุกองค์กร โดยจัดความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจหนึ่งกับอำนาจหนึ่งให้ถ้วนทั่ว ไม่ใช่จัดระหว่างอำนาจหนึ่งกับอำนาจหนึ่งเท่านั้นเหมือนที่เคยทำมาในช่วง 8 ทศวรรษ บางสมัยรัฐบาลมาจากสภาแต่กลับมีอำนาจและครอบงำสภา เช่น เขียนกติกาให้ ส.ส.ต้องสังกัดพรรค พรรคใดได้คะแนนเสียงมากก็ได้เป็นรัฐบาล พรรคคุม ส.ส. พรรคมีมติอะไร ส.ส.ต้องปฏิบัติตาม ถ้าไม่ทำตามก็ปลดออกจากพรรคได้ สุดท้ายกลับมาถามใครคุมใครกันแน่ หลายครั้งนายกฯ ไม่ไปตอบกระทู้สภา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้น 8 ทศวรรษที่ผ่านมา

“หวังว่าการร่างรัฐธรรมนูญคราวนี้จะมองอำนาจทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศให้ครบ และจัดดุลอำนาจให้ครบ ไม่ว่าดุลยอำนาจระหว่างรัฐกับท้องถิ่น ดุลการเมืองภาครัฐกับภาคพลเมือง ฝ่ายประจำกับฝ่ายการเมือง ซึ่งเหตุที่เราจัดดุลอำนาจสภากับรัฐบาลไมได้ เพราะรัฐบาลเป็นใหญ่กว่าสภาโดยพฤตินัย เราตั้งหลักให้ ส.ส.คุมรัฐ แต่คุมไม่ได้ เพราะรัฐมีอำนาจแต้มต่อ อย่างรัฐธรรมนูญบางฉบับเพิ่มฤทธิ์ให้รัฐบาล เช่นยุครัฐบาลทักษิณ สภาไม่สามารถเปิดอภิปรายนายกรัฐมนตรีได้ บทเรียนนี้จึงนำมาสู่การสร้างดุลใหม่ มีองค์กรอิสระขึ้นมาทำหน้าที่ตรวจสอบแทนประชาชน เป็นสภาพการเมืองที่เกิดขึ้นมา ฉะนั้นการจัดดุลอำนาจคราวนี้ นอกจากกำหนดปัญหาให้หมดแล้วต้องอย่าให้อำนาจมาเป็นกับดัก แต่เราต้องสร้างกับดักไปจับปัญหาให้ได้ คือป้องกัน และเมื่อต้องจัดการกับ อำนาจหลายอำนาจ อาจไม่ต้องเขียนรัฐธรรมนูญให้พิสดาร ละเอียดมากนัก แต่เขียนให้เกิดพลวัต ขับเคลื่อน ปรับเปลี่ยน ซึ่งเคยพูดแล้วว่ารัฐธรรมนูญที่ดีไม่ต้องยาว แต่ต้องเขียนให้ครอบคลุม และควรมีองค์กรหนึ่งขึ้นมาวินิจฉัยตีความเพื่อให้สิ่งที่สั้นๆ นั้นยาวขึ้นแต่ไม่ใช่ศาล โดยองค์กรนี้จะมีขึ้นมาเพื่อช่วยตีความในลักษณะให้คำปรึกษา ไม่ต้องรอให้เกิดปัญหาก่อน แต่ไม่ใช่ใครก็ส่งได้ ต้องมีการกำหนดช่องทางการยื่นไว้อย่างชัดเจน” นายวิษณุกล่าว

นายวิษณุกล่าวว่า นอกจากนี้เห็นว่ารัฐธรรมนูญหนึ่งฉบับควรมีการกำหนดเป็น 3 ภาค โดยให้ภาคหนึ่งแก้ยากที่สุด และภาคที่ 2 และ 3 แก้ได้ตามละดับ เพื่อที่หากมีการัฐประหารเกิดขึ้นก็จะได้เหลือเชื้อไว้อยู่ ภาคหนึ่งแก้ยากลงมาระดับหนึ่ง และภาคหนึ่งแก้ได้ง่าย กรรมาธิการยกร่าง 36 คน มีหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวานผมไปดูการแสดงโขนพระราชทาน ชุดศึกอินทรชิต ตอนนาคบาศ ดูแล้วทั้งเรื่องก็เห็นว่าเป็นเรื่องของอำนาจ แต่ละตัวละครก็จะมีฤทธิ์ และใช้ฤทธิ์ไปจัดการปัญหาต่างๆ ก็เหมือนกับกรรมาธิการทั้ง 36 คน ที่กำลังจะยกร่างรัฐธรรมนูญในขณะนี้ อยากจะฝากว่ากรรมาธิการทั้งหมด ต้องจับอำนาจนั้นมาขึ้นดุลให้ได้ แล้วจัดวางแต่ละดุลอำนาจให้เหมาะสม


กำลังโหลดความคิดเห็น