“ชวน หลีกภัย” ระบุความแตกแยกเกิดจากคนสร้างเขื่อนไขให้ขัดแย้ง ไม่เกี่ยวรัฐธรรมนูญ แนะบังคับใช้กฎหมายอย่างเป็นธรรม องค์กรตรวจสอบรัฐบาล ต้องไม่มาจากระบบการเมืมอง เชื่อ กมธ.ยกร่างฯ จะไม่พาประชาธิปไตยให้ถอยหลัง “เอนก” เสนอให้มีรัฐบาลผสมแก้ขัดแย้ง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมวิชาการของสถาบันพระปกเกล้าประจำปี 2557 ได้จัดให้มีการแสดงทัศนะในหัวข้อ “บทเรียนสู่อนาคตเพื่อประชาธิปไตยไทยที่มีคุณภาพ” นายชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประสบการณ์ที่ผ่านมาสอนเราให้รู้ว่าปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นไม่เกี่ยวกับกฎหมาย รัฐธรรมนูญไม่ใช่ปัญหาอุปสรรค ความแตกแยกไม่ได้เกิดจากรัฐธรรมนูญ แต่มาจากการกระทำของคนสร้างเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้ง การบังคับใช้กฎหมายเป็นสิ่งสำคัญ ทำให้ตุลาการเป็นอิสระ องค์กรอื่นที่ตรวจสอบรัฐบาลต้องไม่ให้มากจากระบบการเมือง
ทั้งนี้ เมื่อเห็นรายชื่อคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างฯ เชื่อว่าคนเหล่านี้จะไม่พาประชาธิปไตยถอยหลัง ต้องยอมรับว่าระบอบประชาธิปไตยต้องมีการเลือกตั้งด้วยการให้สิทธิประชาชนเลือกผู้แทนมาทำหน้าที่ แต่บ้านเมืองมีทั้งคนดีและไม่มีดี ตามพระราชดำรัสของในหลวง ดังนั้นอย่าไปหวังว่าจะเขียนรัฐธรรมนูญแล้วทำให้คนดีหรือไม่ดีเข้ามา
ด้านนายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กล่าวว่า หลายคนรู้สึกว่าปัญหาค่อนข้างรุนแรงถึงมีการเรียกร้องการปฏิรูปประเทศ ปัญหาเกิดจากนักการเมืองไม่ว่าจะเขียนกฎหมายอะไรมามีช่องทำให้เสียหาย จุดอ่อนของระบบรัฐสภา ถ้ารัฐบาลมีความเสถียรภาพมีอำนาจคุมฝ่ายนิติกับบริหารอย่างเบ็ดเสร็จ ปัญหาการถ่วงดุลอำนาจ กลไกภาคประชาชนอ่อนแอ ระบบนี้จะครอบงำสังคมจมปลักกับปัญหา
ด้านนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกล่าวว่า เราขัดแย้งกันตั้งแต่ 2475 แต่ก็อยู่กันได้ในสังคมอย่างประหลาด ขัดแย้งแต่รอมชอมกันได้ แม้แต่การยึดอำนาจครั้งที่ผ่านมา เรียกใครไปรายงานตัวก็ไปกันหมด ฝ่ายที่ยึดอำนาจก็กำลังรอดูว่ารัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไร และคิดว่าตัวเองจะกลับมามีอำนาจอีกครั้ง เมืองไทยมีดุลอำนาจมาก จนไม่มีใครเป็นนายกฯได้นาน ทหารก็อยู่ได้ไม่นาน เมืองไทยมีสิทธิเสรีภาพสูงมาก แต่บางช่วงเราพร้อมขาดสิทธิเสรีภาพ แต่อย่านานมากไม่อย่างนั้นจะมีการบ่น ซึ่งคิดว่า พล.อ.ประยุทธ์ ก็ทราบจุดนี้จึงไม่ให้มีการยกร่างรัฐธรรมนูญนาน เรามีวิธีคิดได้หลายแบบ และต้องคิดเชิงบวก เราต้องเอาความขัดแย้งมากำกับ โดยรัฐธรรมนูญอยากเสนอว่าจะเป็นรัฐบาลต้องมีเสียง 2 ใน 3 แต่อยากให้มี 3 ใน 4 รัฐธรรมนูญจะช่วยบีบให้สองฝ่ายมาร่วมกัน ฝ่ายขัดแย้งต้องร่วมกันเป็นรัฐบาลผสม อาจเขียนระยะเฉพาะกาล 5-10 ปี แต่การควบคุมรัฐบาลต้องใช้องค์กรอิสระ การพิจารณาเกี่ยวกับนักการเมืองต้องสำเร็จรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม องค์กรอิสระควรมีไว้ แต่ต้องมีประสิทธิผล ตนไม่เชื่อมั่นฝ่ายค้านจะตรวจสอบรัฐบาลได้มาก ถ้าคิดจะปฏิรูปการเมืองต้องกล้าคิดใหม่ๆ ต้องเขียนรัฐธรรมนูญจากปัญหาของเรา เพราะปัญหาเราไม่เหมือนปัญหาของคนตะวันตก จะลอกเขาไม่ได้ ต้องเข้าใจสังคมไทยแท้ และออกแบบรัฐธรรมนูญมาให้สอดคล้อง เรามีปัญหามากคือระบบอุปถัมภ์ แต่คนไทยขาดไม่ได้ รัฐธรรมนูญจะยอมรับได้อย่างไร ให้ระบบอุปถัมภ์มีหลักการ อย่าให้ก้าวไปสู่คอรัปชั่นได้ ออกแบบ รัฐธรรมนูญให้ทุนเข้ามาเกี่ยวข้องกับการเมืองได้น้อย สปช. และกรรมาธิการยกร่างต้องไม่กีดกันพรรคการเมืองต่างสี เรายินดีฟังปัญหาและให้ท่านช่วยคิดว่าจะสร้างการเมืองอย่างไรไม่ทำลายอีกฝ่าย แต่ผิดก็คือผิดไม่ใช่สามัคคีจนไม่รู้ผิดถูก ขอให้มาช่วยกันแล้วเราจะเขียนรัฐธรรมนูญออกมาให้ดีที่สุด
ทั้งนี้ นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ สปช.ด้านสื่อมวลชน กล่าวว่า สังคมไทยขาดฉันทามติในการแก้ปัญหา มีความหลากหลาย อีกทั้งที่ผ่านมาคนไทยถูกกีดกันการใช้ทรัพยากรของประเทศ มีความเหลื่อมล้ำด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ขณะนี้พื้นที่สาธารณะของสื่อมวลชนหายไป เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นถูกครอบงำด้วยธุรกิจสื่อทั้งหมด ฉะนั้นสถานการณ์ปัจจุบันต้องร่วมมือกันนำพาประเทศไปข้างหน้าให้ได้สำหรับตนนั้นการปฏิรูปคือโอกาสของประเทศเรา ต้องคิดเรื่องประชาธิปไตยมากกว่าในแวดวงการเมืองเพราะเป็นหน้าที่คนไทยทุกคนที่ต้องออกแบบประชาธิปไตย