xs
xsm
sm
md
lg

ผู้จัดการสุดสัปดาห์

x

เปิดเวทีถกปฎิรูป"หลักสูตรนิเทศฯ" วงการศึกษาต้องก้าวพ้นความล้าสมัย!

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บรรยากาศภายในงานปฎิวัติคนข่าว อภิวัฒน์สื่อ ปฏิรูปหลักสูตร
สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์ฯร่วมกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนฯ และคณะสื่อสารมวลชน มร. ได้เปิดเวทีสัมนาภายใต้ชื่อ "ปฏิวัติคนข่าว อภิวัฒน์สื่อ ปฏิรูปหลักสูตร" ขี้สถานการณ์เทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงจากยุคอนาล็อกเป็นยุคดิจิตอล ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรการเรียน การสอนของอาจารย์ที่เป็นต้นน้ำผลิตนักข่าวให้มีความสามารถรอบด้าน สามารถประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ตอบสนองภาคธุรกิจองค์กรสื่อให้ทำงานเข้ากับยุคสื่อใหม่ได้ พร้อมกระตุ้นให้บัณฑิตที่จบออกไปเป็นนักข่าว ต้องปรับวิธีคิด วิธีการทำงานที่สามารถคิดวิเคราะห์ เชื่อมโยงกับมิติต่างๆได้รอบด้าน ขณะที่ อาจารย์ต้องก้าวให้ทันความเปลี่ยนแปลงของยุคสื่อใหม่ พัฒนาให้เข้ากับโลกของนักศึกษา

วานนี้ (18 ต.ค.) เมื่อเวลา 8.30 น. สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย และคณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้เปิดเวทีสัมนาภายใต้ชื่อ "ปฏิวัติคนข่าว อภิวัฒน์สื่อ ปฏิรูปหลักสูตร" ณ ห้องประชุมศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ หอประชุมพ่อขุนรามคำแหง

ทั้งนี้ ดร.สุรศักดิ์ จิรวัสตร์มงคล อุปนายกฝ่ายวิชาการ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้บรรยายพิเศษในช่วงเช้าภายใต้หัวข้อ "ปฏิวัติคนข่าวฯ ทำไมต้องปฏิรูปหลักสูตร" จากนั้นได้มีการระดมสมองคณาจารย์จากมหาลัยวิทยาลัยต่างๆ "ร่วมปฏิรูปหลักสูตร เพื่อปฏิวัติคนข่าว" โดยมีอาจารย์จเลิศ เจษฎาวัลย์ ดำเนินรายการระดมสมองและซักถาม

สำหรับบรรยากาศภายในงานประกอบด้วยบุคลากรจากวิชาการและวิชาชีพสื่อมวลชน คณาจารย์มหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนจำนวนมาก อาทิ มหาวิทยาลัยเกษมบัณทิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ มหาวิทยาลัยราชภัฎศรีสระเกษ มหาวิทยาลัยราภัฎสงขลา ฯลฯ รวมถึงสื่อมวลชนเข้าร่วมรับฟัง เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเรื่องข่าวสารและความก้าวหน้าทางวิชาการวิชาชีพสื่อมวลชน และระดมสมองปรับเปลี่ยนหลักสูตรการสอนวิชานิเทศศาสตร์ไม่ให้ล้าสมัย

อีกทั้งยังมีการพูดคุย กระตุ้นให้บัณฑิตที่จบออกไปเป็นนักข่าว ต้องปรับวิธีคิด วิธีการทำงานที่สามารถคิดวิเคราะห์ เชื่อมโยงกับมิติต่างๆได้รอบด้าน รวมถึงความสามารถที่จะนักข่าวจะทำได้หลายหน้าที่ด้วยเทคโนโลยี

อย่างไรก็ตาม การระดมสมองได้ถกเถียงถึงปัญหาภายใต้สถานการณ์ที่เทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงจากยุคอนาล็อกเป็นยุคดิจิตอลซึ่งทำให้เกิดการหลอมรวมสื่อต่างๆทำให้เกิด "Media Landscape" เปลี่ยนแปลงไปเป็นพื้นที่ใหม่ๆอาทิ ทีวีดิจิตอล ทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี หนังสือพิมพ์ออนไลน์ วิทยุออนไลน์ วิทยุท้องถิ่น (SMEs) รวมถึงประเภท e-book e-Magazine และสื่อสังคมออนไลน์

โดยปัญหาที่เกิดขึ้น ทำให้ต้องมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรการเรียน การสอนของอาจารย์ที่เป็นต้นน้ำผลิตนักข่าวให้มีความสามารถรอบด้าน สามารถประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่ตอบสนองภาคธุรกิจองค์กรสื่อให้ทำงานเข้ากับยุคสื่อใหม่ได้

นอกจากนี้ภายในงานยังมีการถกเถียงถึงปัญหาการขาดแคลนอาจารย์ผู้สอน ขาดแคลนนักศึกษา และขาดแคลนห้องปฏิบัติการเรียนการสอนนิเทศศาสตร์ เพื่อผลิตบัณฑิตนิเทศฯให้มีคุณภาพออกสู่ตลาดแรงงาน โดยเฉพาะงบประมาณที่มีไม่เพียงพอ รวมถึงตำราเรียนล้าสมัย และการยกตัวอย่างสถานการณ์ที่ต้องมีความสดใหม่อยู่เสมอ

นายประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์ นายกสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ได้มองปัญหาครั้งนี้ว่าการปฎิรูปหลักสูตรการศึกษามีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปัญหาด้านขาดแคลนอาจารย์ รวมถึงนักศึกษาเองที่ยังไม่รู้เลยว่าตัวเองมาเรียนวิชาด้านวารสารศาสตร์ ด้วยวัตถุประสงค์อะไร รวมถึงตัวหลักสูตรที่ไม่สอดคล้องกับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นยุคดิจิตอล

"มีคนต้องการเรียนแต่ไม่มีอาจารย์สอน เราจะแก้ปัญหาตรงนี้อย่างไร การปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาต้องพยายามทำอย่างจริงจัง เพราะโลกมันเปลี่ยนไปแล้ว เราจะสอนตำราเก่าๆอยู่ไม่ได้ รวมถึงการเป็นนักข่าวคุณภาพคือการเสนอข่าวได้รอบด้าน และเสนอข่าวที่ให้ความเป็นธรรมแก่บุคคล ไม่ละเมิดสิทธิคนอื่น มีความเข้าใจเรื่องกฏหมายเฉพาะเช่นกฏหมายเด็ก ความรุนแรงในครอบครัว รวมถึงจริยธรรมสื่อที่ไม่ใช่ว่าใครก็ได้ที่สามารถเป็นสื่อมวลชน"

ด้านนายประเสริฐ ช่วยแก้ว อาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา กล่าวถึงปัญหานี้ว่าการปฏิรูปหลักสูตรการสอนนิเทศฯครั้งนี้ เนื่องจากตัวสถานการณ์ที่ยุคดิจิตอลบีบบังคับ ทำให้ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด เพื่อนำวงการสื่อไปพร้อมกัน ถ้าเรามองในแง่วิชาชีพ มันเป็นตัวที่มากำหนดที่ทางนิเทศฯเองจะต้องผลิตบัณฑิตไปตอบสนองตลาดธุรกิจองค์กรสื่อ

"หลักสูตรก็ต้องปรับตามยุคดิจิตอล และจิตวิญญาณที่เป็นศาสตร์นิเทศฯต้องหลงเหลืออยู่ด้วยเช่นกันรากเหง้าองค์ประกอบหลักที่เราต้องยึดคงไว้ในหลักสูตรคือสื่อดั้งเดิมด้วย ต้องไม่ทิ้งรากเหง้าที่นักศึกษาต้องได้รับการปลูกฝังไว้

รวมถึงปัญหาคือตัวอาจารย์เองที่เป็นต้นน้ำ ที่ถ่ายทอดความรู้ซึ่งชุดความรู้ที่ล้าสมัยแล้วต้องเปลี่ยน เปิดหู เปิดตา เปิดใจให้กับตัวเอง เรื่องสำคัญในการสอนตัวเนื้อหาหลักหรือทฤษฎีอาจจะไม่ต้องเปลี่ยนมากมาย แต่เรื่องการยกตัวอย่าง กรณีศึกษาเฉพาะในเรื่องนั้นๆเป็นสิ่งสำคัญ

ส่วนอุปสรรคใหญ่สำหรับการปฏิรูปหลักสูตรนิเทศฯคือ บางสถาบันเราอยู่ภายใต้ชายคาคณะ และคณะก็ต้องอยู่ชายคาใหญ่คือมหาวิทยาลัย แต่ถ้าเกิดเป็นคณะนิเทศศาสตร์เต็มตัวอาจจะมีข้อจำกัดไม่มากเท่ากับภาควิชาหรือสาขาวิชา ที่จะต้องไปเข้าร่วมกับคณะอีกที การที่คณาจารย์จะนำเสนออะไรเข้าไปถ้าหากผู้ใหญ่เหล่านั้นไม่ได้มีวิสัยทัศน์ด้านนี้ก็เป็นเรื่องยากมาก จะให้นั่งถกเถียงเฉพาะแวดวงวิชาชีพมันไม่พอ มันต้องเอาคนเหล่านั้นที่มีส่วนกำหนดนโยบายมาร่วมด้วย แม้กระทั่งสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ที่เป็นคนกำหนดนโยบาย เขาต้องมานั่งรับฟังและปรับเปลี่ยนใหม่"

ขณะที่ ดร.สุดารัตน์ ดิษยวรรธนะ จันทราวัฒนากุล คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ได้ให้ทรรศนะว่าช่วงที่ผ่านมาได้มีการเปลี่ยนแปลง "Media Landscape" หนังสือพิมพ์มีสัดส่วนปริมาณการอ่านลดลง เข้าสู่ยุคบรอดแคสติ้งที่เป็นทีวีดิจิตอล มีอีกหลายๆตัวเข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งอินเทอร์เน็ต สังคมก้มหน้า รวมถึงลักษณะของผู้คนต่างๆที่เปลี่ยนแปลงไป 2-3 ปีที่ผ่านมาจึงพยายามกระตุ้นความเป็นนักข่าวในยุคดิจิตอลให้มากขึ้น

"ถึงเวลาเปลี่ยนแปลงแล้ว ต้องมีการแสวงหาวิธีคิดใหม่ๆ เทคโนโนยีที่ต้องมาอัพเดทกับกลุ่มนักข่าว ทีนี้ก็มีการจัดงานมาตั้งแต่ปี54-ปี56 เป็นต้นมา ก็มีการจับมือกับกลุ่มนักข่าวกับนักวิชาการเพื่อให้สองกลุ่มนี้สามารถทำงานร่วมกันได้ สมัยก่อนต่างคนต่างทำปัญหาเลยเกิดขึ้นตรงที่ว่า สอนก็สอนไปทาง ทำงานก็ทำไปทาง พอบัณทิตจบออกมาปัญหาที่เกิดขึ้นคือทำงานไม่ได้ เพราะฉะนั้นเพื่อการวิ่งไปทิศทางเดียวกันก็คือจับมือร่วมกันปฎิรูปหลักสูตรสื่อนิเทศศาสตร์ขึ้นมา"

นอกจากนี้ รศ.ดร.สุกัญญา บูรณเดชาชัย ประธานสาขาวิชาวารสารศาสตร์ ภาควิชานิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพายังได้ให้ความเห็นว่าการปฏิรูปหลักสูตรนิเทศฯสำคัญที่สุดเลยก็คือ อาจารย์ผู้สอน ต้องให้ความรู้ทั้งด้านสื่อเก่าและสื่อใหม่ควบคู่กันไป โดยสามารถสื่อสารได้หลายช่องทาง

"มหาวิทยาลัยที่สอนนิเทศศาสตร์ต้องดำรงรากเหง้าที่ผลิตโปรดักส์ออกไปสู่สังคม เพราะฉะนั้นการที่จะปฏิรูปหลักสูตรนิเทศฯต้องเริ่มต้นตั้งแต่เริ่มรับสมัครเด็กเข้ามา ปลูกฝังนำไปสู่ตลาดวิชาชีพ ซึ่งที่ผ่านมามีการเรียกร้องให้สื่อทำงานนำเสนอข่าวเป็นกลาง ในฐานะที่เป็นผู้ผลิตสื่อออกไป บอกได้เลยว่า สื่อของเรามีความเป็นอุดมการณ์ค่อนข้างสูง แต่พอออกไปสู่สังกัดองค์กรสื่อ เขาจะถูกวัฒนธรรมตรงนั้นที่ไปหล่อหลอมแนวคิดทำให้เขาต้องทำงานไปตามวัฒนธรรมองค์กรนั้น

อีกทั้งตัวอาจารย์เองต้องก้าวให้ทันความเปลี่ยนแปลงของยุคสื่อใหม่ พัฒนาให้เข้ากับโลกของนักศึกษา รากฐานสำคัญสื่อเก่าต้องอยู่ในสื่อใหม่ด้วย เพียงแต่ว่าการไปหาคอนเทนต์มา การจะแปลงสารให้เหมาะสมกับช่องทางเหล่านั้นจะทำยังไง และที่สำคัญ ต้องทำให้เป็นนโยบายแห่งชาติ ส่วนทางมหาวิทยาลัย ก็ต้องให้นักศึกษาจำลองบทบาทเป็นสื่อมวลชนจริงๆของมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ไปลูกฝังให้เป็นสื่อประชาสัมพันธ์ให้แก่อธิการบดี ผู้อ่านคือประชาคมจริงๆ นี่คือแนวคิดที่ต้องปลูกฝังเด็ก โดยต้องลงพื้นที่สัมภาษณ์คนในพื้นที่จริงๆ" รศ.ดร.สุกัญญา บูรณเดชาชัยแจกแจง
กำลังโหลดความคิดเห็น